Sat. Apr 27th, 2024
พลิกกลยุทธ์เจาะเอฟไอทีจีน เพิ่มรายได้ออนไลน์

พลิกกลยุทธ์เจาะเอฟไอทีจีน เพิ่มรายได้ออนไลน์

เข้าสู่ฤดูกาลทำรายได้ ‘ไฮซีซั่น’ ปลายปีกันอีกครั้ง หวังว่าจะเห็นสัญญาณการจองห้องพักฟื้นตัวบ้างแล้ว หลังได้รัฐบาลชุดใหม่มาบริหารประเทศ หนุนความเชื่อมั่นนักท่องเที่ยวต่างชาติกลับคืน 

โดยเฉพาะตลาดจีนที่ดูจะดีดกลับเร็วกว่าใคร เพราะทางคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้เข็นมาตรการอัดยาแรงยกเว้นค่าธรรมเนียมวีซ่าแก่ชาวจีนเป็นระยะเวลา 3 เดือน ตั้งแต่ 9 สิงหาคม – 8 พฤศจิกายนนี้ เพื่อกระตุ้นตลาดจีนให้กลับมาคึกคักอีกครั้ง หลังชะลอตัวไปตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมาจากสถานการณ์ความขัดแย้งทางการเมือง

ผู้เขียนได้มีโอกาสพูดคุยกับผู้ประกอบการธุรกิจท่องเที่ยวทั้งฝั่งไทยและจีนเมื่อในต้นเดือนกันยายนที่ผ่านมา พบว่า กระแสการจองทั้งตั๋วบินและห้องพักจากตลาดจีนถือว่าเริ่มฟื้นตัวดีขึ้นแล้ว โดยเฉพาะช่วงเทศกาลวันชาติจีน 1 ตุลาคมที่หยุดยาวนับ 10 วัน มียอดการจองที่ดีมากๆ อย่างการบินไทยมียอดจอง 100% แล้ว หลายๆ ฝ่ายจึงประเมินตรงกันว่าเดือนตุลาคมนี้น่าจะเห็นชาวจีนมาเที่ยวไทย 4 แสนคน

คุณไมเคิล ซ่ง อุปนายกสมาคม ผู้ประกอบการท่องเที่ยวแห่งประเทศจีน กำกับดูแลตลาดนักท่องเที่ยวขาออก (เอาต์บาวนด์) เล่าให้ฟังว่า จริงๆ แล้วค่าธรรมเนียมวีซ่าเข้าไทยที่ออกให้ชาวจีน 240 หยวนต่อคน ถือเป็นค่าใช้จ่ายที่ชาวจีนสามารถจ่ายได้เองอยู่แล้ว ไม่มีปัญหา แต่ยังติดเรื่องความมั่นใจว่าควรไปเที่ยวไทยช่วงนี้ดีหรือไม่ เพราะยังกังวลสถานการณ์การเมืองไม่แน่ใจว่ากลับมาเป็นปกติดีหรือยัง

แต่พอทางการไทยมีมติยกเว้นค่าธรรมเนียมวีซ่าเท่านั้น นักท่องเที่ยวจีนต่างรู้สึกว่าไทยได้ ‘ให้ใจ’ กับพวกเขา เห็นความสำคัญของพวกเขา พร้อมมองว่าตัวเองเป็นฝ่ายได้ ‘กำไร’ หากไม่มาเที่ยวไทยในช่วง 3 เดือนนี้ต้องรู้สึกเสียดายแน่ๆ แม้ส่วนตัวของคุณไมเคิลเอง จะมองว่าระยะเวลาของมาตรการนี้จะสั้นเกินไป แต่ก็ได้ส่งผลดีในเชิงจิตวิทยา ทำให้นักท่องเที่ยวแห่แหนจองแพ็คเกจทัวร์ไปไทย และทำให้บรรยากาศการท่องเที่ยวกลับมาดีเป็นปกติได้ในช่วงเทศกาลตรุษจีนต้นปีหน้า ซึ่งคาดว่าจะมียอดนักท่องเที่ยวจีนมากถึง 4.8 แสนคนในเดือนกุมภาพันธ์

