Sat. Apr 20th, 2024

ไวรัสโคโรนากระทบยอดจดทะเบียนธุรกิจท่องเที่ยว

จับตาไวรัสโคโรนากระทบยอดจดทะเบียนธุรกิจท่องเที่ยว กรมพัฒนาธุกิจการค้าแนะเพิ่มกิจกรรมในต่างจังหวัดเพิ่มขึ้น ทั้งการอบรม จัดสัมมนา การลงพื้นที่ เพื่อช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ และทดแทนในส่วนรายได้ที่ขาดหายไปจากการท่องเที่ยว และหน่วยงานอื่น ๆ

นางโสรดา เลิศอาภาจิตร์ รองอธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กล่าวถึงการจดทะเบียนธุรกิจของกรมพัฒนาธุรกิจการค้า ประจำเดือนม.ค. 2563 ว่า มีผู้ประกอบธุรกิจยื่นขอจดทะเบียนจัดตั้งห้างหุ้นส่วนบริษัทใหม่ทั่วประเทศ จำนวน 6,942 ราย เพิ่มขึ้น 120% เมื่อเทียบกับเดือนธ.ค.2562 ที่ผ่านมา และลดลง 5% เมื่อเทียบกับเดือนม.ค.2562 แต่ก็ถือเป็นยอดตั้งใหม่ที่สูง มีมูลค่าทุนจดทะเบียนรวม 16,256 ล้านบาท ประเภทธุรกิจจัดตั้งใหม่สูงสุด 3 อันดับแรก ได้แก่ ธุรกิจก่อสร้างอาคารทั่วไป จำนวน 633 ราย คิดเป็น 9% รองลงมา คือ ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ จำนวน 351 ราย คิดเป็น 5% และอันดับ 3 คือ ธุรกิจภัตตาคาร ร้านอาหาร จำนวน 225 ราย คิดเป็น 3% ธุรกิจจัดตั้งใหม่แบ่งตามช่วงทุน โดยช่วงทุนที่มีจำนวนรายธุรกิจจัดตั้งใหม่ทั่วประเทศมากที่สุด ได้แก่ ช่วงทุนไม่เกิน 1 ล้านบาท มีจำนวน 5,008 ราย คิดเป็น 72.14% รองลงมา คือช่วงทุนมากกว่า 1-5 ล้านบาท จำนวน 1,833 ราย คิดเป็น 26.40% รองลงมา คือช่วงทุนมากกว่า 5-100 ล้านบาท มีจำนวน 90 ราย คิดเป็น 1.30% และช่วงทุนมากกว่า 100 ล้านบาท จำนวน 11 ราย คิดเป็น 0.16%

ส่วนธุรกิจเลิกประกอบกิจการเดือนม.ค. มีจำนวน 1,407 ราย ราย เทียบกับเดือนธ.ค.2562 ที่ผ่านมา ลดลง 75% เพราะเดือนธ.ค.2562 ที่มีจดเลิกจำนวนมากเนื่องจากเอกชนไม่ต้องการส่งงบการเงินประจำปี 2563 และเมื่อเทียบกับเดือนม.ค.2562 เพิ่มขึ้น 0.4% ซึ่งถือเป็นค่าเฉลี่ยปกติ ไม่มีอะไรน่ากังวลหรือมีนัยยะพิเศษโดยมีมูลค่าทุนจดทะเบียนจำนวน 3,900 ล้านบาท ประเภทธุรกิจเลิกประกอบกิจการสูงสุด 3 อันดับแรก ได้แก่ ธุรกิจก่อสร้างอาคารทั่วไป จำนวน 150 ราย คิดเป็น 11% รองลงมาคือ ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ จำนวน 72 ราย คิดเป็น 5% และธุรกิจภัตตาคาร / ร้านอาหาร จำนวน 40 ราย คิดเป็น 3 % โดยช่วงทุนที่มีจำนวนรายธุรกิจเลิกประกอบกิจการทั่วประเทศ มากที่สุด ได้แก่ ช่วงทุนไม่เกิน 1 ล้านบาท จำนวน 992 ราย คิดเป็น 70.50% รองลงมาคือช่วงทุนมากกว่า 1- 5 ล้านบาท จำนวน 350 ราย คิดเป็น 24.88% ลำดับถัดไปคือช่วงทุนมากกว่า 5-100 ล้านบาท จำนวน 61 ราย คิดเป็น 4.34% และช่วงทุนมากกว่า 100 ล้านบาท มีจำนวน 4 ราย คิดเป็น 0.28%

