Tue. Apr 30th, 2024
‘12 เมืองรอง’ ความหวังใหม่ ดันรายได้ท่องเที่ยวไทย

‘12 เมืองรอง’ ความหวังใหม่ ดันรายได้ท่องเที่ยวไทย

แม้ภาวะเศรษฐกิจยังไม่สู้จะดีนัก แต่สำหรับทิศทางธุรกิจท่องเที่ยวแต่ละภาคส่วนยังสามารถเดินหน้าทำการตลาดอย่างต่อเนื่อง เพื่อประคับประคองให้ธุรกิจยังอยู่ได้ ในภาวะที่บรรยากาศการท่องเที่ยวไม่ได้สดใสเต็มที่

ปีนี้ กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา และการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ประกาศให้เป็นปีแห่งการท่องเที่ยววิถีไทย พร้อมนำเสนอ 12 เมืองต้องห้าม (พลาด) เป้าหมายเพื่อกระจายนักท่องเที่ยวไปยังเมืองรอง กอปรกับกระจายรายได้สู่ชุมชนใหม่ๆ มากขึ้น จะเห็นได้ว่า เมื่อรัฐหนุน 12 เมืองต้องห้าม (พลาด) ประกอบด้วย เมืองที่ไม่หมุนตามกาลเวลา จ.ลำปาง, ภูดอกไม้สายหมอก จ.เพชรบูรณ์, กระซิบรักเสมอดาว จ.น่าน, เมืองปราสาทสองยุค จ.บุรีรัมย์, เย็นสุด… สุขที่ เลย จ.เลย, เมืองสายน้ำสามเวลา จ.สมุทรสงคราม, ชุมชนคนอาร์ต จ.ราชบุรี, เมืองเกาะในฝัน จ.ตราด, สวนสวรรค์ร้อยพันธุ์ผลไม้ จ.จันทบุรี, ยุทธจักรความอร่อย จ.ตรัง, หาดทรายสวยสี่ร้อยลี้ จ.ชุมพร, นครสองธรรม จ.นครศรีธรรมราช

ทั้งภาคโรงแรม สายการบิน และธุรกิจท่องเที่ยวที่เกี่ยวเนื่องก็เริ่มขยายธุรกิจไปยังเมืองรองเหล่านี้ตามกระแสของนักท่องเที่ยวที่เริ่มให้ความสนใจกับเมืองเหล่านี้มากขึ้น อย่างจังหวัดน่านได้กระแสการตอบรับดีมาก จนสายการบินและธุรกิจเกี่ยวเนื่องให้ความสนใจลงทุนมากขึ้น เห็นได้จากสายการบินไทยแอร์เอเชีย ที่รุกทำการตลาดในเมืองรอง ล่าสุดเปิดเส้นทางบินดอนเมือง – บุรีรัมย์ ซึ่งบุรีรัมย์เป็นหนึ่งในแคมเปญเมืองต้องห้าม (พลาด) เริ่มบินตั้งแต่วันที่ 2 เมษายน ที่ผ่านมา รวมทั้งบุรีรัมย์ยังมีไฮไลท์ใหม่ในการเป็นเมืองชั้นนำด้านกีฬาทั้งมอเตอร์สปอร์ตและกีฬาฟุตบอล โดยมีทีมบุรีรัมย์ ยูไนเต็ด ทีมฟุตบอลอันดับต้นของเมืองไทย ซึ่งเส้นทางบินใหม่นี้เชื่อมโยงเสน่ห์ที่รอบด้านของบุรีรัมย์สู่สายตานักท่องเที่ยวเดินทางได้มากยิ่งขึ้น ถือเป็นเส้นทางบินใหม่ลำดับที่ 4 นับจากต้นปี จากก่อนหน้านี้สายการบินไทยแอร์เอเชียได้เปิดเส้นทางบินตรงสู่ 3 จังหวัด ประกอบด้วย น่าน, เลย และร้อยเอ็ดจำนวนเส้นทางละ 2 เที่ยวบินต่อวัน

บุรีรัมย์

หรือแม้แต่ภาคโรงแรมที่เตรียมใช้โอกาสการเติบโตจากภาคการท่องเที่ยวในเมืองรอง วางแผนขยายธุรกิจ อย่างคุณนิรันดร์ จาวลา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท โกลเบิ้ล พร๊อพเพอร์ตี้ คอนเซ้าติ้ง แอนด์ แมเนจเม้นท์ จำกัด หรือ จีพีซีเอ็ม กรุ๊ป(บริษัทบริหารจัดการโรงแรมต้นทุนต่ำแบรนด์บีทู) ที่ระบุว่า บริษัทมีแผนเปิดโรงแรมใหม่ในไทย โดยเน้นไปตามหัวเมืองต่างๆ ที่มีศักยภาพทั้งในด้านการท่องเที่ยว การศึกษา หรือการติดต่อธุรกิจ รวมถึงมองการขยายธุรกิจสู่เมืองรอง อาทิ น่าน พิษณุโลก ซึ่งจะสอดคล้องกับการโปรโมทของ ททท. ที่ผลักดันให้เกิดการกระจายตัวของการท่องเที่ยวไปยังเมืองรองอย่างการโปรโมท 12 เมืองต้องห้าม (พลาด)

