Fri. Mar 29th, 2024
Adver THT

เทียบฟอร์มเปิดเมือง ‘ภูเก็ต vs บาหลี’‘Tourism Sandbox’ ปะทะ ‘Travel Corridor’

เกาะท่องเที่ยว 2 เกาะใหญ่แห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่แข่งขันฟาดฟันเพื่อแย่งชิงนักท่องเที่ยวต่างชาติกันมาแต่ไหนแต่ไร นั่นก็คือ ‘ภูเก็ต’ กับ ‘บาหลี’ ยิ่งในช่วงครึ่งปีหลังนี้ ต่างฝ่ายต่างพยายามโปรโมทเพื่อช่วงชิงความได้เปรียบในการดึงนักท่องเที่ยวต่างชาติ ฟื้นรายได้จากการท่องเที่ยวซึ่งถือเป็นเส้นเลือดใหญ่หล่อเลี้ยงเศรษฐกิจของทั้งสองเมือง

เริ่มกันที่ฝั่งภูเก็ตก่อน คุณก้องศักดิ์ คู่พงศกร นายกสมาคมโรงแรมไทยภาคใต้ กล่าวว่า ภูเก็ตเตรียมคิกออฟโครงการ ‘ภูเก็ต ทัวริสซึ่ม แซนด์บ็อกซ์’ (Phuket Tourism Sandbox) เริ่มวันที่ 1 กรกฎาคม 2564 ในฐานะพื้นที่นำร่องเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวต่างชาติที่ฉีดวัคซีนครบแล้วแบบไม่กักตัวเป็นพื้นที่แรกของประเทศไทย หลังได้รับสัญญาณบวกจากรัฐบาลว่าจะเดินหน้าโครงการฯ ต่อ โดยตั้งเป้าลดยอดผู้ติดเชื้อใหม่รายวันบนเกาะภูเก็ต ‘เป็นศูนย์’ ให้ได้ภายในสิ้นเดือนพฤษภาคมนี้ เพื่อสร้างความมั่นใจให้แก่ตัวพื้นที่เองและนักท่องเที่ยวต่างชาติ หลังจากภาครัฐและเอกชนท่องเที่ยวภูเก็ตบูรณาการความร่วมมือเพื่อขับเคลื่อนให้โครงการนี้เกิดขึ้นได้จริงตามหวัง

“ตอนแรกทางจังหวัดภูเก็ตเสนอต่อรัฐบาลว่าจะเปิดเมืองวันที่ 1 ตุลาคมนี้ เพื่อรับตลาดนักท่องเที่ยวต่างชาติหนีหนาว แต่รัฐบาลกลับชาเลนจ์ให้เปิดเมืองนำร่องตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคมนี้เลย โดยหนึ่งในกุญแจสำคัญ คือ การเร่งฉีดวัคซีนแก่ประชากรในภูเก็ตเพื่อสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ เพราะเรามองว่าวัคซีน คือ ทางรอดเดียวของภาคท่องเที่ยว”

เมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา คนภูเก็ตได้รับการฉีดวัคซีนครบ 2 เข็มแล้ว จำนวน 1 แสนคน (2 แสนโดส) คิดเป็น 22% ของประชากรภูเก็ต เกิดกระแสในจังหวัดภายใต้แคมเปญการสื่อสารแบบปากต่อปากว่า ‘ฉันฉีดแล้ว’ บอกเล่าว่าการฉีดวัคซีนไม่ใช่เรื่องน่ากลัวอย่างที่คิด ขณะที่เดือนพฤษภาคมนี้ภูเก็ตจะได้วัคซีนจากรัฐอีก 2 แสนโดส เพื่อฉีดเป็นเข็มแรกให้แก่อีก 2 แสนคน ทำให้มีสัดส่วนคนที่ฉีดวัคซีนแล้ว 44% ของประชากรภูเก็ต

นอกเหนือจากการเร่งฉีดวัคซีนแก่คนในจังหวัดภูเก็ตให้ได้ตามเป้าหมายประมาณ 4.6 แสนคน หรือที่ 9.2 แสนโดส โดยกว่า 93% ของประชากรเกี่ยวข้องกับภาคท่องเที่ยวและบริการ ทางจังหวัดภูเก็ตจะต้องจัดทำ ‘แผนพัฒนาภูเก็ตอย่างยั่งยืน’ เสนอต่อรัฐบาลด้วย ว่าภูเก็ตจะเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางไหน ในฐานะ ‘แม่เหล็ก’ ของภาคท่องเที่ยวไทย หลังจากวิกฤตโควิด-19 กระทบต่อเศรษฐกิจของจังหวัดมานานกว่า 1 ปี

