Fri. Apr 26th, 2024
หลากข้อเสนอคนโรงแรมส่งเสียงถึง ‘ประยุทธ์’ หนุนธุรกิจโรงแรมไทยโตต่อเนื่อง

หลากข้อเสนอคนโรงแรมส่งเสียงถึง ‘ประยุทธ์’ หนุนธุรกิจโรงแรมไทยโตต่อเนื่อง

ทันทีที่เห็นหน้าตาคณะรัฐมนตรี ภายใต้การปกครองของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีหลายภาคธุรกิจเริ่มหายใจโล่งอกอีกครั้ง เพราะนั่นคือสัญญาณของความคลี่คลายทางการเมือง และยังส่งเสริมให้แผนดำเนินการต่างๆ สามารถเดินหน้าต่อไปได้มากกว่าที่เคยเป็นมา 

แต่ถึงกระนั้น ก็ยังถือว่ามีปัจจัยหรืออุปสรรคต่างๆ ที่ไม่สนับสนุนให้ภาคอุตสาหกรรมท่องเที่ยว โดยเฉพาะธุรกิจโรงแรมที่เป็นหนึ่งในห่วงโซ่สำคัญ เดินหน้าทำการตลาดได้เต็มที่ เกิดเป็นข้อเรียกร้อง และส่งเสริมต่างๆ ตามมา

คุณสุรพงษ์ เตชะหรูวิจิตร นายกสมาคมโรงแรมไทย (ทีเอชเอ) ได้พยายามเรียกร้องรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ ให้ยกเลิกประกาศกฎอัยการศึก เพราะเป็นเรื่องสำคัญที่จะส่งผลให้ประเทศต่างๆ ลดระดับคำเตือนนักท่องเที่ยวที่เดินทางมายังประเทศไทยโอกาสที่ตลาดท่องเที่ยวจะพลิกฟื้นได้เร็วจะมีสูงขึ้น โดยอาจยกเลิกกฎอัยการศึกในบางพื้นที่ ช่วยผ่อนคลายสถานการณ์และสร้างความรู้สึกบวกให้แก่นักท่องเที่ยว หากดำเนินการทันที ผลก็จะเห็นได้ภายในไตรมาส 4 ปีนี้ ที่จะมีจำนวนนักท่องเที่ยวเดินทางเข้ามาเที่ยวไทยเพิ่มขึ้น บรรเทาผลกระทบของภาคธุรกิจโรงแรม จากที่ครึ่งปีแรกอัตราการเข้าพักติดลบ 20 – 25% เทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน

“สิ่งที่รัฐบาลต้องทำ หากต้องการให้ธุรกิจโรงแรมดำเนินการไปได้ระหว่างที่อยู่ภายใต้การปกครองด้วยกฎอัยการศึก นอกจากผู้ประกอบการแต่ละรายร่วมมือกับหน่วยงานท่องเที่ยวภูมิภาคเช่น การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ช่วยกันทำตลาด สร้างความเชื่อมั่น ให้นักท่องเที่ยวรู้สึกว่าเมืองไทยยังคงท่องเที่ยวได้ตามปกติ สิ่งสำคัญกว่านั้น คือ ต้องรุกทำการตลาดออนไลน์มากขึ้น จับกลุ่มนักท่องเที่ยวที่เดินทางมาเที่ยวเอง เพราะกลุ่มนี้นิยมที่จะศึกษาข้อมูลผ่านโซเชียลมีเดีย หากผู้ประกอบการต้องการโอกาสให้ธุรกิจตนเอง ในช่วงที่สถานการณ์ไม่ปกติ ระบบออนไลน์จะเป็นช่องทางเพิ่มโอกาสให้ธุรกิจโรงแรมยังคงอยู่ได้”

