Fri. Apr 26th, 2024
พืชกระท่อม

กฎหมายน่ารู้ พืชกระท่อมและการปรับปรุงการขออนุญาตประกอบกิจการ

กฎหมายน่ารู้ที่น่าสนใจ คือ เรื่องพืชกระท่อมที่ถือว่าเป็นยาเสพติดชนิดหนึ่ง ซึ่งขณะนี้สถานการณ์กำลังคลี่คลาย ส่วนอีกเรื่องหนึ่ง คือ เรื่องการปรับปรุงการขออนุญาตประกอบกิจการให้พวกเราชาวโรงแรมได้รับความสะดวกยิ่งขึ้น

เรื่องแรก เรื่องพืชกระท่อม  ในกฎหมายว่าด้วยยาเสพติดถือว่าเป็นยาเสพติดประเภทที่ 5 คู่กับกัญชา ขณะนี้รัฐบาลแยกพืชกระท่อมออกจากยาเสพติด โดยกฎหมายดังกล่าวได้ผ่านสภาผู้แทนราษฎรเมื่อวันพุธที่ 28 มกราคมนี้เอง เมื่อผ่านสภาผู้แทนราษฎรก็ส่งไปให้วุฒิสภาพิจารณาประมาณเดือนกุมภาพันธ์ศกนี้ ถ้าไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงก็น่าจะประกาศใช้ได้ไม่น่าจะเกินปลายปีนี้

พืชกระท่อมเป็นพืชซึ่งปลูกมากในภาคใต้ ผู้ใช้แรงงานส่วนใหญ่จะบริโภคใบ โดยเชื่อว่าจะช่วยให้มีเรี่ยวแรงทำงานกลางแดดได้โดยไม่เหน็ดเหนื่อย แต่จะกลัวฝน และโดยข้อเท็จจริงพืชชนิดนี้มีประโยชน์มากกว่าโทษ เพราะมีหลายประเทศเอาใบพืชกระท่อมมาสกัดและผสมเป็นยารักษาโรคหลายชนิด อินโดนีเซียน่าจะเป็นประเทศที่ส่งออกใบพืชกระท่อมมากที่สุดในโลก

ที่นำเรื่องนี้มาเล่าให้ฟัง เนื่องจากต่อไปนี้พืชกระท่อมจะกลายเป็นพืชสมุนไพรชนิดหนึ่งที่จะกลายเป็นพืชเศรษฐกิจอีกชนิดหนึ่งที่จะทำรายได้ให้กับประเทศเพิ่มขึ้น พนักงานบางคนของโรงแรมทางภาคใต้ที่แอบบริโภคใบพืชกระท่อมก็จะได้ไม่ต้องแอบซ่อนอีกต่อไป แต่แน่นอนที่สุดโทษชองใบพืชกระท่อมก็ไม่ใช่ไม่มี รัฐบาลจึงต้องมีกฎหมายอีกฉบับเพื่อดูแลเยาวชนและผู้หญิงที่มีครรภ์ลักษณะเดียวกับที่มีกฎหมายเกี่ยวกับยาสูบและการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์

เรื่องต่อมา คือ เรื่องการขอต่อใบอนุญาตของทางราชการ ซึ่งขณะนี้รัฐบาลได้ทำร่างพระราชกฤษฎีกา ‘การกำหนดให้ผู้รับใบอนุญาตชำระค่าธรรมเนียมการต่อใบอนุญาตแทนการยื่นคำขอต่อใบอนุญาต’ ถึงแม้ว่าการขอต่อใบอนุญาตตามที่กำหนดในพระราชกฤษฎีกาฉบับนี้จะยังไม่รวมใบอนุญาตประกอบธุรกิจโรงแรม แต่ก็ได้ผ่อนคลายธุรกิจที่เกี่ยวข้องหลายประการ คือ

  • ใบอนุญาตดำเนินกิจการที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพในลักษณะที่เป็นการค้า
  • ใบอนุญาตจัดตั้งสถานที่จำหน่ายอาหารหรือสถานที่สะสมอาหาร
  • ใบอนุญาตประกอบกิจการสถานประกอบการเพื่อสุขภาพ

อย่างไรก็ตาม ร่างพระราชกฤษฎีกาฉบับนี้จะต้องส่งให้สภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภาพิจารณาเป็นเวลา 30 วัน เพื่อพิจารณานับแต่วันที่ 28 มกราคม 2564 เป็นต้นไป หากไม่มีการทักท้วงรัฐบาลก็จะนำเรื่องดังกล่าวขึ้นทูลเกล้าฯ ถวาย เพื่อประกาศบังคับใช้เป็นกฎหมายต่อไป คาดว่าคงจะมีผลบังคับใช้ปลายปีนี้เช่นกัน ส่วนเรื่องใบอนุญาตประกอบธุรกิจโรงแรมเป็นเรื่องที่สมาคมโรงแรมไทยต้องส่งความเห็นไปให้ผู้เกี่ยวข้องเพื่อให้พิจารณาเพิ่มในใบแนบท้ายเป็นการต่อไป

ผู้เขียน อ.สัมพันธ์ แป้นพัฒน์, Legal Advisor to the Board, Thai Hotels Association (THA)

ขอบคุณภาพโดย succo จาก Pixabay

Leave a Reply

Or

Your email address will not be published. Required fields are marked *