หลังจาก Philips Lighting ได้ประกาศเปลี่ยนชื่อบริษัทเป็น ‘Signify’ เมื่อปี 2018 ที่ผ่านมา เพื่อแยกแบรนด์อย่างชัดเจนออกจากสินค้าเพื่อสุขภาพและครัวเรือน ภายใต้ Signify N.V. บริษัทแม่ที่อัมเสตอร์ดัมที่นับจากนี้จะมุ่งพัฒนานวัตกรรมระบบแสงสว่างโดยเฉพาะ ซึ่งถ้านับแค่ในประเทศไทยมีการประมาณว่าตลาดแสงสว่างมีมูลค่าราว 2.6 หมื่นล้านบาท/ปี โดยเป็นตัวเลขจากผลิตภัณฑ์หลอดไฟ โคม และอุปกรณ์เท่านั้น ยังไม่รวมระบบควบคุมหรือ IoT
ชื่อใหม่ ‘Signify’ มีคำแปลว่า มีนัย / มีความหมายว่า / บ่งชี้ / ส่อแสดง ซึ่งมาจากความตั้งใจของ CEO คุณ Eric Rondolat ที่ได้กล่าวไว้ว่า
“The choice of our new company name originates from the way light becomes an intelligent language, which connects and conveys meaning. It is a clear expression of our strategic vision and purpose to unlock the extraordinary potential of light for brighter lives and a better world.”
“ชื่อบริษัทใหม่นี้ มาจากแนวคิดที่ว่า ‘แสงสว่าง’ จะกลายมาเป็นอีกภาษาอันชาญฉลาด มันสามารถเชื่อมต่อและสื่อสารความหมายต่าง ๆ ได้ นี่คือการยืนยันวิสัยทัศน์ของเราต่อเจตจำนงค์ที่จะเผยศักยภาพอันน่ามหัศจรรย์ของแสงสว่างเพื่อสร้างโลกที่น่าอยู่ยิ่งขึ้น”
มาในปีนี้ Signify Commercial (Thailand) จึงโฟกัสการนำเสนอโซลูชั่นส์สำหรับองค์กรที่มีการใช้พลังงานแสงสว่างจำนวนมาก รวมถึงธุรกิจที่คุณภาพของแสงสว่างเป็นปัจจัยสำคัญ อาทิ โรงงานอุตสาหกรรม คลังสินค้า โรงพยาบาล โรงแรม อาคารสำนักงาน โดยในสำนักงานใหญ่ที่อาคารไทยซัมมิต ถนนเพชรบุรี มีสตูดิโอจัดแสดงแอพลิเคชั่นด้านแสงสว่างแห่งเดียวในประเทศไทย อาทิ
● ห้อง Workshop ที่จำลองสำนักงาน แสดงให้เห็นหลอดไฟปรับระดับความสว่างได้ตามแสงธรรมชาติระหว่างวัน สามารถใช้ร่วมกับสวิทช์ไฟที่ไม่ต้องเดินสายและไม่ต้องใช้แบตเตอรี่
● Philips Hue – ฟิลลิปส์ ฮิว ระบบแสงสว่างด้านความบันเทิงและการสร้างบรรยากาศ สามารถควบคุมได้จากระบบอินเตอร์เน็ท ปรับเปลี่ยนเฉดสีและจังหวะการส่องสว่างได้หลายรูปแบบ รองรับการบันทึกแสงสีที่ต้องการจากสถานที่จริงด้วยกล้องสมาร์ทโฟน สามารถใช้ได้กับทั้ง Home Entertainment และธุรกิจการจัดอีเวนท์