เช่นเดียวกับคุณสลิล โตทับเที่ยง ประธานหอการค้าจังหวัดตรัง ที่ระบุว่า การลงทุนในพื้นที่เพื่อรองรับแนวโน้มการเติบโตทางเศรษฐกิจ และการท่องเที่ยวตามการโปรโมทของรัฐบาลนั้น ส่วนใหญ่ยังเป็นการลงทุนจากคนในพื้นที่ เนื่องจากจังหวัดตรังวางจุดยืนชัดเจนในส่วนของการเติบโตอย่างยั่งยืนด้วยพื้นที่ที่เป็นอุทยานส่วนใหญ่ ดังนั้น จึงจะเห็นว่าโครงการการลงทุนใหม่ๆ ที่จะเกิดขึ้นทุกปีราว 3 – 4 แห่ง ยังคงเป็นการลงทุนขนาดเล็กของคนในพื้นที่ ด้วยขนาดโรงแรมราว 40 – 70 ห้อง โดยปีนี้มีโครงการการลงทุนที่จะเกิดขึ้น อาทิ โรงแรมตามพื้นที่ชายทะเลอย่างเกาะลิบง ซึ่งยังคงเป็นการลงทุนจากคนในพื้นที

“ปัจจุบันมีเที่ยวบินมาใช้บริการสนามบินตรังวันละ 4 เที่ยวบิน ส่วนช่วงเทศกาลท่องเที่ยว หรือไฮซีซันจะเพิ่มเป็นวันละ 6 เที่ยวบิน ซึ่งเพียงพอต่อการรองรับนักท่องเที่ยวที่เติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่องในทุกๆ ปี และปีนี้เรายังตอบรับนโยบายการท่องเที่ยวของ ททท. โดยชูจุดขายความอร่อยจากอาหารท้องถิ่น ภาคเอกชนร่วมกันปรับตัวพัฒนาศักยภาพร้านอาหารและบริการ เพื่อเตรียมรองรับนักท่องเที่ยวที่คาดว่าจะเติบโตขึ้น 10% จากตัวเลข 1.2 ล้านคน เมื่อปี 2557”

คุณอานุภาพ ธีรรัฐ รองผู้ว่าการด้านตลาดในประเทศ ททท. ยอมรับว่าแม้เศรษฐกิจในประเทศจะยังฟื้นตัวได้ไม่เต็มที่ แต่ในภาพรวมคนไทยเที่ยวในประเทศยังเติบโตต่อเนื่อง ซึ่งสวนทางกับเศรษฐกิจ เนื่องจากมีปัจจัยบวกจากสายการบินโลว์คอสต์ (สายการบินราคาประหยัด) ที่เพิ่มความถี่ตามเมืองท่องเที่ยวหลักและเมืองท่องเที่ยวรอง จึงเชื่อว่าจำนวนนักท่องเที่ยวในประเทศปีนี้จะเป็นไปตามเป้าหมายที่วางไว้คือ 148 ล้านคนต่อครั้ง เกิดเป็นรายได้หมุนเวียนกว่า 8 แสนล้านบาท

ทั้งนี้ ททท. มีแผนส่งเสริมการท่องเที่ยวในวันธรรมดาผ่านโครงการ ‘วันธรรมดาน่าเที่ยว’ ซึ่งจะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 14 – 17 พฤษภาคม 2558 ที่ศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวในการกระตุ้นเศรษฐกิจวันธรรมดา ให้เกิดการกระจายรายได้ในเมืองหลักและเมืองรองมากขึ้น อย่างไรก็ตาม กลยุทธ์และแผนการตลาดในปี 2559 ททท. ยังมุ่งส่งเสริมวันธรรมดาน่าเที่ยวมากขึ้นผ่านทุกกิจกรรม และมีแผนที่จะงดให้การสนับสนุนการจัดงานส่งเสริมการท่องเที่ยววันเสาร์ – อาทิตย์ เพื่อให้คนให้ความสนใจมาเที่ยววันธรรมดาเพิ่มขึ้น การสานต่อโครงการ 12 เมืองต้องห้าม (พลาด) โดยในแผนปี 2559 จะให้แต่ละจังหวัดส่งเสริมเมืองรองที่มีศักยภาพเพิ่มเข้าไปในแผนงาน เช่น ลำปาง – ลำพูน น่าน – แพร่ เพชรบูรณ์ – พิษณุโลก เลย – ชัยภูมิ โดยได้มอบหมายให้ ททท. สำนักงานภูมิภาค ไปทำการคัดเลือกสถานที่ ภูมิภาคละ 2 แห่ง เพื่อโปรโมทให้เป็นที่สนใจของนักท่องเที่ยวมากขึ้น

