Fri. Apr 19th, 2024
หุ่นยนต์

บทบาทของหุ่นยนต์ในธุรกิจที่พักและการท่องเที่ยว

ครั้งหนึ่งที่จินตนาการเรื่องหุ่นยนต์ (Robot) จะเข้ามาเกี่ยวข้องกับการดำเนินชีวิตของมนุษย์แบบในโลกภาพยนตร์นั้น เป็นเหมือนสิ่งที่ไกลเกินความเป็นจริง ผู้สร้างภาพยนตร์มักนำเสนอบทบาทของหุ่นยนต์ให้มีความสามารถเทียบเท่าหรือเหนือกว่ามนุษย์

ส่วนใหญ่บทบาทดังกล่าวมักจะช่วยส่งเสริมการปฏิบัติภารกิจที่สำคัญบางอย่างของมนุษย์ให้สำเร็จลุล่วงไปตามเป้าหมาย และจบลงที่ความสุขสมหวังหรือแฮปปี้เอนดิ้งในที่สุด ตัวอย่างเช่น ซีทรีพีโอ (C-3PO), บีบีเอท (BB-8) และอาร์ทูดีทู (R2-D2) ใน Star Wars ที่คอยช่วยเหลือเหล่าอัศวินเจไดให้มีชัยเหนือซิธในตอนจบ แต่หุ่นยนต์ในภาพยนตร์บางเรื่องก็อาจถูกสร้างมาเพื่อทำในสิ่งที่ตรงกันข้าม และนำมาซึ่งสงครามและการประหัตประหาร เช่น หุ่นยนต์ T-800, T-1000 หรือ T-3000 ในภาพยนตร์เรื่อง Terminator ถูกส่งมาทำลายล้างมนุษย์คู่อริตามภารกิจที่ได้รับมอบหมาย และไม่ว่าจักรกลในโลกของภาพยนตร์จะถูกสรรสร้างมาเช่นไร เป้าหมายที่แท้จริงก็เพื่อความบันเทิงในการรับชมผ่านจอนั่นเอง

ปัจจุบัน เทคโนยีด้านหุ่นยนต์ได้รับการพัฒนาไปไกลมากทั้งยังเติบโตในอัตราเร่งที่น่าเหลือเชื่อ ดังจะเห็นได้จากการเกิดขึ้นของอุตสาหกรรมผลิตหุ่นยนต์ซึ่งมีทั้งบริษัทยักษ์ใหญ่หน้าเก่าอย่าง TOYOTA, HONDA หรือ HITACHI และหน้าใหม่ (StarUp) อย่าง Boston Dynamics ที่ผลิตหุ่นยนต์ออกขายในเชิงพาณิชย์ ยังไม่รวมกลุ่มบริษัทผู้ผลิตหุ่นยนต์ในประเทศจีนที่ผุดขึ้นมามากมายราวดอกเห็ด เป้าหมายก็เพื่อนำความสามารถของหุ่นยนต์มาใช้อำนวยความสะดวกให้มนุษย์ แม้เทคโนโลยีด้านนี้จะยังอยู่ในช่วงของการเติบโตแต่ก็สร้างความตื่นตัวให้กับผู้คนในสังคมได้ไม่น้อย หุ่นยนต์ถูกนำมาใช้ในกระบวนการผลิตในภาคอุตสาหกรรมมาเนิ่นนานแล้ว ไม่ว่าจะเป็นทางด้านการแพทย์ วิศวกรรมยานยนต์ หุ่นยนต์สำหรับงานก่อสร้าง หุ่นยนต์ปฏิบัติการทางการทหาร หุ่นยนต์เพื่อการค้าขาย หุ่นยนต์ที่ใช้ในการคมนาคมและการเดินทาง เป็นต้น แน่นอนว่าธุรกิจพี่พักและการท่องเที่ยวก็ได้มีการนำหุ่นยนต์มาช่วยในการดำเนินงานเช่นเดียวกัน

อันที่จริงแล้วหุ่นยนต์ถูกสร้างมาเพื่อช่วยเหลืองานต่าง ๆ ของมนุษย์ โดยมุ่งเน้นไปที่กิจกรรมที่ต้องทำซ้ำ ๆ เดิม ๆ ในแต่ละวันหรือกิจกรรมที่ผู้ผลิตต้องการความแม่นยำสูง หุ่นยนต์จะช่วยลดข้อผิดพลาดอันเกิดจากการปฏิบัติงานของมนุษย์ ทั้งยังทำงานได้อย่างรวดเร็วและสามารถเดินเครื่องทำงานได้ตลอด 24 ชั่วโมง โดยที่ไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อย เป้าหมายสำคัญก็เพื่อเพิ่มผลผลิตทั้งในเชิงปริมาณและคุณภาพนั่นเอง ดังนั้น มนุษย์ที่มีหุ่นยนต์ปฏิบัติงานแทนจะสามารถปลีกตัวถอยห่างออกมาเพื่อไปแสวงหาความรู้ใหม่ ๆ ในการพัฒนาตนเองให้มีศักยภาพมากขึ้นกว่าเดิม ซึ่งรวมไปถึงการได้มีเวลาคิดสร้างสรรค์นวัตกรรมใหม่ ๆ ได้มากขึ้นอีกด้วย

