Fri. Apr 26th, 2024
นโยบาย รมว. ท่องเที่ยว หญิงคนแรก ‘กอบกาญจน์ วัฒนวรางกูร’ เน้นโปร่งใส – รวดเร็ว - แก้ปัญหาตรงจุด ดันรายได้ท่องเที่ยวไทยเติบโตต่อเนื่อง

นโยบาย รมว. ท่องเที่ยว หญิงคนแรก ‘กอบกาญจน์ วัฒนวรางกูร’ เน้นโปร่งใส – รวดเร็ว – แก้ปัญหาตรงจุด ดันรายได้ท่องเที่ยวไทยเติบโตต่อเนื่อง

ตั้งแต่ประเทศไทยเผชิญปัญหาการเมืองมานานเกือบปี แต่สุดท้ายก็ได้รับสัญญาณที่ดี เมื่อได้รัฐบาลชุดใหม่เข้ามาบริหารประเทศ

เท่ากับว่าการดำเนินมาตรการต่างๆ สามารถขับเคลื่อนเดินหน้าไปได้คล่องตัว เช่นเดียวกับภาคอุตสาหกรรมท่องเที่ยวที่ได้ ‘คุณกอบกาญจน์ วัฒนวรางกูร’ มานั่งเก้าอี้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา เสมือนแม่ทัพใหญ่ที่จะนำพาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวเดินหน้าต่อไปได้

คุณกอบกาญจน์ ถือฤกษ์ดี เข้ากระทรวงในวันที่ 15 กันยายน 2557 พร้อมมอบนโยบายการบริหารงานแก่ผู้บริหารระดับสูงทั้งจากหน่วยงานภาครัฐและเอกชน อาทิ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย กองบังคับการตำรวจท่องเที่ยว สภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (สทท.) สมาคมไทยธุรกิจการท่องเที่ยว (แอตต้า) เพื่อให้การทำงานเป็นไปในทิศทางเดียวกัน โดยมีเป้าหมายให้ภาคการท่องเที่ยวฟื้นตัว สร้างรายได้เข้าประเทศได้ตามเป้าหมายเดิมที่วางไว้ 2.2 ล้านล้านบาทในปี 2558 ใจความสำคัญที่คุณกอบกาญจน์ ได้กล่าวต่อหน้าผู้บริหารระดับสูง ก่อนที่จะมอบนโยบาย ระบุว่า

“รัฐบาลนี้และดิฉันมาบริหาร ในช่วงของรอยต่อของการมีการเลือกตั้งที่แท้จริง หน้าที่ของรัฐบาลทุกคน คือ การปฏิรูปเพราะไม่ได้มาจากพรรคการเมือง และไม่มีส่วนได้ส่วนเสียอย่างใดทั้งสิ้น จากนี้ไปดิฉันอยากให้เน้นความสามัคคี กินข้าวหม้อเดียวกัน ไม่มีพวกเรา ไม่มีพวกเขา เรามีเวลาสำหรับวันนี้และอนาคต และมีเวลาบริหาร 12 – 18 เดือน ฉะนั้น การทำงานต้องยึดหลัก 4 ประการ คือ ทำงานโปร่งใส ลดความซ้ำซ้อนภายในกระทรวง มีการบูรณาการเชื่อมโยงกัน และต้องทำงานรวดเร็ว เพราะมีเวลาน้อย และดิฉันจะขอติดตามความคืบหน้าของงานในแต่ละส่วนทุกสัปดาห์ เพื่อให้เกิดผลของงานเร็วที่สุด”

กอบกาญจน์ วัฒนวรางกูร

เป็นวลีเด็ด ที่นางกอบกาญจน์กล่าวไว้ด้วยด้วยน้ำเสียงชัดถ้อยชัดคำ ก่อนจะแจ้งรายละเอียด เพื่อให้แต่ละหน่วยงานได้รับทราบ และเดินหน้าปฏิบัติไปในทิศทางเดียวกัน โดยขยายความนโยบายดำเนินการของ 4 ประการ กล่าวคือ

  1. ทำงานทุกขั้นตอนต้องโปร่งใส สามารถตรวจสอบได้
  2. ลดความซ้ำซ้อนการทำงานในกระทรวง จัดสรรการใช้งบประมาณให้เกิดประสิทธิภาพ หารือร่วมวางแผนทำงานพร้อมดำเนินการร่วมกับกระทรวงอื่นมากขึ้น
  3. บูรณาการทำงานร่วมกันทั้งในองค์กรภาครัฐและภาคเอกชนเพื่อตอบโจทย์ความต้องการได้ตรงจุด
  4. วางแผนการทำงาน โดยเน้นความรวดเร็วภายใต้ระยะเวลาอันสั้น โดยให้ทุกหน่วยงานนำเสนอแผนเป็นรายสัปดาห์ ไม่ใช่รายเดือน เพื่อให้รัฐมนตรีได้ติดตามความคืบหน้าการปฏิบัติงาน

