Tue. Apr 23rd, 2024
พระราชบัญญัติสถานประกอบการเพื่อสุขภาพ พ.ศ. 2559

พระราชบัญญัติสถานประกอบการเพื่อสุขภาพ พ.ศ. 2559

โดยข้อเท็จจริงกฎหมายฉบับนี้เกิดมาสืบเนื่องจากการที่กระทรวงมหาดไทยได้มีการปรับปรุงกฎหมายว่าด้วยสถานบริการ และแยกกิจการอาบน้ำและนวดตัวเพื่อสุขภาพ หรือเรียกรวม ๆ ว่ากิจการสปาเพื่อสุขภาพ ออกจากกิจการอาบ อบ นวด ให้ชัดเจนจะได้ไม่มีการเข้าใจผิดกับสาธารณชนทั่วไป แต่เมื่อแยกสปาออกไป ก็ต้องมีการควบคุมเป็นกรณีพิเศษ จึงให้กระทรวงสาธารณสุขไปออกกฎกระทรวงควบคุมกิจการสปาโดยความเห็นชอบของกระทรวงมหาดไทย

อย่างไรก็ตาม กระทรวงสาธารณสุขเห็นว่ากิจการสปาเพื่อสุขภาพ รวมตลอดจนการนวดเพื่อสุขภาพ หรือเพื่อเสริมความงามที่ไม่อยู่ในโรงพยาบาลสมควรจะต้องมีกฎหมาย เพื่อดูแลเป็นเรื่องเป็นราวและมีมาตรฐานสร้างความเชื่อถือให้กับผู้ใช้บริการ กฎหมายฉบับนี้บังคับใช้เมื่อ 30 กันยายน พ.ศ. 2559 มีสาระที่ควรรู้ ดังนี้

สถานประกอบการเพื่อสุขภาพ คือ

  1. กิจการสปา อันได้แก่ บริการที่เกี่ยวกับการดูแลและเสริมสร้างสุขภาพ โดยวิธีการบำบัดด้วยน้ำและการนวดร่างกายเป็นหลัก ประกอบกับบริการอื่นตามที่กำหนดในกฎกระทรวงอีกไม่น้อยกว่า 3 อย่าง (เช่น โยคะ นวดหน้า อาหารเพื่อสุขภาพ ขัดผิวหน้า ขัดผิวกาย การทำสมาธิ การปรับสภาพผิวหน้า การบำรุงผิวหน้า การพอกผิวกาย การอบไอน้ำ การอบซาวน่า)
  2. กิจการนวดเพื่อสุขภาพ หรือเพื่อเสริมความงาม ทั้งสองประการจะยกเว้นการดำเนินการในสถานพยาบาล เพราะมีกฎหมายว่าด้วยสถานพยาบาลดูแลอยู่แล้ว และยกเว้นการอาบน้ำ นวด หรืออบตัวในสถานบริการตามกฎหมายว่าด้วยสถานบริการ

ดังนั้น ใครอยากจะเปิดสถานประกอบการเพื่อสุขภาพต้องมีใบอนุญาตประกอบกิจการ มีอายุ 5 ปี สามารถโอนกันได้ และสามารถให้ทายาทดำเนินการต่อได้ เมื่อผู้ประกอบธุรกิจตาย เพียงแต่ให้ไปขอรับโอนภายใน 90 วัน

เรื่องต่อมา คือ ผู้จัดการกิจการ กฎหมายเรียกว่า ‘ผู้ดำเนินการ’ ก็ต้องมีใบอนุญาต และต้องมีคุณสมบัติที่ค่อนข้างเข้มข้น คือ

  1. อายุไม่ต่ำกว่ายี่สิบปี
  2. ได้รับวุฒิบัติหรือประกาศนียบัติด้านการบริการเพื่อสุขภาพ ที่ได้รับการรับรองจากกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ
  3. ผ่านการทดสอบและประเมินความรู้ความสามารถจากกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ

เรื่องสุดท้าย คือ ผู้ปฎิบัติงานในสถานประกอบการซึ่งกฎหมายใช้คำว่า ‘ผู้ให้บริการ’ ก็ต้องไปขึ้นทะเบียนซึ่งก็ต้องมีคุณสมบัติ คือ

  1. อายุไม่ต่ำกว่าสิบแปดปี
  2. ได้รับวุฒิบัตรหรือประกาศนียบัตรด้านการบริการเพื่อสุขภาพที่ได้รับการรับรองจากกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ

นอกจากนั้นแล้ว ยังมีหน้าที่ที่ผู้รับใบอนุญาตและผู้จัดการจะต้องทำ รวมทั้งจะต้องทำให้สถานประกอบการมีมาตรฐานด้านสถานที่ ความปลอดภัย และการให้บริการตามที่กำหนดในกฎกระทรวงด้วย

จากกฎหมายดังกล่าว จึงแจ้งให้สมาชิกที่มีสถานประกอบการเพื่อสุขภาพในโรงแรมได้รับทราบ เพื่อปฏิบัติให้ถูกต้องตามกฎหมายใหม่ด้วย

Leave a Reply

Or

Your email address will not be published. Required fields are marked *