Thu. Apr 25th, 2024
ดิจิทัล ทัวริสซึ่ม

‘ดิจิทัล ทัวริสซึ่ม’ อาวุธใหม่ท่องเที่ยวไทย

เมื่อวิกฤตโควิด-19 เข้ามาล้างไพ่! ‘ดิสรัป’ อุตสาหกรรมท่องเที่ยวอย่างสาหัสและหนักหน่วง นอกเหนือจากการประคองธุรกิจให้รอดพ้นสมรภูมิโรคระบาดแล้ว สิ่งที่ผู้ประกอบการต้องทำควบคู่ คือ การปรับตัว รับการเปลี่ยนผ่านสู่ยุคดิจิทัลของอุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทยอย่างเต็มรูปแบบ

คุณยุทธศักดิ์ สุภสร ผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) กล่าวว่า ททท. จะเข้าไปมีบทบาทเพิ่มศักยภาพด้านดิจิทัลแก่ผู้ประกอบการ ผลักดันให้อุตสาหกรรมท่องเที่ยวคว้าโอกาสใหม่ ๆ และฟื้นตัวได้เร็วยิ่งขึ้นจากผลกระทบของวิกฤตโควิด-19 ภายใต้แนวทาง Digital 3I (Industry, Investing and Innovation)

แนวทางที่ 1 Digital Industry สนับสนุนการนำเทคโนโลยีดิจิทัลไปปรับใช้เปลี่ยนรูปแบบการดำเนินธุรกิจทั้งอุตสาหกรรม นำโซลูชันดิจิทัลมาใช้ในการเปลี่ยนวิธีเรียนรู้ ติดต่อสื่อสาร และการทำธุรกรรมของผู้คน โดยคำนึงถึงความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีและความคาดหวังของลูกค้าที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว

แนวทางที่ 2 Digital Investing ให้ความสำคัญกับการลงทุนในการพลิกโฉมสู่ยุคดิจิทัลของภาคธุรกิจอย่างเต็มรูปแบบ มุ่งสร้างความยืดหยุ่นทางธุรกิจและการเชื่อมต่อที่ดียิ่งขึ้น รวมถึงการส่งมอบบริการที่มีประสิทธิภาพและปลอดภัย

ล่าสุด ททท. เตรียมจัดตั้งบริษัทลูกแห่งใหม่ในอีกประมาณ 6 เดือนนับจากนี้ เพื่อรองรับกลยุทธ์ ‘ดิจิทัล ทัวริสซึ่ม’ (Digital Tourism) สร้างโอกาสใหม่ในการดึงนักท่องเที่ยวยุคหลังโควิด-19 โดยโมเดลการลงทุน ททท. จะเข้าถือหุ้นในบริษัทลูกดังกล่าวที่สัดส่วน 40% เพื่อรักษาความคล่องตัวในการบริหารงาน ส่วนอีก 40% จะเป็นบริษัทด้านดิจิทัลในประเทศไทยเข้ามาเป็นพันธมิตรร่วมลงทุน และอีก 20% จะเป็นของพันธมิตรผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในอุตสาหกรรมท่องเที่ยว เช่น สมาคมท่องเที่ยวต่าง ๆ ซึ่งจะเปิดกว้างให้สมาคมที่สนใจเข้าร่วมถือหุ้นบริษัทลูกแห่งนี้ด้วย

แนวทางที่ 3 Digital Innovation ร่วมพัฒนานวัตกรรมบนพื้นฐานของเทคโนโลยีดิจิทัล รวมถึงการพัฒนาทักษะทางดิจิทัลด้วย ทั้งทักษะด้านเทคโนโลยี และทักษะด้านการจัดการเทคโนโลยี เพื่อพัฒนาความคิดริเริ่มด้านดิจิทัล

ไม่ว่าจะเป็นเรื่อง AR & VR (Augmented Reality & Virtual Reality) หรือการนำเสนอข้อมูลเชิงเสมือนที่ผสมผสานกับโลกของความเป็นจริง เพื่อช่วยให้ได้เห็นก่อนตัดสินใจในการเลือกเดินทาง รวมถึง Blockchain เทคโนโลยีที่ช่วยสร้างความปลอดภัยและแม่นยำของข้อมูล อาจนำมาใช้ประโยชน์ในการยืนยันตัวตนที่สนามบิน การชำระเงินในต่างประเทศ หรือ ความโปร่งใสของรีวิวจากนักท่องเที่ยว

นอกจากนี้ยังมี Recognition หรือ เทคโนโลยีเพื่อการจดจำ ไม่ว่าจะเป็นการจดจำข้อมูลด้วยใบหน้า ลายนิ้วมือ หรือ ดวงตา จะช่วยทำให้การบริการมีศักยภาพที่ดีขึ้น เพื่อคัดกรองนักท่องเที่ยวที่สามารถเข้าไปใช้บริการพื้นที่พิเศษ หรืออาจใช้เพื่อตรวจจับนักท่องเที่ยวที่มักจะมีพฤติกรรมไม่เหมาะสม เพื่อให้พนักงานเตรียมรับมือได้ทันท่วงที

