Fri. Apr 19th, 2024
เราเที่ยวด้วยกัน

ปลดล็อคเงื่อนไข ‘เราเที่ยวด้วยกัน’ หวังอัตราเข้าพักโรงแรมพ้นจุดวิกฤต!

จากสถานการณ์การเข้าพักโรงแรมทั่วประเทศไทย ก่อนเกิดวิกฤตโควิด-19 สามารถทำอัตราเข้าพักเฉลี่ยได้ถึง 77.97% เมื่อเดือนมกราคม 2563 กระทั่งเกิดการแพร่ระบาดหนักอย่างหนักเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ ส่งผลให้อัตราเข้าพักเฉลี่ยลดลงเหลือ 58.39% และลดวูบเหลือ 20.82% ในเดือนมีนาคม

ก่อนจะเดินทางสู่จุดต่ำสุดในเดือนเมษายนอยู่ที่ 2.26% หลังรัฐบาลประกาศล็อคดาวน์และปิดน่านฟ้า และยังต้องใช้เวลารอให้สถานการณ์แพร่ระบาดในไทยดีขึ้นเป็นระยะเวลาร่วม 2 เดือน ทำให้อัตราเข้าพักเมื่อเดือนพฤษภาคมอยู่ที่ 3.83% ก่อนจะกระเตื้องขึ้นในเดือนมิถุนายนมาอยู่ที่ 13.48% หลังรัฐบาลประกาศคลายล็อคการเดินทางในประเทศ คนไทยเริ่มขับรถเที่ยวต่างจังหวัด เมืองท่องเที่ยวที่ได้รับความนิยมหนีไม่พ้นเมืองใกล้กรุงเทพฯ อาทิ หัวหิน ชะอำ พัทยา และกาญจนบุรี

ส่งผลให้อัตราเข้าพักฟื้นตัวดีขึ้นในเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 25.41% และขยับอีกนิดในเดือนสิงหาคมเป็น 26.93% และเดือนกันยายนอยู่ที่ 27.98% เห็นได้ว่าอัตราการฟื้นตัวเริ่มนิ่ง ส่งผลให้ภาคธุรกิจโรงแรมและท่องเที่ยว รวมถึงหน่วยงานรัฐด้านส่งเสริมการท่องเที่ยวอย่างการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ต้องเร่งหาวิธีแก้ไข เพื่อให้อัตราเข้าพักพ้นจากจุดวิกฤตซึ่งอยู่ที่ประมาณ 28%

คุณยุทธศักดิ์ สุภสร ผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) เล่าว่า จะผลักดันการปลดล็อคเงื่อนไขโครงการ ‘เราเที่ยวด้วยกัน’ วงเงินรวม 2 หมื่นล้านบาท ซึ่งจะสิ้นสุดในวันที่ 31 มกราคม 2564 เพื่อกระตุ้นการเดินทางและยอดการใช้สิทธิจองห้องพักให้ถึงเป้าหมาย 5 ล้านคืน หลังจากข้อมูลบนเว็บไซต์เราเที่ยวด้วยกัน ณ วันที่ 3 พฤศจิกายน 2563 ระบุว่ามีจำนวนสิทธิห้องพักคงเหลืออีกครึ่งหนึ่งที่ 2.4 ล้านคืน

หนึ่งในเงื่อนไขใหม่ที่จะหารือกันเพิ่มเติม ส่วนที่เกี่ยวข้องกับภาคธุรกิจโรงแรม คือ จะให้โรงแรมที่อยู่ในฐานข้อมูลระบบภาษีของกรมสรรพากรเข้าร่วมโครงการเราเที่ยวด้วยกันได้ ไม่จำกัดเฉพาะโรงแรมที่มีใบอนุญาตประกอบกิจการโรงแรมเท่านั้น

“แม้โรงแรมดังกล่าวจะไม่ได้จดทะเบียนเข้าระบบ แต่ทาง ททท. ได้หารือร่วมกับสมาคมโรงแรมไทย (THA) โดยทาง THA ให้การยอมรับเงื่อนไขดังกล่าวแล้ว”