หากโรงแรมไม่พัฒนาให้ทันการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีความสามารถแข่งขันจะลดลงเรื่อยๆ เพราะปัจจุบันช่องทางขายผ่านอินเตอร์เน็ตสำคัญมาก ลูกค้าสามารถสืบค้นข้อมูลจากความคิดเห็นของผู้เข้าพักคนอื่นที่เคยเข้าพักว่าโรงแรมมีสิ่งอำนวยความสะดวกอะไรบ้าง เหมือนที่โรงแรมให้ข้อมูลไว้หรือไม่ การบริการเป็นอย่างไร ดังนั้นทุกโรงแรมต้องให้ความสำคัญติดตามการแสดงความคิดเห็นในโลกอินเตอร์เน็ต และไม่รีรอที่จะแก้ไขจุดบกพร่องที่ลูกค้าแสดงความคิดเห็นไว้ เพื่อให้การแสดงความคิดเห็นในอนาคตเปลี่ยนจากเชิงลบเป็นบวก ขณะเดียวกันต้องปรับปรุงพัฒนาโปรแกรมที่จะช่วยให้การจองผ่านอินเตอร์เน็ตง่ายขึ้นด้วย

เพิ่มการตลาดออนไลน์เจาะถึงลูกค้า

สอดคล้องกับคุณแคทลีน ตัน ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร แอร์ เอเชีย เอ็กซ์พิเดีย ผู้ดำเนินธุรกิจเว็บไซต์ตัวแทนจำหน่ายท่องเที่ยว (โอทีเอ) แอร์เอเชียโก (www.airasiago.com) ที่เห็นว่า คนยุคปัจจุบันนิยมวางแผนเที่ยว ด้วยการค้นหาข้อมูลจากระบบออนไลน์ เช่น ค้นหาแหล่งท่องเที่ยวผ่านเว็บไซต์กูเกิล เมื่อจองห้องพักจะอ่านความคิดเห็นผู้ที่เคยเข้าพักก่อนและเปรียบเทียบราคาแต่ละแห่งก่อนตัดสินใจ

“จะเห็นได้ว่ากลุ่มผู้ประกอบการโรงแรมต่างปรับพฤติกรรมเพื่อให้อยู่ในสายตาของลูกค้ามากขึ้น นอกจากโรงแรมแต่ละแห่งต้องทำกลยุทธ์เชื่อมโยงแบรนด์ตัวเองเข้าสู่โลกออนไลน์ให้ลูกค้ามองเห็นแบรนด์มากขึ้นแล้ว ยังต้องเพิ่มข้อมูลสินค้าและบริการในอินเตอร์เน็ตให้การตัดสินใจของลูกค้าเร็วขึ้น สุดท้ายคือ ปรับปรุงระบบที่จะทำให้การซื้อของลูกค้าทำได้เร็วที่สุดสิ่งเหล่านี้อาจต้องใช้เงินลงทุนระบบบ้าง แต่ไม่ยากเกินไปสำหรับผู้ประกอบการที่ต้องการโอกาสโตในยุคสังคมก้มหน้า”

ด้านคุณมาริสา หนุนภักดี สุโกศล รองประธานกรรมการบริหารกลุ่มโรงแรมในเครือสุโกศล กล่าวว่า ปัจจุบันนักท่องเที่ยววางแผนเดินทางด้วยการเข้าไปค้นหาข้อมูลจากเว็บไซต์กว่า 20 เว็บไซต์ต่อหนึ่งทริป ซึ่งหนึ่งในนั้น คือ เว็บไซต์ตัวแทนจำหน่ายท่องเที่ยว (โอทีเอ) ซึ่งโรงแรมจะต้องนำตัวเองเข้าไปอยู่ในนั้น เพื่อสร้างแบรนด์ให้เป็นที่รู้จัก พร้อมลงทุนเรื่องภาพถ่ายของโรงแรมที่จะนำเสนอ

ขอรัฐปรับลดภาษีนำเข้าอุปกรณ์ภายในโรงแรม

คุณสุรพงษ์ นายกฯ ทีเอชเอ กล่าวว่า สมาคมได้เสนอต่อสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ให้พิจารณาหลักเกณฑ์สิทธิประโยชน์ให้กับผู้ประกอบการโรงแรมที่ต้องการขอรับการส่งเสริมปรับปรุงโรงแรมให้มีสภาพใหม่ เพื่อเตรียมความพร้อมก่อนการรวมประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (เออีซี) ในปี 2558 ซึ่งคาดว่าจะเกิดการเคลื่อนย้ายแรงงานและการเดินทางของนักท่องเที่ยวระหว่างกันมากขึ้น พร้อมขอให้รัฐบาลพิจารณาปรับลดภาษีนำเข้าอุปกรณ์ภายในโรงแรมลดลงจากปัจจุบัน ซึ่งแต่ละประเภทมีอัตราภาษีไม่เท่ากัน เช่น เครื่องซักผ้า เครื่องทำความร้อน – ความเย็น ฯลฯ โดยส่วนใหญ่ผู้ประกอบการโรงแรมต้องนำเข้ามาจากประเทศจีนและประเทศในยุโรปส่งผลให้ภาษีนำเข้ามีอัตราค่อนข้างสูง

