Sat. Apr 27th, 2024
ท่องเที่ยวไทย ใต้ร่มรัฐบาล ‘ประยุทธ์ 2’

ท่องเที่ยวไทย ใต้ร่มรัฐบาล ‘ประยุทธ์ 2’

เข้าใจว่าคุณผู้อ่านหลาย ๆ ท่านน่าจะได้เห็นโฉมหน้าคณะรัฐมนตรีชุดใหม่ ‘พลเอกประยุทธ์ 2’ กันแล้ว เป็นอย่างไรบ้าง ถูกใจกันมากน้อยแค่ไหน

โดยเฉพาะรัฐมนตรีป้ายแดงจากฝั่งพรรคภูมิใจไทย ขณะที่ผู้เขียนกำลังปิดต้นฉบับอยู่ รายชื่อคณะรัฐมนตรีได้ปรากฏชื่อของ ‘คุณพิพัฒน์ รัชกิจประการ’ ซึ่งได้รับความไว้วางใจให้มาคุมบังเหียนกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาในตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการ

ภูมิหลังของคุณพิพัฒน์ หรือ ‘โกเกี๊ยะ’ แห่งตระกูลรัชกิจประการ เจ้าของอาณาจักรเครือข่ายปั๊มน้ำมันรายใหญ่ ‘พีที’

เป็นสามีของ ‘คุณนาที รัชกิจประการ’ หรือ ‘เจ๊เปี๊ยะ’ ส.ส. ปาร์ตี้ลิสต์ พรรคภูมิใจไทย แม่ทัพใหญ่สู้ศึกเลือกตั้งในภาคใต้ หลังประสบความสำเร็จ สามารถชิงฐานเสียงจากพรรคประชาธิปัตย์มาได้สำเร็จ

คงต้องติดตามกันต่อไปว่า ‘กลุ่มเพื่อนเนวิน’ (ชิดชอบ) จะเข้ามามีส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทยได้มากน้อยแค่ไหน จะมีการหยิบโมเดล ‘บุรีรัมย์’ มาพัฒนาหรือต่อยอดแก่จังหวัดอื่น ๆ หรือไม่ และทำงานประสานกับกระทรวงคมนาคมซึ่งอยู่ในโควต้าของพรรคภูมิใจไทยเช่นกัน ให้เป็นเนื้อเดียวกันได้มากขึ้นหรือเปล่า ล้วนเป็นเรื่องที่ต้องตามติดกันทั้งสิ้น เพราะต้องยอมรับว่าสถานการณ์ท่องเที่ยวไทยในช่วงปี 2562 – 2563 ค่อนข้างน่ากังวล แม้จะไม่ได้เติบโตแบบหวือหวาเหมือนในช่วง 3 – 5 ปีที่ผ่านมา แต่ภาวะการเติบโตแบบ ‘ทรงตัว’ แบบนี้ เชื่อว่าผู้ประกอบการโรงแรมและท่องเที่ยวกลุ่มลงทุนขยายกิจการไปแล้ว แม้จะมีแผนสำรองพร้อมรับมือกับสถานการณ์ต่าง ๆ แต่ลึก ๆ แล้วอาจไม่ได้เตรียมใจว่าภาคท่องเที่ยวไทยจะเผชิญความเสี่ยงรอบด้านมากมายขนาดนี้

ท่องเที่ยวไทย ใต้ร่มรัฐบาล ‘ประยุทธ์ 2’

หลังจากปิด 6 เดือนแรกของปี 2562 กระทรวงการท่องเที่ยวฯ รายงานสถิติว่า สถานการณ์ท่องเที่ยวไทยในช่วงครึ่งปีแรก มีรายได้รวมจากการท่องเที่ยว 1.55 ล้านบาท ขยายตัวเพียง 2% เท่านั้น แบ่งเป็นตลาดนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางมาเที่ยวไทยรวม 19.6 ล้านคน เพิ่มขึ้นเพียง 0.7% สร้างรายได้ 1.01 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 0.3% ส่วนตลาดคนไทยเที่ยวมี 76 ล้านคน-ครั้ง เพิ่มขึ้น 2% สร้างรายได้ 5.4 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้น 5%

