Thu. Mar 28th, 2024
การท่องเที่ยว

รายได้ท่องเที่ยวหาย 2.15 ล้านล้าน ธุรกิจนิ่งสนิท โรงแรมจ่อปิดถาวร 20 %

สำหรับภาคอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของไทยที่ได้รับผลกระทบอย่างหนักจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 และแม้ว่ารัฐบาลจะผ่อนคลายให้คนไทยสามารถเดินทางท่องเที่ยวภายในประเทศได้ตามปกติแล้วแต่ผู้ประกอบการส่วนใหญ่ก็ยังคงได้รับผลกระทบหนักต่อเนื่อง

ระดมสมองฟื้น เศรษฐกิจ-ท่องเที่ยว

หนังสือพิมพ์มติชน, ข่าวสด และกลุ่ม CARE ได้จัดกิจกรรมในรูปแบบเวทีระดมความคิดเห็นเกี่ยวกับสถานการณ์การท่องเที่ยวในหัวข้อ Rescue Forum : Tourism “ระดมสมอง ฟื้นเศรษฐกิจ ชุบชีวิตท่องเที่ยว” สะท้อนสภาพปัญหาและทางออกของการท่องเที่ยวที่ได้รับผลกระทบจากไวรัสโควิด โดยผู้ทรงคุณวุฒิและตัวแทนของทั้งภาครัฐและเอกชนที่เกี่ยวข้องจำนวนมาก

ประกอบด้วย ดร.ศุภวุฒิ สายเชื้อ ผู้เชี่ยวชาญทางด้านเศรษฐกิจ, นายธเนศวร์ เพชรสุวรรณ รองผู้ว่าการด้านสื่อสารการตลาด การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.), นายแพทย์ธนรักษ์ ผลิพัฒน์ รองอธิบดีกรมควบคุมโรค, นายธรรศพลฐ์ แบเลเว็ลด์ ประธานกรรมการบริหาร กลุ่มบริษัทไทยแอร์เอเชีย,นางสาวศุภวรรณ ถนอมเกียรติภูมิ นายกสมาคมโรงแรมไทย, นางฐนิวรรณ กุลมงคล นายกสมาคมภัตตาคารไทย, ดร.สุมาลี ว่องเจริญกุล เลขาธิการสมาคมไทยธุรกิจการท่องเที่ยว (ATTA)

นายเด่น มหาวงศนันท์ เลขาธิการสมาคมธุรกิจท่องเที่ยวภายในประเทศ (สทน.) นางสาวอักษิกา จันทรวินิจ ตัวแทนกลุ่มผู้ประกอบการธุรกิจนวดเพื่อสุขภาพและสปาขนาดกลางและขนาดเล็ก,นายพิทักษ์ โยธา ประธานสมาคมจารวีเพื่ออนุรักษ์นวดแผนไทย ตัวแทนผู้ประกอบการธุรกิจนวดเพื่อสุขภาพสำหรับทัวร์จีนและร้านนวดในแหล่งท่องเที่ยว, นายธนวัฒน์ ศรีสุข ตัวแทนผู้ประกอบการสถานบันเทิงและกลุ่มศิลปินกลางคืน, นายสุรวัช อัครวรมาศ เลขาธิการสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (สทท.), ดร.ปรีชาวุฒิ กี่สิ้นตัวแทนจากจังหวัดภูเก็ต และนางสาวแอนนิต้า ลูทต์ จากแอร์บีแอนด์บี

โดยครั้งนี้ “ประชาชาติธุรกิจ” ได้นำเสียงสะท้อนของกลุ่มผู้ประกอบการท่องเที่ยวบางส่วนมานำเสนอไว้ดังนี้

รายได้ท่องเที่ยวหาย 2.15 ล้านล้าน

“ศุภวุฒิ สายเชื้อ” ผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐกิจมหภาค บอกว่า จากข้อมูลของกระทรวงการท่องเที่ยวฯระบุว่า ในช่วง 5 เดือนแรกที่ผ่านมา (ม.ค.-พ.ค.) ประเทศไทยมีรายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติ 3.32 แสนล้านบาท ลดลง 52.79% จากจำนวนนักท่องเที่ยว 6.69 ล้านคน มีรายได้จากไทยเที่ยวไทย 1.86 แสนล้านบาท ลดลง 59.09%

