Fri. Apr 19th, 2024
‘ไอที’ กับการเติบโตของธุรกิจร้านอาหาร เมื่อลูกค้าหันหน้าสั่งซื้อออนไลน์กินที่บ้านพุ่งกระฉูด

‘ไอที’ กับการเติบโตของธุรกิจร้านอาหาร เมื่อลูกค้าหันหน้าสั่งซื้อออนไลน์กินที่บ้านพุ่งกระฉูด

ต้องยอมรับว่าปีนี้ นอกจากจะเป็นปีทองของภาคการกีฬาเพื่อการท่องเที่ยว ตามกระแสท็อปฮิตติดชาร์จไปทั่วโลก ที่ต่างหันมาสนใจสุขภาพตัวเองมากยิ่งขึ้น ทำให้คุณกอบกาญจน์ วัฒนวรางกูร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา หันมาโฟกัสจับตลาดนักท่องเที่ยวกลุ่มนี้เป็นพิเศษ อีกตลาดที่กำลังมาแรงไม่แพ้กัน คือ อาหารนำท่องเที่ยว เมื่อพลเอก ธนะศักดิ์ ปฏิมาประกร รองนายกรัฐมนตรี ระบุว่า ขณะนี้การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) กำลังหารือกับ มิชลิน ไกด์ (Michelin Guide) ที่จัดทำตราแสดงมาตรฐานร้านอาหารคุณภาพยอดเยี่ยม พร้อมจัดทำเป็นหนังสือแนะนำนักท่องเที่ยว ซึ่งเป็นหนังสือที่นักท่องเที่ยวต่างชาติทั่วโลกต่างรู้จัก และได้รับความนิยมมาสำรวจร้านอาหารในเมืองไทย โดยยอมทุ่มงบประมาณกับแผนนี้ถึง 5 ปีติด สูงถึง 144.5 ล้านบาท

แยกเป็น 2 ส่วน คือ เฉพาะพื้นที่กรุงเทพ และภาพรวมร้านอาหารในไทย ตั้งแต่ร้านอาหารขนาดเล็กริมทางเท้าเรื่อยยาวไปจนถึงระดับภัตตาคารจะทำให้ไทยเป็นประเทศที่ 2 ในอาเซียนต่อจากสิงคโปร์ที่ได้เข้าร่วมกับมิชลิน ไกด์บุ๊ค ตั้งเป้าว่าช่วยกระตุ้นรายจ่ายต่อหัวเพิ่มได้ถึง 10% เพราะตามปกติ ชาวต่างชาติที่มาไทยจะใช้จ่ายด้านอาหารอยู่ที่ 60% ของการใช้จ่ายทั้งหมด คาดว่าโปรเจกต์นี้จะเห็นผลภายในปีนี้ อีกไฮไลท์สำคัญที่คุณกอบกาญจน์ ส่งสัญญาณดีต่อผู้ประกอบการร้านอาหาร นั่นก็คือ แผนชูอาหารรสแซ่บของเมืองไทย เช่น ลาบ ส้มตำ จับตลาดนักท่องเที่ยวกลุ่มผู้หญิงทั้งจีน ญี่ปุ่น อินเดีย

ตามที่รัฐบาลส่งสัญญาณชัดเจนว่าจะปลุกปั้นอาหารไทย ให้ขึ้นชื่อลือชาดังไปทั่วโลกว่าเมืองไทยเป็นแลนด์ ออฟ ฟู้ดส์ ถือเป็นเรื่องที่น่ายินดีกับภาคผู้ประกอบการร้านอาหารในทุกระดับร้านค้าที่จะมีโอกาสโกยรายได้จากนักท่องเที่ยว รวมถึงตลาดคนไทยเองมากยิ่งขึ้น แต่สิ่งสำคัญที่ไม่น้อยไปกว่าเรื่องการโปรโมท ผู้ประกอบการต่างเห็นว่า ฉากหลังบ้านก็ต้องปรับปรุง พัฒนาไปพร้อมๆ กันด้วย

