Sat. Apr 20th, 2024
ทัวริสต์

ทัวริสต์ ‘เอเชีย & แปซิฟิก’ ดาวเด่นกู้ยอด ‘โลว์ซีซั่น’ โรงแรมไทย

การยกเลิกระบบ ‘ไทยแลนด์พาส’ (Thailand Pass) คือ หมุดหมายที่ภาคเอกชนท่องเที่ยวและโรงแรมต่างเฝ้ารอวันที่รัฐบาลจะประกาศยกเลิกระบบนี้อย่างเป็นทางการเร็วที่สุด รวมถึงการปลดล็อกให้ ‘โควิด-19’ เป็น ‘โรคประจำถิ่น’ ตามไทม์ไลน์ซึ่งคาดการณ์ว่าจะมีผลตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2565 เป็นต้นไป

ระหว่างรอการปลดล็อกขั้นสูงสุด ล่าสุดทางศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) มีมติเมื่อวันที่ 20 พฤษภาคม 2565 ที่ผ่านมา ผ่อนคลายมาตรการเดินทางเข้าราชอาณาจักรเพิ่มเติม ให้มีผลเริ่มตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน 2565 เป็นต้นไป ระบุว่า ผู้เดินทางที่ไม่ได้รับวัคซีนหรือได้รับวัคซีนไม่ครบ สามารถแสดงผล Pro-ATK หรือ RT-PCR ตรวจโดยผู้เชี่ยวชาญทางการแพทย์ ภายใน 72 ชั่วโมงก่อนเดินทาง

นอกจากนี้ยังยกเลิกการกักตัวในกลุ่มที่ไม่ได้รับวัคซีนหรือได้รับวัคซีนไม่ครบ และไม่มีผลตรวจ โดยเมื่อเดินทางมาถึงสามารถตรวจ Pro-ATK เมื่อถึงสนามบิน

อย่างไรก็ตาม เฉพาะ ‘ผู้เดินทางต่างชาติ’ ยังต้องกรอกข้อมูลลงทะเบียนในระบบ Thailand Pass อยู่ แต่ปรับรูปแบบเพื่อความสะดวกมากขึ้น โดยคงเหลือข้อมูลที่จำเป็นเพียง 3 ส่วน ได้แก่ หลักฐานวัคซีนหรือผลตรวจ ประกัน และข้อมูลหนังสือเดินทาง ทั้งนี้จะมีการออก QR Code ทันทีเมื่อลงทะเบียนเสร็จ โดยไม่มีการรออนุมัติ และสายการบินตรวจสอบเอกสารต่างชาติที่ปรากฏตามหน้า QR Code (วัคซีน หรือ ผลตรวจทางห้องปฏิบัติการ) และออก Boarding Pass

ขณะเดียวกัน ยังได้ปรับแนวทางการจัดการผู้สัมผัสใกล้ชิดเสี่ยงสูง (High Risk Contact : HRC) ไม่ต้องกักตัว โดยให้สังเกตอาการตนเอง 10 วัน พร้อมเพิ่มเติมพื้นที่นำร่องท่องเที่ยว (พื้นที่สีฟ้า) และอนุญาตเปิดสถานประกอบการในเศรษฐกิจภาคกลางคืน เช่น สถานบริการ สถานบันเทิง ผับ บาร์ คาราโอเกะ ฯลฯ มีผลตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายนนี้ โดยเปิดบริการไม่เกิน 24.00 น. และจำหน่ายหรือบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ได้ไม่เกิน 24.00 น.

ด้านแนวทางการส่งเสริมภาคท่องเที่ยวไทย รองรับ ‘การเปิดประเทศเต็มรูปแบบ’ ทาง คุณยุทธศักดิ์ สุภสร ผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) เล่าว่า จากแนวโน้มการฟื้นตัวของจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่ดีขึ้น นับตั้งแต่รัฐบาลประกาศ ‘ยกเลิกระบบ Test & Go’ มีผลเมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม 2565 ที่ผ่านมา ททท. ประเมินว่าในช่วงนอกฤดูกาลท่องเที่ยวหรือโลว์ซีซั่น ระยะ 5 เดือน ตั้งแต่เดือนพฤษภาคม – กันยายนนี้ จะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้าไทยไม่ต่ำกว่า 5 แสนคนต่อเดือน นำทัพโดย ‘ดาวเด่น’ นักท่องเที่ยวจากตลาด ‘อินเดีย’ รวมถึงตะวันออกกลาง และประเทศเพื่อนบ้านที่อนุญาตให้มีการเดินทางข้ามพรมแดนทางบก

ส่วนช่วงฤดูกาลท่องเที่ยวหรือไฮซีซั่นในไตรมาส 4 ตั้งแต่เดือนตุลาคม – ธันวาคม 2565 ททท. ตั้งเป้าหมายดึงนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้าไทยไม่น้อยกว่า 1 ล้านคนต่อเดือน จากทั้งตลาดระยะไกล ‘ยุโรปและอเมริกา’ รวมถึงตลาดระยะใกล้ ‘เอเชียแปซิฟิก’

แน่นอนว่ายังต้องจับตาความเคลื่อนไหวของตลาด ‘นักท่องเที่ยวจีน’ อย่างใกล้ชิด ในฐานะแชมป์เที่ยวไทยสูงสุดอันดับ 1 เมื่อปี 2562 ก่อนเกิดวิกฤติโควิด-19 ด้วยจำนวนมากเกือบ 11 ล้านคน สร้างรายได้การท่องเที่ยวกว่า 5.3 แสนล้านบาท โดยทาง ททท. หวังที่จะเห็นสัญญาณบวกนักท่องเที่ยวจีนกลับมาเที่ยวไทยในช่วงปลายปีนี้ และเข้ามามากขึ้นในช่วง Golden Week เทศกาลตรุษจีนปี 2566 เป็นต้นไป