หุ่นยนต์

ในช่วงสามปีที่ผ่านมา หุ่นยนต์ได้เข้ามามีบทบาทในภาคธุรกิจที่พักและการท่องเที่ยวมากขึ้น แรกเริ่มเป็นการนำหุ่นยนต์มาช่วยในการให้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์แก่นักท่องเที่ยว ไม่ว่าจะเป็นข้อมูลเกี่ยวกับที่พัก การแนะนำข้อมูลบริการ ข้อปฏิบัติต่าง ๆ เป็นต้น ภายในเวลาไม่นานนัก บทบาทหน้าที่ของหุ่นยนต์บริการก็เริ่มมีมากขึ้นจนอาจจะเรียกได้ว่าเป็น Service Robot อย่างเต็มรูปแบบ หุ่นยนต์บริการถูกออกแบบและตั้งโปรแกรมมาให้ทำหน้าที่แทนมนุษย์ ไม่ว่าจะเป็นการเคลื่อนที่ออกมาต้อนรับลูกค้าที่หน้าโรงแรมแทนเจ้าหน้าที่ การส่งมอบคีย์การ์ดพร้อมรหัสผ่านไวไฟแก่ผู้เข้าพัก ทั้งยังสามารถขึ้นลิฟต์ไปพร้อมกับผู้เข้าพักเพื่อนำทางไปยังห้องพักได้อีกด้วย ที่สำคัญ คือ หุ่นยนต์เหล่านี้ไม่รับทิปเป็นเงิน ขอเพียงผู้เข้าพักกดให้คะแนนความพึงพอใจก็ถือว่าเป็นอันเสร็จขั้นตอนการให้บริการ

มีกรณีตัวอย่างของการนำหุ่นยนต์มาช่วยให้บริการผู้เข้าพักโรงแรม Marriott หุ่นตัวนี้มีชื่อว่า Mario งานประจำของเจ้าหุ่นยนต์ตัวนี้เริ่มตั้งแต่มาคอยให้บริการที่หน้าล็อบบี้ และเมื่อผู้เข้าพักมาถึงก็จะเป็นผู้ให้ข้อมูลประชาสัมพันธ์โรงแรม ทั้งนี้ Mario สามารถพูดได้มากถึง 19 ภาษา นอกจากนั้นยังสามารถเสิร์ฟอาหาร ร้องเพลง และร่วมเต้นรำกับแขกที่มาพักในโรงแรมได้อีกด้วย

อีกตัวอย่างของหุ่นให้บริการในโรงแรมชื่อ Chihira Kanae ที่ได้รับการพัฒนาจาก บริษัท โตชิบา คอร์ปอเรชั่น เป็นหุ่นยนต์ที่มีความคล้ายคลึงกับมนุษย์มาก การแสดงอารมณ์ทางสีหน้าก็แสดงออกได้ดีเยี่ยม ที่น่าประทับใจ คือ Chihira Kanae สามารถสนทนาโต้ตอบกับมนุษย์ได้ถึง 4 ภาษา ซึ่งอันที่จริงแล้วหุ่นยนต์ที่มีความคล้ายคลึงกับมนุษย์มีชื่อเรียกกันโดยทั่วไปว่า หุ่นยนต์ฮิวแมนนอยด์ (Humanoid Robot) ปัจจุบันหุ่นยนต์ส่วนใหญ่มักจะทำการเชื่อมต่อเพื่อรับการสนับสนุนจากระบบส่วนกลางที่ทำหน้าที่เป็น AI (Artificial Intelligence) ได้

เชื่อแน่ว่าในอนาคตอันใกล้ หุ่นยนต์บริการสำหรับธุรกิจพี่พักและการท่องเที่ยวจะเริ่มเข้ามามีบทบาทในประเทศไทยมากขึ้น แม้ช่วงแรกอาจจะยังไม่สามารถทำงานแทนมนุษ์ได้ทั้งหมด จึงยังต้องทำงานร่วมกันกับมนุษย์ในช่วงระยะเวลาหนึ่ง และเมื่อเทคโนโลยีหุ่นยนต์ถูกพัฒนาจนมีความสามารถมากขึ้นแล้ว โจทย์ใหญ่ที่ผู้ประกอบการจะต้องดำเนินการต่อมาก็คือการเพิ่มศักยภาพให้กับบุคคลากรที่เป็นมนุษย์ เพื่อที่จะสามารถปฏิบัติงานในส่วนที่มีความละเอียดอ่อน โดยเฉพาะการปฏิสัมพันธ์กับลูกค้าที่มีความแตกต่างด้านสังคมและวัฒนธรรมที่หุ่นยนต์ไม่สามารถทำได้

ที่มา : นิตยสาร Thai Hotel & Travel Magazine ฉบับเดือน ธันวาคม 2019 – มกราคม 2020

Leave a Reply

Or

Your email address will not be published. Required fields are marked *