Fri. Apr 26th, 2024
ท่องเที่ยว

AWC ลงทุนตามแผน ยัน “ท่องเที่ยว” คือจุดแข็งของไทย

แม้ว่าการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 และมาตรการล็อกดาวน์ของภาครัฐในช่วงปลายมีนาคม-พฤษภาคมที่ผ่านมา จะส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของไทย แต่พี่ใหญ่วงการโรงแรมอย่าง “แอสเสท เวิรด์” หรือ AWC ยังคงเดินหน้าแผนการลงทุนต่อเนื่อง

“ประชาชาติธุรกิจ” ได้ร่วมสัมภาษณ์ “วัลลภา ไตรโสรัส” ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท แอสเสท เวิรด์ คอร์ป จำกัด (มหาชน) หรือ AWC เจ้าของและผู้บริหารโรงแรมรายใหญ่ภายใต้แบรนด์ แมริออท, ฮิลตัน, อินเตอร์คอนติเนนตัล โฮเต็ล กรุ๊ป, มีเลีย, บันยันทรี,โอกุระ ฯลฯ ถึงทิศทางการบริหาร การลงทุนในธุรกิจโรงแรม รวมถึงมุมมองต่ออุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของไทย ไว้ดังนี้

เดินหน้าลงทุนตามแผน

“วัลลภา” บอกว่า ยอมรับว่าในช่วงที่ผ่านมา ธุรกิจทุกเซ็กเตอร์ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 โดยเฉพาะธุรกิจท่องเที่ยวที่ล็อกดาวน์ประเทศ ทั่วโลกหยุดการเดินทางระหว่างประเทศ ส่งผลให้นักท่องเที่ยวต่างชาติซึ่งเป็นพอร์ตใหญ่สำหรับอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของไทยได้รับผลกระทบอย่างหนัก แต่อย่างไรก็ตาม สำหรับเรื่องการลงทุนของกลุ่ม AWC ในวันนี้ บริษัทยังคงเชื่อมั่นเรื่องของการเติบโตอย่างแข็งแกร่งของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของไทยในระยะยาว

โดยที่ผ่านมา ทีมผู้บริหารได้มีโอกาสแชร์ข้อมูลแผนการลงทุนในที่ประชุมผู้ถือหุ้นว่า บริษัทยังพร้อมสำหรับการลงทุนตามแผน 5 ปีที่วางไว้เหมือนเดิม เพียงแต่ต้องกลับมารีวิว

และดูจังหวะ เวลาในการเปิดโครงการกันใหม่อีกครั้ง เพื่อให้สอดรับกับดีมานด์ในแต่ละช่วงเวลาของตลาด และมั่นใจว่าในอีก 4-5 ปีข้างหน้าทุกอย่างจะกลับมาเหมือนเดิมแล้ว

เปิด รร.ใหม่ไป Q3-4/64

พร้อมยกตัวอย่างว่า เดิมทีเดียว AWC มีแผนเปิดให้บริการโรงแรมใหม่(บันยันทรี สมุย) ในช่วงไตรมาส 2 ที่ผ่านมา แต่ประเทศยังอยู่ในช่วงของการล็อกดาวน์ธุรกิจ ปัจจุบันสถานการณ์ในภาพรวมเริ่มผ่อนคลาย มีการเดินทางท่องเที่ยวภายในประเทศมากขึ้น บริษัทจึงขยับแผนการเปิดให้บริการไปเป็นวันที่ 24 ตุลาคม 2563 นี้แทน เพื่อรองรับกับดีมานด์ในตลาดที่เริ่มกลับมาแล้วบางส่วน เป็นต้น

“โครงการต่าง ๆ ที่เราได้เซ็นสัญญาไปแล้ว ประมาณ 5 หมื่นล้านบาทในแผน 5 ปีนั้น ทั้งหมดเราต้องประเมินสถานการณ์และรอเวลาที่เหมาะสม เช่น โครงการที่เดิมทีเดียวเรามีแผนเปิดให้บริการในช่วงต้นปี 2564 เราก็คงรอจังหวะและดูดีมานด์ ซึ่งส่วนใหญ่มองว่าเราอาจต้องขยับไปเปิดในช่วงไตรมาส 3 และไตรมาส 4 ปีหน้าแทน เพื่อไม่ให้ซัพพลายอนาคตเข้ามาสร้างปัญหาให้กับซัพพลายเดิมที่ยังมีเหลือมหาศาลในเวลานี้”

เสริมบริการ “เวลเนส”

“วัลลภา” ยังบอกด้วยว่านอกจากการวิเคราะห์และประเมินตลาดให้สอดรับกับดีมานด์ในตลาดแล้ว กลุ่ม AWC ยังเตรียมที่จะพัฒนา wellness product หรือ wellness project ร่วมกับ ผู้เชี่ยวชาญและผู้นำด้านเวลเนสและเฮลท์แคร์ของประเทศ อาทิ โรงพยาบาล,เวลเนส รีสอร์ต เพื่อนำบริการด้านสุขภาพต่าง ๆ มาให้บริการในทุกโรงแรม (property) ที่เปิดให้บริการอยู่แล้ว และโครงการที่กำลังจะเกิดขึ้นในอนาคตด้วย อาทิให้บริการเช็กอัพร่างกาย,ให้บริการด้านเทเลเมดิซีน ฯลฯ

