Tue. Apr 30th, 2024
เตรียมพร้อมรับมือกับสังคมไร้เงินสด

เตรียมพร้อมรับมือกับสังคมไร้เงินสด

จากการที่รัฐบาลประกาศนโยบาย Thailand 4.0 คือ การขับเคลื่อนประเทศไทยด้วยเทคโนโลยี ความคิดสร้างสรรค์ และนวัตกรรม ซึ่งวัตถุประสงค์ของนโยบายก็เพื่อมุ่งเน้นให้เกิดความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืนแก่ประชาชนในประเทศ ทั้งนี้ในการดำเนินนโยบาย Thailand 1.0, 2.0 และ 3.0 มีการนำเทคโนโลยีมาใช้ในการพัฒนาประเทศไม่ใคร่จะเต็มเม็ดเต็มหน่วยเท่าใดนัก เนื่องจากเป็นช่วงของการก่อร่างสร้างตัวของเทคโนโลยี โดยเฉพาะอย่างยิ่งเทคโนโลยีด้านการสื่อสารผ่านอินเทอร์เน็ต และในปัจจุบันก็ได้พัฒนามาถึงจุดที่สามารถนำเทคโนโลยีนี้ไปใช้ในการทำธุรกรรมต่างๆ ได้อย่างมั่นใจประจวบเหมาะกับการประกาศนโยบาย Thailand 4.0 จึงทำให้เกิดการปรับเปลี่ยนกลยุทธ์ในการนำเทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตมาใช้ในการพัฒนาประเทศหลายด้านด้วยกัน

อย่างที่เรียนไปตั้งแต่ต้นว่าเป้าหมายสำคัญของนโยบาย Thaland 4.0 คือ ความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืนของประชาชนหรือความหมายตรงๆ ก็คือเรื่องปากท้องของประชาชนนั่นเอง แน่นอนว่านี่ถือเป็นเรื่องใหญ่สุดไม่เฉพาะประเทศไทยแต่เป็นเรื่องของคนทั้งโลก ซึ่งตามหลักสากลแล้วจะวัดกันด้วยผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (Gross Domestic Product: GDP) เพราะถือเป็นตัวบ่งชี้ถึงมาตรฐานการครองชีพของประชากรในประเทศนั้นๆ แต่การจะไปถึงตรงจุดนั้นได้ การเงินของประเทศจำเป็นจะต้องมีเสถียรภาพที่ดีเสียก่อนรายได้หรือเม็ดเงินจะต้องกระจายไปสู่ประชาชนอย่างทั่วถึงซึ่งรัฐก็จำเป็นจะต้องนำเทคโนโลยีเข้ามาเป็นเครื่องมือ โดยเฉพาะการนำมาสร้างนวัตกรรมที่จะอำนวยความสะดวกในเรื่องของการจับจ่ายใช้สอยของประชาชนให้เป็นไปได้โดยง่ายไม่ว่าประชาชนผู้นั้นจะอยู่ในสถานะของผู้รับเงินหรือผู้จ่ายเงิน หากประชาชนยังคงใช้เงินในรูปแบบของเหรียญหรือธนบัตรแบบเดิมการติดขัดในการทำธุรกรรมก็ย่อมเกิดขึ้นได้เสมอ ดังนั้น เป้าหมายสำคัญอันดับแรกคือ ทำอย่างไรให้การจับจ่ายใช้สอยของประชาชนทำได้โดยสะดวก รวดเร็ว ไม่ต้องพกเงินสดไปไหนมาไหนให้วุ่นวายเพียงแค่มีบัตรเดบิต (ATM) หรือสมาร์ทโฟนก็สามารถจ่ายเงินซื้อสินค้าและบริการได้ง่าย ทั้งยังไม่ต้องมาพะวงว่าเงินจะสูญหาย ชำรุด ถูกปล้น หรือโดนลักขโมย หากเป็นเช่นนั้นได้ก็จะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจมวลรวมได้อย่างมาก และเมื่อผู้คนในประเทศเลิกใช้เงินสดแล้วหันมาใช้บัตรเดบิต (ATM) หรือสมาร์ทโฟนแทน สิ่งที่ตามมาก็คือ สังคมไร้เงินสด (Cashless Society) นั่นเอง

