Sun. Apr 28th, 2024
ธุรกิจโรงแรม

ช้อปดีมีคืน ดันธุรกิจโรงแรม หนุนท่องเที่ยวฟื้นตัวถึงปีหน้า

ท่องเที่ยวเด้งรับ “ช้อปดีมีคืน” รวบรายจ่ายค่าโรงแรม-ที่พักลดหย่อนภาษี สมาคมโรงแรมไทยชี้ช่วยรักษาโมเมนตัมดีมานด์ ประคองผู้ประกอบการฟื้นไข้ ขอเงื่อนไขใช้ง่าย เอื้อรายเล็กเข้าถึง ชงรัฐใส่งบฯบูสเตอร์ชอตเจาะนักท่องเที่ยวรายเซ็กเมนต์ เร่งเพิ่มจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติหนุนซัพพลายไซด์ฟื้นแบบทั่วถึง

รัฐบาลมีแผนกระตุ้นเศรษฐกิจและการท่องเที่ยวในช่วงโค้งท้ายปลายปี ภายใต้โครงการช้อปดีมีคืน หรือช้อปช่วยชาติ โดยให้วงเงินลดหย่อนภาษีได้ไม่เกิน 30,000 บาท และครั้งนี้จะให้สิทธิรายจ่ายค่าโรงแรม ที่พักด้วย เพื่อให้เกิดกระแสการเดินทางท่องเที่ยวต่อเนื่อง หลังจากแผนกระตุ้นท่องเที่ยวโครงการ “เราเที่ยวด้วยกัน” สิ้นสุด 31 ตุลาคม 2565 นี้

ดันโมเมนตัมฟื้นตัวปลายปี

นางมาริสา สุโกศล หนุนภักดี นายกสมาคมโรงแรมไทย (THA) เปิดเผยว่า หากมาตรการดังกล่าวนี้ออกมาและสามารถขับเคลื่อนต่อได้เลยหลังหมดโครงการ “เราเที่ยวด้วยกัน” เชื่อว่ามาตรการดังกล่าวจะช่วยประคับประคองให้การท่องเที่ยวของไทยมีโมเมนตัมของการฟื้นตัวได้ต่อเนื่องในช่วงปลายปีนี้ และเป็นแรงเหวี่ยงให้กระแสการออกเดินทางท่องเที่ยวภายในประเทศเติบโตต่อไปได้ในปี 2566

นางมาริสากล่าวว่า ปัจจุบันโรงแรมส่วนใหญ่หรือกว่า 80% กลับมาเปิดดำเนินธุรกิจและอยู่ในภาวะฟื้นตัว เนื่องจากมีนักท่องเที่ยวทยอยเข้ามาเพิ่มขึ้นอย่างชัดเจน แต่คาดว่าจะมีจำนวนไม่มากนัก หรือคิดเป็นสัดส่วนเพียงแค่ประมาณ 20% ของปี 2562 ก่อนโควิดเท่านั้น ทำให้การฟื้นตัวของกลุ่มธุรกิจโรงแรมในขณะนี้ยังเป็นการฟื้นตัวเพียงแค่บางกลุ่มเท่านั้น

“ถ้ารัฐผลักดันโครงการนี้ออกมาและให้คนไทยเที่ยวในประเทศ นำรายจ่ายด้านโรงแรม ที่พัก ไปลดหย่อนภาษีได้ ก็น่าจะทำให้การฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยวกระจายไปยังกลุ่มผู้ประกอบการรายเล็กได้บ้าง และเป็นผลดีต่ออุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของประเทศแน่นอน” นางมาริสากล่าว

ปรับเงื่อนไข “รายเล็ก” เข้าถึง

เช่นเดียวกับแหล่งข่าวจากผู้ประกอบการโรงแรมรายใหญ่รายหนึ่งกล่าวว่า ปัญหาของมาตรการสนับสนุนจากภาครัฐในช่วงที่ผ่านมาส่วนใหญ่เอื้อประโยชน์ให้ผู้ประกอบการรายใหญ่เป็นหลัก โดยเฉพาะโครงการ “เราเที่ยวด้วยกัน” ซึ่งเป็นโครงการที่ช่วยขับเคลื่อนภาคการท่องเที่ยวและธุรกิจโรงแรมได้ดีและเห็นผลชัดเจนที่สุด แต่ยังมีข้อจำกัดมากสำหรับกลุ่มผู้ประกอบการรายเล็ก

“ตลอด 2 ปีที่ผ่านมา รัฐออกมาตรการกระตุ้นการท่องเที่ยวออกมาเป็นระยะ แต่กลุ่มที่ได้รับอานิสงส์ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มโรงแรมรายใหญ่ เพราะการที่รัฐบาลสนับสนุนงบประมาณ 40% ทำให้คนไทยสามารถเข้าถึงโรงแรมระดับ 4 ดาว และ 5 ดาว โรงแรมขนาดเล็กจึงถูกมองข้ามมาตลอด ทำให้กลุ่มผู้ประกอบการรายเล็กยังกลับมาให้บริการได้น้อยมาก” แหล่งข่าวกล่าว

และว่า สำหรับโครงการดังกล่าวนี้แม้ว่าจะประเมินว่าคงไม่แรงเท่าโครงการเราเที่ยวด้วยกัน แต่ก็เชื่อว่าจะเป็นปัจจัยบวกสำหรับตลาดการท่องเที่ยวภายในประเทศได้เช่นกัน ดีกว่าไม่ทำอะไรเลยแน่นอน อย่างไรก็ตาม อยากให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องมองให้ครบทั้งซัพพลายเชนของธุรกิจท่องเที่ยว โดยเปิดให้ภาคบริการท่องเที่ยวทุกเซ็กเตอร์รวมทั้งรายเล็กเข้าร่วมได้ทั้งหมด

