Thu. May 2nd, 2024
ICO การระดมทุนด้วยเหรียญ Cryptocurrency

ICO การระดมทุนด้วยเหรียญ Cryptocurrency

สืบเนื่องจากบทความเมื่อตอนที่แล้วที่ผู้เขียนได้กล่าวถึงเงินสกุลดิจิทัลที่เรียกกันว่า Cryptocurrency ซึ่งเป็นสกุลเงินใหม่ที่กำลังค่อย ๆ ก้าวเข้ามาในระบบ เงินสกุลนี้ผู้ใช้ไม่จำเป็นต้องพกพาใส่กระเป๋าไปไหนต่อไหนให้ลำบาก ไม่ต้องกลัวว่าตัวเงินจะชำรุดหรือสูญหาย เพราะจะมีเพียงตัวเลขให้เจ้าของเงินรับรู้ ขอเพียงมีคอมพิวเตอร์หรืออุปกรณ์สื่อสารพกพาที่เชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตได้ก็สามารถจับจ่าย ซื้อของ โอนเงิน หรือทำธุรกรรมกับผู้อื่นได้โดยง่าย

และสิ่งที่เหนือกว่าเงินสกุลปกติก็คือการทำธุรกรรมใด ๆ ที่ไม่ต้องผ่านตัวกลาง อย่างเช่น ธนาคาร ซึ่งทำให้มีค่าธรรมเนียมในการทำธุรกรรมน้อยมาก ที่สำคัญการโอนเงินไปยังผู้รับใช้เวลาน้อยมากในระดับวินาทีแม้ปลายทางจะอยู่อีกฟากหนึ่งของโลกก็ตาม

แท้ที่จริงแล้วเบื้องหลังของ Cryptocurrency นั้นมีเทคโนโลยีที่เรียกว่า Blockchain มาเป็นตัวควบคุมการทำงานอีกทีหนึ่ง เรียกได้ว่าหากขาดซึ่ง Blockchain แล้ว Cryptocurrency ก็จะไม่สามารถเกิดขึ้นหรือดำเนินการต่อไปได้ เทคโนโลยี Blockchain ยังถูกนำไปพัฒนาระบบบริการอื่น ๆ ที่ใช้งานผ่านอินเทอร์เน็ตอีกหลายโครงการ แน่นอนว่าแพลตฟอร์มที่นำเทคโนโลยี Blockchain มาใช้จะมีเสถียรภาพและความน่าเชื่อถือ เพราะข้อมูลที่ผู้ใช้ส่งผ่านไปมาบนแพลตฟอร์มเหล่านี้มีความปลอดภัยสูงมากจนถึงขนาดที่ว่าไม่สามารถแฮกได้ ในปัจจุบันได้มีการนำเทคโนโลยี Blockchain มาใช้ในการพัฒนาแพลตฟอร์มระบบบริการต่าง ๆ มากมายไม่ว่าจะเป็นการนำมาใช้ในงานด้านลอจิสติกส์ การเงินการธนาคาร การปล่อยสินเชื่อ การนำไปใช้ยืนยันข้อมูลสำมะโนประชากร กระบวนเลือกตั้ง หรือนำไปใช้กับการทำงานของ Cryptocurrency ดังที่กล่าวมาเป็นต้น

แน่นอนว่าเงินสกุลดิจิทัล Cryptocurrency คือ หนึ่งในความสำเร็จของการนำเทคโนโลยี Blockchain มาใช้ และต้องยอมรับว่าเงินสกุลนี้ได้รับความสนใจอย่างมากในช่วงสองปีที่ผ่านมา แม้ว่าในช่วงเริ่มต้นอาจจะมุ่งไปในเรื่องของการซื้อเก็งกำไร Cryptocurrency เพื่อเทรดขายในตลาดซื้อขายเงินดิจิทัล หรือ Cryptocurrency Exchange โดยเหล่านักลงทุนก็ตาม กระทั่งปัจจุบันแม้การเทรดขายเหรียญ Cryptocurrency จะอยู่ในสภาวะคงตัว แต่ Cryptocurrency ก็ยังมีเงินดิจิทัลสกุลใหม่ ๆ เพิ่มเข้ามาอีกหลายสกุล และส่วนใหญ่ก็เกิดมาจากการระดมทุนของผู้ประกอบการรายใหม่ หรือ Startup โดยการสร้างเหรียญ Cryptocurrency สกุลใหม่ เพื่อให้นักลงทุนเข้ามาซื้อ โดยคาดหวังว่าเมื่อผลประกอบการเป็นไปตามเป้า เหรียญดิจิทัลนี้ก็จะมีมูลค่าเพิ่มขึ้นทำให้ผู้ที่ซื้อเหรียญไปมีกำไรเกิดขึ้นเมื่อนำไปเทรดขายในตลาดซื้อขายเงินดิจิทัล วิธีระดมทุนลักษณะนี้เรียกกันว่า Initial Coin Offering หรือ ICO นั่นเอง