“เนื่องจากรัฐบาลจะขอตรวจงานทุก 3 เดือน และมองว่าความรวดเร็วเป็นสิ่งสำคัญในการกระตุ้นให้นักท่องเที่ยวใช้จ่ายและเพิ่มจำนวนวันพักมากขึ้น พร้อมทั้งได้กำชับไปยังข้าราชการในกระทรวงให้ทำงานด้วยความสามัคคี”

ส่วนเป้าหมายรายได้จากภาคการท่องเที่ยว คุณกอบกาญจน์ ระบุว่า การที่อุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทย จะสร้างรายได้จากภาคการท่องเที่ยวในปี 2558 ที่ 2.2 ล้านล้านบาท มี 9 ประเด็นที่ต้องดำเนินการ เช่น

  1. มองว่าต้องกระจายรายได้ไปสู่ท้องถิ่นด้วย ไม่ใช่รายได้ตกอยู่ที่โรงแรมและร้านอาหารเท่านั้น
  2. ต้องกระจายแหล่งท่องเที่ยวจากจังหวัดใหญ่ไปยังจังหวัดรอง พร้อมหาแนวทางให้นักท่องเที่ยวใช้จ่ายเงินมากขึ้น
  3. สร้างสมดุลให้กับสิ่งแวดล้อม ไม่ใช่นักท่องเที่ยวมาจำนวนมาก แต่ขยะก็มากตามไปด้วย
  4. ปรับปรุงระบบให้บริการนักท่องเที่ยวที่สนามบิน เพื่อให้เกิดความประทับใจตั้งแต่แรกที่เดินทางถึงเมืองไทย โดยจะหารือกับสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองและสายการบินต่างๆ เพื่อช่วยเหลือตรงนี้ โดยเฉพาะปัญหาความล่าช้าการตรวจวีซ่าของ ตม.
    ในช่วงที่นักท่องเที่ยวมีจำนวนหนาแน่น ต้องหาทางออกโดยการลดระยะเวลาต่อคิว หรือแทบไม่ต้องต่อคิวเลย
  5. นำงบที่จัดกิจกรรมมาจัดสรร เพื่อพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวและสิ่งอำนวยความสะดวกแทน เช่น ห้องน้ำ
  6. สร้างความเชื่อมั่นให้กับนักท่องเที่ยวผ่านบุคลากร ทั้งที่เป็นอาสาสมัครนักท่องเที่ยวต่างชาติ รวมไปถึงตำรวจท่องเที่ยว ซึ่งปัจจุบันมีเพียง 800 คนทั่วประเทศ
  7. เร่งพัฒนามัคคุเทศก์เพื่อรองรับความต้องการ โดยร่วมกับกระทรวงศึกษาธิการ เพื่อปรับหลักเกณฑ์ของมัคคุเทศก์ว่าจำเป็นต้องจบปริญญาตรีเท่านั้นหรือไม่ เพื่อให้มัคคุเทศก์ท้องถิ่นมีโอกาสในการสร้างรายได้ และช่วยแก้ไขปัญหามัคคุเทศก์ทั้งในระยะสั้น และระยะยาว
  8. ส่งเสริมให้ไทยเป็นจุดหมายปลายทางของตลาดอาเซียนโดยผลักดันให้ไทยเป็น วีคเอนเดสซิเนชั่น ของตลาดอาเซียนเพื่อดึงให้เกิดการใช้จ่ายในช่วงวันหยุดสุดสัปดาห์
  9. ร่วมมือกับภาคเอกชนและสถาบันการศึกษาพัฒนาบุคคลากรอย่างไรก็ตาม ยังได้ร่วมมือกับกระทรวงวัฒนธรรมในการจัดทำภาพยนตร์โฆษณาเรื่องใหม่ เพื่อโปรโมทการท่องเที่ยวของไทยทั้งหมด 4 เรื่องๆ ละ 5 นาที