ทั้งนี้ เพื่อให้สอดรับกับทิศทางตลาดที่เปลี่ยนไป โดยมองว่านักท่องเที่ยวจากทั่วโลกจะให้ความสำคัญกับการเดินทางท่องเที่ยวและต้องมีสุขภาพและสุขอนามัยที่ดีควบคู่กันไปด้วย

“โดยหลัก ๆ คือ เราจะใส่คุณค่าของเวลเนสและเรื่องของเฮลท์แคร์เข้าไปในทุกโครงการ เช่น ทำแพ็กเกจเพื่อสุขภาพสำหรับทุกโครงการ หรือบางโครงการจะเอาเวลเนสเข้ามาเสริมหรือเตรียมใส่เวลเนสคาพิซิตี้ใหม่

สำหรับโครงการใหม่ แต่ยังไม่ถึงขนาดลงทุนในโครงการที่เป็นเวลเนส รีสอร์ต โดยเฉพาะ เนื่องจากมองว่าคอนเซ็ปต์ดังกล่าวยังเป็นตลาดที่ค่อนข้างเฉพาะ ขณะที่วันนี้กลุ่ม AWC เรามีจุดแข็ง ทั้งเรื่องสเกล และเน็ตเวิร์ก”

ท่องเที่ยวคือจุดแข็ง

“วัลลภา” ย้ำว่าส่วนตัวเชื่อมั่นตลอดว่า หากสถานการณ์สามารถกลับคืนสู่สภาวะปกติ เรื่องการท่องเที่ยวของประเทศไทยจะยังเป็นไฮไลต์และก็เป็นจุดแข็งมากที่สุดของประเทศไทย และยังคงเชื่อมั่นว่าประเทศไทยยังคงเป็นหนึ่งใน top choiceของจุดหมายปลายทางระดับโลกของนักท่องเที่ยวทั่วโลก

นั่นหมายความว่า การท่องเที่ยวยังคงเป็นอนาคตที่แข็งแกร่ง และก็เป็นจุดแข็งของการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศ

“วันนี้พาร์ตเนอร์และคู่ค้าทั้งหมดของเรายังพร้อมสนับสนุนเต็มที่สำหรับเปิดโครงการใหม่ แต่นโยบายรัฐบาลยังคงจำกัดกลุ่มที่จะเดินทางเข้ามาในประเทศไทย ถือว่าเป็นสเต็ปแรกของการเปิดประเทศ และหากทุกอย่างเป็นไปในทิศทางที่ดี มั่นใจว่ารัฐน่าจะค่อย ๆ ผ่อนคลายการปลดล็อกมากขึ้น สุดท้ายก็จะเป็นการเปิดแบบ self quarantine และกลับสู่สภาวะปกติ ซึ่งทุกอย่าง คงต้องใช้เวลา และวันนี้เราต้องรอ”

รอความชัดเจนนโยบายรัฐ

พร้อมอธิบายว่า ในการประชุมผู้บริหารเราวิเคราะห์และดูกันถึงผลกระทบ perception หรือการรับรู้ของลูกค้าว่า ลูกค้ากลุ่มไหนที่น่าจะสามารถกลับมาได้ก่อน-หลัง เพราะสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิดที่เกิดขึ้นนั้นส่งผลกระทบต่อลูกค้าแต่ละกลุ่มต่างกัน

ดังนั้น รายละเอียดและความพร้อมของแต่ละกลุ่มก็จะไม่เท่ากัน จึงต้องพิจารณาว่าลูกค้ากลุ่มไหนจะกลับมาได้ในช่วงไตรมาสไหน ไม่เพียงเท่านี้ยังต้องประเมินอีกว่าจะมีเซ็กเตอร์บางประเภท เช่น ท่องเที่ยวเชิงประชุมสัมมนาที่เดินทางเพื่อธุรกิจ หรือกรุ๊ปทัวร์ ก็จะกลับมาในช่วงเวลาที่ไม่เท่ากันเช่นกัน

แต่สุดท้ายแล้ว ทุกอย่างก็จะต้องสอดคล้องกับนโยบายภาครัฐเป็นหลักว่า แต่ละกลุ่ม แต่ละเซ็กเตอร์ จะสามารถกลับมาได้เร็วแค่ไหน

หากภาครัฐสามารถดูแลเรื่องมาตรการความปลอดภัยได้ดีพอ และพร้อมเปิดให้นักท่องเที่ยวทั่วไปเข้ามาได้ อันนี้จะเป็นคีย์หลักสำคัญ และเป็น 1 ในคีย์แฟกเตอร์ที่จะทำให้ภาคอุตสาหกรรมท่องเที่ยวและบริการของประเทศกลับมาได้อีกครั้ง

ที่มา : ประชาชาติธุรกิจ https://www.prachachat.net/tourism/news-526700

Leave a Reply

Or

Your email address will not be published. Required fields are marked *