Fri. Apr 26th, 2024
ผ่านร้อนผ่านหนาวไปกับ ‘แม่ฮ่องสอน’

ผ่านร้อนผ่านหนาวไปกับ ‘แม่ฮ่องสอน’

เชื่อว่าใครหลายคนที่มีใจรักการท่องเที่ยว มักจะเปรียบเปรย ‘ชีวิต’ เหมือน ‘การเดินทาง’ เพราะต้องพบต้องเจอผู้คนมากหน้าหลายตา ผ่านร้อนผ่านหนาวต่างๆ นานา รอยยิ้มและคราบน้ำตา คือของฝากที่ไม่อาจลืมเลือน

ขนาดชีวิตยังต้องผ่านร้อนผ่านหนาว แล้วการเดินทางเล่า?…เหตุใดบางสถานที่ เราถึงเลือกไปสัมผัสในช่วงหน้าหนาวเพียงเท่านั้น จะดีไหมหากเราเปิดใจรับความสดใสของบรรยากาศหน้าร้อนไปด้วย

‘Travel Trend Today’ ฉบับนี้ จึงขอพาคุณผู้อ่านเยือน ‘แม่ฮ่องสอน’ เมืองพันโค้ง อีกหนึ่งจุดหมายปลายทางที่ใครหลายคนวางแผนกระเตงกระเป๋าไปสัมผัสอากาศหนาวเย็นให้ชื่นฉ่ำปอด พร้อมแนะนำกิจกรรมท่องเที่ยวในหน้าร้อนที่ห้ามพลาดด้วยประการทั้งปวง

เริ่มกันที่จุดหมายแรก ‘ปางอุ๋ง’ เจ้าของสมญานาม ‘สวิตเซอร์แลนด์เมืองไทย’ ชื่อเต็มๆ คือ โครงการพระราชดำริปางตอง 2 ตั้งอยู่บนเนินเขาสูง ณ บ้านรวมไทย เดิมพื้นที่แห่งนี้เคยเป็นที่ปลูกฝิ่นของชาวเขา ต่อมาได้รับการพัฒนา อุดมไปด้วยไม้เมืองหนาว ภาพประทับใจที่อยากให้ทุกคนได้ถ่ายเก็บไว้ เป็นช่วงที่ไอหมอกโรยตัวหยอกเย้าทะเลสาบสร้างบรรยากาศโรแมนติกกับจังหวะที่ลำแสงอาทิตย์สาดส่องผ่านทิวสนสองใบที่ขึ้นเรียงรายตลอดแนวอ่างเก็บน้ำปางตอง สวยจนหยุดหายใจ คำว่า ‘สวรรค์บนดิน’ เป็นเช่นไร เข้าใจกันก็วันที่ได้ไปสัมผัสนี่เอง

ใครที่ชอบทะเลหมอก ปีนี้อย่าลืมปักหมุดไปเยือน ‘ห้วยน้ำดัง’ ตั้งอยู่บนเทือกเขาถนนธงชัย พื้นที่กว้างใหญ่ ครอบคลุมอำเภอปาย แม่ฮ่องสอน กับอำเภอแม่แตง เชียงใหม่ จุดชมวิวบริเวณห้วยน้ำดังที่เรียกว่า ‘ดอยกิ่วลม’ นั้น นับเป็นจุดชมวิวที่สวยงามอย่างยิ่ง ได้รับการโหวตให้เป็นจุดชมวิวรวมถึงทะเลหมอกที่สวยงามที่สุดแห่งหนึ่งของเมืองไทย

อีกจุดที่สวยจนลืมหายใจ คือ ‘อุทยานแห่งชาติน้ำตกแม่สุรินทร์’ อยู่ในอำเภอขุนยวมและอำเภอเมือง เป็นน้ำตกชั้นเดียวที่ไหลตลอดทั้งปี จากหน้าผาสูงชันสู่หุบเขาเบื้องล่าง ถือเป็นน้ำตกที่สวยงามและสูงที่สุดในแม่ฮ่องสอนราว 100 เมตร