อันที่จริงแล้ว สังคมไร้เงินสด (Cashless Society) นั้นเกิดขึ้นมานานแล้วในหลายๆ ประเทศทั่วโลก สวีเดนถือเป็นประเทศแรกที่นำนโยบายสังคมไร้เงินสดมาใช้ได้เป็นผลสำเร็จ ปัจจุบันสวีเดนมีปริมาณเงินสดไหลเวียนอยู่ในระบบไม่ถึง 3% ซึ่งถือว่าน้อยมาก คนในประเทศนิยมจับจ่ายซื้อสินค้าและบริการผ่านระบบ Mobile Banking ด้วยบัตรเดบิตเป็นหลัก ดังนั้น จึงไม่น่าแปลกใจว่าร้านอาหาร ร้านค้า หรือการให้บริการต่างๆ ทั้งโดยภาครัฐและเอกชนของประเทศนี้จะรับเฉพาะเงินที่อยู่ในรูปแบบของบัตรเดบิตเท่านั้น ถัดมาก็คือประเทศจีน ต้องยอมรับว่าจีนไปไกลมากแล้วในเรื่องของการใช้ Mobile Payment ประชาชนจีนราว 60% หรือมากกว่านั้นใช้จ่ายเงินผ่านโทรศัพท์มือถือเป็นเรื่องปกติ ห้างสรรพสินค้าหรือซูเปอร์มาร์เก็ตหลายแห่งในจีนปฏิเสธที่จะรับเงินสดจากลูกค้าและหันมารับเงินผ่านบัตรเดบิตและ Mobile Payment เท่านั้น แม้แต่งานแต่งงานของชาวจีนนั้น เจ้าของงานยังเลือกที่จะให้แขกที่มาร่วมงานใส่ซองช่วยงานผ่านการสแกน QR Code ด้วยสมาร์ทโฟนกันได้ง่ายๆ แถมเจ้าของยังทราบด้วยว่าเงินที่ได้รับมานั้นมาจากผู้ใดอีกด้วย ซึ่งช่องทางหลักสำหรับการจับจ่ายใช้สอยผ่าน Mobile Payment ของจีนก็คือแอปพลิเคชัน Alipay และ Wechat Pay

สังคมไร้เงินสด

เมื่อย้อนกลับมาดูประเทศไทย ภาพของสังคมไร้เงินสดก็เริ่มชัดเจนมากยิ่งขึ้น หลังจากประกาศนโยบาย Thailand 4.0 ก็ได้มีการลงนามบันทึกข้อตกลงเดินหน้า National e-Payment ผ่านการกำกับดูแลโดยกระทรวงการคลังกับกลุ่มธนาคารเพื่อวางอุปกรณ์รับชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ (Electronic Data Capture: EDC) กว่าห้าแสนเครื่อง ซึ่งจะทำให้ประชาชนสามารถจับจ่ายใช้สอยผ่านบัตรเดบิต (ATM) ได้โดยง่าย ไม่เพียงเท่านั้น รัฐบาลยังเปิดช่องทางการโอนได้ง่ายๆ ผ่านระบบพร้อมเพย์ (PromptPay) ซึ่งเป็นระบบการเงินแบบอีเพย์เม้นต์ (E-Payment) ที่จะทำให้การโอนเงินของประชาชนเป็นเรื่องง่าย เพราะผู้โอนและผู้รับโอนไม่ต้องจำเลขบัญชีธนาคารให้ปวดหัวขอเพียงมีแค่หมายเลขโทรศัพท์มือถือหรือเลขประจำตัวประชาชนก็โอนได้สะดวกทุกที่ ทั้งค่าธรรมเนียมยังถูกกว่าการโอนผ่านธนาคารแบบเดิมอีกด้วย