“โรงแรมในภูเก็ตหลายแห่งรวมกว่า 80% ปิดให้บริการมาเป็นปี ตอนนี้ผู้ประกอบการท่องเที่ยวส่วนใหญ่อยู่ได้ด้วยเงินเก็บและเงินกู้ ไม่มีรายได้มายาไส้ แต่ก็ต้องจัดเตรียมแผนว่าจะเตรียมตัวอย่างไรบ้างเพื่อรองรับการกลับมาของนักท่องเที่ยวต่างชาติ ทั้งเรื่องการเปิดรับพนักงานอีกครั้ง การปรับปรุงโรงแรม และบริการอื่น ๆ”

โดยจุดที่ภาครัฐต้องช่วยแก้ปัญหา คือ เรื่องสาธารณูปโภคและสิ่งอำนวยความสะดวก เช่น น้ำ ไฟฟ้า และถนนซึ่งเป็น ‘Pain Point’ อันดับต้น ๆ ของภูเก็ต ด้วยการตัดถนนใหม่หลายเส้นทางและขยายผิวทางเพิ่มเติมเพื่ออำนวยความสะดวกในการสัญจร อีกจุดที่ต้องพัฒนา คือ ห้องน้ำตามชายหาดต่าง ๆ พร้อมศึกษาขีดความสามารถในการรองรับนักท่องเที่ยว (Carrying Capacity) ซึ่งจะต้องศึกษาเรื่องนี้ที่กระบี่และพังงาด้วย เพราะเป็นไปไม่ได้เลยที่ทั้ง 3 จังหวัดจะอยู่อย่างโดดเดี่ยว เพราะเป็นเส้นทางที่นักท่องเที่ยวมีการเดินทางเชื่อมโยงอย่างแนบแน่น

คุณก้องศักดิ์เล่าเพิ่มเติมว่า หลังจากเผชิญวิกฤตโควิด-19 ภาคท่องเที่ยวภูเก็ตอยู่ในโหมด On และ Off สลับกันมาตลอด แม้ที่ผ่านมาจะมีการส่งเสริมตลาดไทยเที่ยวไทย แต่ก็ช่วยเติมอัตราเข้าพักแก่โรงแรมในภูเก็ตได้เพียง 10% ของจำนวนห้องพักทั้งหมดเท่านั้น

บ่งชัดถึงความสำคัญของตลาดนักท่องเที่ยวต่างชาติ คาดว่าโครงการภูเก็ต ทัวริสซึ่ม แซนด์บ็อกซ์ จะช่วยสร้างรายได้การท่องเที่ยวในช่วงครึ่งปีหลังนี้ที่ 84,290 ล้านบาท และถ้าภูเก็ตประสบความสำเร็จ เมืองท่องเที่ยวอื่นๆ ในไทยก็น่าจะตามรอยความสำเร็จได้

ฟากบาหลี คุณซานเดียก้า อูโน่ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและเศรษฐกิจสร้างสรรค์แห่งสาธารณรัฐอินโดนีเซีย กล่าวว่า อินโดนีเซียคาดการณ์พร้อมเปิดเกาะบาหลีต้อนรับนักท่องเที่ยวต่างชาติปลายเดือนกรกฎาคม 2564 ภายใต้โครงการ ‘Travel Corridor’ เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจของอินโดนีเซีย

โดยเน้นแผนระยะแรกของการเปิดประเทศท่องเที่ยวแบบจับคู่เดินทาง ‘3B Travel Bubble’ ได้แก่ 3 เกาะสำคัญนำร่อง บาหลี (Bali) บาตัม (Batam) และบินตัน (Bintan) กับ 6 ประเทศที่ควบคุมการระบาดของโควิด-19 ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ได้แก่ เนเธอร์แลนด์ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ จีน สิงคโปร์ ยูเครน และโปแลนด์

แผนดังกล่าวได้ถูกเสนอให้กับคณะรัฐมนตรี หลังเดินหน้าโครงการฉีดวัคซีนป้องกันไวรัสโควิด-19 ที่รัฐบาลได้เริ่มต้นขึ้นเมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมา และสามารถควบคุมการระบาดของโควิด-19 ได้ในระดับที่น่าพอใจ โดยเฉพาะบาหลี ที่ปัจจุบันมีประชากรได้รับวัคซีนไปแล้วกว่า 7 แสนราย โดยกำลังเร่งฉีดวัคซีนให้ประชากรอีกราว 3 ล้านคน หรือ 70% ของจำนวนประชากรบนเกาะบาหลีทั้งหมด 4.4 ล้านคน เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ภายในเดือนที่เหลือก่อนการเปิดเกาะอีกครั้ง

