Wed. Apr 24th, 2024
Co-Working Space สำนักงานแนวใหม่ เพื่อคนทำงานในยุค Startup เฟื่องฟู

Co-Working Space สำนักงานแนวใหม่ เพื่อคนทำงานในยุค Startup เฟื่องฟู

ในยุคที่ผู้คนสามารถใช้งานอินเทอร์เน็ตจากที่ใดก็ได้ที่สัญญาณไปถึง ทำให้รูปแบบการดำเนินชีวิตนั้นเปลี่ยนไปจากเมื่อก่อนมาก แน่นอนว่าพฤติกรรมในการประกอบสัมมาอาชีวะของหลาย ๆ คนก็ต้องปรับเปลี่ยนไปด้วยเช่นเดียวกัน หนุ่มสาววัยทำงานในปัจจุบันมีมุมมองในการประกอบอาชีพแตกต่างไปจากรุ่นพ่อแม่อย่างสิ้นเชิง ซึ่งสาเหตุที่เป็นเช่นนั้นก็เพราะความก้าวหน้าของเทคโนโลยีที่นำมาใช้เป็นเครื่องมือในการทำงานนั่นเอง

Co-Working Space สำนักงานแนวใหม่ เพื่อคนทำงานในยุค Startup เฟื่องฟู

ทุกวันนี้คนทำงานส่วนหนึ่งสามารถใช้คอมพิวเตอร์โน้ตบุ๊กหรือสมาร์ตโฟนเชื่อมต่อเข้าเครือข่ายอินเทอร์เน็ต เพื่อติดต่อประสานงานกับทีมงาน ลูกน้อง เจ้านาย หรือลูกค้า จนกระทั่งงานที่รับผิดชอบสำเร็จลุล่วงได้ตามเป้าหมาย ที่สำคัญ คือ พวกเขาแทบจะไม่ได้ใช้พื้นที่ของสำนักงานในการปฏิบัติงานเลย คำถาม คือ พนักงานเหล่านี้ใช้สถานที่ใดในการทำงาน

เมื่อก่อนหากกล่าวถึงคนทำงานที่รับงานส่วนตัว หลายท่านจะนึกถึง ฟรีแลนซ์ (Freelance) ฟรีแลนซ์เป็นกลุ่มคนที่ทำงานอิสระที่ไม่สังกัดบริษัทใด เมื่อรับงานมาแล้วก็มักจะอาศัยพื้นที่ในบ้านของตนเป็นสถานที่ทำงาน ในบางครั้งก็อาจเปลี่ยนบรรยากาศไปใช้พื้นที่ในคาเฟ่นั่งทำงานเงียบ ๆ นอกจากจะช่วยในเรื่องของสมาธิในการทำงานแล้ว ยังมีกาแฟหอม ๆ ไว้คอยกระตุ้นในยามที่ต้องการความกระฉับกระเฉงได้อีกด้วย ในช่วงที่เทคโนโลยีด้านอินเทอร์เน็ตยังไม่ก้าวหน้าเหมือนทุกวันนี้ ฟรีแลนซ์จึงจำกัดอยู่เฉพาะในบางสาขาอาชีพ เช่น นักเขียน นักประพันธ์ หรือนักออกออกแบบ กระทั่งปัจจุบันซึ่งเป็นช่วงที่อินเทอร์เน็ตนั้นเป็นมากกว่าการท่องโลกไซเบอร์เพื่อสืบค้นข้อมูล คำจำกัดความของฟรีแลนซ์จึงถูกขยายไปสายงานอื่น ๆ โดยเฉพาะกลุ่มคนทำงานที่เรียกตนเองว่า Startup

กลุ่ม Startup ส่วนใหญ่มักรวมไปด้วยผู้ที่อยู่ในสายงานด้านเทคโนโลยีเป็นหลัก ไม่ว่าจะเป็นสายงานด้าน Social Enterprise, Developer, Programmer, Graphic Designer, Digital Art และสายงาน Creative เป็นต้น รูปการทำงานกลุ่ม Startup จะเน้นการทำงานเป็นทีมมากกว่าฟรีแลนซ์ อันที่จริงแล้วผู้ที่อยู่ในสาขาอาชีพอื่นที่ไม่ใช่สายเทคโนโลยีโดยตรง หากมีการนำเทคโนโลยีมาใช้ในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ ก็จะหมายถึง Startup ได้เช่นเดียวกัน และเนื่องจากเป็นลักษณะของทีมงานทีมีมากกว่า 1 คน ดังนั้น พื้นที่ทำงานจึงต้องมีทรัพยากรที่จะมาสนับสนุนการทำงานให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น กล่าวคือ เครื่องไม้เครื่องมือในการทำงานจะต้องมีเพียงพอเทียบเท่ากับสำนักงาน และสถานที่ต้องสามารถรองรับการใช้เสียงได้ตามปกติ สามารถพูดคุยปรึกษาหารือหรือระดมความคิดได้ แน่นอนว่าสถานที่ลักษณะนี้จึงต้องเป็นมากกว่าคาเฟ่ทั่วไป ซึ่งเราเรียกสำนักงานชั่วคราวลักษณะนี้ว่า ‘Co-Working Space’ นั่นเอง