อีกช่องทางที่ภาครัฐและสถาบันการเงินร่วมมือกันก็คือ ระบบ QR-Code โดยรัฐบาลได้ผลักดันให้เกิดมาตรฐานกลางที่ทุกธนาคารจะต้องนำไปใช้เป็นต้นแบบในการกำหนด QR-Code ทั้งยังได้ประสานไปยังผู้ให้บริการเครือข่ายการชำระเงินต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น VISA, MasterCard, JCB, UnionPay, American Express, Discover และ Diners Club International รวมไปถึงกลุ่มธนาคารและผู้ให้บริการทางการเงินในไทยอีกหลายรายโดยมีสิ่งสำคัญที่เน้นย้ำก็คือ QR Code ที่จะนำไปใช้ต้องเป็นมาตรฐานเดียวกันเท่านั้น

หากพิจารณาถึงข้อดีของ QR-Code แล้วก็นับได้ว่ามีข้อดีอยู่หลายประการ ซึ่งข้อดีนี้ทั้งผู้จ่ายเงินและผู้รับเงินต่างก็ได้รับประโยชน์ด้วยกันทั้งสองฝ่าย ดังต่อไปนี้

  1. เนื่องจาก QR-Code เป็นมาตรฐานกลางที่มีความเป็นหลักสากล ดังนั้น การออกแบบ QR-Code จากทางฝั่งผู้ให้บริการทางการเงินจึงไม่ซับซ้อน ทำให้ออกแบบได้ง่ายและจัดการได้ค่อนข้างสะดวก
  2. เพิ่มช่องทางในการจับจ่ายจากผู้ซื้อหรือลูกค้า และเพิ่มช่องทางในการรับเงินให้กับเจ้าของกิจการ ทั้งยังสามารถตรวจสอบยอดเงินที่จ่ายและคงเหลือผ่านสมาร์ทโฟนได้ทันที
  3. ทำบัญชีรายรับรายจ่ายได้ง่ายเนื่องจากข้อมูลการซื้อขายสามารถนำไปใช้คำนวณต่อได้
  4. ด้วยการรับเงินผ่าน QR-Code เจ้าของกิจการสามารถลดค่าใช้จ่ายปลีกย่อยออกไปได้ เช่น ไม่จำเป็นต้องจ้างแคชเชียร์ไม่ต้องซื้อเครื่องบันทึกเงินสด หรือซอฟต์แวร์คำนวณรายรับรายจ่าย เป็นต้น
  5. กระบวนการซื้อขายใช้เวลาน้อยกว่าการซื้อขายแบบปกติมาก
  6. ระบบรับเงินจ่ายเงินผ่าน QR-Code มีความปลอดภัยสูงเพราะผู้ซื้อไม่ต้องบอกเลขที่บัญชีธนาคาร ไม่ต้องบอกหมายเลขโทรศัพท์มือถือ ไม่ต้องใช้บัตรเครดิตหรือบัตรเดบิต เพียงแค่ผู้ซื้อยื่นสมาร์ทโฟนไปสแกน QR Code ที่ร้านค้าเตรียมไว้ให้เท่านั้น

เห็นได้ชัดว่าปัจจุบันเรามีเทคโนโลยีอยู่มากมายที่สามารถนำมาเป็นช่องทางในการซื้อขายได้ง่ายขึ้น ที่สำคัญก็คือรัฐบาลและสถาบันการเงินสนับสนุนนโยบายสังคมไร้เงินสดกันอย่างเต็มที่ ดังนั้น ท่านผู้ประกอบการจึงควรศึกษาและเตรียมการไว้ให้พร้อมในทุกๆ ทาง เพราะเชื่อแน่ว่าภายในอีกไม่กี่ปีข้างหน้าเงินสดอาจจะหายไปจากระบบคงเหลือไว้แต่เงินดิจิทัลก็เป็นได้

Leave a Reply

Or

Your email address will not be published. Required fields are marked *