ขณะเดียวกัน Smartphone ก็เป็นสิ่งสำคัญ เพราะนักท่องเที่ยวส่วนใหญ่ใช้สมาร์ทโฟนดำเนินการทุกอย่างที่เกี่ยวกับแผนท่องเที่ยว เพื่อให้กิจกรรมต่าง ๆ มีความสะดวกสบายมากยิ่งขึ้น ดังนั้น สมาร์ทโฟนเป็นโจทย์ที่ต้องเร่งหาทางตอบสนอง ต้องมีบริการหรือแพลตฟอร์มที่ช่วยลดความยุ่งยากทางด้านเอกสาร บริการจองที่พักหรือร้านอาหารที่ต้องพัฒนาระบบจองคิว รวมทั้งแอปพลิเคชันนำเที่ยวที่ต้องมีการให้ข้อมูลเชิงลึกผ่านภาพ วิดีโอ หรือ ข้อความ เพื่อให้นักเดินทางสามารถตัดสินใจได้อย่างทันท่วงที

อีกทั้งยังมีVirtual Assistant เช่น Siri หรือ Alexa เป็นผู้ช่วยอัจฉริยะที่ฝึกฝนมาเพื่อช่วยเหลือหรือให้ประสบการณ์เฉพาะเกี่ยวกับการท่องเที่ยว พร้อมสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักท่องเที่ยวว่าสามารถท่องเที่ยวได้อย่างสะดวกสบาย มีความปลอดภัย และได้รับข้อมูลที่ถูกต้อง

คุณยุทธศักดิ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ตามแผนการเปิดประเทศ หนึ่งในกลุ่มเป้าหมายหลักของนักท่องเที่ยวต่างชาติที่ ททท. จะดึงเข้ามาเที่ยวไทย คือ ผู้มีความมั่งคั่งสูง ซึ่งถือสินทรัพย์ดิจิทัล หรือ ‘Cryptocurrency’ อาทิ บิตคอยน์ และสกุลเงินดิจิทัลอื่น ๆ ให้สามารถนำคริปโตเคอร์เรนซีมาซื้อสินค้าและบริการท่องเที่ยวในประเทศไทยได้ โดยตอบโจทย์การดึงนักท่องเที่ยวคุณภาพ

นอกจากนี้ ยังเป็นอีกช่องทางหนึ่งในการช่วยเสริมสภาพคล่องแก่ผู้ประกอบการท่องเที่ยว เพิ่มขีดความสามารถของผู้ประกอบการรับเทรนด์การเติบโตแบบก้าวกระโดดของคริปโตเคอร์เรนซี มีส่วนช่วยฟื้นอุตสาหกรรมท่องเที่ยวให้กลับมาเป็น ‘พระเอก’ ของเศรษฐกิจไทยได้อีกครั้ง พร้อมรักษาตำแหน่งของประเทศไทยให้สามารถติดอันดับ 1 ใน 5 ของโลกที่มีรายได้จากการท่องเที่ยวมากที่สุดหลังสถานการณ์โควิด-19 คลี่คลายดีขึ้น

“ตลาดคริปโตเคอร์เรนซีกำลังร้อนแรงและแพร่หลายมากขึ้นในขณะนี้ ทำให้เกิดกลุ่ม ‘คริปโตโนแมด’ ที่มีกำลังซื้อสูงและพร้อมใช้จ่าย ช่วยสร้างประโยชน์ต่อเศรษฐกิจของประเทศไทยในระยะยาว”

ทั้งนี้ ททท. จะผลักดันการออกเหรียญดิจิทัลของ ททท. เพื่อช่วยเพิ่มสภาพคล่องแก่ผู้ประกอบการท่องเที่ยว หลังจากเห็นปัญหาการเข้าถึงสินเชื่อเมื่อต้องเผชิญกับวิกฤตโควิด-19 ในรูปแบบ ‘Utility Token พร้อมใช้’ ด้วยการใช้เทคโนโลยีบล็อกเชนแปลงคูปองในลักษณะที่เป็นวอยเชอร์ให้เป็นโทเคนดิจิทัล และเสนอขายในรูปแบบ Utility Token พร้อมใช้ในตลาดแลกต่อลูกค้า เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการท่องเที่ยวให้สามารถขายสินค้าและบริการท่องเที่ยวล่วงหน้าได้ เหมือนกับการขายอี-วอยเชอร์

ด้านคุณจิรายุส ทรัพย์ศรีโสภา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บิทคับ แคปปิตอล กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ (Bitkub) กล่าวว่า ‘คริปโตโนแมด’ เป็นกลุ่ม New Gen ที่มีความมั่งคั่งสูง หากประเทศไทยสามารถวางโครงสร้างพื้นฐานที่ดีเข้ามารองรับกำลังซื้อของคนกลุ่มนี้ จะส่งผลดีต่อการกระตุ้นผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศหรือจีดีพี ซึ่งภาคท่องเที่ยวเคยครองสัดส่วนราว 20% ของจีดีพี

“เทรนด์ที่น่าจะเห็น คือ กลุ่มคริปโตโนแมดต้องการเดินทางเข้าประเทศไทย โดยเฉพาะกรุงเทพฯ ซึ่งได้รับการจัดอันดับให้เป็นเมืองที่น่ามา ‘Workation’ เหมาะกับการทำงานและพักผ่อนติดอันดับ 1 ของโลก เพราะมีความหลากหลายของสินค้าท่องเที่ยวและบริการ ทั้งอาหารรสชาติอร่อย โรงแรมและบริการชั้นยอด โดยผู้ประกอบการโรงแรมจำเป็นต้องปรับตัวรับชาวต่างชาติกลุ่ม Workation ที่นิยมเข้าพักระยะยาวมากขึ้น”

ขอบคุณภาพโดย master1305 จาก Freepik

Leave a Reply

Or

Your email address will not be published. Required fields are marked *