มีนิทานเรื่องหนึ่ง ชื่อเรื่อง ‘กระต่ายกับเต่า’ เชื่อว่าผู้อ่านน่าจะรู้จักและทราบบทสรุปว่าเป็นอย่างไร!
คุณพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา เคยอุปมาอุปไมยว่า ‘การเปิดประเทศ’ ของไทยนั้นไม่ต่างจากตัวละคร ‘กระต่าย’ ของนิทานเรื่องนี้ เพราะ ‘วิ่งเร็ว’ กว่าประเทศอื่น ๆ
นำร่องด้วยโครงการ ‘ภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์’ ตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2564 จุดประกายความหวังให้กับภาคเอกชนท่องเที่ยวภูเก็ต ซึ่งพึ่งพิงรายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติมากกว่า 95%
หลังจากนั้นทาง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้ประกาศนโยบาย ‘เปิดประเทศ 1 พฤศจิกายน 2564’ รับนักท่องเที่ยวประเภท Test & Go จากสถิติระบุว่ามีนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้าไทยสะสมตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2564 – 28 กุมภาพันธ์ 2565 รวม 816,841 คน แบ่งเป็นเดือนพฤศจิกายน 133,061 คน, เดือนธันวาคม 290,617 คน, เดือนมกราคม 189,193 คน กระแสการเดินทางอ่อนตัวลงจากสถานการณ์ระบาดของโรคโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอน ก่อนจะกลับมาฟื้นตัวดีขึ้นในเดือนกุมภาพันธ์ด้วยจำนวน 203,970 คน
“ตอนนี้ประเทศไทยเหมือนกระต่ายที่วิ่งเร็วกว่าชาวบ้าน แต่สิ่งสำคัญ คือ เราจะทำอย่างไรไม่ให้ชาวโลกสบประมาทว่าไทยเป็นแค่กระต่าย แต่สุดท้ายก็โดนเต่าแซง”
จากมติของศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) เมื่อวันที่ 18 มีนาคมที่ผ่านมา ได้เห็นชอบการปรับมาตรการเดินทางเข้าราชอาณาจักร เกี่ยวกับเกณฑ์การตรวจหาเชื้อโควิด-19 สำหรับผู้เดินทางทั้งชาวไทยและต่างชาติประเภท Test & Go และ Sandbox จากหลักเกณฑ์เดิมกำหนดให้ตรวจหาเชื้อ 3 ครั้ง ดังนี้
ครั้งที่ 1 ตรวจด้วยวิธี RT-PCR ก่อนออกเดินทาง 72 ชั่วโมง
ครั้งที่ 2 ตรวจในประเทศไทยด้วยวิธี RT-PCR ในวันแรกที่เดินทางมาถึง
ครั้งที่ 3 ตรวจด้วยวิธี Self-ATK ในวันที่ 5 ส่วนนักท่องเที่ยวประเภท Quarantine ต้องตรวจหาเชื้อด้วยวิธี RT-PCR ทั้ง 3 ครั้งทั้งก่อนและหลังเดินทางเข้าไทย
หลักเกณฑ์ใหม่ซึ่งมีผลตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2565 ที่ผ่านมา ปรับมาตรการให้ยกเลิกการตรวจ RT-PCR ก่อนเดินทางสำหรับนักท่องเที่ยวทั้ง 3 กลุ่ม (Test & Go, Sandbox และ Quarantine) โดยกลุ่ม Test & Go และ Sandbox เหลือเฉพาะการตรวจหาเชื้อในประเทศไทย ครั้งที่ 1 ด้วยวิธี RT-PCR ในวันแรกที่เดินทางมาถึงเช่นเดิม และครั้งที่ 2 ด้วยวิธี Self-ATK ในวันที่ 5
สำหรับระยะถัดไป ทางกระทรวงการท่องเที่ยวฯ จะเสนอให้ ศบค. พิจารณาผ่อนคลายมาตรการเดินทางเข้าประเทศไทยอย่างต่อเนื่อง โดยนักท่องเที่ยวกลุ่ม Test & Go และ Sandbox จะได้รับการยกเลิกการตรวจหาเชื้อด้วยวิธี RT-PCR ในวันแรกที่เดินทางมาไทย และเปลี่ยนไปใช้วิธี Prof. ATK แทน ซึ่งมีผู้เชี่ยวชาญทางการแพทย์เป็นผู้ตรวจและรับรองผลที่สนามบินหรือสถานที่ที่ทางราชกำหนด เมื่อผลตรวจเป็นลบ จึงจะออกท่องเที่ยวได้ เสนอให้เริ่มตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคม 2565 เป็นต้นไป
ทั้งนี้มีเงื่อนไขสำคัญว่ายอดผู้ติดเชื้อในช่วงเทศกาลสงกรานต์จะต้องไม่รุนแรงไปมากกว่า 5-6 หมื่นคน ซึ่งรวมยอดผู้มีผลตรวจ ATK เป็นบวกแล้ว และมียอดผู้เสียชีวิตไม่เกิน 100 คนต่อวัน