ขณะที่แนวโน้มรายได้รวมตลอดปีนี้ คาดอยู่ที่ 3.2 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้นเพียง 4.3% เท่านั้น เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา แบ่งเป็นรายได้จากนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ 2.1 ล้านล้านบาท และรายได้จากคนไทยท่องเที่ยวในประเทศ 1.1 ล้านล้านบาท ต่างจากเป้าหมายรายได้ของการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ได้ปรับลดเป้ารายได้ปีนี้ จากเดิมเคยตั้งไว้ที่ 3.4 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 10% เมื่อเทียบกับปี 2561 เป็นเป้ารายได้ใหม่ 3.38 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 9.5% เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว หรือลดลง 2 หมื่นล้านบาทจากเป้าหมายเดิม และเมื่อแยกเป็นรายได้ตลาดต่างประเทศ อยู่ที่ 2.21 ล้านล้านบาท จากคาดการณ์นักท่องเที่ยวต่างชาติ  40.2 ล้านคน เพิ่มขึ้นจากปี 2561 ที่มี 38.3 ล้านคน ส่วนรายได้จากตลาดในประเทศ 1.17 ล้านล้านบาท จากคาดการณ์จำนวนนักท่องเที่ยวไทยเดินทางในประเทศ 170 ล้านคน-ครั้ง เพิ่มขึ้นจากปี 2561 ที่มี 162 ล้านคน-ครั้ง

คุณยุทธศักดิ์ สุภสร ผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ยอมรับว่า ภาคท่องเที่ยวไทยปีนี้เริ่มต้นได้ไม่ค่อยดีนัก เพราะยังได้ผลกระทบจากอุบัติเหตุเรือล่มที่จังหวัดภูเก็ต เมื่อเดือนกรกฎาคม 2561 ส่งผลให้ตลาดนักท่องเที่ยวจีนยังฟื้นตัวได้ไม่เต็มที่ ประกอบกับครึ่งปีแรก ต้องเจอมรสุมเศรษฐกิจโลกชะลอการเติบโต ทั้งสงครามการค้าระหว่างจีนกับสหรัฐที่ยังคงรุนแรงเป็นระยะ ปัญหาในสหภาพยุโรป ความเสี่ยงจากการถอนตัวออกจากสหภาพยุโรปของสหราชอาณาจักร (Brexit) ราคาน้ำมันโลกที่อยู่ในช่วงขาขึ้น เงินบาทแข็งค่าสูงกว่าสกุลเงินอื่น ๆ ในภูมิภาค รวมถึงความไม่แน่นอนทางการเมืองภายในประเทศหลังเลือกตั้งในเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ส่งผลให้ทิศทางเศรษฐกิจไทยปีนี้และปี 2563 เผชิญ ‘ปัจจัยเสี่ยง’ จากทั้งภายในและภายนอกประเทศ

ททท. จึงตัดสินใจปรับลดเป้ารายได้รวมปีนี้เพียงเล็กน้อยมาอยู่ที่ 3.38 ล้านล้านบาท ด้านทิศทางปี 2563 ททท. มองว่ายังต้องรับมือกับ ‘ความไม่แน่นอน’ ภายใต้ความคาดหวังของสังคมที่มีต่อการท่องเที่ยว เนื่องจากเศรษฐกิจโลกยังเต็มไปด้วยปัญหา และมีแนวโน้ม ‘ไม่สดใส’

ท่องเที่ยวไทย ใต้ร่มรัฐบาล ‘ประยุทธ์ 2’

หลังรายงาน Global Economic Perspectives ฉบับเดือนมิถุนายนปีนี้ ธนาคารโลก (World Bank) ระบุว่าผลิตภัณฑ์มวลรวมที่แท้จริง หรือ Real GDP ของโลกจะติดลบในปี 2562 – 2563 และด้วยข้อจำกัดของปัจจัยภายในประเทศ เช่น คุณภาพในการรองรับนักท่องเที่ยว โดยเฉพาะซัพพลายไซด์ที่ยังขาดการบริหารจัดการแหล่งท่องเที่ยว ขณะที่รายได้เติบโตมาจากการเพิ่มขึ้นของจำนวนนักท่องเที่ยวเป็นหลัก ค่าใช้จ่ายเฉลี่ยต่อทริปทั้งชาวต่างชาติและไทยมีอัตราเติบโตในระดับต่ำ เฉลี่ยเพียงปีละ 3% และนักท่องเที่ยวส่วนใหญ่ที่เดินทางเข้ามาในไทยเป็นกลุ่มแมส (Mass) ระดับกลาง-ล่าง

จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องเร่งปรับโครงสร้าง เพิ่มนักท่องเที่ยวกลุ่มไฮเอนด์ที่มีรายได้มากกว่าปีละ 60,000 เหรียญสหรัฐ (ราว 1.86 ล้านบาท) ซึ่งปัจจุบันเดินทางมาเที่ยวไทยในสัดส่วนเพียง 13% ของนักท่องเที่ยวต่างชาติทั้งหมด และมีอัตราการเติบโตเฉลี่ย 2.1% เท่านั้น ในช่วงปี 2554 – 2558 เพิ่มเป็น 20% ให้ได้ในปี 2564

