Mon. Apr 29th, 2024
ส่องเทรนด์โรงแรมมาแรงแห่งปี 2018

ส่องเทรนด์โรงแรมมาแรงแห่งปี 2018

เดินทางสู่ศักราชใหม่ปี 2018 เป็นที่เรียบร้อย นับเป็นอีกปีที่น่าจับตามองอย่างยิ่ง ว่าเส้นทางการพัฒนาและปรับตัวของธุรกิจโรงแรมจะเดินทางไปในทิศทางใดให้สอดรับกับกระแสโลกที่กำลังเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว เพื่อรับมือกับพฤติกรรมนักท่องเที่ยวที่ได้รับอิทธิพลจากเทคโนโลยีโดยตรงเพราะนักท่องเที่ยวนิยมใช้เทคโนโลยีเพื่อค้นหาข้อมูลต่างๆ ทั้งอ่านรีวิวทริปท่องเที่ยวและรายละเอียดอื่นๆ เกี่ยวกับจุดหมายปลายทางนั้นๆ ตรวจสอบราคาตั๋วเครื่องบินถี่ขึ้นและหาที่พักโดนใจในราคาคุ้มค่า จากเทรนด์และพฤติกรรมเหล่านี้

โดยเว็บไซต์จองสินค้าและที่พักออนไลน์ หรือ ‘Online Travel Agent’ ได้ลงทุนด้านเทคโนโลยี สร้างปัญญาประดิษฐ์ (AI) และเครื่องไม้เครื่องมือด้านดิจิทัลอื่นๆ มาช่วยประมวลผล วางแผนทริปท่องเที่ยวในครั้งต่อๆ ไป ด้วยการอ้างอิงความสนใจในการเสิร์ชข้อมูลและการเดินทางครั้งก่อนๆ ช่วยลดความยุ่งยากของนักท่องเที่ยวได้เป็นอย่างดี

นอกจากนี้ เทคโนโลยีที่ช่วยสร้าง ‘ประสบการณ์เสมือนจริง’ (Immersive Experiences) รวมถึงประสบการณ์ ‘ลองก่อนซื้อ’ ผ่านการใช้ ‘เวอร์ชวล เรียลลิตี้’ (Virtual Reality) จะถูกพัฒนา และเข้ามามีบทบาทมากขึ้นเพื่อช่วยจำลองสถานการณ์ก่อนขั้นตอนการตัดสินใจซื้อ

ด้านปัจจัยเรื่อง ‘การเงิน’ แน่นอนว่ายังทรงอิทธิพลต่อนักท่องเที่ยวทุกยุคทุกสมัย ยิ่งการท่องเที่ยวเป็น ‘ปัจจัยที่ 6’ ของชีวิต (เป็นรองปัจจัยที่ 5 อย่าง ‘สมาร์ทโฟน’ อีกที) ยิ่งทำให้นักท่องเที่ยวสามารถเฟ้นทักษะการจัดการทุกอย่างที่เกี่ยวกับทริปเดินทางได้ดีมากขึ้น โดยเฉพาะเรื่องค่าใช้จ่าย เพราะคำถามที่ผุดขึ้นในหัวนักท่องเที่ยวตลอดเวลา คือ จะทำอย่างไรให้การจ่ายเงินเพื่อซื้อสินค้าท่องเที่ยวเกิดขึ้นอย่างคุ้มค่าที่สุด

เทรนด์ท่องเที่ยว

แน่นอนว่าปัจจัยที่นักท่องเที่ยวผู้ช่ำชองการวางแผนงบฯ การเงินของตัวเอง ย่อมต้องคำนึงถึงสภาพเศรษฐกิจของจุดหมายปลายทางที่ต้องการไป รวมถึงอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ ซึ่งสามารถคำนวณหรือกะจังหวะแลกเงินให้ถูกช่วงได้

อีกเทรนด์ที่เกิดขึ้นมาได้หลายปีแล้ว อย่างกระแสการเดินทางท่องเที่ยวด้วยตัวเอง (เอฟ.ไอ.ที.) อย่างที่ทราบกันว่าพฤติกรรมนี้ถือกำเนิดจากนักท่องเที่ยวยุโรป ที่ใช้บริการบริษัทนำเที่ยวเดินทางไปทั่วโลก แล้วรู้สึกว่าไม่ได้อยากไปสถานที่ท่องเที่ยวทุกจุดตามที่โปรแกรมทัวร์ระบุ หรือบางสถานที่ให้เวลาน้อยเหลือเกิน ยังเที่ยวไม่จุใจเลย ประกอบกับสมัยก่อน การเดินทางยังไม่ค่อยสะดวกสบายนัก

แต่เมื่อเวลาผ่านไป ไทยมีการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานมากขึ้นโดยเฉพาะเรื่องของท่าอากาศยาน มีสายการบินเปิดให้บริการขยายเน็ตเวิร์กเส้นทางบินกระจายทั่วทุกภูมิภาคและยังมีเส้นทางบินข้ามภาคด้วย โดยไม่ต้องนั่งเครื่องมาต่อเที่ยวบินที่กรุงเทพฯ เพื่อไปอีกจุดหมาย ขณะที่ระบบราง รัฐบาลมีแผนและเริ่มทยอยอนุมัติการลงทุน เช่น โครงการรถไฟฟ้าในกรุงเทพฯ 10 สาย และโครงการรถไฟความเร็วสูง

