หากเราเดินทางโดยเครื่องบินบ่อยมักจะคุ้นเคยกับการประกาศของพนักงานบนเครื่อง อย่างเช่น “ผู้โดยสารโปรดทราบ………” ฟังแล้วเหมือนกับการขอความร่วมมือ คือจะทำก็ได้หรือไม่ทำก็ได้ แต่ความเป็นจริงไม่ใช่อย่างนั้น
เนื่องจากผู้โดยสารบางท่านประพฤติตนตามใจตัวเองเหมือนอยู่กับบ้าน ไม่ว่าพนักงานจะพูดอย่างไรก็เอาหูทวนลม นานาชาติจึงจำเป็นตกลงกันให้มีกฎหมายซึ่งบังคับให้ผู้โดยสารต้องปฏิบัติตาม เพื่อให้ตลอดเวลาการเดินทางราบรื่น ไม่เป็นการรบกวนผู้โดยสารท่านอื่น
กฎหมายฉบับนี้ให้ชื่อว่า ‘พระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดบางประการต่อการเดินอากาศ พ.ศ. 2558’ ประกาศใช้เมื่อวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2558 มีสาระสำคัญบางเรื่องที่เราได้ยินประกาศเป็นประจำหรือบางเรื่องที่ไม่ต้องประกาศแต่ไม่สมควรทำ คือ
1. เที่ยวบินนี้เป็นเที่ยวบินปลอดบุหรี่ ในห้องน้ำก็ห้ามไปแอบสูบ
2. ให้ปิดเครื่องมืออิเล็กทรอนิกส์ทุกชนิด มือถือจะใช้ได้เมื่อไฟให้รัดเข็มขัดดับแล้วในโหมดเครื่องบิน
3. มีของที่ห้ามนำขึ้นไปบนเครื่องบิน เช่น มีด กรรไกร และของมีคมอื่น ๆ
ทั้ง 3 เรื่องตามมาตรา 8 มีโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินสี่หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ อย่างไรก็ตาม ทั้ง 3 ข้อนี้ถ้าผู้กระทำความผิดยอมเสียค่าปรับในอัตราสูงสุด ให้คดีสามารถเลิกกันได้
4. ใครใช้กำลังประทุษร้ายผู้อื่น ต้องรับโทษจำคุกไม่เกินสองปี หรือปรับไม่เกินแปดหมื่นบาท พวกหัวร้อนทั้งหลายก็ต้องระวังอย่าให้เกิดเรื่องเด็ดขาด
5. พวกที่ผิดปกติชอบพูดจาลามกหรือแสดงกิริยาท่าทางลามก พวกที่ชอบเปิดเผยร่างกายโป๊เปลือย หรือที่มือไม้อยู่ไม่สุข ไปตบก้น จับหน้าอก หรืออื่น ๆ อันเป็นการมุ่งหมายทางเพศ มีโทษจำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนสองหมื่นบาท
6. ดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์หรือใช้สารที่มีฤทธิ์ต่อจิตประสาท จนสร้างความวุ่นวายจนน่าจะเป็นเหตุให้เกิดอันตรายต่อความปลอดภัยของอากาศยาน มีโทษจำคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับไม่เกินสองแสนบาท
7. ผู้ใดแจ้งข้อความหรือส่งข่าวสารซึ่งรู้อยู่แล้วว่าเป็นเท็จ อาจทำให้ผู้รับข้อความหรือข่าวสารนั้นตื่นตกใจ มีโทษจำคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับไม่เกินสองแสนบาท จะเห็นว่าเรื่องนี้เคยเกิดเหตุอยู่สองสามครั้ง เช่น ตะโกนว่า “มีระเบิด” ก็จะเข้าข่ายความผิดในข้อนี้
จะเห็นว่าความผิดดังกล่าวเป็นเรื่องเล็กน้อยที่บางท่านไม่คิดว่าจะมีโทษเยอะขนาดนี้ มาดูคนที่ทำอะไรรุนแรงกว่านี้ ที่ถึงขนาดที่เป็นอันตรายต่อบุคคลอื่น หรือเป็นอันตรายต่ออากาศยาน เช่น
8. ใช้กำลังประทุษร้ายผู้ที่ปฏิบัติหน้าที่บนเครื่องบิน หรือทำให้คนเหล่านี้เกิดความกลัว หรือตกใจ โดยการขู่เข็ญ มีโทษจำคุกไม่เกินเจ็ดปี หรือปรับไม่เกินสองแสนแปดหมื่นบาท
9. ถ้ายึดเครื่องบินโดยการใช้กำลังประทุษร้าย หรือขู่เข็ญว่าจะใช้กำลังประทุษร้าย หรือขู่ว่าจะทำอันตรายต่อเครื่องบิน มีโทษถึงประหารชีวิต จำคุกตลอดชีวิต หรือจำคุกตั้งแต่สิบปีถึงยี่สิบปี
10. ใครที่ใช้อาวุธหรือวัสดุอื่นใดทำร้ายร่างกายผู้อื่นในท่าอากาศยานจนได้รับอันตรายสาหัสหรือตาย หรือทำลายหรือทำให้เสียหายของท่าอากาศยาน หรือเครื่องบินที่จอดอยู่ หรือทำให้การบริการของท่าอากาศยานหยุดชะงัก มีโทษประหารชีวิต จำคุกตลอดชีวิต หรือจำคุกตั้งแต่สิบห้าปีถึงยี่สิบปี และปรับตั้งแต่หกแสนบาทถึงแปดแสนบาท
เรื่องสุดท้ายก็เป็นเรื่องที่เคยเกิดในประเทศไทยแล้วเช่นกัน คือ เรื่องที่พนักงานบนเครื่องบินสั่งให้ผู้โดยสารลงจากเครื่องบินโดยมีเหตุผลอันสมควรแต่ไม่ยอมลง มีโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินสี่หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
ท่านที่เดินทางบ่อย ๆ ควรศึกษา พ.ร.บ. นี้ จะได้ไม่มีปัญหาในการเดินทาง ขอให้ทุกท่านเดินทางโดยปลอดภัยนะครับ
ผู้เขียน อ.สัมพันธ์ แป้นพัฒน์, Legal Advisor to the Board, Thai Hotels Association (THA)