ขณะที่เป้าหมายรายได้รวมของท่องเที่ยวไทยในปี 2563 ททท. ตั้งเป้าไว้ที่ 3.72 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 10% เมื่อเทียบกับปี 2562 แบ่งเป็นตลาดต่างประเทศ 2.43 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 10% จากคาดการณ์จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติ 42 ล้านคน ส่วนตลาดในประเทศ ตั้งเป้ารายได้ 1.29 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 10% จากคาดการณ์นักท่องเที่ยวไทย 185 ล้านคน-ครั้ง และหลังจากนั้นในปี 2564 โจทย์ใหญ่ คือ ต้องผลักดันรายได้การท่องเที่ยวให้ได้ 4 ล้านล้านบาท สู่เป้าหมายประเทศที่มีรายได้จากการท่องเที่ยวสูงสุดติดอันดับ 1 ใน 5 ของโลก

ท่องเที่ยวไทย ใต้ร่มรัฐบาล ‘ประยุทธ์ 2’

ด้วยกลยุทธ์การมุ่งเพิ่มรายได้ควบคู่กับการพัฒนาความยั่งยืนทางการท่องเที่ยว เน้นการสร้างประสบการณ์ที่ดี (ROX: Return on Experience) แก่นักท่องเที่ยวทั้งไทยและต่างชาติ ภายใต้แนวทางการทำงาน ‘More Local Go Quality’

เริ่มกันที่ ‘More Local’ กลยุทธ์ของตลาดในประเทศ เน้นย้ำด้วยแนวคิด ‘RSVP’ ใช้การท่องเที่ยวเป็นเครื่องมือสร้างรายได้และลดความเหลื่อมล้ำ ตอบโจทย์การพัฒนาท้องถิ่น ได้แก่

1. อย่างรับผิดชอบ (Responsible)

2. อย่างปลอดภัย (Safety)

3. อย่างรู้คุณค่า (Value) คุณค่าที่เกิดจากการได้สัมผัสประสบการณ์ท้องถิ่น

4. อย่างเหมาะสมในเชิงพื้นที่และเวลา (Properly) เพื่อให้ท้องถิ่นไทยอยู่รอดอย่างพอเพียงและยั่งยืน

ส่วนกลยุทธ์ของตลาดต่างประเทศ ให้น้ำหนักกับการมุ่ง ‘Go Quality’ อย่างยั่งยืนต่อเนื่อง ควบคุมคุณภาพภายใต้แนวคิด DOCG ได้แก่

1. Distinct Segments เจาะกลุ่มเป้าหมายที่มีการใช้จ่ายสูงอย่างเข้มข้น เพื่อเพิ่มค่าใช้จ่ายต่อทริปให้สูงขึ้น

2. OTAs Partnership ทำงานร่วมกับธุรกิจเจ้าของแพลตฟอร์มจองสินค้าท่องเที่ยวออนไลน์ (Online Travel Agency: OTA) ในการจัดโปรโมชั่นดึงดูดความสนใจนักท่องเที่ยว รวมถึงสร้างภาพลักษณ์และแบรนด์ที่ดีให้กับภาคท่องเที่ยวไทย มองธุรกิจ OTA เป็น ‘ผู้เปลี่ยนเกม’ (Game Changers) สำหรับการตลาดยุคใหม่

3. Customer Relationship Management มีระบบ CRM ดูแลลูกค้าหลังการขายที่ดี ผ่านการเพิ่มยอดไลค์และแชร์ รวมถึงยอดผู้ติดตาม เพื่อรักษาฐานนักท่องเที่ยวคุณภาพในระยะยาว รับฟังเสียงของลูกค้า และการใช้บิ๊กดาต้าในการวิเคราะห์ วางแผน และกำหนดกิจกรรมทางการตลาดที่มีประสิทธิผล

4. Gimmick ทางการตลาดที่สร้างสรรค์ขึ้นใหม่ ไม่เน้นกลยุทธ์ราคาเพียงด้านเดียว พัฒนาสินค้าที่สามารถสร้างประสบการณ์และสร้างแรงบันดาลใจ เพื่อเพิ่มคุณค่าให้กับนักท่องเที่ยวในแง่มุมต่างๆ ให้เกิดการเดินทางจริง


ขอบคุณข้อมูลจาก : นิตยสาร Thai Hotels & Travel Vol.10 No.57

Leave a Reply

Or

Your email address will not be published. Required fields are marked *