ด้าน คุณศิษฎิวัชร ชีวรัตนพร นายกสมาคมไทยธุรกิจการท่องเที่ยว (แอตต้า) ประเมินสถานการณ์ตลาดจีนเที่ยวไทยว่า ยังต้องรอการฟื้นตัวของตลาดนี้อีกสักพัก เนื่องจาก ‘รัฐบาลจีน’ ยังคงดำเนินนโยบาย ‘โควิดเป็นศูนย์’ (Zero Covid) อย่างต่อเนื่อง และจากการพูดคุยกับคู่ค้าผู้ประกอบการท่องเที่ยวในจีน ระบุว่ารัฐบาลจีนต้องการพิสูจน์เรื่องประสิทธิภาพยารักษาโควิด-19 ให้แน่ใจเสียก่อนว่าสามารถรักษาหายได้ง่าย ถึงจะมีการพิจารณาเปิดประเทศ ทำให้การอนุญาตให้ชาวจีนออกเที่ยวต่างประเทศแบบทันทีทันใดในเร็ว ๆ นี้ ไม่ใช่เรื่องง่ายอย่างที่ผู้ประกอบการท่องเที่ยวไทยคาดหวังนัก ภาคเอกชนท่องเที่ยวไทยจำเป็นต้องปรับตัวด้วยการเจาะตลาดอื่น ๆ ที่มีศักยภาพพร้อมเดินทางก่อน

คุณธเนศวร์ เพชรสุวรรณ รองผู้ว่าการด้านตลาดเอเชียและแปซิฟิกใต้ ททท. เล่าเสริมว่า ในช่วงรอการฟื้นตัวของตลาดนักท่องเที่ยวจีน ททท. เร่งดึงตลาดระยะใกล้อื่น ๆ เข้ามาชดเชย ใส่เกียร์รุกตลาด ‘ซูเปอร์สตาร์’ ได้แก่ อินเดีย มาเลเซีย สิงคโปร์ และออสเตรเลีย และตลาด ‘ดาวรุ่ง’ ได้แก่ กัมพูชา เวียดนาม และเกาหลีใต้ เนื่องจากประเทศเหล่านี้มี ‘Ease of Travelling’ ในระดับสูง สามารถเดินทางเข้าออกได้อย่างสะดวก และมีเที่ยวบินพาณิชย์กลับมาดำเนินการได้ตามปกติ แนวโน้มจำนวนเที่ยวบินเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง

หนึ่งในกลยุทธ์สำคัญเจาะตลาดเอเชียและแปซิฟิกของ ททท. คือ ‘5 NEWs’ มุ่งพลิกโฉม เปลี่ยนมุมมอง และสร้างภาพจำใหม่ ได้แก่

1. New Segment นักท่องเที่ยวศักยภาพกลุ่มใหม่ ๆ ครอบคลุมตลาดเป้าหมาย ทั้งในจีน ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย อินเดีย ไต้หวัน เกาหลีใต้ เวียดนาม สปป.ลาว กัมพูชา และสิงคโปร์ เช่น กลุ่ม Bleisure และ Digital Nomad, กลุ่มดำน้ำและเดินป่า, กลุ่มนักศึกษา, กลุ่ม Boy Lovers, กลุ่มองค์กร และกลุ่มผู้บริหารระดับสูง

2. New Area กลุ่มท่องเที่ยวคุณภาพในพื้นที่ศักยภาพใหม่ ๆ ตลาดเป้าหมาย คือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือของอินเดีย, มองโกเลีย, เกาหลี (ปูซาน), มาเลเซีย (ซาบาร์ และยะโฮร์), ออสเตรเลีย (บริสเบน และนครแอดิเลด) และพื้นที่ศักยภาพใหม่ในตลาดเดิม

3. New Partner ทำงานร่วมกับพันธมิตรใหม่ ๆ เช่น สายการบิน องค์กร และอื่น ๆ ตลาดเป้าหมาย คือ มาเลเซีย ฮ่องกง มองโกเลีย ไต้หวัน ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้

4. New Infrastructure นำเสนอการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานใหม่ ๆ เพื่ออำนวยความสะดวกในการเดินทางแก่นักท่องเที่ยว เช่น โครงการของต่างประเทศ ไฮไลต์ คือ รถไฟความเร็วสูง คุนหมิง-ลาว ส่วนโครงการในประเทศไทย อาทิ สถานีกลางบางซื่อ, โมโนเรลขอนแก่น, สนามบินเบตง เชื่อมโยงมาเลเซีย, รถไฟความเร็วสูง กรุงเทพฯ-หนองคาย, เส้นทางเดินคลองโอ่งอ่าง, เส้นทางมอเตอร์เวย์โคราช (M6) และมอเตอร์เวย์กาญจนบุรี (M81)

5. New Way สร้างวิถีใหม่แก่ภาคท่องเที่ยว กระตุ้นให้เกิดการท่องเที่ยวอย่างรับผิดชอบในกลุ่มมิลเลนเนียลส์ ซึ่งเป็นคนรุ่นใหม่ให้หันมาใส่ใจสิ่งแวดล้อมกันมากขึ้น

ขอบคุณภาพโดย Chait Goli จาก Pexels

Leave a Reply

Or

Your email address will not be published. Required fields are marked *