หากสถานการณ์ระบาดของสายพันธุ์โอมิครอนคลี่คลายดีขึ้น กระทรวงการท่องเที่ยวฯ ได้เตรียมเสนอให้ ศบค. พิจารณา ยกเลิกระบบไทยแลนด์พาส’ (Thailand Pass) โดยให้มีผลตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน 2565 เป็นต้นไป
นั่นหมายความว่าการเดินทางเข้าประเทศไทยจะหวนสู่สภาวะปกติ กลับมา ‘เปิดประเทศเต็มรูปแบบ’ หลังต้องเจอวิกฤติโควิด-19 มายาวนานกว่า 2 ปี นักท่องเที่ยวไม่ต้องลงทะเบียนว่าจะเดินทางประเภท Test & Go, Sandbox หรือ Quarantine อีกต่อไป
“เมื่อเปิดประเทศเต็มรูปแบบ ตามหลักการไม่ควรจะมีการตรวจหาเชื้อโควิด-19 อีกแล้ว แต่ในมุมมองส่วนตัว ควรมีการตรวจหาเชื้อด้วยวิธี ATK ในวันแรกที่เดินทางมาถึง ส่วนหนึ่งก็เพื่อความอุ่นใจของคนไทย อย่างไรก็ตามยังต้องรอการพิจารณาของ ศบค. และกระทรวงสาธารณสุขเพิ่มเติม”
คุณชำนาญ ศรีสวัสดิ์ ประธานสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (สทท.) เล่าว่า สทท. มั่นใจว่าภาคท่องเที่ยวจะพลิกฟื้นและกลับมาเป็นเครื่องจักรสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจซึ่งเคยสร้างรายได้ประมาณ 20% ของจีดีพี และสร้างงานให้คนได้มากถึง 7.5 ล้านคน โดยต้อง ‘รักษาสมดุล’ 3 มิติด้วยกัน
เริ่มจากมิติที่ 1 ‘สมดุลด้านการตลาด’ เนื่องจากเมื่อปี 2562 ก่อนเจอวิกฤติโควิด-19 ประเทศไทยเคยได้นักท่องเที่ยวต่างชาติมาเยือนเกือบ 40 ล้านคน นักท่องเที่ยวไทย 166 ล้านคน-ครั้ง สร้างรายได้รวมจากทั้งตลาดในและต่างประเทศอยู่ที่ 3 ล้านล้านบาท พอเกิดการระบาดของโควิด-19 การสร้างโอกาสทางการตลาดให้เพียงพอ คือ คำตอบที่จะช่วยรักษาห่วงโซ่อุปทานของภาคการท่องเที่ยวให้อยู่รอด รักษาการจ้างงานเอาไว้ให้ได้ รวมถึงการเร่งพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันรองรับการเปิดประเทศ หลังจากหลาย ๆ ประเทศ คลายล็อกมาตรการเดินทางเพื่อแข่งขันในการดึงดูดนักท่องเที่ยวต่างชาติมากยิ่งขึ้น
“หากถามว่าจำนวนนักท่องเที่ยวเท่าใด รายได้เท่าใด ภาคการท่องเที่ยวไทยถึงจะอยู่รอด คำตอบ คือ ต้องมีจำนวนและรายได้ 40% ของปี 2019 โดยเป้าหมายของ สทท. คือ การผลักดันให้เกิดดีมานด์นักท่องเที่ยวต่างชาติ 16 ล้านคน และนักท่องเที่ยวไทย 75 ล้านคน-ครั้ง เพื่อสร้างรายได้รวม 1.2 ล้านล้านบาทให้ได้”
มิติที่ 2 ‘การเพิ่มสินค้าท่องเที่ยวแบบมนุษย์สร้าง (Man-made)’ ด้วยการโฟกัสสินค้าและบริการในกลุ่มเชิงสุขภาพ กลุ่มเชิงกีฬา กลุ่มเชิงอาหาร กลุ่มเชิงธุรกิจและไมซ์ กลุ่มสายศรัทธา กลุ่มท่องเที่ยวชุมชน และกลุ่มท่องเที่ยวอย่างรับผิดชอบ เพื่อลดการพึ่งพาและทำลายทรัพยากรธรรมชาติ หลังจากสถานการณ์โควิด-19 ธรรมชาติกลับมาสมบูรณ์ขึ้น
และมิติที่ 3 ‘สมดุลเชิงพื้นที่’ เพื่อกระจายนักท่องเที่ยวไปยังแหล่งท่องเที่ยวต่าง ๆ หลังจากในช่วงที่ผ่านมาภาคท่องเที่ยวไทยประสบปัญหานักท่องเที่ยวล้นขีดความสามารถในการรองรับ (Over Tourism) ในแหล่งท่องเที่ยวชื่อดัง แต่ก็ยังมีแหล่งท่องเที่ยวอีกมากที่ไม่มีนักท่องเที่ยวเข้าถึงมากนัก
นับเป็นโจทย์ที่ผู้ประกอบการท่องเที่ยวต้องเร่งสร้างสินค้าที่ตอบโจทย์ สร้างการเล่าเรื่อง และสร้างโอกาสทางการตลาดแก่แหล่งท่องเที่ยวใหม่ ๆ ทั้งช่องทางออนไลน์และออฟไลน์ เพื่อกระจายโอกาสและลดความเหลื่อมล้ำ
ขอบคุณภาพโดย SHUTTER STOCK
You may also like
-
เช็กสภาพ ‘ท่องเที่ยว’ เครื่องยนต์เศรษฐกิจไทยปี 2566
-
Expect The Unexpected! โรงแรมในยุคนักท่องเที่ยว ‘สร้างคอนเทนต์’
-
รอยต่อช่วงฟื้นตัวท่องเที่ยวไทย ! กับสารพัดพายุ ‘ความท้าทาย’ ครึ่งปีหลัง
-
ทัวริสต์ ‘เอเชีย & แปซิฟิก’ ดาวเด่นกู้ยอด ‘โลว์ซีซั่น’ โรงแรมไทย
-
Begin Again! ลุ้นท่องเที่ยวปีเสือ เข็นโรงแรมไทยตะกายพ้นปากเหวโควิด?!