“การมีรัฐบาลที่ชัดเจน แม้ยังอยู่ภายใต้กฎอัยการศึก แต่ถือเป็นโอกาสที่ดีที่ภาครัฐจะให้การส่งเสริมผู้ประกอบการโรงแรมเร่งปรับปรุงห้องพัก ภูมิทัศน์ในโรงแรม หลังจากที่ผ่านมาอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวไทยเติบโตต่อเนื่อง นักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้าประเทศไทยจำนวนมากในแต่ละปี ทำให้ผู้ประกอบการส่วนใหญ่ไม่มีแผนการปรับปรุงห้องพักมานานกว่า 5 – 8 ปี การใช้โอกาสที่นักท่องเที่ยวยังไม่กลับมาฟื้นตัวเต็มที่ ถือเป็นช่วงเวลาที่เหมาะสม รองรับสัญญาณการท่องเที่ยวที่น่าจะกลับมาคึกคักในเร็วๆ นี้ โดย ทีเอชเอ เตรียมรวบรวมรายละเอียดการจัดเก็บอัตราค่าภาษีในแต่ละประเภท แต่ละชิ้น เพื่อขอรับการลดหย่อนให้สอดคล้องกับสภาพปัจจุบันเพราะที่ผ่านมาปัญหาการเมืองที่ยืดเยื้อมีผลกระทบโดยตรงต่อผู้ประกอบการท่องเที่ยว ทำให้ขาดรายได้มาหมุนเวียนทางธุรกิจ การช่วยเหลือดังกล่าวจะช่วยเสริมสภาพคล่องหมุนเวียนที่ดีขึ้นได้”

โรงแรมนอกระบบ ต้นเหตุฉุดราคาห้องพักต่ำเกินจริง

ส่วนประเด็นที่คณะกรรมการ (บอร์ด) บีโอไอ มีแนวคิดส่งเสริมการลงทุนก่อสร้างโรงแรมขนาด 20 – 30 ห้อง เพื่อเปิดโอกาสการลงทุนให้กับผู้ประกอบการไทยขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) ก้าวเข้าสู่ธุรกิจการท่องเที่ยวมากขึ้นนั้น ในมุมมองนายกสมาคมทีเอชเอ ไม่เห็นด้วยกับแนวคิดดังกล่าว เนื่องจากปัจจุบันพบว่า โรงแรมในหลายพื้นที่ของประเทศมีจำนวนมากเกินกว่าความต้องการของตลาด และรัฐบาลยังไม่ได้แก้ปัญหาโรงแรมที่ไม่ได้จดทะเบียนถูกต้องตามกฎหมาย จนเป็นปัญหาสั่งสมมานานโดยโรงแรมในไทยทั้งหมดที่ถูกกฎหมายมีประมาณ 4 แสนห้อง แต่หากนับรวมโรงแรมที่ไม่ถูกกฎหมาย จะมีไม่ต่ำกว่า6 แสนห้องให้บริการ

โรงแรมที่ไม่ถูกต้องตามกฎหมาย ใช้วิธีทำการตลาดด้วยการตัดราคาห้องพักให้ต่ำอยู่เสมอ เพราะโรงแรมกลุ่มนี้ไม่ต้องเสียภาษีโรงแรม เป็นผลให้โรงแรมที่จดทะเบียนถูกกฎหมายไม่สามารถปรับราคาแข่งขันกับประเทศชั้นนำในเอเชียได้ เท่ากับว่าเสียโอกาสในการสร้างรายได้เข้าประเทศ เรื่องนี้ จึงถือเป็นประเด็นสำคัญที่ต้องการให้รัฐบาลชุดใหม่เร่งแก้ไขโดยเร็วเพื่อให้ธุรกิจโรงแรมที่ทำตามระเบียบมีโอกาสเติบโตมากกว่านี้และถือเป็นการสร้างรายได้เข้าประเทศได้เพิ่มขึ้น ตอบโจทย์ 2.2 ล้านล้านบาทในปี 2558