ด้านเงื่อนไขใหม่อื่น ๆ ททท. จะเสนอขอให้ผู้ลงทะเบียนสามารถใช้สิทธิ์ส่วนลดที่รัฐช่วยจ่าย 40% ของมูลค่าตั๋วเครื่องบิน แต่ไม่เกิน 2,000 บาทต่อ 1 ผู้โดยสาร ในขั้นตอนการจองตั๋วเครื่องบินได้เลย ไม่ต้องยื่นเรื่องขอคืนเงิน (Redeem) ภายหลัง ให้เหมือนกับขั้นตอนการจองห้องพักที่เข้าร่วมโครงการเราเที่ยวด้วยกัน เพื่อเพิ่มความสะดวกและกระตุ้นกระแสการเดินทาง ช่วยเหลือผู้ประกอบการสายการบิน เพราะปัจจุบันมีจำนวนสิทธิ์ตั๋วเครื่องบินที่ถูกใช้แล้วเพียง 1.76 แสนกว่าสิทธิ์เท่านั้น จากโควตาตั๋วเครื่องบิน 2 ล้านสิทธิ์

“สำหรับเงื่อนไขใหม่ของการใช้สิทธิ์ส่วนลดที่รัฐจะช่วยจ่าย 40% ของค่าตั๋วเครื่องบิน โดยไม่ต้องยื่นเรื่องของคืนเงินภายหลังนั้น จะต้องมีการค้างคืนเกิดขึ้น โดยไม่จำเป็นต้องเข้าพักโรงแรมที่เข้าร่วมโครงการเราเที่ยวด้วยกัน แต่ต้องไม่ใช่การจองเที่ยวบินแบบเดย์ทริปหรือเช้าไปเย็นกลับภายในวันเดียว”

นอกจากนี้ จะเสนอให้มีการเพิ่ม ‘แพ็คเกจทัวร์’ มาเสนอขายผ่านโครงการเราเที่ยวด้วยกันด้วย โดยทางสมาคมธุรกิจท่องเที่ยวภายในประเทศ (สทน.) ได้ผลักดันโครงการ ‘ชวนผู้สูงวัย เที่ยววันธรรมดาผ่านทัวร์’ ให้ใช้งบฯ ของโครงการเราเที่ยวด้วยกัน ซึ่งปัจจุบันเหลืองบฯ ราว 1 หมื่นล้านบาท จากวงเงิน 2 หมื่นล้านบาท

คุณธนพล ชีวรัตนพร นายกสมาคมธุรกิจท่องเที่ยวภายในประเทศ (สทน.) เล่าเสริมว่า สำหรับข้อเสนอโครงการ ‘ชวนผู้สูงวัยเที่ยววันธรรมดาผ่านทัวร์’ ได้กำหนดรายละเอียดไว้ ดังนี้

1. กลุ่มเป้าหมายอายุ 55 ปีขึ้นไป

2. เดินทางพักค้างตั้งแต่วันอาทิตย์ – วันพฤหัสบดี อย่างน้อย 3 วัน 2 คืน

3. ขอวงเงินสนับสนุนตามหลักเกณฑ์โครงการเราเที่ยวด้วยกันที่รัฐช่วยจ่าย 40%

4. เป้าหมายจำนวน 1 ล้านคน

5. วงเงิน 5,000 ล้านบาทจากงบฯ โครงการเราเที่ยวด้วยกัน

6. กรอบระยะเวลาโครงการระหว่างเดือนพฤศจิกายน 2563 – เมษายน 2564

7. ใช้บริการผ่านบริษัทนำเที่ยวเท่านั้น

คุณยุทธศักดิ์ เล่าถึงเงื่อนไขใหม่ข้ออื่น ๆ ที่จะเสนอให้รัฐบาลพิจารณาเพิ่มเติมด้วยว่า ทางคุณสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ได้มอบหมายให้ ททท. ศึกษาความเป็นไปได้ของการเสนอขาย ‘กิฟต์วอยเชอร์’ ของโรงแรมที่เข้าร่วมโครงการเราเที่ยวด้วยกัน ภายใต้เงื่อนไขรัฐช่วยจ่าย 40% เพื่อให้ผู้ลงทะเบียนที่สนใจซื้อกิฟต์วอยเชอร์นำไปใช้จ่ายค่าบริการอื่น ๆ ในโรงแรมเพิ่มเติม เช่น สปา ร้านอาหาร เป็นต้น ทั้งนี้จะเป็นคนละส่วนกับ ‘อี-วอยเชอร์’ ที่โครงการฯ มอบให้ผู้ใช้สิทธิ์ผ่านแอปพลิเคชัน ‘เป๋าตัง’ ซึ่งรัฐจะช่วยจ่ายค่าอาหารและค่าท่องเที่ยว 40% สูงสุดมูลค่า 900 บาทต่อวัน

