Fri. Apr 26th, 2024
ท่องเที่ยว

“ท่องเที่ยว” หัวใจเศรษฐกิจอาเซียน เดินหน้าแบบไหนหลังโควิด-19

อุตสาหกรรมท่องเที่ยวถือเป็นแหล่งรายได้สำคัญของหลายประเทศในอาเซียน ทั้งจากความอุดมสมบูรณ์ของธรรมชาติ ไปจนถึงแหล่งท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม ที่ดึงดูดนักท่องเที่ยวหลายล้านคน แต่การแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้การเดินทางทั่วโลกหยุดชะงัก และกำลังพลิกโฉมการท่องเที่ยวไปอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน

ซีเอ็นเอ็นรายงานว่า ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา จำนวนนักท่องเที่ยวในกลุ่มประเทศอาเซียนเพิ่มสูงขึ้นอย่างก้าวกระโดด จากจำนวน 66 ล้านคน ในปี 2009 เป็น 133 ล้านคน ในปี 2019 โดยส่วนใหญ่เป็นการเพิ่มขึ้นของนักท่องเที่ยวจีน

รายงาน “ASEAN Key Figures 2019” ระบุตัวเลขนักท่องเที่ยวที่ทำการสำรวจว่าในปี 2018 “ประเทศไทย” มีจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติสูงที่สุดในอาเซียนราว 38.3 ล้านคน รองลงมาเป็น “มาเลเซีย” ที่ 25.8 ล้านคน, สิงคโปร์ 18.5 ล้านคน, อินโดนีเซีย 15.8 ล้านคน และเวียดนามอยู่ที่ 15.5 ล้านคน

แต่หลังการระบาดของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ตั้งแต่ปลายปี 2019 เป็นต้นมา ได้สร้างความเสียหายรุนแรงให้กับการท่องเที่ยวทั่วโลก โดยเฉพาะในอาเซียนที่มีเศรษฐกิจอิงอยู่กับภาคการท่องเที่ยวอย่างมหาศาล ซึ่งสมาคมส่งเสริมการท่องเที่ยวภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก (PATA) คาดว่า ความเสียหายจากการระบาดของโควิด-19 ต่ออุตสาหกรรมท่องเที่ยวในเอเชีย-แปซิฟิกจะสูงถึง 34,600 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

“ซูซาน เบกเคน” ผู้อำนวยการสถาบันการท่องเที่ยวกริฟฟิธ์ระบุว่า ในช่วง 20-30 ปีที่ผ่านมา จำนวนนักท่องเที่ยวในอาเซียน “ขยายตัวอย่างไม่น่าเชื่อ” เป็นผลจากการส่งเสริมภาครัฐที่ลดข้อจำกัดในการเดินทาง และภาคธุรกิจที่ทำโปรโมชั่นส่งเสริมการท่องเที่ยว รวมถึงตั๋วเครื่องบินราคาถูกที่เพิ่มจำนวนมากขึ้นด้วย

แต่ยุคหลังโควิด-19 พฤติกรรมของนักท่องเที่ยวจะเปลี่ยนแปลงไป โดยส่วนใหญ่อาจใช้จ่ายน้อยลงและใช้เวลาท่องเที่ยวในระยะสั้นกว่าเดิม ซึ่งประเทศต่าง ๆ ต้องทบทวนนโยบายส่งเสริมภาคการท่องเที่ยวภายในประเทศใหม่ ท่ามกลางสภาวะเศรษฐกิจทั่วโลกซบเซาต่อเนื่องหลังจากนี้

ไม่เพียงการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจเท่านั้น สถานการณ์โรคระบาดยังจะสร้างความเปลี่ยนแปลงของการท่องเที่ยวอาเซียนในด้านสิ่งแวดล้อม เนื่องจากที่ผ่านมาการเพิ่มจำนวนนักท่องเที่ยวแบบล้นทะลักได้ก่อให้เกิดมลภาวะและทำลายสิ่งแวดล้อมของสถานที่ท่องเที่ยวจำนวนมาก แต่การหยุดชะงักในช่วงโควิด-19 ส่งผลให้หลายแหล่งท่องเที่ยวเชิงธรรมชาติเริ่มฟื้นตัว

“จอห์น เปาโล อาร์ ริเวร่า” ผู้อำนวยการศูนย์การท่องเที่ยว ดร.แอนดรูแอลตัน ระบุว่า หน่วยงานต่าง ๆ ควรใช้โอกาสจากสถานการณ์ครั้งนี้ทำความสะอาดและจัดระเบียบแหล่งท่องเที่ยว รวมทั้งปรับรูปแบบธุรกิจให้สอดรับกับการท่องเที่ยวและรักษาการฟื้นตัวทางธรรมชาติอย่างยั่งยืนด้วย โดยเฉพาะการกำหนดแนวทางการท่องเที่ยวที่เหมาะสม และการออกแบบระบบการจัดการจำนวนนักท่องเที่ยวให้กระทบต่อสภาพแวดล้อมน้อยที่สุด

ก่อนหน้านี้เคยมีกรณีของ “เกาะโบราไกย์” ของฟิลิปปินส์ ที่เคยถูกคำสั่งให้ปิดเพื่อทำความสะอาดและฟื้นฟูครั้งใหญ่ในปี 2018 นาน 6 เดือน และได้เปิดเกาะอีกครั้งพร้อมจำกัดจำนวนนักท่องเที่ยวไม่เกิน 6,000 คน จากเดิม 19,000 คน รวมถึงการสั่งห้ามก่อสร้างที่พักใกล้ชายหาดในระยะ 30 เมตร เพื่อรักษาสภาพแวดล้อมทางทะเลด้วย

“วิลเลียม นีไมเจอร์” ผู้ก่อตั้งกลุ่มการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน YAANA Ventures แนะนำว่า เทคโนโลยีระบบการจองตั๋วล่วงหน้าผ่านระบบออนไลน์ เพื่อจำกัดผู้เข้าชมในสถานที่ท่องเที่ยวต่าง ๆ และการส่งเสริมแหล่งท่องเที่ยวแห่งใหม่เป็นสิ่งสำคัญที่สามารถช่วยลดความแออัดของนักท่องเที่ยวได้ โดยเฉพาะแหล่งท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์ที่เสี่ยงต่อการได้รับความเสียหาย

แม้ปัจจุบันยังคงไม่สามารถคาดเดาได้ว่าสถานการณ์แพร่ระบาดของโควิด-19 จะสิ้นสุดลงเมื่อใด และอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวจะใช้เวลายาวนานแค่ไหน จึงจะสามารถฟื้นตัวกลับมาสู่ระดับเดิมก่อนเกิดการระบาดของไวรัส แต่โจทย์สำคัญสำหรับอุตสาหกรรมท่องเที่ยวหลังยุคโควิด-19 คือ จะสามารถรักษาสมดุลระหว่างการรักษาสภาพของแหล่งท่องเที่ยวกับความเติบโตของอุตสาหกรรมท่องเที่ยวหลังจากนี้ได้อย่างไร

ที่มา : ประชาชาติธุรกิจ https://www.prachachat.net/world-news/news-492185

Leave a Reply

Or

Your email address will not be published. Required fields are marked *