Fri. Apr 26th, 2024
เทรนด์ท่องเที่ยว

เทรนด์ท่องเที่ยว’65: การกลับมาอีกครั้งของ การท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ

สถาบันด้านสุขภาพสากล เผยรายงานคาดปี’63-68 ท่องเที่ยวเชิงสุขภาพโตเฉลี่ย 21% ชี้นักท่องเที่ยวเวลเนสกระเป๋าหนัก เดินทางบ่อย พร้อมจ่ายเงินแลกประสบการณ์-สิ่งอำนวยความสะดวกแบบจัดเต็ม

เว็บไซต์ฟอร์บ รายงานเมื่อวันที่ 31 ธันวาคม 2564 โดยอ้างอิงข้อมูลจาก รายงานของสถาบันด้านสุขภาพสากล หรือ Global Wellness Institute (GWI) ประจำเดือนธันวาคม 2564 โดยระบุว่า ในปี 2563 เศรษฐกิจเพื่อสุขภาพของทั้งโลก (Global Wellness Economy) มีมูลค่าสูงถึง 4.4 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 145 ล้านล้านบาท

ขณะที่การท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ (Wellness Tourism) ในระดับโลกมีมูลค่าลดลงจาก 7 แสนล้านดอลลาร์ในปี 2562 สู่ 4 แสนล้านดอลลาร์ ในปี 2563 หรือลดลงเกือบ 40% (เทียบกับธุรกิจการท่องเที่ยวในภาพรวมที่ 43%)

ส่วนปี 2563-2568 GWI คาดการณ์ว่า อัตราเติบโตเฉลี่ยต่อปีของการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพจะอยู่ที่ 20.9% แซงหน้าภาคส่วนอื่น ๆ ของเศรษฐกิจเพื่อสุขภาพ (Wellness Economy) ซึ่งรวมถึงการดูแลส่วนบุคคลและความงาม, สปา, อสังหาริมทรัพย์เพื่อสุขภาพ ฯลฯ

และคาดว่าเศรษฐกิจเพื่อสุขภาพทั้งหมดจะมีอัตราการเติบโตเฉลี่ยอยู่ที่ 9.9% ต่อปี สูงกว่าประมาณการณ์การเติบโตของเศรษฐกิจโลกที่มีอัตราเฉลี่ยอยู่ที่ 7.3% (ตัวเลขคาดการณ์โดยกองทุนการเงินระหว่างประเทศ : IMF)

รายงานของ GWI ยังระบุว่า นักท่องเที่ยวเชิงสุขภาพทั้งในและต่างประเทศล้วนเป็นกลุ่มนักท่องเที่ยวที่มีกำลังซื้อสูง แม้กระทั่งในช่วงที่มีการระบาดของเชื้อโควิด-19 โดยในปี 2563 นักท่องเที่ยวเชิงสุขภาพต่างชาติใช้จ่ายเฉลี่ยราว 1,601 ดอลลาร์สหรัฐต่อทริป (53,297 บาท) มากกว่านักท่องเที่ยวทั่วไปราว 35%

ขณะที่นักท่องเที่ยวเชิงสุขภาพในประเทศมีค่าใช้จ่ายเฉลี่ยอยู่ที่ 619 ดอลลาร์สหรัฐต่อทริป (20,606 บาท) สูงกว่านักท่องเที่ยวภายในประเทศอยู่ที่ 177%

รายงานจากสถาบันด้านสุขภาพสากลยังระบุว่า นักท่องเที่ยวเชิงสุขภาพจะเป็นกลุ่มที่มีฐานะทางการเงินที่ดี มีการศึกษา และเดินทางบ่อย โดยพวกเขายินดีที่จะจ่ายเงินมากขึ้นเพื่อแลกกับประสบการณ์ การบริการ และสิ่งอำนวยความสะดวกเพื่อสนับสนุนด้านสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดี

ข้อมูลของ GWI ยังสอดคล้องกับผลการสำรวจโดย American Express ผู้ให้บริการบัตรเครดิตของสหรัฐฯ ที่ระบุว่า ผู้ตอบแบบสอบถาม 76% ระบุว่าต้องการจ่ายเงินเพิ่มมากขึ้น เพื่อพัฒนาสุขภาวะที่ดี และผู้ตอบแบบสอบถามราว 55% พร้อมที่จะจ่ายเงินมากกว่าเดิมเพื่อกิจกรรมด้านสุขภาวะในการท่องเที่ยวครั้งต่อๆ ไป

ที่มา : ประชาชาติธุรกิจ https://www.prachachat.net/tourism/news-834850

Leave a Reply

Or

Your email address will not be published. Required fields are marked *