ทั้งนี้ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ยังคาดการณ์ว่าปีนี้นักท่องเที่ยวต่างชาติจะลดลงเหลือราว 8.16 ล้านคนทำให้คาดว่ารายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติปีนี้หายไป 1.5 ล้านล้านบาท ส่วนตลาดคนไทยเที่ยวไทยคาดว่าจะอยู่ที่ 70 ล้านคน-ครั้ง ลดลงจาก 166.8 ล้านคน-ครั้ง ในปีที่ผ่านมา ทำให้รายได้ลดลง 6.5 แสนล้านบาท ดังนั้น ในภาพรวมแล้วคาดว่ารายได้จากการท่องเที่ยวของไทยปีนี้จะหายไป 2.15 ล้านล้านบาท

อย่าคาดหวัง นักท่องเที่ยวต่างชาติ

“ธเนศวร์ เพชรสุวรรณ” รองผู้ว่าการด้านสื่อสารการตลาด ททท. บอกว่า จากความจำเป็นในการควบคุมการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด ทำให้ความคาดหวังจากนักท่องเที่ยวต่างชาติสำหรับปีนี้แทบจะเป็นไปไม่ได้ และก็ไม่สามารถเอารายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติมาทดแทนรายได้เที่ยวในประเทศเลย เพราะรายได้จากการเที่ยวภายในประเทศคิดเป็นสัดส่วนเพียงแค่ 1 ใน 3 ของรายได้รวม 3 ล้านล้านบาทเท่านั้นเรียกว่าตั้งแต่ช่วงนี้ไปถึงสิ้นปีขับเคลื่อนเต็มที่ขนาดไหนก็ทำได้เพียงแค่ผ่อนหนักให้เป็นเบาเท่านั้น

โรงแรมจ่อปิดตัวถาวรเพียบ

ด้าน “ศุภวรรณ ถนอมเกียรติภูมิ” นายกสมาคมโรงแรมไทย (THA) ยอมรับว่า อัตราการจองห้องพักเริ่มตกลงตั้งแต่ปลายปีที่แล้ว และเริ่มมาปรับตัวดีขึ้นในช่วงเดือนมกราคมปีนี้ กระทั่งจีนประกาศไม่ให้คนออกนอกประเทศในช่วงปลายเดือนมกราคม 2563 ส่งผลให้ตัวเลขอัตราการเข้าพักเดือนกุมภาพันธ์-มีนาคมเริ่มลดลง ทำให้มีตัวเลขอัตราการเข้าพักเฉลี่ยในช่วงไตรมาสแรกอยู่ที่ราว 40-45% ขณะที่เดือนเมษายน-พฤษภาคม โรงแรมประกาศปิดให้บริการชั่วคราวถึง 90-95% กระทั่งปัจจุบันที่มีมาตรการคลายล็อกแล้ว แต่ก็ยังมีโรงแรมอีกหลายแห่งที่ยังไม่พร้อมเปิดให้บริการ

“อัตราการเข้าพักที่เกิดขึ้นตอนนี้ไม่ใช่ตัวเลขจริง แต่เกิดจากการแห่เดินทางแค่ช่วงเวลาเดียว มีเพียงโรงแรมที่ใช้เวลาเดินทาง 2-3 ชั่วโมงเท่านั้นที่ได้รับอานิสงส์ ส่วนพื้นที่ในจังหวัดท่องเที่ยวไม่ว่าจะเป็นภูเก็ต เชียงใหม่ กระบี่ สุราษฎร์ฯ ยังเปิดให้บริการน้อยมากขณะที่โรงแรมในกรุงเทพฯยิ่งหนักมีอัตราการเข้าพักขยับไม่ถึง 10%”

หากรัฐไม่พิจารณาเพื่อเปิดประเทศให้นักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามาบ้างสิ้นปีนี้ อาจมีโรงแรมปิดถาวรไม่ต่ำกว่า 20% ถ้ารัฐบาลไม่ยื่นมือมาช่วย ธุรกิจท่องเที่ยวไทยคงไม่ใช่เส้นเลือดหลักของประเทศเราอีกต่อไปแน่นอน