นักท่องเที่ยวที่จะเดินทางมาท่องเที่ยวใน 3 เกาะสำคัญนำร่อง บาหลี บาตัม และบินตัน ต้องมีเอกสารรับรองการตรวจหาเชื้อโควิด-19 ทั้งก่อนและหลังการเดินทาง รวมถึงการกำหนดให้นักท่องเที่ยวใช้แอปพลิเคชัน ‘Telusur’ ติดตามตัวและเพื่อตรวจสอบหาเชื้อเพิ่มเติมหากจำเป็น พร้อมปฏิบัติตามมาตรการด้านสุขภาพอย่างเข้มงวด

โดยในเบื้องต้นรัฐบาลได้จัดสรรพื้นที่กรีนโซน (Green Zones) 5 เขตนำร่องสำหรับเปิดรับนักท่องเที่ยวในระยะแรก ได้แก่ เขตอูบุด (Ubud), ซานูร์ (Sanur) และนูซา ดัว (Nusa Dua) ซึ่งเป็นแหล่งท่องเที่ยวสำคัญของเกาะบาหลี และเขตบาตัม (Batam) บินตัน (Bintan) ของเกาะรีเยาซึ่งถือเป็นสามเหลี่ยมทองคำเชื่อมระหว่างอินโดนีเซีย มาเลเซีย และสิงคโปร์ โดยแต่ละเกาะจะรับเที่ยวบินไม่เกิน 2 เที่ยวต่อวันในช่วงแรกของโครงการนำร่อง และให้สิทธิถือวีซ่าแก่นักท่องเที่ยวไม่เกิน 60 วัน

ทั้งนี้ รัฐบาลอินโดนีเซียจะประเมินผลทุก 2 สัปดาห์ก่อนตัดสินใจว่าจะเปิดพื้นที่บนเกาะบาหลี เพื่อรับนักท่องเที่ยวเพิ่มเติมหรือไม่ในอนาคต ขณะเดียวกันหน่วยงานปกครองท้องถิ่นของบาหลีกำลังเตรียมรายชื่อโรงแรมสำหรับกักตัวโดยนักท่องเที่ยวต้องกักตัว 5 วันและต้องได้รับการตรวจหาเชื้อ (PCR Test) 2 ครั้ง โดยดูแลค่าใช้จ่ายทั้งหมดด้วยตนเอง

คุณณัฐินีฐิติ ภิญญาปิญชาน์ ผู้แทนภาคพื้นการท่องเที่ยวอินโดนีเซียประจำประเทศไทยและอินโดจีน เปิดเผยว่า ล่าสุดบาหลีครองแชมป์เป็นอันดับ 1 ของแหล่งท่องเที่ยวที่นักท่องเที่ยวทั่วโลกค้นหามากที่สุดและอยากไปเยือนมากที่สุดในช่วงเดือนมิถุนายน – ตุลาคม 2564 จากการสำรวจโดยบริษัท Online Travel Agent (OTA) ชื่อดังอย่าง Skyscanner เมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา

โดยสำนักงานสถิติแห่งชาติอินโดนีเซียรายงานว่า เกาะบาหลีต้อนรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ 7 แสนคนต่อเดือน ก่อนเกิดการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 อย่างไรก็ตาม จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่มาเยือนอินโดนีเซียลดลงราว 80 – 90% เมื่อปีที่ผ่านมา อันเป็นผลมาจากการระบาดใหญ่ดังกล่าว

ทั้งหมดนี้ คือ ความคืบหน้าของทั้งสองเกาะชื่อดัง ยังต้องติดตามว่าโมเดลการเปิดเมือง-เปิดประเทศเชื่อมท่องเที่ยวของทั้งภูเก็ตและบาหลีจะประสบความสำเร็จอย่างที่วาดฝันไว้หรือไม่ อีกไม่กี่เดือน รู้ผลแน่นอน!

ขอบคุณรูปภาพโดย : qimono จาก Pixabay , keulefm จาก Pixabay , alirazagurmani9272 จาก Pixabay

Leave a Reply

Or

Your email address will not be published. Required fields are marked *