● จำลองห้องพักโรงแรมที่ติดตั้งระบบแสงสว่างเพื่อเสริมบริการและประสบการณ์ให้แก่แขกผู้มาพัก เช่น การปรับสีและความสว่างในห้องอัตโนมัติเพื่อให้การตื่นนอนเป็นไปอย่างธรรมชาติที่สุดโดยไม่ต้องใช้เสียงนาฬิกาปลุก เซนเซอร์จับการเคลื่อนไหวยามดึกเพื่อเลือกเปิดไฟนำทางสู่ห้องน้ำอย่างปลอดภัยและไม่รบกวนคนที่นอนข้าง ๆ การใช้ระบบ IoT ที่ติดตั้งกับหลอดไฟเพื่อเชื่อมต่อระบบการ check-in เข้าพัก การเปิดเครื่องปรับอากาศล่วงหน้า การรักษาความปลอดภัย หรือป้องกันการรบกวนจากแม่บ้าน โดยไม่ต้องเดินสายไฟให้ยุ่งยาก ฯลฯ
● สำหรับงานโรงแรม ยังมีการสาธิตแสงสว่างที่ช่วยเปลี่ยนผนังธรรมดาให้สามารถแสดงเรื่องราวหรือทิวทัศน์ภายนอกได้อย่างสมจริง และแสงสว่างบนทางเดินที่แสดงข้อความต้อนรับเป็นรูปและตัวอักษรแบบอัตโนมัติ
● ระบบแสงสว่างในห้างสรรพสินค้าที่ใช้ในการส่งเสริมสินค้าโปรโมชั่นด้วยแสงสีพิเศษที่จะทำงานเมื่อมีผู้ซื้อเดินเข้าใกล้
● การใช้แสงที่มีสีและความสว่างปรับเปลี่ยนได้ทุกวันให้เหมาะกับสินค้าต่าง ๆ ในร้าน ไม่ว่าจะเป็นเนื้อสัตว์ ผลไม้ ขนมปัง ฯลฯ
● หลอดไฟอัจฉริยะที่สามารถควบคุมสีและความสว่าง รวมทั้งมาพร้อมคุณสมบัติ IoT ในตัวโดยไม่ต้องเดินสายไฟ ช่วยสร้างระบบแผนที่นำทางภายในอาคารได้อย่างแม่นยำกว่าการอาศัยดาวเทียม ซึ่งสามารถประยุกต์ใช้ในห้างสรรพสินค้าในการแนะนำโซนโปรโมชั่นต่าง ๆ หรือการวัด Traffic ได้อีกด้วย
● ไฟถนน ไฟลานจอดรถ และไฟลานกีฬา สำหรับธุรกิจ Smart City เพื่อให้แสงสว่างช่วยสร้างความปลอดภัยได้อย่างคุ้มค่าและมีประสิทธิภาพสูงสุด
● นอกจากนี้ยังมีห้องสัมมนาเพื่อรองรับ System Integrators ด้านโรงงานอุตสาหกรรม เพื่อแสดงให้เห็นว่า IoT ในหลอดไฟฟิลลิปส์สามารถเชื่อมต่อกับ Devices และระบบต่าง ๆ ได้อย่างไร
สรุปว่า อุปกรณ์แสงสว่างต่อจากนี้ต้องทำได้มากกว่าแค่การส่องแสง มันจะมีส่วนร่วมในการพัฒนาคุณภาพชีวิตในทุก ๆ รายละเอียดด้วยเทคโนโลยีในการควบคุมแสงสว่าง ใช้พลังงานไฟฟ้าอย่างคุ้มค่า รวมถึงเชื่อมต่อสื่อสารแบบ Interactive ระหว่างคน เหตุการณ์ สภาพแวดล้อม
อย่างไรก็ตาม การเปลี่ยนแปลงระบบไฟฟ้าแสงสว่างสำหรับอาคาร โรงแรม หรือโรงงาน เป็นเรื่องใหญ่และใช้งบประมาณสูง หลายปีที่ผ่านมาประเทศไทยได้รับเอาหลอด LED จากต่างประเทศเข้ามาปริมาณมหาศาล ซึ่งต้องยอมรับว่าบางแบรนด์ก็คุณภาพดี ในขณะที่บางแบรนด์ก็เน้นราคาถูกที่สุดซึ่งแม้จะมาพร้อมกับการรับประกันเปลี่ยนหลอดฟรีแต่ก็ด้อยเรื่องการบริการ ซ้ำร้ายบางรายก็ปิดธุรกิจไปดื้อ ๆ ปล่อยให้ลูกค้าต้องเป็นธุระในการซ่อมบำรุงเอง