ICO การระดมทุนด้วยเหรียญ Cryptocurrency

อย่างที่เรียนให้ทราบว่า ICO เป็นการระดมทุน เพื่อนำเงินที่ได้ไปลงทุนดำเนินโครงการหรือสร้างผลิตภัณฑ์ของผู้ประกอบการด้วยวิธีการออกเหรียญสกุลดิจิทัล Cryptocurrency มาเสนอขายให้กับผู้ที่สนใจจะลงทุน ซึ่งผู้ลงทุนอาจเป็นได้ทั้งบุคคลทั่วไปและนิติบุคคล หากเปรียบกับ Initial Public Offering หรือ IPO ซึ่งเป็นการเสนอขายหุ้นบริษัทแบบปกติก็จะมีความคล้ายคลึงกัน แต่ IPO นั้น ประชาชนทั่วไปจะได้ถือครองหุ้นของบริษัท และถือได้ว่ามีส่วนในการเป็นเจ้าของในกิจการนั้น ๆ หากบริษัทมีผลประกอบการดีก็จะได้รับอานิสงส์ไปด้วยเช่นกัน และอย่างที่ทราบกันดีก็คือในขั้นตอนการระดมทุน IPO นั้น จะต้องทำผ่านบริษัทหลักทรัพย์ที่รับเป็นผู้จัดจำหน่ายหุ้น และต้องได้รับความเห็นชอบจากสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เสียก่อน โดยบริษัทที่เสนอขายหุ้นจะต้องจัดทำหนังสือชี้ชวนที่เป็นไปตามหลักเกณฑ์ของ ก.ล.ต. ตามข้อกำหนดอย่างชัดเจน ซึ่งผิดจาก ICO ซึ่งแม้ ก.ล.ต. จะได้มีการกำหนดหลักเกณฑ์เอาไว้เช่นกัน แต่ทว่าผู้ถือครองเหรียญ Cryptocurrency ก็ไม่ได้มามีส่วนในกิจการของบริษัทที่ระดมทุนแต่อย่างใด

ที่ผ่านมาในต่างประเทศได้มีการระดมทุนในรูปแบบของ ICO อยู่มากมาย ซึ่งหนึ่งในนั้น คือ เหรียญดิจิทัลสกุล STX หรือ Stox ที่ได้มีการนำเอา Floyd Mayweather นักมวยสากลชื่อดัง เข้ามาช่วยโปรโมท ICO ก่อนที่จะสามารถระดมทุนไปได้ถึง 30 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ภายในระยะเวลาแค่เพียงคืนเดียว และอีกตัวอย่างความสำเร็จหนึ่งของการทำ ICO เพื่อการระดมทุนในการพัฒนาระบบ Smart Contact ของเหรียญสกุล ETH (Ethereum) เมื่อปี 2014 ในครั้งนั้น Vitalik Buterin หรือผู้ก่อตั้งสามารถระดมทุนจากผู้ที่สนใจจนปัจจุบันเหรียญสกุลดังกล่าวกลายมาเป็นสกุลเงินดิจิทัลที่ได้รับความเชื่อถือมากที่สุดเป็นอันดับ 2 ของโลก

ตัวอย่างการระดมทุนด้วย ICO ในประเทศไทยที่ประสบความสำเร็จอาจจะยังมีไม่มากนัก เนื่องจากยังเป็นช่วงเริ่มต้นของการเปลี่ยนถ่ายเข้าสู่ยุค Fintech ซึ่งองค์กรการเงินทั้งภาครัฐและเอกชนต่างก็กำลังทำงานกันอย่างหนักเพื่อรับมือกับสถานการณ์นี้ และแม้ทาง ก.ล.ต. จะมีการกำหนดกฏเกณฑ์ออกมาเมื่อเดือนกรกฏาคมที่ผ่านมา (สามารถติดตามอ่านได้ที่นี่ https://www.sec.or.th/mpublish/digitalasset/digitalasset.html) ก็ยังถือว่าไม่ค่อยชัดเจนและยังไม่เอื้อให้ผู้ลงทุนระดมทุนด้วย ICO ได้สะดวกเท่าใดนัก อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านั้นได้มีตัวอย่างของ ICO ในประเทศไทยที่ประสบความสำเร็จอยู่บ้าง ไม่ว่าจะเป็น Omise หนึ่งในผู้ให้บริการด้าน Payment Gateway ในประเทศไทย ได้ออกเหรียญ OmiseGo (OMG) จนสามารถทำ ICO ระดมทุนไปได้ถึง 25 ล้านดอลลาร์สหรัฐเลยทีเดียว

ทั้งนี้ ทางฝั่งของผู้ประกอบการควรถือโอกาสในระหว่างที่กำลังรอความชัดเจนเรื่องกฏเกณฑ์จากทาง ก.ล.ต. ทำการศึกษารูปแบบการระดมทุน ICO ไว้แต่เนิ่น ๆ เพราะไม่แน่ว่าในอนาคตกิจการของเราอาจสามารถทำ ICO เพื่อระดมทุนจนเปลี่ยนสถานะกิจการให้เติบโตได้


ที่มา : นิตยสาร Thai Hotels & Travel Vol.9 No.53

Leave a Reply

Or

Your email address will not be published. Required fields are marked *