“หลังการประชุมรัฐมนตรีท่องเที่ยวเอเปกที่ มาเก๊า ซึ่งที่ประชุมต่างเห็นตรงกันว่า เทรนด์การท่องเที่ยวของโลกจะมุ่งสู่สมาร์ท ทัวร์ริซึ่ม หรือเท่ากับว่าข้อมูลทุกอย่างต้องเชื่อมโยงกับระบบออนไลน์ โดยทาง พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้มอบหมายลงทุนด้านสังคมออนไลน์สมัยใหม่ (ดิจิตอลอิโคโนมี) นอกจากนี้ ได้กำชับให้มุ่งทำการส่งเสริมพัฒนาตลาดคุณภาพ รวมถึงตลาดความสนใจเฉพาะ (นิชมาร์เก็ต) เช่น ท่องเที่ยวเชิงการแพทย์ กอล์ฟ สปา เพื่อเพิ่มจำนวนวันพัก เนื่องจากเป็นกลุ่มที่มีการใช้จ่ายสูง มุ่งทำการส่งเสริมพัฒนาตลาดคุณภาพ ส่วนนโยบายส่งเสริมการลงทุนแหล่งท่องเที่ยวแมนเมดขนาดใหญ่ หรือเมกะโปรเจกต์ เห็นว่าเนื่องจากเรามีเวลาทำงานเพียงแค่ 1 ปี คงจะไม่เน้นสร้างอะไรใหม่ๆ ใหญ่ยักษ์ พวกโครงการเมกะโปรเจกต์คงไม่มี แต่จะเน้นการบูรณาการทุกสิ่งที่มีอยู่แล้ว รวมทั้งงบประมาณที่ได้รับให้เกิดประสิทธิภาพมากที่สุด”

การท่องเที่ยวประเทศไทย

อย่างไรก็ตาม เป้าหมายสร้างรายได้ภาคการท่องเที่ยว 4 ล้านล้านบาทในปี 2561 ตามที่ สทท. ได้หวังไว้นั้น คุณกอบกาญจน์ ยอมรับว่าเป็นเป้าหมายที่สูงพอสมควร แต่ในมุมมองส่วนตัว ถ้าตอบในฐานะที่มาจากด้านธุรกิจ การตั้งเป้าที่ท้าทายไว้ก่อนถือเป็นเรื่องที่ดี และทำให้ทุกฝ่ายต้องไปให้ถึง และยอมรับอีกว่า การเข้ามาทำงานภายในระยะเวลาราว 1 ปีนั้น มีกรอบเวลาที่ค่อนข้างหนักใจ ดังนั้น การปฏิรูปอาจทำได้เพียงระดับหนึ่ง ยังไม่เห็นการเปลี่ยนแปลงแบบพลิกโฉม แต่จะเน้นให้ทุกฝ่ายเข้ามาร่วมมือและสามัคคีในการยกระดับอุตสาหกรรมท่องเที่ยวให้เป็นหลักของประเทศ เพราะเป็นวาระที่ทุกประเทศในอาเซียนต่างให้ความสำคัญเช่นกัน

ท้ายสุด คุณกอบกาญจน์ ได้เน้นย้ำการแก้ปัญหาทางการท่องเที่ยวที่สะสมมานานว่า จะต้องมีความคืบหน้าในการดำเนินการแก้ไข ไม่ว่าจะเป็นเรื่องโรงแรมที่ไม่ได้จดทะเบียนถูกต้องตามกฎหมาย จนทำให้เป็นอุปสรรคต่อการขึ้นราคาห้องพักของโรงแรมที่ได้รับมาตรฐาน เนื่องจากกลุ่มดังกล่าวจะเน้นทำการตลาดโดยชูเรื่องราคา ซึ่งจะต้องหารือเรื่องนี้เพื่อหาทางออกโดยด่วน รวมถึงปัญหาบริษัททัวร์ ไกด์เถื่อน รวมทั้งเรื่องความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของนักท่องเที่ยว ได้มีการพูดคุยกับหน่วยงานที่รับผิดชอบ เช่น ตำรวจท่องเที่ยว สมาคมท่องเที่ยวต่างๆ ในการบูรณาการแก้ไขปัญหาร่วมกัน ส่วนการยกเลิกกฎอัยการศึก เรื่องนี้นายกรัฐมนตรีและคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) จะพิจารณาตามความเหมาะสมในโอกาสต่อไป

ทั้งหมดนี้ คือ สาระสำคัญของรัฐมนตรีหญิงคนแรกของกระทรวงการท่องเที่ยวฯ แต่ในทางปฏิบัติจะสามารถบริหารงานได้ตรงใจภาคเอกชน หรือยกระดับภาคอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวไทยให้สามารถแข่งขันในภาวะที่แต่ละประเทศต่างหวังดึงรายได้จากภาคการท่องเที่ยวเข้าประเทศสูงได้มากน้อยเพียงใด ก็ขอยกเวทีนี้ให้พิสูจน์ฝีมือ

Leave a Reply

Or

Your email address will not be published. Required fields are marked *