ส่วนแนวทางส่งเสริมภาคท่องเที่ยวเพื่อกระตุ้นตลาดต่างประเทศ ททท. จะร่วมกับการบินไทย, THA และสมาคมไทยธุรกิจการท่องเที่ยว (ATTA) จัดทำแพ็คเกจท่องเที่ยวนำเสนอต่อนักท่องเที่ยวต่างชาติหลังครบกำหนดกักตัว 14 วันในไทยให้กระจายไปยังเมืองท่องเที่ยวอื่น ๆ ในต่างจังหวัด

คุณศิริปกรณ์ เชี่ยวสมุทร รองผู้ว่าการด้านตลาดยุโรป แอฟริกา ตะวันออกกลาง และอเมริกา การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ให้ข้อมูลเสริมว่า แพ็คเกจดังกล่าวมีชื่อว่า ‘อเมซิ่ง ไทยแลนด์ พลัส’ โดยจะมีการรวมศูนย์กลางเพื่อบริการนักท่องเที่ยวเพียงจุดเดียว โดยเฉพาะกลุ่มที่เดินทางด้วยวีซ่าประเภทพิเศษ (Special Tourist VISA : STV) เมื่อยื่นเรื่องขอวีซ่าเสร็จแล้ว สามารถเข้ามาจองตั๋วเครื่องบินและโรงแรมทางเลือกสำหรับกักตัวได้ทันที

“นับเป็นการแง้มประตู เพื่อดึงนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้าไทยในช่วงฤดูกาลท่องเที่ยวหรือไฮซีซั่นปลายปีนี้ ก่อนจะเข้าสู่ฤดูหนาวของยุโรปในต้นปีหน้า โดยแพ็คเกจนี้วางกรอบการดำเนินงานสิ้นสุดในเดือนมีนาคม 2564”

สำหรับรายละเอียด ทางโรงแรมจะมีแพ็คเกจให้เลือก 3 ตัวเลือกด้วยกัน ได้แก่

1. พัก 2 คืน ฟรี 1 คืน ในกรุงเทพฯ

2. พัก 2 คืน ฟรี 1 คืน ในกรุงเทพฯ และเดินทางไปพักโรงแรมอื่น ๆ ด้วยรถยนต์ใกล้กรุงเทพฯ

3. พัก 3 คืน ฟรี 2 คืน ในกรุงเทพฯ และเดินทางไปพักโรงแรมอื่น ๆ ในจังหวัดที่เดินทางไปได้ด้วยเครื่องบิน

ส่วนนักท่องเที่ยวที่จองแพ็คเกจต่าง ๆ ไปแล้ว ทาง ททท. กับ ATTA จะร่วมกันสนับสนุนค่าใช้จ่ายอื่น ๆ เช่น หากนักท่องเที่ยวซื้อแพ็คเกจหลังจากกักตัวในกรุงเทพฯ ครบแล้ว และเดินทางไปเที่ยวในจังหวัดใกล้เคียง ททท.จะสนับสนุนค่าเดินทางให้ ส่วนนักท่องเที่ยวรายใดที่กักตัวเสร็จและจะไปเที่ยวจังหวัดที่ต้องนั่งเครื่องบินไป ททท. จะสนับสนุนค่าตั๋วเครื่องบินให้ ซึ่งจะเป็นการช่วยเหลือผู้ประกอบธุรกิจนำเที่ยว มัคคุเทศก์ รถยนต์นำเที่ยว สายการบิน และอื่น ๆ โดยทั้งหมดจะใช้งบประมาณของ ททท.

Source รูปภาพ : www.เราเที่ยวด้วยกัน.com

Leave a Reply

Or

Your email address will not be published. Required fields are marked *