เปิด Travel Bubble แก้วิกฤต

“ธรรศพลฐ์ แบเลเว็ลด์” ประธานกรรมการบริหาร กลุ่มบริษัทไทยแอร์เอเชียบอกว่า ธุรกิจสายการบินเป็นธุรกิจต้นน้ำที่ทำหน้าที่ขนส่งนักท่องเที่ยว สำหรับไทยแอร์เอเชียปัจจุบันมีเครื่องบิน 60 หยุดบินทั้งหมดในช่วงโควิด และเฟสแรกที่เปิดให้บริการเส้นทางภายในประเทศนั้นใช้เครื่องบินแค่ 5 ลำ เฟสที่สองเพิ่มเป็น 25 ลำ และคาดว่าถึงสิ้นปีก็คงใช้เครื่องบินแค่ 30 ลำ

ขณะที่ไทยแอร์เอเชียเอ็กซ์ มีเครื่องบิน6 ลำ ซึ่งเท่าที่ฟังข้อมูลหลาย ๆ ส่วนแล้วคาดว่าสำหรับเส้นทางระหว่างประเทศคงยังไม่สามารถบินได้อีกนานจึงอยากให้ทางกระทรวงสาธารณสุขและ ททท.พิจารณาว่าจะเปิดพื้นที่ท่องเที่ยวแบบ travel bubble ซึ่งจะเป็นสำหรับกลุ่มนักธุรกิจ หรือกลุ่มเดินทางทางการแพทย์ และกำหนดพื้นที่เดินทางและหลีกเลี่ยงการปฏิสัมพันธ์กับคนในพื้นที่อย่างไรที่ยังสามารถควบคุมไม่ให้เกิดความเสียหายเหมือนกับในหลาย ๆ ประเทศที่ทำอย่างไร เพราะถ้ายังกล้า ๆกลัว ๆ ธุรกิจก็ไม่รู้จะเดินต่ออย่างไร

“อยากเปิดเป็นการทดลองทำร่วมกันว่าเราสามารถเปิดได้หรือไม่ มาตรการที่มีอยู่เพียงพอไหม ที่สำคัญหากสามารถทดลองทำเฟสแรกได้ก็จะได้รู้ข้อมูล และปัญหาและแนวทางแก้ไขต่อไป”

สอดรับกับ “สุรวัช อัครวรมาศ” เลขาธิการสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (สทท.) ที่มองว่า เนื่องจากซัพพลายในภาคธุรกิจท่องเที่ยวส่วนใหญ่เป็นการลงทุนเพื่อรองรับนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติเป็นหลัก หรือมีสัดส่วนถึงราว 70% ของภาพรวมนั่นหมายความว่า หากรัฐบาลไม่มีความชัดเจนเรื่องการเปิดประเทศให้นักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้ามาผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมท่องเที่ยวก็ยังมองไม่เห็นอนาคตเช่นกันทางออกที่ดีที่สุดในขณะนี้คือ การเปิดท่องเที่ยวแบบ travel bubble จับมือกับเมืองที่มีความปลอดภัย โดยเท่าที่ทราบตอนนี้มีหลาย ๆ เมืองของจีน รวมถึงไต้หวัน ฮ่องกง มีความพร้อมแล้ว

แต่สำหรับประเทศไทยนั้นส่วนตัวมองว่า หากรัฐต้องการเปิดจังหวัดภูเก็ต ซึ่งเป็นเมืองที่พึ่งพารายได้จากการท่องเที่ยวสูงสุดเป็นพื้นที่นำร่อง หรือมีแผนเปิดในเมืองท่องเที่ยวอื่น ๆ รัฐควรทำประชาพิจารณ์ของประชาชนในพื้นที่ด้วย ว่ามีความพร้อมหรือไม่ เพื่อให้เดินหน้าเปิดได้อย่างเต็มที่