สำหรับธุรกิจที่ยังคงดำเนินกิจการอยู่ทั่วประเทศ จำนวน751,662 ราย มูลค่าทุน 18.40 ล้านล้านบาท จำแนกเป็นห้างหุ้นส่วนจำกัด / ห้างหุ้นส่วนสามัญนิติบุคคล จำนวน 184,996 ราย คิดเป็น 24.61% บริษัทจำกัด จำนวน 565,408 ราย คิดเป็น 75.22 % และบริษัทมหาชนจำกัด จำนวน 1,258 ราย คิดเป็น 0.17% โดยธุรกิจส่วนใหญ่มีช่วงทุนไม่เกิน 1 ล้านบาท จำนวน 443,706 ราย คิดเป็น 59.03% รวมมูลค่าทุน 0.39 ล้านล้านบาท คิดเป็น 2.12% ช่วงทุนมากกว่า 1-5 ล้านบาท จำนวน 221,260 ราย คิดเป็น29.44% รวมมูลค่าทุน 0.73 ล้านล้านบาท คิดเป็น 3.97% รองลงมา คือ ช่วงทุนมากกว่า 5-100 ล้านบาท จำนวน 71,104 ราย คิดเป็น 9.๔๔% รวมมูลค่าทุน 1.93 ล้านล้านบาท คิดเป็น 10.49% และช่วงทุนมากกว่า 100 ล้านบาท จำนวน 15,592 ราย คิดเป็น 2.07% รวมมูลค่าทุน 15.35 ล้านล้านบาท คิดเป็น 83.42%

“แนวโน้มการจดทะเบียนตั้งใหม่ในปี 2563 กรมฯ มั่นใจว่าจะมีการจดทะเบียนเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง โดยยอดทั้งปีน่าจะทำได้ 71,000-73,000ราย โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากเศรษฐกิจฟื้นตัว รัฐบาลมีนโยบายในการสนับสนุนธุรกิจขนาดกลางและเล็กแต่ก็ต้องระวังปัจจัยเสี่ยง เช่น การระบาดไวรัสโควิด-19 ที่อาจจะส่งผลกระทบต่อการจดทะเบียนตั้งธุรกิจใหม่ โดยเฉพาะธุรกิจที่เกี่ยวกับการท่องเที่ยวที่อาจจะมีจำนวนลดลง ทั้งนี้ก็ต้องรอดูตัวเลขการจดทะเบียนบริษัทเดือนก.พ.2563 ว่าจะเป็นอย่างไร แต่เชื่อว่าน่าจะเป็นระยะสั้น เพราะหากสถานการณ์คลี่คลาย ทุกอย่างก็จะกลับเข้าสู่ภาวะปกติ” นางโสรดา กล่าว

อย่างไรก็ตาม ในส่วนของกรมฯ ได้มีมาตรการช่วยเหลือธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยว ทั้งโรงแรม ภัตตาคารและร้านอาหาร รวมถึงธุรกิจอื่น ๆ แล้ว โดยจะเพิ่มการจัดกิจกรรมในต่างจังหวัดเพิ่มขึ้น ทั้งการอบรม จัดสัมมนา การลงพื้นที่ เพื่อช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ และทดแทนในส่วนรายได้ที่ขาดหายไปจากการท่องเที่ยว และหน่วยงานอื่น ๆ ในกระทรวงพาณิชย์ ก็จะดำเนินการในลักษณะเดียวกัน ทั้งนี้ อยากจะฝากถึงหน่วยงานเอกชน ขอให้ดำเนินการด้วย เพื่อช่วยเหลือธุรกิจคนไทยที่ได้รับผลกระทบจากการท่องเที่ยวที่ลดลงด้วย

ที่มา : ฐานเศรษฐกิจ

https://www.thansettakij.com/content/Macro_econ/422678

Leave a Reply

Or

Your email address will not be published. Required fields are marked *