ล่าสุด คุณละเอียด บุ้งศรีทอง นายกสมาคมโรงแรมไทยภาคเหนือ แสดงความเห็นว่า ปกติในส่วนของร้านอาหารตามโรงแรมทั่วไปจะใช้บริการของเกษตรกรในพื้นที่ ซึ่งจะสลับสับเปลี่ยนไปตามฤดูกาลของพืชผัก ผลไม้ในช่วงนั้นๆ ขณะที่นวัตกรรมไอทีจะเข้ามาช่วยสนับสนุนการจดบันทึกข้อมูลว่าแต่ละช่วงของภาคการท่องเที่ยว จะมีกลุ่มไหนเข้ามาใช้บริการร้านอาหาร ภัตตาคารบ้าง ส่วนใหญ่จะนิยมทานอาหารเมนูใด วัตถุดิบในการใช้แต่ละช่วงฤดูกาลเป็นอย่างไร ค่าใช้จ่ายต่อหัวต่อมื้อเป็นเท่าไร เพื่อให้สามารถกำหนดแผนไปยังผู้ผลิต หรือเกษตรกรในพื้นที่สามารถผลิตสินค้าเป็นไปตามที่ทางร้านอาหารคาดการณ์ไว้ เสมือนเป็นห่วงโซ่ทางธุรกิจ ขณะเดียวกัน ข้อมูลสถิติที่เก็บข้อมูลจากลูกค้าที่เข้ามาใช้บริการ ก็มีส่วนสำคัญในการวางแผนจัดทำโปรโมชั่นหรือประเมินว่าควรเพิ่มเมนู วัตถุดิบชนิดใด ในช่วงที่นักท่องเที่ยวกลุ่มหนึ่งๆ นิยมเข้ามาเที่ยวเมืองไทย หรือควรลดเมนู วัตถุดิบชนิดใด ช่วงที่นักท่องเที่ยวอีกกลุ่มเข้ามาเที่ยวเมืองไทยจำนวนมาก

“การเก็บข้อมูลในทุกๆ ด้านที่ร้านอาหารทำอยู่ ก็เพื่อวางแผนให้เข้ากับยุคที่พฤติกรรมนักท่องเที่ยวหันหน้าเข้าหาไอทีมากขึ้น และยิ่งรัฐบาลสนับสนุนให้ภาคธุรกิจก้าวเข้าสู่ไทยแลนด์ 4.0 ผู้ประกอบการยิ่งควรมีการพัฒนาช่องทางเก็บข้อมูลอยู่เสมอ แต่เห็นว่ารัฐบาลเองในฐานะหัวหน้าเชฟใหญ่ของห้องครัว ก็น่าจะช่วยเก็บสถิติข้อมูลพฤติกรรมของนักท่องเที่ยวแต่ละชนชาติให้มีความละเอียดมากขึ้น เพื่อให้ผู้ประกอบการเอาไปใช้เป็นฐานวางแผนข้อมูลธุรกิจ เช่น ตลาดไหนชอบกินเมนูอาหารอะไร จะเข้ามาทานในช่วงใด นิยมทานในร้านระดับใด รสชาติที่ชื่นชอบเป็นอย่างไร ค่าใช้จ่ายต่อมื้อมากน้อยแค่ไหน เป็นต้น หากมีการลงรายละเอียดในการจัดเก็บข้อมูลเหล่านี้ จะช่วยให้ผู้ประกอบการเห็นทิศทางการทำตลาดมากยิ่งขึ้น”