ส่งผลให้การท่องเที่ยวแบบหมู่คณะ (กรุ๊ปทัวร์) ไม่ค่อยได้รับความนิยมจากนักท่องเที่ยวยุโรป และลามมาถึงนักท่องเที่ยวฝั่งเอเชีย แม้แต่ตลาดจีนที่ภาพลักษณ์การเดินทางแบบกรุ๊ปทัวร์นำโด่ง ก็เริ่มมีสัดส่วนการเดินทางด้วยตัวเองมากขึ้น โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวจีนรุ่นใหม่ เพราะสามารถเดินทางไปยังสถานที่ท่องเที่ยวต่างๆ ได้อย่างสะดวกสบายมากขึ้น

ประกอบกับนักท่องเที่ยวยุคใหม่ โดยเฉพาะกลุ่มมิลเลนเนียลส์ (เจเนอเรชั่น Y) ที่มี ‘ความเป็นตัวของตัวเอง’ สูงมากมีแนวโน้มต้องการสินค้าและบริการท่องเที่ยวที่ตอบโจทย์ความต้องการในแบบของตัวเองโดยเฉพาะ (Personalized Service) มากขึ้น ด้วยการค้นหาข้อเสนอของสินค้าและบริการที่ดีที่สุด ผ่านเทคโนโลยีและคลังข้อมูลบนเว็บไซต์ แอปพลิเคชันและโซเชียลมีเดีย แล้วนำมารวบรวมจัดเป็นแพ็กเกจในแบบของตัวเอง

เทรนด์ท่องเที่ยว กับการดูแลสุขภาพ

อีกเทรนด์ที่ได้รับความสนใจจากนักท่องเที่ยวมากขึ้นเรื่อยๆ คือ เรื่องของ ‘การดูแลสุขภาพ’ ซึ่งไม่ใช่เรื่องของผู้สูงอายุอีกต่อไป แต่เป็นเรื่องใกล้ตัวของคนทุกเพศทุกวัย หนุนให้ธุรกิจโรงแรมและรีสอร์ตหลายๆ แห่ง ชูจุดขายเรื่องบริการดูแลสุขภาพ ทั้งสุขภาพกายและสุขภาพจิต นอกเหนือจากพื้นที่สระว่ายน้ำและฟิตเนสแล้ว

โดยหลายๆ แห่งได้จัดสรรพื้นที่ที่สามารถมองเห็นวิวทิวทัศน์สวยๆ สำหรับการทำสปาหรือทรีทเมนต์ด้านความงาม พักผ่อนทำดีท็อกซ์ร่างกาย เล่นโยคะ และทำสมาธิ สงบจิตใจ เปิดโอกาสให้นักท่องเที่ยวได้ออกกำลังและชำระล้างความมัวหมองออกจากใจในคราวเดียว

นอกจากกระแสการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพแล้ว ภาพของไลฟ์สไตล์การท่องเที่ยวและลองใช้ชีวิตอย่างคนท้องถิ่น หรือ Local Experience ก็ได้รับความนิยมจากนักท่องเที่ยวมากขึ้นโดยเฉพาะจากฝั่งยุโรป ซึ่งธุรกิจโรงแรมสามารถส่งต่อลูกค้าให้กับพันธมิตรบริษัทนำเที่ยวที่เน้นทำทัวร์เที่ยวชุมชนได้ เพราะนักท่องเที่ยวยุโรปย่อมอยากเรียนรู้วิถีการใช้ชีวิตของแบบคนท้องถิ่นจริงๆ ขณะที่นักท่องเที่ยวเอเชียอาจใช้ทัวร์อาหารท้องถิ่นเป็นตัวนำ เพื่อเข้าถึงรสชาติแบบ Authentic หรือทางโรงแรมเองอาจจะลองนำเสนออาหารท้องถิ่นเป็นเมนูพิเศษเพื่อดึงดูดลูกค้าให้ใช้บริการห้องอาหาร รักษาสัดส่วนรายได้จากอาหารและเครื่องดื่มของโรงแรม