องค์กรที่เคยเจ็บจากหลอด LED ราคาถูก ๆ หรือถึงรอบ Replacement ใหญ่ในปีนี้ คงกำลังชั่งใจอย่างหนักว่าถึงเวลาใช้ระบบแสงสว่างอัจฉริยะหรือยัง เพราะเป็นการลงทุนที่สูงพอสมควร โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าใช้คู่กับหลอดหรือโคมของฟิลลิปส์ ซึ่งเป็นสินค้าเกรดพรีเมี่ยมสุดในตลาด (ตัวสินค้ายังใช้ชื่อฟิลลิปส์อยู่ แต่บริษัทเปลี่ยนชื่อเป็น Signify) ถ้าคุณลังเล เรามีคำแนะนำให้คุณไว้พิจารณา
จุดเด่นระบบแสงสว่างของ Signify
1. Signify ไม่ได้ผลิตแค่หลอดหรือโคม แต่มองงานด้านแสดงสว่างเป็น Platform ดังนั้น การใช้อุปกรณ์คู่กับระบบของ Signify จึงมีความลงตัว ใช้งานสะดวก มี UX/UI ที่เข้าใจผู้ใช้
2. รองรับการเชื่อมต่อระบบอื่น ๆ และอัพเกรดแอพลิเคชั่นใหม่ ๆ ในอนาคต ไม่มีลอยแพ
3. แม้หลอดและโคมจะราคาสูงกว่าแบรนด์อื่น ๆ แต่ก็แลกด้วยคุณภาพ การรับประกัน การบริการ และความไว้วางใจได้แน่นอน – ระหว่างหลอด LED ราคาถูกที่รับประกันเปลี่ยนฟรีแต่ไม่รู้ต้องรอกี่วัน และสำหรับบาง Site งานที่เพดานสูงมาก ๆ ต่อให้มีหลอดสำรองก็ไม่ใช่เรื่องงานที่จะเปลี่ยนด้วยตัวเอง
4. มี Reference sites ครบทุกแบบ ทั้งคลังสินค้า โรงงาน อาคารสำนักงาน ถนน สวนสาธารณะ โรงแรม ซุปเปอร์มาร็เก็ต ฯลฯ เพื่อเป็นแนวทางเปรียบเทียบจุดคุ้มทุนอย่างเป็นรูปธรรม
5. พลิกโฉมอุปกรณ์แสงสว่างเป็น IoT Devices สื่อสารด้วยระบบดิจิตอล การควบคุม เชื่อมต่อ สั่งการต่าง ๆ แทบไม่ต้องมีการเดินสายไฟ – ลองคิดดูว่าถ้าคุณต้องการจัดการพลังงานแสงสว่างแยกเป็นยูนิตย่อย ๆ จะต้องเดินสายไฟสายสัญญาณมากขนาดไหน ถ้าสายไหนเสียหายก็ล่มทั้งยูนิต ปัญหานี้เทคโนโลยี IoT ช่วยได้มหาศาล
ทางทีม Signify ประเทศไทยเองก็ดูจะเข้าใจความสงสัยของลูกค้าอย่างดี จึงได้นำเสนอโปรแกรม ‘Free Survey’ สำรวจและออกแบบโซลูชั่นส์แสงสว่างเบื้องต้นด้วยทีมวิศวกรและผู้วางระบบให้กับองค์กรที่สนใจ โดยไม่มีค่าใช้จ่าย ผู้บริหารจึงสามารถประเมินมูลค่าการลงทุนเทียบกับประโยชน์ที่จะได้รับก่อนตัดสินใจ
หากสนใจโครงการ ‘Free Survey’ สามารถติดต่อเพื่อขอนัดหมายได้ที่ เบอร์ 084-7000-141