นานมาแล้วที่วงการธุรกิจการท่องเที่ยวได้นำเทคโนโลยีสื่อผสมเข้ามาช่วยในการนำเสนอข้อมูลสินค้าและบริการ รวมไปถึงการนำเสนอข้อมูลแหล่งท่องเที่ยวอีกด้วย เทคโนโลยีสื่อผสมที่เป็นข้อมูลดิจิตอลเหล่านี้อาจเป็นได้ทั้งตัวหนังสือ รูปภาพ เสียง หรือวิดีโอที่นำมาผสมผสานกันตามความเหมาะสมภายใต้แนวคิดการออกแบบที่แตกต่างกันไปตามเป้าหมายเชิงธุรกิจ
ในยุคที่การแข่งขันทางธุรกิจสูง รูปแบบการนำเสนอข้อมูลสินค้าและบริการจำเป็นจะต้องมีความดึงดูดใจและความน่าสนใจ ดังนั้น ผู้ประกอบการจึงควรมองหารูปแบบของการนำเสนอแบบใหม่ๆ เข้ามาประยุกต์ใช้กับธุรกิจของตน ทั้งนี้ ก็เพื่อจะได้เป็นการกระตุ้นให้ผู้ได้รับชมเกิดความสนใจที่จะเข้ามาใช้บริการมากยิ่งขึ้น และดีที่สุดก็คือข้อมูลเหล่านั้นต้องสามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้จริง ซึ่งไม่เพียงแต่จะช่วยอำนวยความสะดวกให้กับผู้ใช้แล้วยังเป็นการเปิดโลกทัศน์ใหม่ๆ ให้กับผู้รับข่าวสารข้อมูลอีกด้วย
AR หรือ Augmented Reality คือ การนำเสนอข้อมูลเชิงเสมือน (Virtual) ที่ผสมผสานกับโลกของความเป็นจริง (Reality) โดยข้อมูลเชิงเสมือนนั้นจะแสดงในลักษณะของภาพ 3 มิติ ที่ลอยออกมาหรือทับซ้อนอยู่บนภาพจริง โดยมากแล้วมักเป็น ภาพโมเดล 3 มิติของสิ่งก่อสร้าง สถาปัตยกรรม อาคารที่พักอาศัย วิวทิวทัศน์ ป่าไม้ภูเขา อุปกรณ์เครื่องใช้ คน สัตว์ และอื่นๆ แน่นอนว่าเมื่อมีการนำโมเดลต่างๆ เหล่านี้มาวางประกอบกันต้องสามารถเล่าเรื่องได้ ซึ่งก็ควรจะเป็นเรื่องราว ที่เกี่ยวข้องกับสินค้าและบริการของเรานั่นเอง
โดยทั่วไปเทคโนโลยี AR นั้น สามารถแบ่งได้เป็น 2 ประเภทหลักๆ ขึ้นอยู่กลับการนำไปใช้ โดยแบบแรกนั้นจะเป็นการใช้งาน ผ่านคอมพิวเตอร์โดยตรง ซึ่งจะเรียกกันโดยทั่วไปว่า Marker หรือ Image-Based ส่วนใหญ่ของการใช้งานเทคโนโลยี AR ลักษณะนี้จะเป็นการนำไปใช้ในธุรกิจก่อสร้างหรือใช้ในการสร้างผลิตภัณฑ์แบบ 3 มิติที่มีความซับซ้อนสูง ผู้ใช้งานจำเป็นจะต้องสวมแว่นตาพิเศษจึงจะสามารถมองเห็นโมเดลภาพเสมือนแบบ AR ได้
ส่วนเทคโนโลยี AR อีกแบบหนึ่งนั้น จะเหมาะต่อการนำมาประยุกต์ใช้กับธุรกิจท่องเที่ยวมากกว่า โดยผู้ใช้หรือผู้ที่ต้องการรับชมเนื้อหา AR นั้น สามารถใช้อุปกรณ์ที่มีราคาไม่แพงมากและหาได้ง่าย ซึ่งในที่นี้ก็คือสมาร์ทโฟนที่มีกล้องเว็บแคมและรองรับการใช้งาน GPS ในตัวนั่นเอง การใช้งานก็สามารถทำได้ง่ายโดยนำสมาร์ทโฟนเชื่อมต่อกับอินเทอร์เน็ต จากนั้นก็เปิดโปรแกรมหรือแอปพลิเคชันสำหรับรับชมเนื้อหา AR และส่องมือถือของเราไปยังพื้นที่หรืออุปกรณ์ใดๆ ที่เจ้าของเนื้อหา AR ได้กำหนดไว้ แล้วภาพ 3 มิติก็จะปรากฏขึ้นมาเหนือภาพจริงโดยทันที เพียงเท่านี้ผู้ชมก็จะได้อรรถรสในการรับข้อมูลข่าวสารในรูปแบบใหม่ที่ไม่เหมือนใคร
