Fri. Apr 26th, 2024
สัญญาณร้านอาหารเริ่มล้นตลาด เศรษฐกิจซึม คนกินต้องประหยัดเงิน

สัญญาณร้านอาหารเริ่มล้นตลาด เศรษฐกิจซึม คนกินต้องประหยัดเงิน

นายกสมาคมภัตตาคารไทยเสนอรัฐบาลจำกัดจำนวนร้านอาหาร เพื่อสร้างสมดุลระหว่างผู้ให้บริการกับลูกค้า เมื่อภาวะเศรษฐกิจไทยยังไม่ฟื้นตัว กระแสข่าวต่างๆ ทั้งในเชิงรายงาน โพลล์ เรียกร้องขอความช่วยเหลือ ก็เริ่มปรากฏให้เห็นมากขึ้นเรื่อยๆ ทั้งผลโพลล์ที่ระบุถึงความคิดเห็นของประชาชนว่าเศรษฐกิจยังไม่ดี หอการค้าเผยผลสำรวจว่าประชาชน ยังลำบากในภาวะเศรษฐกิจฝืด อัตราเงินเฟ้อ ไม่สอดคล้องกับรายรับ จนมีข้อเสนอให้ปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเป็น 620 บาท ภายในระยะเวลา 3 ปี เพื่อให้สอดคล้องกับความเป็นจริง

ปรากฏการณ์สัญญาณที่กล่าวมา เป็นเสมือนกระจกสะท้อน ให้เห็นว่า ภาวะเศรษฐกิจเมืองไทยยังไม่ได้ดีตามที่รัฐบาลประกาศไว้ แต่ยังดีที่ไทยมีทรัพยากรทางธรรมชาติเป็น อานิสงส์สำคัญ ทำให้เราสามารถกอบโกยรายได้จากภาคอุตสาหกรรมท่องเที่ยว ช่วยทำให้เศรษฐกิจประเทศในภาพรวมสามารถเดินหน้าไปได้ แต่ถึงกระนั้นก็ไม่ได้ทำให้ธุรกิจ ที่เกี่ยวเนื่องกับภาคท่องเที่ยวเติบโตแบบสุดๆ ไปเสียทุกธุรกิจ

ล่าสุดนายกสมาคมภัตตาคารไทย โดยคุณฐนิวรรณ กุลมงคล ออกมายอมรับว่า ปัจจุบัน แม้นักท่องเที่ยวต่างชาติจะเข้ามาเป็นจำนวนมาก แต่ไม่ใช่ว่าทุกร้านจะมีชาวต่างชาติเข้าไปใช้บริการ เพราะด้วยปัจจัยต่างๆ ทั้งในเรื่องการไม่ได้เป็นพันธมิตรกับบริษัทนำเที่ยว ร้านไม่ได้โฟกัสเมนูอาหารสำหรับ นักท่องเที่ยวต่างชาติ หรือไม่ได้อยู่ในย่านแหล่งท่องเที่ยว ทำให้ร้านอาหารอีกมากยังคงมีเป้าหมายจากตลาดคนไทย ทั้งขาจร และขาประจำ แต่ก็ยอมรับว่า ขณะนี้ร้านอาหาร ภัตตาคารไทยส่วนใหญ่ ได้รับผลกระทบจากปัจจัยต่างๆ จนส่งผลต่อยอดขาย และจำเป็นต้องเร่งปรับวิธีการบริหารจัดการต้นทุนใหม่

สัญญาณร้านอาหารเริ่มล้นตลาด

ปัจจัยหลักๆ ที่ส่งผลกระทบต่อธุรกิจร้านอาหาร กล่าวคือ

  1. ภาวะเศรษฐกิจที่ยังไม่ฟื้นตัว อยู่ในภาวะซบเซา ขณะที่รายได้ยังเท่าเดิมทำให้ลูกค้าจำเป็นต้องประหยัดเงิน และหันไปทำอาหารทานเอง หรือไม่ก็ลดจำนวนครั้งในการทาน อาจจะเหลือสัปดาห์ละ 1 ครั้ง รวมถึงลดจำนวนเมนูที่สั่งลง
  2. ร้านอาหารเกิดขึ้นใหม่ตลอดเวลา ในเมื่อความต้องการ ยังเท่าเดิมหรืออาจลดลง เมื่อเกิดปัญหาเศรษฐกิจแต่จำนวนร้านอาหารกลับมีเพิ่มขึ้น ก็เกิดการแย่งส่วนแบ่งทางการตลาดระหว่างกันตามมา
  3. สังคมบางส่วนจะมองร้านอาหารเพื่อเป็นสถานที่พบปะสังสรรค์ หรือกิจกรรมหนึ่งๆ เท่านั้น จะเข้าร้านอาหารเมื่อมีวาระกิจกรรม เช่น งานเลี้ยงวันเกิด นัดประชุม ฉลองความสำเร็จต่างๆ แต่พอไม่มีกิจกรรมพวกนี้ก็จะไม่เข้าร้านอาหาร
  4. คนเริ่มหันไปทานอาหารริมทางเพิ่มมากขึ้น เพราะราคา ถูกกว่า 40-50 บาท ก็สามารถทานได้แล้ว
  5. การแข่งขันสูงขึ้น โดยเฉพาะร้านอาหารที่ไม่มีหน้าร้าน แต่เน้นส่งตรงถึงบ้านกำลังมาแรง เพราะประชาชนไม่จำเป็นต้องฝ่ารถติด โดยเฉพาะในกรุงเทพฯ มาทานร้านอาหารอีกย่าน สามารถสั่งไปทานถึงที่บ้านได้เลย

