Sat. Apr 27th, 2024
พื้นที่เศรษฐกิจพิเศษ หนุนชุมชนสร้างรายได้ภาคท่องเที่ยว

พื้นที่เศรษฐกิจพิเศษ หนุนชุมชนสร้างรายได้ภาคท่องเที่ยว

ตามที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ใช้อำนาจตามมาตรา 44 มีคำสั่งให้เพิกถอนที่ดินจากป่าสงวนแห่งชาติ เขตป่าไม้ถาวร เขตปฏิรูปและที่ดินสาธารณะ ให้เป็นที่ราชพัสดุ 

เพื่อนำมาใช้เป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษ ระยะที่ 1 จำนวน 6 แห่งในพื้นที่ 5 จังหวัด ได้แก่ ตาก มุกดาหาร สงขลา สระแก้ว และตราด เรียบร้อยแล้ว และระยะที่ 2 อีก 5 จังหวัด ประกอบด้วย เชียงราย กาญจนบุรี หนองคาย นครพนม และนราธิวาส ซึ่งจะเริ่มการพัฒนาตั้งแต่ปี 2559 เป็นต้นไป

ภาพความชัดเจนของรัฐบาล ในการวางเป้าหมายพัฒนาพื้นที่ดังกล่าว นอกจากเกิดอานิสงส์ต่อภาคการลงทุนแล้วยังเอื้อ ประโยชน์ต่อภาคการท่องเที่ยวตามมาอย่างแน่นอน ถือเป็นการกระจายแหล่งท่องเที่ยวจากเมืองหลักสู่เมืองรองช่วยกระจายรายได้เข้าสู่ชุมชนมากยิ่งขึ้น

โดยคุณสมฤดี จิตรจง ผู้อำนวยการภูมิภาคภาคตะวันออกเฉียงเหนือ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ระบุว่าเมื่อมีเขตเศรษฐกิจพิเศษจะช่วยให้เกิดการเดินทางของกลุ่มนักลงทุน เพื่อการเจรจาทางธุรกิจ ยังส่งผลประโยชน์ทางอ้อมต่อภาคการท่องเที่ยว ช่วยในเรื่องจับจ่ายใช้สอย แต่หากจะเห็นผลชัดเจนมากยิ่งขึ้น รัฐบาลควรมีการประชาสัมพันธ์พื้นที่นั้นๆ เพราะถือเป็นการช่วยกระจายนักท่องเที่ยวอย่างภูมิภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จะมีเมืองจับคู่ระหว่างมุกดาหารของไทยกับสะหวันนะเขตของ สปป. ลาว ซึ่งปกติวันหยุดสุดสัปดาห์ จะมีนักลงทุนจากพื้นที่ดังกล่าว มาเที่ยวพักผ่อนที่มุกดาหารหรือจังหวัดใกล้เคียง เช่นเดียวกับเมืองคู่เวียงจันทร์ – อุดรธานี ซึ่งเป็นลักษณะเช่นนี้มาโดยตลอด และเมื่อการลงทุนในพื้นที่เป็นรูปธรรมมากขึ้น จะเกิดการเดินทางของนักลงทุนพร้อมการท่องเที่ยวมากขึ้นอย่างแน่นอน

แหล่งท่องเที่ยว

“ปัจจุบันการท่องเที่ยวภาคอีสาน ส่วนใหญ่ยังเป็นตลาดคนไทยเป็นหลัก แต่ปัจจุบันเริ่มมีความชัดเจนของแผนนี้ ส่งผลให้ตลาดนักท่องเที่ยวลาว กัมพูชา เวียดนาม ซึ่งปกติก็นิยมมาท่องเที่ยวในพื้นที่เมืองไทยอยู่แล้วก็มามากยิ่งขึ้น พร้อมกับจำนวนนักท่องเที่ยวและกำลังการใช้จ่ายที่เพิ่มสูงขึ้นเช่นกัน ขณะที่แผนดังกล่าว ส่งผลดีต่อโครงสร้างพื้นฐานในพื้นที่โดยรอบและใกล้เคียง ทั้งเรื่องการบริหารจัดการขยะ การพัฒนาถนน โรงพยาบาล ถือว่าส่งเสริมภาคการท่องเที่ยวอย่างมาก จากประเด็นดังกล่าว เริ่มเห็นสัญญาณการก่อสร้างโรงแรมมากขึ้น ซึ่งแผนการตลาดตลอดปี 2559 ททท.

จะเน้นสร้างการรับรู้มากขึ้น ชี้ให้เห็นว่าอีสานนอกจากมีวัดวาอารามที่สวยงาม ยังมีแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติอีกมาก สามารถรองรับการงานจัดประชุมสัมมนาขนาดใหญ่ควบคู่ไปกับการสะท้อนถึงแหล่งท่องเที่ยววิถีชุมชน ตั้งเป้าหมายภาพรวมการท่องเที่ยวภูมิภาคนี้เติบโต 7% จากปี 2558 พร้อมทั้งเพิ่มจำนวนวันเข้าพักของนักท่องเที่ยวเป็นคนละ 2.5 วัน จากปัจจุบันอยู่ที่ 1.9 วัน”