ย้ำท่องเที่ยวเร่งเศรษฐกิจดี+เร็ว ที่สุด

ด้านนายชำนาญ ศรีสวัสดิ์ ประธานสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (สทท.) กล่าวกับว่า ในมุมของ สทท.ยังยืนยันว่าภาคการท่องเที่ยวเป็นเซ็กเตอร์ที่ช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจและจีดีพี (GDP) ได้ดีที่สุด เร็วที่สุด และใช้เงินกระตุ้นต่ำที่สุดเมื่อเทียบกับอุตสาหกรรมอื่น ๆ

ที่ผ่านมาภาคการท่องเที่ยวได้รับการดูแลและสนับสนุนด้านงบประมาณสำหรับกระตุ้นตลาดที่น้อยมาก อยากเสนอให้รัฐบาลสนับสนุนด้านงบประมาณให้กับหน่วยงานด้านการทำการตลาดทั้งหมด อาทิ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.), องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน) หรือ อพท., สำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) (สสปน.) หรือทีเส็บ ฯลฯ สำหรับเป็น booster shot

ทั้งนี้ เพื่อกระตุ้นดีมานด์การเดินทางในทุกกลุ่มเป้าหมาย ทั้งตลาดภายในประเทศและต่างประเทศให้กลับมาโดยเร็ว ซึ่งจะเป็นการรักษาและประคับประคองให้ซัพพลายเชนทุกส่วน โดยเฉพาะผู้ประกอบการรายเล็กได้กลับมาทำธุรกิจได้อีกครั้ง

“ต้องยอมว่าตอนนี้มีปัจจัยลบหลายอย่างเข้ามา ทำให้นักท่องเที่ยวอาจตัดสินใจชะลอการเดินทาง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของภาวะเศรษฐกิจที่ขยายตัวต่ำ เงินเฟ้อ ราคาพลังงานที่ปรับขึ้นค่อนข้างสูง หรือแม้กระทั่งน้ำท่วมในหลายพื้นที่ของประเทศ ฯลฯ ปัจจัยเหล่านี้ล้วนทำให้คนมีค่าใช้จ่ายในการดำรงชีพสูงขึ้น แน่นอนว่าอาจกระทบต่อบรรยากาศการท่องเที่ยว” นายชำนาญกล่าว

นายชำนาญกล่าวเพิ่มเติมด้วยว่า นอกจากโครงการที่ออกมาเป็นระยะแล้ว สทท.อยากให้หน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องทำแผนฟื้นอุตสาหกรรมท่องเที่ยวระยะยาวด้วย เพื่อให้ผู้ประกอบการเกิดความเชื่อมั่น และสามารถวางแผนการทำงานระยะยาวให้สอดรับกับแผนยุทธศาสตร์ระยะยาวของรัฐบาลได้อย่างมีประสิทธิภาพ

“เที่ยวคนละครึ่ง” ดึงเที่ยวไทย

ด้านนายชัยพฤกษ์ ทองคำ นายกสมาคมธุรกิจท่องเที่ยวภายในประเทศ (สทน.) กล่าวถึงมาตรการดังกล่าวว่า เท่าที่ฟังข้อมูลมาตรการดังกล่าวใช้ได้เพียงแค่ในรูปแบบของการนำรายจ่ายไปลดภาษี ซึ่งส่วนตัวมองว่ายังไม่น่าสนใจนัก และน่าจะยังไม่ใช่ตัวขับเคลื่อนที่มีพลังมากนัก เมื่อเทียบกับโครงการเราเที่ยวด้วยกัน

“มาตรการนี้สำหรับภาคการท่องเที่ยว ผมมองว่ายังไม่ตอบโจทย์ผู้บริโภคนัก ยิ่งถ้าขั้นตอนยุ่งยากจะยิ่งทำให้มีคนใช้บริการน้อย” นายชัยพฤกษ์กล่าวและว่า หากหวังผลด้านการกระตุ้นการเดินทางที่ชัดเจน อยากให้ภาครัฐนำคอนเซ็ปต์ของโครงการคนละครึ่ง ซึ่งมีรูปแบบการใช้งานที่ง่าย มาทำแคมเปญ “เที่ยวคนละครึ่ง” ด้วย เพื่อดึงกลุ่มคนไทยที่มีแผนไปเที่ยวต่างประเทศให้หันมาใช้จ่ายภายในประเทศเพิ่มขึ้น

นายชัยพฤกษ์กล่าวด้วยว่า สำหรับภาพรวมการเดินทางท่องเที่ยวภายในประเทศในขณะนี้ บรรยากาศอยู่ในทิศทางที่ค่อนข้างดี และคาดว่าจะยิ่งคึกคักยิ่งขึ้นในช่วง 2 เดือนสุดท้ายของปีนี้ โดยเฉพาะในพื้นที่ภาคเหนือน่าจะเป็นเดสติเนชั่นที่ได้รับความนิยมสูงที่สุด

ขณะที่ภาพรวมการเดินทางออกนอกประเทศ หรือตลาดเอาต์บาวนด์ของคนไทยนั้น ปัจจุบันมีจำนวนไม่มากนักเมื่อเทียบก่อนโควิด เนื่องจากยังมีปัจจัยเรื่องของต้นทุนการเดินทางที่สูง โดยเฉพาะตั๋วโดยสารเครื่องบิน อย่างไรก็ตาม เชื่อว่าสถานการณ์จะปรับตัวดีขึ้นตั้งแต่ปีหน้าเป็นต้นไป

ที่มา : https://www.prachachat.net/tourism/news-1093906

Leave a Reply

Or

Your email address will not be published. Required fields are marked *