สั่งซื้ออาหารออนไลน์

ขณะที่คุณฐนิวรรณ กุลมงคล นายกสมาคมภัตตาคารไทย กล่าวยอมรับว่า ต่อไปนี้ธุรกิจร้านอาหารไม่จำเป็นต้องใช้พื้นที่เยอะเหมือนปัจจุบันอีกต่อไป หรืออาจไม่จำเป็นต้องมีหน้าร้าน เพราะด้วยบทบาทของไอทีผ่านสื่อโซเชียลมีเดีย ทั้งเพจเฟซบุ๊ก ไลน์ แอปพลิเคชันสั่งอาหาร หรือแม้แต่ธุรกิจขนส่งอย่างไลน์ แมน, อูเบอร์ เข้ามาเป็นตัวเลือกสำคัญที่จะช่วยส่งอาหารไปถึงผู้สั่ง โดยที่ลูกค้าไม่ต้องเหนื่อยที่จะเดินทางมาทานด้วยตัวเอง และแนวโน้มความนิยมแบบนี้ก็จะมีสูงขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งตอนนี้ไม่เฉพาะคนไทยเท่านั้น แต่หมายถึงนักท่องเที่ยวต่างชาติด้วยที่ให้กระแสตอบรับที่ดี เพราะกลุ่มนี้จะศึกษาข้อมูลผ่านสื่อโซเชียลมีเดียมาเป็นอย่างดี และเมื่อถึงเมืองไทยก็จะสั่งอาหารเข้ามาทานยังที่พัก โดยที่กระแสความนิยมเช่นนี้ก็เริ่มมีมากขึ้น เพราะบางร้านก็ดังระดับนานาประเทศ ส่งออกไปจำหน่ายบนโลกออนไลน์ เมื่อมาถึงถิ่นนักท่องเที่ยวกลุ่มนี้ย่อมต้องการหาสั่งทาน

ดังนั้น หากผู้ประกอบการหน้าใหม่ต้องการเปิดร้านอาหาร ไม่จำเป็นจะต้องใช้เงินทุนหนาเท่าในอดีต แต่ต้องมีไอเดียว่าจะทำอย่างไรให้ตอบโจทย์กับลูกค้าที่เปลี่ยนไปในยุคไอทีให้ได้มากที่สุด ซึ่งยอมรับว่ามีอิทธิพลสูงมากกว่าที่จะทุ่มงบทำการตลาดด้านอื่นๆ แต่สำหรับผู้ประกอบการตั้งแต่ดั้งเดิม คงไม่สามารถทำอะไรได้ นอกจากการบุกเข้าหาไอทีมากยิ่งขึ้น ใช้ช่องทางโซเชียลต่อยอดทางธุรกิจ เนื่องจากบางร้านมาตรฐานดีอยู่แล้ว คนนิยมแห่ไปทานมากอยู่แล้ว การต่อยอดสื่อออนไลน์จะช่วยเพิ่มช่องทางการทำการตลาด ทั้งนี้ ยอมรับว่าแม้ที่ผ่านมาสมาคมอยู่ระหว่างพัฒนาเว็บไซต์ด้านร้านอาหารร่วมกับมหาวิทยาลัยมหิดล แต่ก็ไม่ทันการณ์ เพราะสื่อโซเชียลไปเร็วมาก ดังนั้น หากจะถามว่าการต่อยอดนวัตกรรมด้านอาหารของผู้ประกอบการคืออะไร ถ้าในยุคนี้คงมองไปที่การหาไอเดียต่อยอดการทำการตลาดบนสื่อโซเชียลมีเดียเป็นเรื่องที่ต้องตื่นตัวด่วนที่สุด

ทิศทางดำเนินงานของผู้ประกอบการร้านอาหารในยุคไอทีมีบทบาทสำคัญ เพื่อตอบโจทย์ทั้งตลาดคนไทยและนักท่องเที่ยวต่างชาติ ทั้งการเก็บข้อมูลลูกค้า เรื่อยไปถึงการทำการตลาด แต่เจ้าของธุรกิจจะสามารถดำเนินการในช่วงท้าทายนี้ได้มากแค่ไหน เป็นเรื่องที่ต้องใช้ประสบการณ์ และแนวคิดของแต่ละราย

Leave a Reply

Or

Your email address will not be published. Required fields are marked *