ขณะที่ คุณธมลวรรณ เรืองขจร ผู้อำนวยการ ททท. สำนักงานตาก แสดงความคิดเห็นไม่ต่างกันว่า ตามที่รัฐบาลประกาศให้แม่สอดเป็นพื้นที่เศรษฐกิจพิเศษ ทำให้นักลงทุนเกิดการเดินทางเพิ่มมากขึ้น แต่ ททท. ต้องดูการกระตุ้นภาคการท่องเที่ยวของรัฐบาลว่าจะส่งเสริมมากน้อยแค่ไหน แม้ปัจจุบันนักท่องเที่ยวจะมาเป็นจำนวนค่อนข้างมากอยู่แล้ว แต่โครงสร้างพื้นฐานหลายอย่างยังไม่เอื้ออำนวย เช่น ศักยภาพสนามบิน จนปัจจุบันมีเพียงสายการบินนกแอร์บินเพียงสายการบินเดียว วันละ 3 เที่ยวบิน และเป็นเครื่องเอทีอาร์ ขณะที่ความต้องการของนักลงทุนและนักท่องเที่ยวยังมีอยู่สูง ตรงนี้หากรัฐบาลมีแผนชัดเจนจะช่วยให้เกิดการเดินทางในพื้นที่แม่สอดและพื้นที่ใกล้เคียงเพิ่มเป็นอย่างมาก

“ในอนาคตแม่สอดคงเป็นอีกแหล่งพื้นที่เป้าหมายในการเดินทางของนักท่องเที่ยว เพราะเมื่อมาลงสนามบินเดินทางท่องเที่ยวแม่สอดแล้ว ยังเดินทางไปท่องเที่ยวพื้นที่ใกล้เคียงอื่นได้ ขณะที่ภาคธุรกิจโรงแรมก็จะเกิดการลงทุนก่อสร้างมากขึ้น โดยปัจจุบันพื้นที่จังหวัดตาก มีห้องพักที่ถูกต้องตามกฎหมาย 6.1 พันห้อง แต่หากนับเฉพาะพื้นที่แม่สอด จะมีห้องพัก 2.6 พันห้อง ททท. มองโอกาสของแหล่งท่องเที่ยวนี้และโดยรอบยังเติบโตได้อีกมาก สามารถรองรับการท่องเที่ยวที่ต้องการเน้นกระจายสู่เมืองรองได้เป็นอย่างดีอีกแห่งหนึ่ง”

เช่นเดียวกับคุณภาณุ วรมิตร ผู้อำนวยการ ททท. สำนักงานหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา กล่าวไม่ต่างกันว่า จากนโยบายรัฐบาลเรื่องดังกล่าว เป็นอานิสงส์ให้เกิดการกระจายของนักท่องเที่ยวที่เดิมมีเป้าหมายเที่ยวเฉพาะหาดใหญ่เป็นหลัก ก็หันไปเที่ยวพื้นที่อำเภอสะเดามากขึ้น แม้ปัจจุบันยังไม่เริ่มเห็นการลงทุนที่ชัดเจนจากรัฐ แต่ในพื้นที่เกิดการลงทุนบ้างแล้ว ขณะที่นักท่องเที่ยวส่วนใหญ่ยังคงเป็นมาเลเซีย สิงคโปร์ แต่ ททท. เอง จะใช้โอกาสนี้ สนับสนุนกิจกรรมต่างๆ ในพื้นที่สะเดามากขึ้น เช่น กิจกรรมตรุษจีนโดยดึงคนจีนในอินโดนีเซียมาท่องเที่ยว

ท่องเที่ยวพื้นที่เศรษฐกิจพิเศษ

“ปัจจุบันโรงแรมในพื้นที่มีประมาณ 2 – 3 พันห้อง และกำลังจะเกิดใหม่อีกประมาณ 2 – 3 แห่งๆ ละ 300 – 400 ห้อง การเข้าพักของนักท่องเที่ยวโดยเฉลี่ย 1 – 2 คืน ขณะที่อัตราค่าใช้จ่ายต่อคนต่อวันอยู่ที่ 3 พันบาท โดยจะเน้นหนักไปที่อาหารและเครื่องดื่ม เพราะที่พักในพื้นที่นี้ยังไม่แพงมาก เฉลี่ยคืนละพันกว่าบาท แต่หากพื้นที่เศรษฐกิจพิเศษเกิดขึ้นเต็มรูปแบบ เชื่อว่าอัตราการเติบโตทางการท่องเที่ยวจากอานิสงส์นี้จะเติบโตไม่ต่ำกว่า 5 – 10%”

นโยบายพื้นที่เศรษฐกิจพิเศษทั้ง 10 จังหวัด 11 พื้นที่ จากรัฐบาลชุดปัจจุบัน นอกจากจะส่งผลดีต่อภาคการลงทุนในการเป็นไม้ค้ำหลักของโครงสร้างเศรษฐกิจไทยแล้ว ยังเอื้อประโยชน์ต่อภาคการท่องเที่ยว ที่จะช่วยเสริมสร้างรายได้เข้าสู่พื้นที่มากยิ่งขึ้น จึงเป็นความหวังที่คนในวงการอุตสาหกรรมท่องเที่ยวต้องการเห็นผลในเร็ววัน

Leave a Reply

Or

Your email address will not be published. Required fields are marked *