Fri. Apr 26th, 2024
วิกฤตแรงงานท่องเที่ยวไทย

วิกฤตแรงงานท่องเที่ยวไทย

ปัญหาขาดแคลนแรงงาน ถือเป็นหนึ่งในวิกฤตของอุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทยที่สั่งสมมานาน 

จากข้อมูลการสำรวจของการท่องเที่ยวสิงคโปร์เกี่ยวกับการขาดแคลนแรงงานในอุตสาหกรรมท่องเที่ยว 7 ประเทศเอเชีย พบว่า ในปี 2564 หรืออีกประมาณ 5 ปีข้างหน้านั้น ตัวเลขการขาดแคลนแรงงานของ 7 ประเทศ ได้แก่ จีน ญี่ปุ่น อินเดีย ไทย สิงคโปร์ มาเลเซีย และอินโดนีเซีย จะพุ่งทะยานถึง 7.7 ล้านคน

โดยประเทศจีนขาดแคลนแรงงานมากที่สุดเป็นอันดับ 1 ถึง 4.49 ล้านคน รองลงมา คือ อินเดีย ขาดแคลน 1.53 ล้านคนตามมาด้วยไทยขาดแคลน 1.06 ล้านคน มากเป็นอันดับ 3 สูงกว่าประเทศเพื่อนบ้าน เช่น อินโดนีเซียและมาเลเซีย กว่า 4 – 5 เท่า โดยอินโดนีเซียขาดแคลน 2.5 แสนคน มาเลเซียขาดแคลน 2 แสนคน ญี่ปุ่นขาดแคลน 2 แสนคน และสิงคโปร์ขาดแคลน 4 หมื่นคน น้อยที่สุดเมื่อเทียบในกลุ่ม 7 ประเทศ

ตัวเลขดังกล่าวชี้ชัดว่า ‘การขาดแคลนแรงงาน’ ถือเป็นปัญหาและความท้าทายของอุตสาหกรรมท่องเที่ยวเอเชียซึ่งมีอัตราการขยายตัวดีต่อเนื่องในทุกๆ ปี จากกระแสการเดินทางภายในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกด้วยกันเองเป็นตัวขับเคลื่อนหลักโดยปัญหาที่พบนั้น มีตั้งแต่การขาดแคลนพนักงานระดับปฏิบัติการ จนถึงระดับผู้บริหาร อันเกิดมาจากไม่ค่อยมีการจัดอบรมกลุ่มพนักงานระดับปฏิบัติการ ทำให้ขาดทักษะการทำงานที่หลากหลาย ขณะที่ผู้บริหารระดับกลางซึ่งจะก้าวสู่การเป็นผู้บริหารระดับสูงนั้น ยังได้รับการอบรมไม่เพียงพอ

ขณะที่ตัวเลขของฝั่ง ‘หอการค้าไทย’ ระบุว่า ปัจจุบันไทยมีแรงงานด้านการท่องเที่ยวราว 6 ล้านคน คิดเป็นสัดส่วน 13 – 14% ของแรงงานไทยทั้งประเทศ นับได้ว่าอุตสาหกรรมท่องเที่ยวเป็นอุตสาหกรรมใหญ่ของประเทศ

คุณชนินทธ์ โทณวนิก ประธานคณะกรรมการธุรกิจท่องเที่ยวและบริการ หอการค้าไทย กล่าวว่า ในปี 2559 อุตสาหกรรมท่องเที่ยวจะเป็น ‘เครื่องยนต์’ สำคัญ ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศ เนื่องจากภาคการส่งออกยังคงประสบภาวะชะลอตัวอย่างต่อเนื่อง ราคาสินค้าเกษตรก็ยังอยู่ในช่วงตกต่ำ 8 THAI HOTELS & TRAVEL | FEBRUARY – MARCH 2016 ต่อหน้า 10 ส่งผลให้ภาคการท่องเที่ยวกลายเป็นพระเอกช่วยกู้หน้าเศรษฐกิจไทย หลังตัวเลขในช่วง 6 ปีที่ผ่านมา ท่องเที่ยวไทยเติบโตถึง 100% และคาดว่าในอีก 5 – 6 ปีข้างหน้า ภาคการท่องเที่ยวไทยก็จะยังเติบโตถึงระดับ 100% อย่างไรก็ตาม แม้ท่องเที่ยวจะโต แต่ก็มีปัญหาที่สั่งสมมาตลอด นั่นคือเรื่องของ ‘แรงงาน’ ที่ไม่โตล้อการขยายตัวของอุตสาหกรรม หากยังปล่อยให้เป็นปัญหาใหญ่แบบนี้ต่อไป ท่องเที่ยวไทยอาจไม่ประสบความสำเร็จในระยะยาว

วิกฤตแรงงานอุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทย

ประธานคณะกรรมการธุรกิจท่องเที่ยวและบริการหอการค้าไทย ยังมองด้วยว่า การเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (เออีซี) เมื่อสิ้นปี 2558 ที่ผ่านมา จะเห็นภาพการหลั่งไหลของแรงงานต่างชาติเข้ามาทำงานในภาคการท่องเที่ยวไทยมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะแรงงานจากประเทศฟิลิปปินส์ซึ่งมีความสามารถในการสื่อสารภาษาอังกฤษมากกว่าแรงงานชาวไทย หากไทยยังไม่เร่งพัฒนาทักษะด้านภาษาให้ดีขึ้น อาจถูกแรงงานจากฟิลิปปินส์แย่งงานได้ เพราะไทยเป็นจุดหมายยอดนิยมของนักท่องเที่ยวต่างชาติ ทั้งค่าจ้างแรงงานที่สูงกว่าฟิลิปปินส์ จึงเป็นสิ่งจูงใจสำคัญ ในการดึงแรงงานฟิลิปปินส์เข้ามาทำงานในเมืองไทยเป็นจำนวนมาก