Co-Working Space เป็นสถานที่ที่ออกแบบมาเพื่อรองรับคนทำงานที่ต้องการพื้นที่ในการทำงานชั่วคราว ผู้ใช้บริการมักจะขอเช่าใช้เป็นรายชั่วโมง รายวัน รายเดือน หรืออาจจะเป็นรายปีแล้วแต่ Plan ของแต่ละแห่ง ปัจจุบันมี Co-Working Space เปิดให้บริการกว่า 20,000 แห่งทั่วโลก สำหรับในประเทศไทยนั้นอัตราการเกิดของ Co-Working Space อยู่ที่ 40.7 วัน ต่อ 1 แห่ง (อ้างอิงจาก https://www.coworkingresources.org/blog/key-figures-coworking-growth) ซึ่งถือว่ายังไม่มากนัก โดยจะกระจุกตัวอยู่ในพื้นที่ใจกลางย่านธุรกิจที่สามารถไปถึงได้ง่ายด้วยบริการขนส่งมวลชน เช่น รถไฟฟ้า

Co-Working Space สำนักงานแนวใหม่ เพื่อคนทำงานในยุค Startup เฟื่องฟู

ทั้งนี้ สาเหตุที่ Co-Working Space เริ่มได้รับความนิยมจากคนทำงานยุคใหม่มากขึ้น มาจากหลายปัจจัย ได้แก่

– รูปแบบของคนทำงานสมัยใหม่ให้ความสำคัญกับสถานที่ทำงานมากขึ้น พวกเขาต้องการสถานที่ที่ดูสวยงาม ทันสมัย ถูกออกแบบอย่างมีรสนิยม และมีความสะดวกสบายในการเดินทาง

– แน่นอนว่าบริษัทหลาย ๆ แห่งเริ่มที่จะสนับสนุนให้พนักงานไม่ต้องเข้าสำนักงาน อย่างที่ทราบกันดีว่าอาคารสำหรับเช่าทำสำนักงานนั้นมีค่าเช่าที่ค่อนข้างแพง อีกทั้งยังมีค่าใช้จ่ายในส่วนของสาธารณูปโภค ค่าจ้างพนักงานทำความสะอาด ค่าพนักงานดูแลความปลอดภัย ฯลฯ และต้องไม่ลืมว่าก่อนหน้านั้นเคยมีค่าตกแต่งสถานที่ รวมกันแล้วเป็นค่าใช้จ่ายที่ค่อนข้างสูง ซึ่งผู้เริ่มต้นธุรกิจอย่าง Startup ที่มีพนักงานเพียงไม่กี่คนจึงเลือกที่จะเช่าใช้ Co-Working Space เป็นที่ทำงานมากกว่า

– อย่างที่เรียนให้ทราบว่าแท้ที่จริงแล้ว Co-Working Space คือ สถานที่ทำงานชั่วคราวที่ออกแบบมาให้มีบรรยากาศที่น่าทำงาน มีแสงสว่างเพียงพอ มีเฟอร์นิเจอร์ไว้สำหรับใช้งานอย่างเพียงพอ

– อุปกรณ์สำนักงานสำหรับใช้สอยต้องมีไว้รองรับไว้อย่างเพียงพอ ไม่ว่าจะเป็นอุปกรณ์ Office Automation ต่าง ๆ เช่น ปรินท์เตอร์ เครื่องฉายโปรเจ็คเตอร์ หรือเครื่องถ่ายเอกสาร และสิ่งสำคัญที่ขาดไม่ได้ คือ อินเทอร์เน็ตความเร็วสูง ที่ผู้ใช้บริการสามารถต่อเชื่อมผ่าน Wi-Fi ได้โดยง่าย

– Co-Working Space ยอดนิยมมักจะมีโซนพื้นที่ที่สามารถรองรับคนทำงานได้หลายลักษณะ เช่น คนทำงานที่มานั่งทำงานคนเดียว ทีมงานกลุ่มเล็กที่มากัน 2 – 5 คน หรืออาจจะเป็นกลุ่มใหญ่มากกว่า 10 คนขึ้นไป อีกทั้งยังสามารถที่จะจำกัดโซนให้เป็นพื้นที่ส่วนตัวตามที่ผู้ใช้บริการต้องการได้

– มีกาแฟ อาหาร และเครื่องดื่ม ให้บริการอย่างเพียงพอ ทั้งผู้ใช้บริการยังสามารถนำเข้าไปเองได้อีกด้วย

– มีพื้นที่สันทนาการ เช่น พื้นที่เล่นกีฬาในร่ม เช่น ปิงปอง บิลเลียด หรือสนุกเกอร์ ซึ่ง Co-Working Space บางแห่งยังมีห้องสำหรับเล่นเกมคอมพิวเตอร์หรือเกมคอนโซลเพื่อให้ผู้ใช้บริการผ่อนคลายอีกด้วย

ด้วยรูปแบบการทำงานที่แปรผันไปตามธุรกิจที่ต้องพึ่งพาเทคโนโลยี จึงเชื่อแน่ว่าในอนาคต Co-Working Space จะได้รับความนิยมจากคนทำงานในยุคต่อไปมากขึ้นเรื่อย ๆ สำหรับท่านผู้ประกอบการ Co-Working Space อาจเป็นอีกหนึ่งธุรกิจที่น่าเข้าไปศึกษาหรืออาจจะนำไปปรับประยุกต์ใช้ในธุรกิจที่กำลังดำเนินการอยู่ได้เช่นกัน


ขอบคุณข้อมูลจาก : นิตยสาร Thai Hotels & Travel Vol.10 No.57

Leave a Reply

Or

Your email address will not be published. Required fields are marked *