เช่นเดียวกับ “สุมาลี ว่องเจริญกุล” เลขาธิการสมาคมไทยธุรกิจการท่องเที่ยว (แอตต้า) ที่บอกว่า ที่ผ่านมาผู้ประกอบการธุรกิจนำเที่ยวอินบาวนด์ซึ่งเป็นสมาชิกของแอตต้าและถือเป็นหนึ่งในผู้ได้รับผลกระทบมากที่สุดจากวิกฤตการณ์ครั้งที่ผ่านมา เนื่องจากสถิตินักท่องเที่ยวแบบกรุ๊ปทัวร์ช่วงที่ผ่านมาเป็น 0 ติดต่อกันหลายเดือนแล้ว

ดังนั้นจึงอยากให้ภาครัฐพิจารณาการเปิด travel bubble ที่ยังคงเป็นความหวังของผู้ประกอบการท่องเที่ยวอินบาวนด์อีกครั้ง โดยเชื่อว่าประเทศไทยมีศักยภาพในการบริหารจัดการความเสี่ยงจากการแพร่ระบาดของเชื้อได้

ทุกซัพพลายเชนกระอัก

ไม่เพียงแค่กลุ่มธุรกิจขนาดใหญ่อย่างโรงแรมและสายการบินเท่านั้น ในกลุ่มธุรกิจที่เป็นซัพพลายเชนอื่น ๆ ด้านการท่องเที่ยวก็ได้รับผลกระทบต่อมาเป็นลูกโซ่เช่นกัน โดย “ฐนิวรรณ กุลมงคล” นายกสมาคมภัตตาคารไทย ให้ข้อมูลว่า ปัจจุบันกลุ่มธุรกิจร้านอาหารสร้างรายได้กว่า 20% ของรายได้จากการท่องเที่ยว 3 ล้านล้านบาท และมีแรงงานในภาคอุตสาหกรรมร้านอาหารประมาณ 3 ล้านคน แต่กลับไม่มีรัฐบาลไหนที่ให้ความสนใจอย่างแท้จริง ทำให้ร้านอาหารไม่สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุน และระบบประกันสังคมได้

ด้าน “อักษิกา จันทรวินิจ” ตัวแทนผู้ประกอบการธุรกิจนวดเพื่อสุขภาพและสปาขนาดกลางและขนาดเล็ก กล่าวว่า เนื่องจากผู้ประกอบการธุรกิจสปาเป็นธุรกิจขนาดเล็ก และไม่สามารถเปิดให้บริการโดยการหลีกเลี่ยงการสัมผัสและใช้ระยะเวลาที่น้อยกว่า 1 ชั่วโมงได้ทำให้ได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงจนผู้ประกอบการกว่า 60% ต้องปิดตัวไป

นอกจากนั้นความพยายามในการปรับตัวสู่การนวดดีลิเวอรี่ยังไม่เป็นผล เพราะผู้ใช้บริการไม่มีกำลังจ่ายเพียงพอสำหรับการแบกรับต้นทุนค่าเดินทางของช่างนวดได้ รวมถึงบริการนวดและสปายังเป็นบริการฟุ่มเฟือยที่ต้องอาศัยเวลาที่คนมีกำลังซื้อสูง ๆ มีรายได้พิเศษหรือเวลาพิเศษในการเจียดเวลามาดูแลตัวเอง ดังนั้นตอนนี้การใช้จ่ายในสปาและนวดของคนไทยจึงต่ำมากและตราบใดที่ยังไม่เปิดให้นักท่องเที่ยวเดินทางเข้ามาก็จะยังเป็นแบบนี้ต่อไป

เช่นเดียวกับ “พิทักษ์ โยธา” ประธานสมาคมจารวีเพื่ออนุรักษ์นวดแผนไทย ตัวแทนผู้ประกอบธุรกิจนวดเพื่อสุขภาพสำหรับทัวร์จีนและร้านนวดในแหล่งท่องเที่ยวที่กล่าวว่า ขณะนี้ผู้ประกอบการในกลุ่มได้ปิดให้บริการเกือบทั้งหมด เนื่องจากรับนักท่องเที่ยวต่างชาติทั้งหมด 100% ไม่มีลูกค้าคนไทยหลายคนที่พยายามมาทำตลาดคนไทยก็ยังได้รับผลกระทบ เพราะคนไทยส่วนใหญ่ก็ไม่มีกำลังจ่ายและตกงานจำนวนมาก จึงมองว่า การเปิด travel bubbleจะเป็นแนวทางที่ทำให้ผู้ประกอบการมีความหวังขึ้นมา จึงอยากขอให้รัฐบาลพิจารณาดูอีกครั้งว่าสามารถเริ่มผ่อนคลายบางส่วนได้หรือไม่

