Wed. Dec 4th, 2024
ท่องเที่ยวชุมชน

อพท. ชูท่องเที่ยวชุมชนฟื้นเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน

อพท.ลุ้นเปิดประเทศรับต่างชาติ เผยชุมชนท่องเที่ยวกว่า 270 แห่งทั่วประเทศได้รับผลกระทบจากโควิด ผู้ประกอบการในชุมชนมุ่งขายสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์ พร้อมเร่งพัฒนายกระดับชุมชนผ่านระบบออนไลน์เต็มรูปแบบ เตรียมความพร้อมเข้าสู่การท่องเที่ยวในรูปแบบชีวิตวิถีใหม่

วันที่ 11 ตุลาคม 2564 นาวาอากาศเอกอธิคุณ คงมี ผู้อำนวยการองค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน หรือ อพท. กล่าวว่า ขณะนี้ภาคอุตสาหกรรมท่องเที่ยว รวมถึงภาคประชาชนกำลังนับถอยหลังถึงวันเปิดประเทศ เพื่อต้อนรับนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและต่างชาติเนื่องจากธุรกิจท่องเที่ยวเป็นอุตสาหกรรมหนึ่งที่ได้รับอานิสงจากการเปิดประเทศ และจะเป็นฟันเฟืองที่สำคัญในการพลิกฟื้นและขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ซึ่งคาดว่าจะใช้เวลาไม่นานที่ธุรกิจจะกลับมาพลิกฟื้นได้

โดยในส่วนของ อพท. ซึ่งเป็นหน่วยงานองค์ความรู้ด้านการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน และใช้องค์ความรู้ดังกล่าวพัฒนาและยกระดับชุมชนบนพื้นฐานอัตลักษณ์ เพื่อทำการท่องเที่ยวเป็นรายได้เสริม ซึ่งดูแลชุมชนท่องเที่ยวกว่า 270 ชุมชนทั่วประเทศก็ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 เช่นกัน

นาวาอากาศเอกอธิคุณกล่าวว่า แม้ชุมชนจะขาดรายได้จากการท่องเที่ยว แต่ก็ยังมีรายได้หลักจากการประกอบอาชีพเกษตรกรรม หัตถกรรม และชุมชนยังได้ใช้เครื่องมือการตลาดออนไลน์ที่ อพท. เคยพัฒนาให้ความรู้กับชุมชน ตั้งแต่ก่อนเกิดสถานการณ์แพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 มานำเสนอสินค้าและผลิตภัณฑ์ชุมชนผ่านช่องทางออนไลน์ ทำให้ชุมชนยังคงมีรายได้จากการขายสินค้าชุมชนผ่านช่องทางดังกล่าว

และจากผลการสำรวจรายได้ของชุมชนจำนวน 116 ชุมชน ที่ อพท. ดูแลพบว่าในปี 2564 มีรายได้จากการท่องเที่ยวเป็นจำนวนเงินรวม 51.9 ล้านบาท โดยส่วนใหญ่เป็นรายได้จากการนำเสนอขายสินค้าชุมชนผ่านช่องทางออนไลน์ ส่วนรายได้จากกิจกรรมการท่องเที่ยวมีสัดส่วนที่น้อยมากจากวงเงินรายได้ดังกล่าวเนื่องจากไม่มีการเดินทางท่องเที่ยวในช่วงที่ผ่านมา

“อพท. ได้ใช้ช่วงเวลาที่ชุมชนไม่ได้เปิดรับนักท่องเที่ยว ดำเนินการพัฒนาและยกระดับให้กับชุมชนเพิ่มเติม โดยใช้วิธีอบรมผ่านระบบออนไลน์เต็มรูปแบบ เพื่อเตรียมความพร้อมเข้าสู่การท่องเที่ยวในรูปแบบชีวิตวิถีใหม่ หรือ New Normal รวมถึงการจัดกิจกรรมให้ชุมชนได้เรียนรู้เรื่องการทำการตลาด ได้แก่ ยกระดับทักษะการถ่ายภาพผลิตภัณฑ์ การคิดต้นทุนและราคา การออกแบบเส้นทางท่องเที่ยว” นาวาอากาศเอกอธิคุณกล่าว

และว่า รวมถึงการเลือกกิจกรรมท่องเที่ยวที่ตอบโจทย์ตลาดนักท่องเที่ยวกลุ่มคุณภาพ การออกแบบกิจกรรมท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ ให้ความรู้และคำแนะนำเกี่ยวกับสุขอนามัย รวมถึงการจัดกิจกรรม Virtual tour และ Virtual Business Matching เพื่อเชื่อมโยงชุมชนกับผู้ประกอบการในธุรกิจนำเที่ยวผ่านช่องทางออนไลน์ โดยมีเป้าหมายให้นักท่องเที่ยวกลับมาเยือนอีกครั้งเมื่อสถานการณ์แพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 คลี่คลาย

ทั้งนี้ ล่าสุด อพท. ได้ยกระดับชุมชนไปสู่ความเป็นธุรกิจเพื่อสังคม หรือ Social Enterprise (SE) ด้านการท่องเที่ยว โดยการนำคนในชุมชนหรือเยาวชนของชุมชนมาเรียนรู้เกี่ยวกับการดำเนินธุรกิจแบบ SE เนื่อจากเป็นที่ทราบกันดีว่าในสถานการณ์ช่วงนี้ ภาคแรงงานโดยเฉพาะเยาวชนที่สำเร็จการศึกษามาใหม่ๆ โอกาสในการหางานทำได้น้อยมาก ธุรกิจต่างๆ พยายามรัดเข็มขัด

ดังนั้น โครงการเกี่ยวกับการสร้าง SE จึงเป็นโอกาสให้กับกลุ่มคนหรือเยาวชนเหล่านี้จะมาช่วยขับเคลื่อนให้การท่องเที่ยวให้เกิดความยั่งยืนและในส่วนของ อพท. ก็พร้อมที่จะขับเคลื่อนการพัฒนาและยกระดับแหล่งท่องเที่ยวโดยชุมชนอย่างต่อเนื่องแม้อยู่ในภาวะวิกฤตโควิด เพื่อเตรียมความพร้อมของชุมชนท่องเที่ยวให้สามารถเปิดรับนักท่องเที่ยวหลังโควิดคลี่คลายได้อย่างมีคุณภาพและมาตรฐานต่อไป

ที่มา : ประชาชาติธุรกิจ https://www.prachachat.net/tourism/news-779780

Leave a Reply

Or

Your email address will not be published. Required fields are marked *