ปรับลดอัตราค่าไฟฟ้าเทียบเท่าอุตสาหกรรมอื่น ขณะที่ คุณชัยโรจน์ โฆษิตศิริทวีพร ที่ปรึกษาสมาคมทีเอชเอกล่าวว่า สมาคมฯ ยังได้นำเสนอต่อภาครัฐ ขอให้ปรับปรุงอัตราการคิดค่าไฟฟ้ากับโรงแรม เพราะปัจจุบันเป็นอัตราที่คิดสูงกว่าภาคอุตสาหกรรมอื่น หากได้รับการตอบรับจะช่วยให้ภาคธุรกิจโรงแรมลดค่าใช้จ่ายได้มาก เพราะต้นทุนค่าไฟฟ้าคิดเป็น 60 – 70% ของค่าใช้จ่ายด้านพลังงานทั้งหมด

ขณะเดียวกัน ต้องการให้ผู้ประกอบการโรงแรมตื่นตัวเรื่องการบริหารจัดการค่าใช้จ่ายด้านพลังงาน เพราะเร็วๆ นี้จะมีกฎหมายบังคับใช้ มีใจความสำคัญว่า หากธุรกิจใดผลิตมลพิษออกมาจะต้องเสียค่าใช้จ่ายจากมลพิษที่ผลิตด้วย ทำให้เป็นต้นทุนใหม่ที่เพิ่มขึ้น ซึ่งโรงแรมแต่ละแห่งควรไปศึกษาว่าโรงแรมของตนใช้พลังงานอย่างไร เพื่อวางแผนลดการใช้พลังงานในแต่ละด้านให้เหมาะสมคุณพีระ คำเอี่ยม ผู้อำนวยการฝ่ายวิศวกรรม โรงแรมและรีสอร์ทในเครือเซ็นทารา กล่าวว่า การเลือกใช้พลังงานทดแทน เป็นทางเลือกหนึ่งที่จะช่วยให้โรงแรมลดต้นทุนพลังงานได้ แต่ต้องประเมินด้วยว่าพลังงานทดแทนที่เลือกใช้มีต้นทุนการบำรุงรักษาสูงหรือไม่ คุ้มค่ากับการลงทุนหรือไม่ โดยหลักการควรลงทุนแล้วต้องคืนทุนใน 3 – 5 ปี ซึ่งเซ็นทาราเลือกใช้พลังงานแสงอาทิตย์ เพื่อลดค่าใช้จ่ายพลังงาน

จากสถิติเมื่อปี 2553 พบว่า โรงแรมในกรุงเทพฯ ใช้ไฟฟ้า 173 กิโลวัตต์/ชั่วโมง/ตร.ม./ปี ใช้น้ำมากกว่า 26 ลิตร/นาที สำหรับฝักบัว และโรงแรมยังทำให้เกิดขยะ 1 กิโลกรัม/คน/วัน ยิ่งมีลูกค้าเข้ามาใช้บริการมากขึ้น การใช้พลังงานยิ่งมากขึ้น ส่งผลต่อรายได้ที่ลดลง ดังนั้น โรงแรมควรนำข้อมูลการใช้พลังงานที่รวบรวมได้มาประเมิน เพื่อพิจารณาว่าจะลดค่าใช้จ่ายจากการใช้พลังงานด้านใดได้บ้าง รวมทั้งเสนอให้ติดตั้งมิเตอร์ไฟฟ้าแยกในแต่ละห้องแทนมิเตอร์รวมทั้งโรงแรม เพื่อให้การประเมินแผนลดใช้พลังงานทำได้ดีขึ้น

หลากมาตรการที่กล่าวมาข้างต้น ถือเป็นแนวทางที่สมาคมโรงแรมต้องการสะท้อนปัญหาถึงรัฐบาลชุดใหม่ ในการช่วยแก้ไข หาทางออกจากวิกฤตที่สะสมมานาน พร้อมพิจารณาสนับสนุนข้อเสนอที่จะช่วยให้ธุรกิจโรงแรมขับเคลื่อนต่อไปได้

Leave a Reply

Or

Your email address will not be published. Required fields are marked *