ด้าน ‘เอ็กซ์พีเดีย กรุ๊ป’ บริษัทท่องเที่ยวขนาดใหญ่ของโลก เผยข้อมูลพฤติกรรมการท่องเที่ยวน่าสนใจในไทยของนักเดินทาง ‘ชาวยุโรป’ ทั้ง 4 กลุ่มช่วงอายุว่า กลุ่มที่ 1 อย่าง ‘เจเนอเรชั่น Z’ (อายุ 18-23 ปี) ด้วยข้อจำกัดด้านงบของการท่องเที่ยวนักเดินทางกลุ่มนี้มักค้นหาแผนการเดินทางโดยไม่ได้ตั้งเป้าว่าจุดหมายปลายทางคือที่ใด เกือบ 80% ของชาวเจนซี กล่าวว่าพวกเขาไม่ได้คิดล่วงหน้าว่าอยากเดินทางไปไหน หรืออาจจะกำลังตัดสินใจระหว่างจุดหมายปลายทางเพียง 2 แห่ง และเมื่อเทียบกับเจเนอเรชั่นอื่นแล้ว โดยคนเจนซีใช้สมาร์ทโฟนมากกว่าอุปกรณ์ประเภทอื่นๆ ในการค้นหาแรงบันดาลใจในการท่องเที่ยว 63% และใช้สมาร์ทโฟนในระหว่างท่องเที่ยว 76% นอกจากนี้ ชาวเจนซี 72% ชื่นชอบความเสี่ยงและการได้ทำกิจกรรมที่ตั้งเป้าหมายไว้ ขณะที่ 60% ชื่นชอบการเดินทางไปนอนรับลมทะเลและผ่อนคลายตลอดวัน

กลุ่มที่ 2 ‘เจเนอเรชั่น Y’ (อายุ 24-35 ปี) เดินทางท่องเที่ยวบ่อยมากกว่าเจนอื่นๆ โดยใช้เวลาเดินทางโดยเฉลี่ย 4.3 ครั้งต่อปี ในขณะที่พวกเขาเดินทางบ่อยในจำนวนของทริป แต่ระยะเวลาในการท่องเที่ยวแต่ละทริปกลับน้อยสุด เมื่อถามเกี่ยวกับวันหยุดพักผ่อนครั้งล่าสุดผู้ตอบแบบสำรวจของคนเจนนี้ ระบุว่าการเดินทางครั้งสุดท้ายของพวกเขาเฉลี่ยประมาณ 8.5 วัน ซึ่งเกือบ 90% ระบุว่าพวกเขามองหาข้อเสนอที่ดีที่สุดเมื่อจองการเดินทางซึ่งสอดคล้องกับข้อมูลกลุ่มของเอ็กซ์พีเดีย แสดงให้เห็นว่ามียอดจอง 3 ใน 4 จากนักเดินทางชาวเยอรมนี สหราช อาณาจักร และฝรั่งเศส โดยผ่านข้อเสนอต่างๆ จากทางเว็บไซต์เอ็กซ์พีเดียมายังประเทศไทย

สถานที่และกิจกรรมที่กลุ่มมิลเลนเนียลสนใจ คือ เรียนรู้วัฒนธรรม กิจกรรมกลางแจ้ง ทริปสำหรับครอบครัว และที่พักสุดโรแมนติก โดยนักท่องเที่ยวส่วนใหญ่ 70% จากช่วงอายุนี้บอกว่าพวกเขาชอบออกเดินทางไปในสถานที่ที่ ‘ไม่ค่อยเป็นที่รู้จัก’ และทำกิจกรรมตามคำแนะนำของคนในพื้นที่

กลุ่มที่ 3 ‘เจเนอเรชั่น X’ (อายุ 36-55 ปี) มักเดินทางเป็นครอบครัว นิยมอ่านรีวิว และคำบรรยายบนเว็บไซต์เกี่ยวกับที่พักประกอบกับใช้เวลาในการพิจารณามากกว่าคนเจเนอเรชั่นอื่นๆ ซึ่งเกือบ 85% ทำการอ่านรีวิวก่อนที่จะตัดสินใจจอง

สุดท้าย กลุ่มที่ 4 ‘รุ่นเบบี้ บูมเมอร์’ (55 ปีขึ้นไป) คนเจนนี้มีมูลค่าการเข้าพักที่สูงมากสำหรับผู้ประกอบการโรงแรม พวกเขาไม่เพียงเข้าพักนานที่สุดถึง 10.5 วันต่อหนึ่งการเดินทาง แต่ยังเป็นช่วงอายุที่มีความกังวลด้านการเงินสำหรับท่องเที่ยวน้อยที่สุด อีกทั้ง เพียงแค่ 54% เท่านั้นที่กล่าวว่าพวกเขามีการคิดวางแผนเรื่องงบการท่องเที่ยวช่วงก่อนเดินทาง ในระหว่างวางแผนและการจองทริป ชาวเบบี้บูมเมอร์ 54% ใช้เว็บไซต์จองที่พักออนไลน์ โดยอุปกรณ์ที่เป็นที่นิยมของผู้คนในช่วงอายุนี้คือคอมพิวเตอร์ ความคาดหวังอันดับต้นๆ ของพวกเขา คือ กิจกรรมระหว่างเข้าพัก ประสบการณ์ด้านวัฒนธรรม และการบริการที่น่าประทับใจ

ทั้งหมดนี้คือเทรนด์การเข้าพักโรงแรมที่กำลังมาแรง และพฤติกรรมนักท่องเที่ยวที่ต้องจับตาสำหรับศักราชใหม่ ปี 2018

Leave a Reply

Or

Your email address will not be published. Required fields are marked *