เมื่อไม่นานมานี้ สำนักงานส่งเสริมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือซิป้า (SIPA) ได้พัฒนาโมบายแอปพลิเคชัน SEE THRU THAILAND ซึ่งเป็นการนำเทคโนโลยี AR มาช่วยในเรื่องของการนำเสนอข้อมูลสถานที่ท่องเที่ยวสำคัญๆในประเทศไทย โดยแอปพลิเคชันนี้จะช่วยเปิดประสบการณ์ การท่องเที่ยวในประเทศไทยได้อย่างน่าตื่นตาตื่นใจในรูปแบบ 3 มิติผ่านโลกเสมือนจริง เพียงผู้ใช้ติดตั้งแอปพลิเคชัน SEE THRU THAILAND ลงบนสมาร์ทโฟนที่รองรับระบบปฏิบัติการ Android และ iOS แน่นอนว่าสมาร์ทโฟนดังกล่าวจะต้องมีกล้องเว็บแคมและต้องรองรับระบบ GPS ด้วยเช่นกัน
ปัจจุบันแอปพลิเคชัน SEE THRU THAILAND มีข้อมูลสถานที่ท่องเที่ยวในประเทศไทยกว่า 10 จังหวัด ครอบคลุม 5 ภาค ภาคเหนือ ได้แก่ เชียงใหม่และลำปาง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ได้แก่ บุรีรัมย์และอุบลราชธานี ภาคตะวันออก ได้แก่ จันทบุรีและตราด ภาคตะวันตก ได้แก่ กาญจนบุรีและเพชรบุรี และภาคใต้ ได้แก่ ตรังและพังงา โดยข้อมูลที่นำเสนอในแบบ AR นั้น จะเป็นข้อมูลที่ช่วยอำนวยความสะดวกให้แก่นักท่องเที่ยวที่ เดินทางไปยังพื้นที่ 10 จังหวัดดังกล่าว ไม่ว่าจะเป็นข้อมูล รายละเอียดแผนที่นำทาง สถานที่สำคัญๆ ทางราชการที่พร้อมจะอำนวยความสะดวกให้แก่นักท่องเที่ยว ซึ่งก็รวมไปถึงสถานที่ท่องเที่ยวที่อยู่ใกล้เคียง ร้านค้า ที่พัก และร้านอาหาร เป็นต้นทั้งนี้ ผู้ใช้งานสามารถเข้าไปพิมพ์ชื่อแอปพลิเคชัน SEE THRU THAILAND ใน Apple Store และ Google Play Store เพื่อค้นหาและติดตั้งใช้งานได้
ปัจจุบันการพัฒนาโมบายแอปพลิเคชันเพื่อนำมาใช้สำหรับการนำเสนอข้อมูลสินค้าและบริการในแบบ AR กำลังได้รับความนิยมมากขึ้น ซึ่งนักพัฒนาเว็บแอปพลิเคชันส่วนใหญ่จะสามารถสร้างขึ้นมาได้ อย่างไรก็ตาม ในทางเทคนิคนั้น ข้อมูล AR ที่ถูกสร้างขึ้นจำเป็นจะต้องถูกจัดเก็บอยู่บนเครื่องแม่ข่าย (Server) ในอนาคตหากท่านผู้ประกอบการท่านใดมีความประสงค์จะนำเทคโนโลยี AR มาประยุกต์ใช้กับสินค้าและบริการของตนก็จำเป็นจะต้องเช่าพื้นที่จากผู้ให้บริการ หรือหากองค์กรมีเว็บไซต์และเช่าพื้นที่ Web Hosting อยู่แล้วก็อาจ นำมาใช้งานร่วมกันได้