Fri. Mar 29th, 2024
ธุรกิจโรงแรม

การต่อสู้กับวิกฤติโควิด-19 ของธุรกิจโรงแรม

วิกฤติโควิด-19 เป็นวิกฤติที่ร้ายแรงที่สุดเท่าที่คนทำโรงแรมเคยประสบในรอบหลายสิบปี โรงแรมกว่า 90% ต้องปิดตัวเองลงชั่วคราวตั้งแต่ปลายปีที่แล้ว ต้นเดือนกรกฎาคม 2563 ก็เริ่มมีโรงแรมในแหล่งท่องเที่ยว เช่น หัวหิน พัทยา เกาะเล็ก ๆ เริ่มเปิดบ้างแต่ก็ยังไม่เกิน 60% ของโรงแรมทั้งหมด เพราะมีแต่นักท่องเที่ยวคนไทยที่เดินทาง และก็เป็นเพียงวันหยุด ส่วนวันธรรมดาก็มีการเดินทางท่องเที่ยวน้อยอยู่ ในช่วงเวลาดังกล่าวแต่ละโรงแรมก็มีวิธีฝ่าวิกฤติแตกต่างกันไปตามแต่ความสามารถทางด้านการเงิน จึงมีการร่วมหารือกันระหว่างกระทรวงแรงงานกับสมาคมโรงแรมไทยว่า ถ้าโรงแรมต้องปิดตัวลงชั่วคราว แต่ไม่มีการเลิกจ้างงานจะทำอย่างไรกันดี

ในที่สุด ก็มีการตกลงกันว่า เมื่อโรงแรมต้องปิดตัวลงเนื่องจากวิกฤติโควิด-19 ให้ถือว่าเป็นการปิดชั่วคราวเพราะเหตุสุดวิสัย ตามมาตรา 79/1 ของกฎหมายว่าด้วยประกันสังคม โดยสำนักงานประกันสังคมจะจ่ายเงินให้พนักงาน 62% ของเงินเดือน (ไม่เกิน 15,000 บาท) ไม่เกิน 90 วัน ซึ่งสิ้นสุดการเยียวยาสิ้นเดือนกรกฎาคม 2563 ซึ่งทางสมาคมก็ได้แจ้งให้ทางกระทรวงแรงงานทราบแล้วว่า เหตุการณ์วิกฤติยังไม่คลี่คลาย จึงขอให้ทางสำนักงานประกันสังคมยืดเวลาการจ่ายเงินชดเชยเพิ่มขึ้นอีกไม่เกิน 90 วัน และกำลังรอคำตอบจากกระทรวงฯ อยู่ หลายโรงแรมจึงมีแนวทางปฏิบัติของตัวเอง ดังนี้

1. โรงแรมที่มีสายป่านยาว (มีเงินสะสมจากกำไรหลายปีที่ผ่านมา) ประกาศปิดกิจการชั่วคราว โดยจ่ายเงินให้พนักงาน 75% ของเงินเดือนจริง ตามมาตรา 75 ของกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองแรงงาน

2. ให้พนักงานออก โดยสัญญาว่าจะรับกลับเข้าทำงานเช่นเดิมเมื่อเหตุการณ์คลี่คลาย มีผลให้พนักงานไปรับเงินในกรณีว่างงานจากสำนักงานประกันสังคมจำนวน 70% (ของเงินไม่เกิน 15,000 บาท) เป็นเวลาไม่เกิน 200 วัน

3. หลายโรงแรมลดพนักงาน โดยปลดพนักงานที่มีอายุงานไม่เกิน 1 ปี ทั้งหมด และจ่ายเงินชดเชยให้ตามกฎหมาย และอบรมพนักงานที่เหลือให้มีความสามารถทำงานได้หลายด้าน โดยจะไม่รับพนักงานเพิ่มเมื่อเปิดกิจการตามปกติ

4. บางโรงแรมไม่อยากทำโรงแรมอีกต่อไป ก็ประกาศขายกิจการ

ระหว่างวิกฤติบางโรงแรมพยายามหารายได้เสริม เพื่อนำมาช่วยเป็นค่าใช้จ่าย เช่น ค่าน้ำประปา ค่าไฟฟ้า โดยทำอาหารส่งตามบ้านในราคาที่ไม่แพง หรือ ปรับเปลี่ยนโรงแรมให้เหมาะสำหรับเป็นสถานกักกันตัวของรัฐ  เป็นต้น

หลังวิกฤติโรงแรมต้องปรับตัวอย่างไร

จากความเห็นของผู้บริหารโรงแรมบางท่านพอจะประมวลได้ ดังนี้

1. พนักงานทุกคนต้องพร้อมเรียนรู้ที่จะสามารถทำงานได้หลายหน้าที่ เพราะต่อไปนี้โรงแรมจะใช้พนักงานน้อยลงเพื่อลดค่าใช้จ่าย

2. การขายผ่านออนไลน์จะมีมากขึ้น จึงต้องมีการอบรมพนักงานด้านนี้มากขึ้น

3. เนื่องจากรายได้ส่วนใหญ่มาจากการขายห้องพัก ดังนั้น พนักงานทุกคนต้องมีความรู้เบื้องต้นที่สามารถขายห้องพักได้ตลอดเวลา

4. การปรับปรุงโรงแรมให้เข้ากับมาตรฐานต่าง ๆ เช่น มาตรฐานดาวโรงแรมของกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา มาตรฐานโรงแรมสีเขียวของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม นอกจากจะให้นักท่องเที่ยวเชื่อมั่นในมาตรฐานการบริการ มาตรฐานสิ่งแวดล้อมแล้ว โรงแรมยังสามารถประหยัดต้นทุนได้อีกมาก

5. สิ่งที่โรงแรมเจอปัญหาในการอยู่รอดครั้งนี้ คือ สถานะทางการเงิน ถึงแม้รัฐบาลพยายามแก้ไขปัญหานี้แล้ว แต่มีโรงแรมน้อยมากที่สามารถกู้เงินได้ ดังนั้น ในเวลาที่การท่องเที่ยวกลับมารุ่งเรือง การทำสัญญาวงเงินกู้จำนวนหนึ่งเอาไว้ใช้ยามวิกฤติเป็นเรื่องต้องทำ เพื่อสามารถขอใช้วงเงินกู้ได้ในยามต้องการ

6. การแข่งขันในปัจจุบันสูงมาก การปรับปรุงโรงแรมให้ใหม่อยู่เสมอเป็นเรื่องจำเป็นอย่างยิ่งที่ละเลยไม่ได้

ในที่สุดในยามนี้เราทุกคนต้องร่วมมือกันฝ่าวิกฤติครั้งนี้ไปด้วยกัน โชคดีครับ

ที่มา : นิตยสาร Thai Hotel & Travel Magazine ฉบับเดือน มิถุนายน – กรกฎาคม 2020

Leave a Reply

Or

Your email address will not be published. Required fields are marked *