จุดชมวิวน้ำตกแม่สุรินทร์มีด้วยกัน 2 จุด โดยจุดแรก สามารถชมจากศาลาชมวิวบนยอดดอยที่ทางอุทยานฯ เตรียมไว้ คุณจะเห็นน้ำตกจากระยะไกล และได้ยินเสียงกังวานก้องทั่วป่า ขณะที่อีกจุด คุณจะได้สัมผัสน้ำตกแม่สุรินทร์กันแบบใกล้ชิดมากขึ้น แต่การจะเข้าไปสัมผัสนั้นต้องใช้เวลาและความพยายามในการเดินลัดเลาะตามหุบเขา โดยมีเจ้าหน้าที่อุทยานฯ คอยทำหน้าที่เป็นเนวิเกเตอร์

หลังท่องเที่ยวกันอย่างเหน็ดเหนื่อย คุณผู้อ่านสามารถแวะเวียนไปที่ ‘ภูโคลน คันทรีคลับ’ ตรงโป่งเดือดแม่สะงา เพราะที่นี่เป็นแหล่งโคลนสุขภาพของเมืองไทย คุณภาพไม่น้อยหน้าใคร ติด 1 ใน 3 ของแหล่งโคลนระดับโลก เป็นแหล่งโคลนเดือดบริสุทธิ์สีดที่มาจากสายน้ำแร่ใต้ดิน ไม่มีกลิ่นกำมะถัน อุดมด้วยแร่ธาตุที่ช่วยบำรุงผิวพรรณและระบบไหลเวียนเลือดได้ดีมากๆ

หลังจากดื่มด่ำทะเลหมอก อากาศเย็นในฤดูหนาวที่จะมาเยือนนี้ อีกโปรแกรมที่ไม่อยากให้คุณผู้อ่านพลาด คือ งานประเพณีสำคัญของชาวแม่ฮ่องสอนในช่วงหน้าร้อน ซึ่งจะจัดขึ้นในช่วงต้นเดือนเมษายนของทุกปี มาร์ควงกลมใหญ่ๆ บนปฏิทินพร้อมกาดอกจันเจ็ดร้อยดอกเอาไว้ เพื่อเตือนตัวคุณเองว่ามันสำคัญมากเพียงใด เพราะงานประเพณีที่จะพาคุณไปสัมผัสนั้น คือ งานประเพณีที่มีชื่อว่า ‘ปอยส่างลอง’

ส่างลอง

ก่อนอื่น ขอให้แนะนำคำว่า ‘ปอยส่างลอง’ ให้ทราบกันก่อนว่าหมายถึงอะไร คำๆ นี้เป็นภาษาไทใหญ่ เกิดจากคำ 3 คำมาสมาสกัน ได้แก่ คำว่า ‘ปอย’ แปลว่า งาน ‘ส่าง’ สันนิษฐานว่าเพี้ยนมาจากคำว่า ‘สาง’ หรือ ‘ขุนสาง’ หมายถึง พระพรหมในหนังสือธรรมะของชาวไทใหญ่กล่าวถึงว่า “พระคณิตพรหมได้ถวายจีวรแก่เจ้าชายสิทธัตถะ ณ ริมฝั่งแม่น้ำอโนมา เมื่อคราวที่หนีออกไปบวช” อีกความหมายหนึ่ง มาจากคำว่า ‘เจ้าส่าง’ หมายถึง สามเณร ส่วนคำว่า ‘ลอง’ มาจากคำว่า ‘อลอง’ หมายถึง พระโพธิสัตว์หรือหน่อพุทธางกูร สรุป คือ เป็นประเพณีงานบวชลูกแก้วของชาวล้านนานั่นเอง

ความพิเศษของพิธีนี้ คือ การเตรียมงานนานนับเดือน บรรยากาศของการเตรียมงานสัมผัสได้ถึงแรงศรัทธาในพระพุทธศาสนาของชาวไทใหญ่ในแม่ฮ่องสอน ซึ่งมีความเชื่อว่า การให้ลูกชายได้อุทิศตนบรรพชาอุปสมบทจะเป็นผู้มีบุญอันยิ่งใหญ่

