Tue. Apr 23rd, 2024

ททท.ตรังชู 3 ยุทธศาสตร์รับ 5 อันดับเมืองไร้ฝุ่นอาเซียน-เร่งจัดกิจกรรมดึงนักท่องเที่ยว

ททท.ตรัง ชู 3 ยุทธศาสตร์ “อากาศ-อาหาร-อนุรักษ์” พัฒนาท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน หลังได้รับจัดอันดับ 5 เมืองไร้ฝุ่นในอาเซียน ส่งเสริมท่องเที่ยวเชิงนิเวศ เชิงสุขภาพ เชิงเกษตร กระจายรายได้สร้างเศรษฐกิจชุมชน

นางลดาวัลย์ ช่วยชาติ ผู้อำนวยการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) สำนักงานตรัง เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า จากการที่จังหวัดตรังได้รับการจัดอันดับ 5 เมืองไร้ฝุ่นในอาเซียน เหมาะแก่การท่องเที่ยวและฟอกปอด นอกจากนี้มีอาหารอร่อย ตลอดจนอุดมไปด้วยทรัพยากรการท่องเที่ยวทางทะเลและชายฝั่ง ทาง ททท.สำนักงานตรัง ได้มีการกำหนดยุทธศาสตร์ 3 อ. มาเป็นจุดขายทางด้านการท่องเที่ยว ภายใต้เป้าหมายพัฒนาการท่องเที่ยวจังหวัดตรังอย่างยั่งยืน ประกอบด้วย

ยุทธศาสตร์ที่ 1 เรื่องอากาศ เนื่องจากปัจจุบันประเทศไทยเกิดปัญหามลพิษทางอากาศที่รุนแรงมาก โดยเฉพาะ PM 2.5 ขณะที่อำเภอหาดสำราญ มีคุณภาพอากาศดีที่สุดในประเทศไทย จากการตรวจวัดโดยกรมควบคุมมลพิษ และภาพรวมจังหวัดตรังได้รับการจัดอันดับ 1 ใน 5 เมืองไร้ฝุ่นของอาเซียน ด้วยจุดแข็งหรือจุดที่โดดเด่นนี้ จึงได้กำหนดการท่องเที่ยวเชิงคุณภาพ เหมาะสำหรับการท่องเที่ยวและจัดกิจกรรม กีฬากลางแจ้ง

ยุทธศาสตร์ที่ 2 เรื่องอาหาร เมืองตรังเป็นเมืองรวมทุกเชื้อชาติ หลอมรวมอยู่กันอย่างเป็นเอกภาพมายาวนาน หากมองดูลึก ๆ อาหารของชาวตรังแบ่งออกเป็น 3 สาย คือ อาหารจีน อาหารไทย และอาหารมุสลิม แต่ละอย่างล้วนมีเรื่องราวของชาติพันธุ์ที่อยู่ร่วมกัน ทำให้เกิดวัฒนธรรมผสมผสานที่ไม่เหมือนใคร เช่น การกินน้ำชากับโรตี หรือหมูย่างเมืองตรัง ในทางวิชาการ คือ สิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (GI) คือ ที่อื่นทำไม่ได้ รสชาติไม่อร่อย เหมือนที่ตรัง หมูย่างเมืองตรังมาจากชาวจีนกวางตุ้งที่มาตั้งรกราก ด้วยความหลากหลายทางเชื้อชาติและวัฒนธรรมการกิน ททท.จึงได้นำยุทธศาสตร์ “ตรัง : ยุทธจักรความอร่อย” มาเป็นนโยบายในการกระตุ้นการท่องเที่ยวของจังหวัดตรัง

ยุทธศาสตร์ที่ 3 การอนุรักษ์ โดยตรังเป็นจังหวัดภาคใต้ฝั่งอันดามันที่อุดมไปด้วยทรัพยากรการท่องเที่ยวทางทะเลและชายฝั่ง มีความหลากหลายทางชีวภาพและความหลากหลายทางระบบนิเวศ พื้นที่อุทยานแห่งชาติหาดเจ้าไหมได้รับการประกาศให้เป็นพื้นที่แรมซาร์ไซต์ หรือพื้นที่ชุ่มน้ำที่มีความสำคัญระหว่างประเทศ ต่อมาได้รับการประกาศให้เป็นมรดกอาเซียน การที่จังหวัดตรังอุดมไปด้วยทรัพยากรการท่องเที่ยวทางทะเลที่สมบูรณ์ ถือได้ว่าเป็นแม่เหล็กตัวใหญ่ในการดึงดูดนักท่องเที่ยว ทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศ ให้เข้ามาท่องเที่ยวจังหวัดตรังเพิ่มมากขึ้นทุกปี

“ทาง ททท.สำนักงานตรัง ได้ให้ความสำคัญกับการท่องเที่ยวที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม โดยกำหนดจุดขาย ยุทธศาสตร์ด้านอนุรักษ์ ภายใต้กำหนดการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ และการท่องเที่ยวเชิงเกษตร ด้วยมุ่งหวังดึงนักท่องเที่ยวที่มีคุณภาพลงไปท่องเที่ยวและใช้จ่ายในชุมชน ตามโครงการท่องเที่ยวโดยชุมชน OTOP นวัตวิถี”

ที่มา : ประชาชาติธุรกิจ

https://www.prachachat.net/local-economy/news-424772

Leave a Reply

Or

Your email address will not be published. Required fields are marked *