ปัญหาเหล่านี้ ไม่ใช่เพิ่งเกิดขึ้นครั้งแรก เพราะเมื่อใดที่ห่วงโซ่ทางเศรษฐกิจไม่ดีก็ย่อมส่งผลกระทบต่อธุรกิจต่างๆ แค่เกษตรกรประสบปัญหาราคาสินค้าเกษตรตกต่ำ ก็ส่งผลต่อกำลังการซื้อสินค้าอุปโภค บริโภค และเมื่อสินค้าต่างๆ ยอดขายตก ก็ส่งผลต่อรายได้ของบริษัท อุตสาหกรรมต่างๆ และสุดท้ายก็ส่งผลต่อรายได้ของพนักงาน จนในที่สุด ก็วนเวียนอยู่อย่างนี้

คุณฐนิวรรณ ระบุอีกว่า สำหรับการบริหารจัดการต้นทุนนั้น ทางร้านอาหารต่างๆ ได้ปรึกษาช่วยเหลือกันมาเป็นระยะเวลาหนึ่ง
แล้ว ทางออกขณะนี้ คือ ค่อยๆ ปรับลดในหลายๆ อย่าง เช่น ลดจำนวนเมนูอาหารจากในอดีตมีมากถึง 200-300 เมนู ปัจจุบันก็ลดเหลือ 30-40 เมนู เพื่อเป็นการลดการสต็อกสินค้า ซึ่งจะช่วยลดต้นทุนเพื่อไปจ่ายสำรองวัตถุดิบเป็นจำนวนมาก นอกจากนี้ ยังระบุว่า การมีเมนูง่ายๆ ราคาไม่ต่างจากร้านอาหารตามริมทาง เพื่อเป็นตัวเลือกให้ลูกค้าก็จะช่วยได้มาก

ส่วนเรื่องค่าแรง ยอมรับว่า หากจะปรับเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำนั้น ก็จะเป็นการเพิ่มภาระต้นทุนให้ผู้ประกอบการเป็นอย่างมาก ในภาวะเศรษฐกิจตอนนี้ควรจะพิจารณาเป็นรายพื้นที่ไป แต่ส่วนใหญ่แล้ว แรงงานในกลุ่มร้านอาหาร นอกจากได้อัตราค่าแรงขั้นต่ำแล้ว จะมีอาหารให้ทาน 2 มื้อ บางที่จะมีที่พัก ให้ด้วย ตรงนี้ก็ช่วยลดภาระแรงงานได้มากอยู่แล้ว ไม่น่าจะส่งผลกระทบมากเท่าใด

“ถึงเวลาแล้วที่รัฐบาลควรพิจารณาควบคุมจำนวนร้านอาหาร เพราะมองว่าขณะนี้ร้านอาหารเริ่มล้นตลาดเกินความต้องการของผู้บริโภค ที่ผ่านมาใครมีต้นทุนยื่นขอตามขั้นตอนทางกฎหมายแล้วเสร็จก็สามารถเปิดกิจการได้เลย โดยที่รัฐไม่ได้คำนึงว่าร้านอาหารในพื้นที่เขตที่รับผิดชอบอยู่นั้น มีร้านอาหารอยู่แล้วมากน้อยเพียงใด ความต้องการล้นตลาดอยู่แล้วหรือไม่ ตรงนี้จึงเห็นว่าถึงเวลาที่รัฐบาลควรจะมีแนวทางจัดการ ที่เหมาะสม ควรมีการเก็บข้อมูลเพราะไม่เช่นนั้นก็จะเกิดปัญหาเปิดร้านยังไม่ทันได้ต้นทุนกลับมาก็ต้องปิดตัวลง เพราะขายอาหารไม่ได้ซึ่งมีให้เห็นอยู่เสมอ และเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ”

เสียงสะท้อนจากนายกสมาคมภัตตาคารไทยที่พูดถึงอุปสรรคปัญหากับทิศทางการบริหารจัดการสำหรับธุรกิจร้านอาหารหากผู้ที่เกี่ยวข้องมองอย่างเข้าใจและหาวิธีแก้ไขได้ตรงจุด เชื่อว่าจะสามารถรับมือแก้ไขให้ผ่านวิกฤตนี้ไปได้อย่างยั่งยืน ซึ่งคงต้องรอคอยแนวคิดของผู้เกี่ยวข้อง และความร่วมมือช่วยเหลือระหว่างภาคีเครือข่าย…

Leave a Reply

Or

Your email address will not be published. Required fields are marked *