โดยเป็นการเลียนแบบเหตุการณ์ตามพุทธประวัติ ตอนที่พระพุทธเจ้าเสด็จกรุงกบิลพัสดุ์ เพื่อโปรดพระประยูรญาติ พระนางพิมพาจึงถือโอกาสอันปลอดโปร่งนี้ ‘แต่งองค์ทรงเครื่อง’ ให้พระราหุลกุมาร และส่งไปขอราชสมบัติจากพระองค์ แต่พระพุทธเจ้าทรงดำริว่า ราชสมบัตินั้นเป็นโลกียทรัพย์ไม่จีรัง อริยทรัพย์นั้นยั่งยืนกว่า ทรงรับสั่งให้บรรพชาราหุลกุมารเป็นสามเณรแทน เหตุการณ์ตามพุทธประวัติดังกล่าว ส่งผลให้ผู้เป็นเจ้าภาพจัดงานบวชยอมเสียสละสิ่งของ เงิน ทอง ซึ่งล้วนเป็นของนอกกาย บางครอบครัวเก็บหอมรอมริบมาเป็นปีๆ เพื่ออุทิศให้กับงานนี้โดยเฉพาะ

ขณะที่ ‘ส่างลอง’ ตัวน้อย จะถูกปลุกในตอนเช่ามืด ‘วันรับส่างลอง’ คนในครอบครัวจะช่วยกันแต่งองค์ทรงเครื่องกันแบบจัดเต็มไม่ว่าจะเป็นโจงกระเบนสีสดปล่อยชายด้านหลังยาวจับกลีบคาดด้วยเข็มขัดนาคหรือเงิน สวมเสื้อแขนกระบอกโค้งงอนเสื้อปักฉลุลา ดอกไม้สีต่างๆ บนศีรษะก็โพกผ้าแพรเกล้ามวยเสียบด้วยดอกไม้ เช่น ดอกเอื้องคำและอื่นๆ ตบท้ายด้วยการแต่งหน้าทาปากเขียนคิ้ว เมื่อแต่งองค์ทรงเครื่องเสร็จ พระสงฆ์ก็จะให้ศีลให้พร อบรมสั่งสอน ส่างลองก่อนเข้าศึกษาพระธรรมในช่วงฤดูร้อน

จากนั้น ปล่อยให้เป็นหน้าที่ของ ‘ตะแป ส่างลอง’ หรือผู้ให้ขี่คอนำส่างลองไปนมัสการสถานที่ศักดิ์สิทธิ์และบุคคลที่เคารพนับถือ ไม่ว่าจะเป็นศาลเจ้าพ่อหลักเมือง ศาลหลักเมือง เจ้าคณะจังหวัด และญาติผู้ใหญ่ที่เคารพนับถือ ความน่าตื่นตาตื่นใจเกิดขึ้นในเช้าวันรุ่งขึ้น หรือที่เรียกกันว่า ‘วันแห่ครัวหลู่’ (แห่เครื่องไทยทาน) ตั้งขบวนแห่ส่างลอง ความยาวขบวนร่วมกิโลเมตร เสียงกลอง ฆ้อง ฉาบ ดังประโคมไปทั่วถนนเส้นหลักรอบตัวเมืองแม่ฮ่องสอน เพื่อเอาฤกษ์เอาชัยกันสนั่นหวั่นไหว มุ่งหน้าสู่วัดจองคำพระอารามหลวง เรียกความคึกคักและรอยยิ้มของผู้มีจิตศรัทธาและนักท่องเที่ยว เหล่าส่างลองเองก็ได้สนุกสนานกันบนคอตะแปส่างลอง ก่อนต้องสงบกายสงบใจทำพิธีรับขวัญส่างลองในตอนเย็น ตบท้ายด้วยมหรสพสมโภชในช่วงกลางคืนของวันเดียวกัน ก่อนจะเข้าพิธีบรรพชาเป็นสามเณรในเช้าอีกวัน

เชื่อเหลือเกินว่าเสน่ห์ของแม่ฮ่องสอนทั้งยามร้อนยามหนาวจะดึงดูดให้ทุกคนได้มาสัมผัส และร่วมผ่านร้อนผ่านหนาวไปด้วยกันอย่างอิ่มเอม

Leave a Reply

Or

Your email address will not be published. Required fields are marked *