ยิ่งเมื่อดูตัวเลขการขาดแคลนแรงงานท่องเที่ยวของไทยแล้วพบว่าสูงถึง 2 แสนคนต่อปี ขณะที่นักศึกษาจบใหม่จากสาขาท่องเที่ยวและบริการเข้าสู่ตลาดแรงงานเพียง 3 หมื่นคนต่อปีเท่านั้น ไม่เพียงพอต่อความต้องการ ช่องว่างของกำลังการผลิตกับดีมานด์ความต้องการแรงงานที่แท้จริงห่างกันถึง 1.7 แสนคนต่อปี ต่างจากฟิลิปปินส์ ที่มีการผลิตแรงงานด้านการท่องเที่ยวถึง 5 แสนคนต่อปี ซึ่งถือเป็นจำนวนที่สูงมาก

คุณชนินทธ์ ย้ำว่า การที่แรงงานต่างชาติไหลเข้ามาทำงานในเมืองไทยนั้น ไม่ใช่เรื่องเสียหาย ถือเป็นจิ๊กซอว์สำคัญที่มาช่วยเติมเต็มการขาดแคลนแรงงานในไทย แต่สิ่งสำคัญ คือ เรื่องของ ‘จิตใจ’ การให้บริการแบบคนไทยหรือ ‘ไทย ฮอสพิทาลิตี้’ ซึ่งเป็นเอกลักษณ์สำคัญของท่องเที่ยว และทำให้นักท่องเที่ยวต่างชาติประทับใจอย่างมาก โดยแรงงานต่างชาติที่เข้ามาทำงานในไทยนั้น อาจจะไม่มีจิตบริการแบบคนไทย เหมือนที่คนไทยให้บริการเอง

คุณกลินทร์ สารสิน รองประธานกรรมการหอการค้า ฉายภาพในมุมการขยายตัวของอุตสาหกรรมท่องเที่ยวในปี 2559 ว่า แนวโน้มจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เราจะได้เห็นกันนั้น อยู่ที่ประมาณ 35 ล้านคน สร้างรายได้กว่า 1.65 ล้านล้านบาท ฟากรายได้จากนักท่องเที่ยวตลาดในประเทศ คาดอยู่ที่ 8.5 แสนล้านบาท หนุนให้ภาพรวมอุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทยในปี 2559 สร้างรายได้รวมกว่า 2.5 ล้านล้านบาท แม้ว่าเศรษฐกิจไทยในปีหน้าจะฟื้นตัวได้ในระดับหนึ่งเท่านั้น แต่ดีตรงที่มีปัจจัยหนุนจากแหล่งท่องเที่ยวของไทยที่ยังคงได้รับความนิยมจากนักท่องเที่ยวทั่วโลก

นอกจากนี้ รองประธานกรรมการหอการค้า ยังบอกด้วยว่าการขยายตัวของภาคการท่องเที่ยวไทยนั้น จำเป็นต้องได้รับการพัฒนาในหลายๆ ด้านอย่างต่อเนื่อง ทั้งด้านบริการจัดการจำนวนนักท่องเที่ยว การจัดการแหล่งท่องเที่ยว ให้มีความเหมาะสมสอดรับกัน เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาความแออัดและปัญหาสิ่งแวดล้อมตามมาในภายหลัง รวมถึงการจัดระเบียบความปลอดภัยของสถานที่ท่องเที่ยว ซึ่งถือเป็นหัวใจสำคัญเพื่อสร้างความมั่นใจให้แก่นักท่องเที่ยว และทำให้การท่องเที่ยวของไทยมีความยั่งยืนมากขึ้น โดยหอการค้าไทยได้ยกระดับขีดความสามารถธุรกิจท่องเที่ยวและบริการ ผ่าน 4 ปัจจัยหลัก ได้แก่

  1. สร้างมาตรฐานด้านการท่องเที่ยวในทุกด้าน
  2. พัฒนาคุณภาพด้านการท่องเที่ยว ทั้งแหล่งท่องเที่ยวคุณภาพนักท่องเที่ยว คุณภาพสินค้าและบริการ
  3. ส่งเสริมให้มีการกระจายตัวด้านการท่องเที่ยวให้ไปสู่ท้องถิ่น
  4. พัฒนาทรัพยากรบุคคล ให้มีคุณภาพ

พร้อมร่วมมือกับภาคเอกชนท่องเที่ยว พัฒนาบุคลากรเพื่อรองรับการเติบโต เนื่องจากปัจจุบันไทยประสบปัญหาขาดแคลนแรงงานที่มีคุณภาพและมีฝีมือ ประกอบกับการเปิดเออีซีเมื่อสิ้นปีที่ผ่านมา ทำให้ไทยต้องเตรียมพร้อมในการรองรับกระแสการเดินทาง และการเคลื่อนย้ายแรงงานที่จะหลั่งไหลเข้าไทย… เมืองเนื้อหอมของอุตสาหกรรมท่องเที่ยวโลก

Leave a Reply

Or

Your email address will not be published. Required fields are marked *