Fri. Apr 19th, 2024
ท่องเที่ยวไทย

รอยต่อช่วงฟื้นตัวท่องเที่ยวไทย ! กับสารพัดพายุ ‘ความท้าทาย’ ครึ่งปีหลัง

ช่วงครึ่งหลังปี 2565 เศรษฐกิจไทยต้องรับมือกับ ‘ความท้าทาย’ ดาหน้าเข้ามามากมายในช่วง ‘วิกฤติซ้อนวิกฤติ’ ต่อคิวจากสถานการณ์โควิด-19 ระบาดลากยาวนานเข้าสู่ปีที่ 3 นับตั้งแต่ต้นปี 2563 ไม่ต่างจากพายุกระหน่ำเศรษฐกิจไทย!

ไม่ว่าจะเป็นปัจจัย ‘เงินเฟ้อ’ ปัจจุบันพุ่งสู่ระดับ 10% กดดันการบริโภคภายในประเทศ หลังได้รับผลกระทบจาก ‘ปัญหาความขัดแย้งในยุโรป’ ที่ยังคงรุนแรงและยืดเยื้อ หนุนราคาน้ำมันพุ่งสูง จนผู้บริโภคเห็นแล้วได้แต่ปาดเหงื่อรัว ๆ เมื่อเห็นการเร่งตัวของราคาสินค้าอุปโภคบริโภคที่มีต้นทุนจากน้ำมันและการขนส่ง

ขณะที่ส่วนหนึ่งของภาวะเงินเฟ้อ เกิดจากอานิสงส์ ‘การเปิดประเทศเต็มรูปแบบ’ ผลักดันกำลังซื้อและดีมานด์ฟื้นตัว โดยเฉพาะจากตลาดนักท่องเที่ยวต่างชาติที่ค่อย ๆ ฟื้นตัว หลังจากรัฐบาลไทยทยอยผ่อนคลายมาตรการเดินทางเข้าประเทศอย่างต่อเนื่องในช่วงไตรมาส 2 ที่ผ่านมา ล่าสุด คือ การยกเลิกลงทะเบียนผ่านระบบไทยแลนด์พาส (Thailand Pass) มีผลบังคับเมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม 2565 เป็นต้นไป

นอกจากนี้สหรัฐอเมริกายังเสี่ยงเข้าสู่ ‘ภาวะเศรษฐกิจถดถอย’ ส่งผลให้ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จำเป็นต้องขึ้นดอกเบี้ยเพื่อลดความร้อนแรงของเงินเฟ้อ เป็นเหตุให้ ‘เงินบาท’ อ่อนค่าสู่ระดับ 36 – 37 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ (ข้อมูล ณ วันที่ 29 กรกฎาคม 2565)

สำหรับในมุมเศรษฐกิจไทย แม้จะมีข้อกังวลว่าอาจได้รับผลกระทบ หาก สหรัฐฯ เผชิญปัญหาเศรษฐกิจถดถอย แต่นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่มองว่า สหรัฐฯ น่าจะฟื้นตัวได้เร็ว ผ่านการลดดอกเบี้ยและการอัดฉีดด้วยนโยบายการคลัง

สารพัดปัจจัยประเดประดังในช่วงรอยต่อแห่งการฟื้นตัวของ ‘ภาคท่องเที่ยวไทย’ จากวิกฤติโควิด-19 หลังจากครึ่งแรกของปี 2565 ว่ากันตามตรงคือยังฟื้นตัวค่อนข้างช้า มีจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติสะสม 2,124,326 คน โดยประเทศที่ส่งออกนักท่องเที่ยวมาไทยสูงสุด 10 อันดับแรก คือ อินเดีย มาเลเซีย สิงคโปร์ สหราชอาณาจักร สหรัฐ เยอรมนี ออสเตรเลีย กัมพูชา ฝรั่งเศส และรัสเซีย ตามลำดับ

คุณพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ระบุว่า ตามเป้าหมายนักท่องเที่ยวต่างชาติปี 2565 ที่ 10 ล้านคน หนุนการสร้างรายได้รวมการท่องเที่ยวจากตลาดในและต่างประเทศ 1.2 ล้านล้านบาท แต่ทางกระทรวงการท่องเที่ยวฯ มองว่าจำเป็นต้องได้งบประมาณ ‘บูสเตอร์ช็อต’ จากรัฐบาล เพื่อนำมาฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นแก่ภาคท่องเที่ยวประมาณ 1,000 ล้านบาท ผลักดันนักท่องเที่ยวต่างชาติไปให้ถึง 12 ล้านคน ช่วยสร้างรายได้รวมฯ เพิ่มขึ้นอีก 3 แสนล้านบาท ทำให้สิ้นปี 2565 สามารถปิดตัวเลขรายได้รวมฯ ตามเป้าหมาย 1.5 ล้านล้านบาท