เมื่อย้อนดูสถิติตัวเลขนักท่องเที่ยวแดนมังกรแล้ว พบว่าปี 2556 มีถึง 4.7 ล้านคน ขณะที่ปี 2557 ตลาดชะลอตัว คาดยอดแตะราวๆ 3.8 – 4 ล้านคน ส่วนแนวโน้มปี 2558 การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) คาดว่าจะมีนักท่องเที่ยวจีน 5.2 ล้านคน สร้างรายได้ 2.2 แสนล้านบาท ขณะที่ผู้ประกอบการท่องเที่ยวเห็นต่าง ประเมินว่าปีหน้าจะมีชาวจีนหลั่งไหลเข้าไทยมากกว่าที่ ททท. ประเมิน ไม่ต่ำกว่า 5.5 – 6 ล้านคน และคาดว่าจะทะลักเข้าไทยทะลุ 10 ล้านคน ใน 3 – 5 ปีนับจากนี้

ทางผู้ประกอบการท่องเที่ยว และ ททท. จำเป็นต้องร่วมมือกันพัฒนาสินค้าท่องเที่ยวในแหล่งท่องเที่ยวรอง เช่น หัวหิน กาญจนบุรี หาดใหญ่ และตรัง ให้ ‘เตะตา’ ชาวจีนมากกว่านี้ ไม่เช่นนั้นอาจเกิดปัญหาการกระจุกตัวในแหล่งท่องเที่ยวหลักอย่างกรุงเทพฯ พัทยา ภูเก็ต กระบี่ และเชียงใหม่ได้

อีกประเด็นสำคัญที่ผู้เขียนคิดว่าไม่ควรมองข้าม คือ ทิศทางการเติบโตของตลาดนักท่องเที่ยวกลุ่มเดินทางอิสระ (เอฟไอที) ชาวจีน ซึ่งคาดว่าภายใน 3 – 5 ปีข้างหน้า สัดส่วนการซื้อสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์จะเพิ่มขึ้นเป็น 20% จากปัจจุบันอยู่ที่ 15% โดยพฤติกรรมการซื้อสินค้าท่องเที่ยวจะเปลี่ยนไป นักท่องเที่ยวจะสนใจซื้อสินค้าแยกประเภทมากขึ้น โรงแรมอาจจะซื้อจากเว็บไซต์หนึ่ง ตั๋วเครื่องบินอาจจะซื้อจากอีกเว็บไซต์ โดยเน้นดูปัจจัยเรื่องราคาเป็นหลักเพื่อความคุ้มค่าเงิน

ผู้เขียนจึงอยากแนะนำให้ผู้ประกอบการโรงแรมรุกทำผ่านช่องทางออนไลน์อย่างจริงจัง เพื่อจับตลาดเอฟไอทีชาวจีน เริ่มด้วยการจับมือกับเจ้าของเว็บไซต์ขายสินค้าท่องเที่ยว ซึ่งส่วนใหญ่เป็นคนจีนรุ่นใหม่ที่เข้ามาทำธุรกิจนี้อย่างจริงจัง

โดยเฉพาะแถบเซี่ยงไฮ้ดูจะเป็นตลาดที่มีการจองออนไลน์มากที่สุด เนื่องจากพฤติกรรมของคนที่นี่จะคล้ายคลึงชาวยุโรปเพราะเป็นเมืองท่าสำคัญ สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจมหาศาลแก่จีนมาแต่ไหนแต่ไร ลองปักธงที่เซี่ยงไฮ้หยั่งเชิงตลาดก่อนเป็นไร น่าจะช่วยยกระดับราคาขายห้องพักได้ดีขึ้น พร้อมปรับโครงสร้างพอร์ตลูกค้าไปในตัว

นอกเหนือจากการเพิ่มราคาขายห้องพักแล้ว อีกปัจจัยที่จะช่วยเพิ่มรายได้ภาคการท่องเที่ยว คือ การเพิ่มจำนวนวันพัก ทาง ททท. ได้เล็งเห็นว่า พฤติกรรมนักท่องเที่ยวจีนนิยมราคาแพ็คเกจท่องเที่ยวที่ตั้งต้นไม่สูง แต่ยินดีจ่ายเพิ่มเพื่อซื้อ ออปชั่นทัวร์เมื่อมาถึงเมืองไทย ททท. จึงได้จับมือกับผู้ประกอบการนำเสนอสินค้าท่องเที่ยวให้ตรงใจและหลากหลาย ด้วยการให้ทดลองสินค้าก่อน ผู้ประกอบการโรงแรมเองก็สามารถลงมาเล่นเรื่องรายได้ได้ด้วยการนำเสนอกิจกรรมภายในโรงแรมแก่ชาวจีน เช่น การขายแพ็คเกจสปาควบห้องพัก ก็น่าจะเป็นอีกแนวทางหนึ่งที่ช่วยตอบโจทย์การเพิ่มรายได้ของโรงแรมได้

Leave a Reply

Or

Your email address will not be published. Required fields are marked *