“ธนวัฒน์ ศรีสุข” ตัวแทนผู้ประกอบการสถานบันเทิงและกลุ่มศิลปินกลางคืนกล่าวว่า ธุรกิจกลางคืนถูกมองว่าเป็นธุรกิจสีเทา ทำให้ไม่ได้รับความช่วยเหลือและเยียวยาจากภาครัฐ แม้ว่าในอุตสาหกรรมจะมีจำนวนแรงงานมากกว่า 7 ล้านคน โดยที่ผ่านมาช่วงที่ถูกสั่งปิดบริการไม่สามารถกู้สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำจากรัฐได้แม้จะมีบัญชีถูกต้อง ตอนนี้แม้จะสามารถเปิดให้บริการได้แล้ว แต่ก็ยังต้องเผชิญกับกฎที่แปลกและทำให้หลายร้านไม่กล้าเปิดด้วยกังวลว่าจะผิดกฎหมาย สร้างความเข้มแข็งบริษัทไทย

อย่างไรก็ตาม ในส่วนของการท่องเที่ยวภายในประเทศ หรือ “ไทยเที่ยวไทย” ซึ่งเหลือเป็นความหวังเดียวของอุตสาหกรรมท่องเที่ยวในปีนี้ก็ยังคงดูไม่ค่อยสดใสนัก โดย “เด่น มหาวงศนันท์” เลขาธิการสมาคมธุรกิจท่องเที่ยวภายในประเทศ (สทน.) กล่าวว่า ตอนนี้ธุรกิจท่องเที่ยวทั้งหมดตายสนิท และไม่รู้จะสามารถกลับคืนมาดังเดิมได้หรือไม่อยากให้คนไทยเที่ยวในประเทศก็ไม่สามารถทำได้อย่างเต็มที่ เช่นโครงการพา อสม.เที่ยวฟรี ส่วนใหญ่ก็ยังไม่พร้อมที่จะออกเดินทางท่องเที่ยวกับกระบวนการที่ซับซ้อน ต้องเช็กอินเช็กเอาต์ตลอดเวลา

อย่างไรก็ตาม คาดว่างบประมาณจากโครงการ “เราเที่ยวด้วยกัน” จะเหลือจำนวนมาก และอยากจะขอให้พิจารณาแบ่งงบประมาณมาขับเคลื่อนการท่องเที่ยวในราคาโปรโมชั่นในคลัสเตอร์การท่องเที่ยวภายในประเทศและขับเคลื่อนแหล่งท่องเที่ยวชุมชนต่อไป

สอดรับกับ “สุรวัช อัครวรมาศ” เลขาธิการสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (สทท.) ที่กล่าวว่าปัญหาใหญ่ของอุตสาหกรรมท่องเที่ยวของไทยในวันนี้คือ ผู้ประกอบการคนไทยไม่เข้มแข็ง ไม่สามารถแข่งขันกับบริษัทโอทีเอข้ามชาติได้ นอกจากนี้ยังมีเรื่องของนอมินีอีกจำนวนมาก จึงอยากให้รัฐถือจังหวะของวิกฤตครั้งนี้จัดระเบียบท่องเที่ยวใหม่และสร้างความเข้มแข็งให้กับผู้ประกอบการไทยและส่วนตัวก็เชื่อว่ามาตรการกระตุ้นการท่องเที่ยวภายในประเทศในโครงการ

“เราเที่ยวด้วยกัน” ภายใต้งบประมาณ 2 หมื่นล้านบาทในครั้งนี้จะมีงบประมาณเหลือราว 7,000-8,000 ล้านบาท จึงอยากให้รัฐพิจารณา นำงบประมาณที่เหลือนี้มาช่วยสร้างความเข้มแข็งให้กลุ่มผู้ประกอบการท่องเที่ยวไทยให้สามารถเดินต่อไปได้

ที่มา : ประชาชาติธุรกิจ https://www.prachachat.net/tourism/news-492318

Leave a Reply

Or

Your email address will not be published. Required fields are marked *