คุณยุทธศักดิ์ สุภสร ผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) บอกว่า สำหรับในช่วงครึ่งหลังปีนี้ แม้จะมีปัจจัยความกังวลต่อเศรษฐกิจที่ส่งผลต่อตลาดนักท่องเที่ยวต่างชาติ โดยเฉพาะสถานการณ์กำลังซื้อที่ได้รับผลกระทบจากภาวะเงินเฟ้อที่เกิดขึ้นทั่วโลก อาจทำให้นักท่องเที่ยวจากประเทศต้นทางเลือกเก็บเงิน ส่งผลต่อจิตวิทยาการเดินทางหรือใช้จ่ายด้านการท่องเที่ยวน้อยลง แต่ก็ยังพอจะได้อานิสงส์เรื่องเงินบาทอ่อนค่าที่เข้ามาชดเชยความต้องการเดินทางในช่วงผู้คนจำเป็นต้องชะลอการเดินทางเพราะวิกฤติโควิด-19 เป็นเหตุ นำเงินที่เก็บไว้มากว่า 2 ปีมาใช้ ทำให้กำลังซื้อของนักท่องเที่ยวต่างชาติสูงขึ้น สามารถนำมาใช้จ่ายได้มากขึ้น พำนักได้นานวันขึ้น

“โจทย์สำคัญ คือ ภาคท่องเที่ยวไทยต้องนำเสนอประสบการณ์ท่องเที่ยวสุดพิเศษ คุ้มค่า มาแลกกับความพึงพอใจของนักท่องเที่ยว ผลักดันให้เกิดดีมานด์และกระแสการเดินทางจริง ภายใต้สถานการณ์ความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจในตอนนี้”

ขณะที่สำนักวิเคราะห์ต่าง ๆ ประเมินว่า ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) มีแนวโน้มขยับอัตราดอกเบี้ยนโยบายขึ้นอย่างต่อเนื่องเพื่อสกัดเงินเฟ้อจนถึงปี 2566 ช่วยเพิ่มความน่าสนใจแก่เงินบาท ส่งผลให้เงินบาทกลับมาแข็งค่าเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐในช่วงไตรมาส 4 ซึ่งเข้าสู่ช่วงฤดูกาลท่องเที่ยวหรือไฮซีซั่น นักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้ามาจับจ่ายในไทยมากขึ้น น่าจะส่งผลให้เงินบาทแข็งค่าแตะระดับ 34 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐในช่วงปลายปีนี้

คุณยุทธศักดิ์ ผู้ว่าการ ททท. เล่าเพิ่มเติมว่า สำหรับปี 2566 ททท. ตั้งเป้าหมายรายได้รวมการท่องเที่ยวที่ 1.25 – 2.38 ล้านล้านบาท หากสามารถสร้างรายได้สูงสุดจากกรอบเป้าหมายดังกล่าว จะคิดเป็นการฟื้นตัว 80% เมื่อเทียบกับรายได้รวม 3 ล้านล้านบาทเมื่อปี 2562 ก่อนโควิด-19 ระบาด แต่ถ้าดูจากแนวโน้มกรณี Base Case คาดการณ์ค่ากลางความเป็นไปได้ในการสร้างรายได้สูงสุดอยู่ที่ 1.73 ล้านล้านบาท

ทั้งนี้ เมื่อแบ่งเป็นเป้าหมายรายได้จากตลาดต่างประเทศที่ 5.8 แสนล้านบาท ถึง 1.5 ล้านล้านบาท ค่ากลางเป็นไปได้สูงสุด คือ 9.7 แสนล้านบาท จากเป้าหมายจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติมาไทย 11 – 30 ล้านคน ค่ากลางฯ อยู่ที่ 18 ล้านคน ปรับกลยุทธ์ดึงนักท่องเที่ยวต่างชาติจากทุกภูมิภาค กระตุ้นให้มา ‘เที่ยวไทยตลอดทั้งปี’ โดยไม่รอความหวังจากตลาดนักท่องเที่ยวจีน ซึ่งยังต้องรอทางการจีนประกาศนโยบายผ่อนคลายให้ชาวจีนเดินทางออกนอกประเทศมากขึ้น

ส่วนเป้าหมายรายได้จากตลาดท่องเที่ยวในประเทศ ททท. ตั้งเป้าที่ 6.7 – 8.8 แสนล้านบาท ค่ากลางฯ อยู่ที่ 7.6 แสนล้านบาท จากจำนวนนักท่องเที่ยวไทย 117 – 135 ล้านคน-ครั้ง ค่ากลางฯ อยู่ที่ 130 ล้านคน-ครั้ง โดย ททท.จะมุ่งกระตุ้นคนไทยเดินทางท่องเที่ยวได้ทุกวัน ผ่านแคมเปญ ‘365 วัน มหัศจรรย์เมืองไทย…เที่ยวได้ทุกวัน’

“ททท.ตั้งเป้าหมายปี 2566 ผลักดันอันดับให้ประเทศไทยมีรายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติติดอันดับสูงสุด 1 ใน 5 ของโลก เพื่อรักษาตำแหน่งทางการตลาดเอาไว้อย่างต่อเนื่อง จากเมื่อปี 2562 ก่อนวิกฤติโควิด-19 สร้างรายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติมากเป็นอันดับ 4 ของโลก” ผู้ว่าการ ททท. กล่าว

ขอบคุณภาพโดย Oleksandr Pidvalnyi จาก Pexels

Leave a Reply

Or

Your email address will not be published. Required fields are marked *