ทางด้านคุณธวัชชัย อรัญญิก อดีตผู้ว่าการ ททท. ที่เพิ่งพ้นตำแหน่งไปเมื่อสิ้นเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ได้ฝากความหวังไว้ กับ ททท. ในฐานะที่เป็นกำลังหลัก เพื่อช่วยขับเคลื่อนภาคการท่องเที่ยว โดยยังจะขอให้เน้นการท่องเที่ยววิถีไทย และ 12 เมืองต้องห้าม (พลาด) ในแผนการตลาดปี 2559 และปีต่อๆ ไป พร้อมกับช่วยเหลือชุมชน ผลักดันให้สินค้าทางการท่องเที่ยวเป็นที่น่าสนใจสำหรับนักท่องเที่ยวมากขึ้น เพราะปลายทางท่องเที่ยวทั้ง 12 จังหวัด ส่วนใหญ่เป็นปลายทางยอดนิยมในหมู่นักท่องเที่ยวคนไทย ซึ่งแต่ละพื้นที่มีฤดูกาลท่องเที่ยวของคนไทยที่ค่อนข้างชัดเจน เช่น คนไทยนิยมเดินทางไปท่องเที่ยวจังหวัดในพื้นที่ภาคเหนือของไทยช่วงไตรมาส4 และไตรมาส 1 ของทุกปี เป็นต้น

สถานที่ท่องเที่ยว เมืองรอง

โดยมีสัดส่วนนักท่องเที่ยวชาวไทยเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 90% ของจำนวนนักท่องเที่ยวทั้งหมดในแต่ละจังหวัด ต่างจากเมืองท่องเที่ยวหลักของไทยอย่างภูเก็ต ที่มีสัดส่วนนักท่องเที่ยวชาวไทยเพียง 30% ของจำนวนนักท่องเที่ยวทั้งหมด อย่างไรก็ตาม ข้อมูลจากศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่าภายใต้แคมเปญการท่องเที่ยว 12 เมืองต้องห้าม (พลาด) นี้ จะช่วยให้เกิดเม็ดเงินสะพัดไปสู่เมืองดังกล่าวเพิ่มขึ้นประมาณ 3.5 พันล้านบาท เมื่อเทียบกับกรณีไม่มีแคมเปญดังกล่าว

สำหรับผลจากมาตรการส่งเสริม 12 เมืองต้องห้ามพลาดของภาครัฐ คาดว่า จะยิ่งช่วยหนุนบรรยากาศการท่องเที่ยวของทั้ง 12 จังหวัด ทั้งนี้ บางพื้นที่ที่อาจจะมีการเติบโตที่โดดเด่น เช่น น่าน เพชรบูรณ์ เลย ตรัง ชุมพร ตราด เป็นต้น ส่วนหนึ่งก็มาจากจังหวัดดังกล่าว เป็นปลายทางที่คนไทยรู้จักและนิยมเดินทางไปท่องเที่ยวเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว ประกอบกับในปัจจุบันมีธุรกิจสายการบินต้นทุนต่ำหลายรายเปิดเส้นทางการบินและเพิ่มจำนวนเที่ยวบินไปยัง 12 เมืองต้องห้ามพลาดมากขึ้น เช่น น่าน ลำปาง เลย นครศรีธรรมราช เป็นต้น นอกจากนี้บางจังหวัดอย่างบุรีรัมย์ก็อยู่ระหว่างการพัฒนาเป็นปลายทางท่องเที่ยวเชิงกีฬาเพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวเฉพาะกลุ่ม

ความหวังของภาคท่องเที่ยวกับการผลักดันแหล่งท่องเที่ยวเมืองรอง เช่นเดียวกับภาคเอกชนเข้าไปขยายการลงทุนในพื้นที่ผ่านรูปแบบต่างๆ จะเป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยผลักดันการเติบโตของภาคการท่องเที่ยวไทย แต่จะมากหรือน้อยเพียงใดนั้นต้องอาศัยปัจจัยอื่นๆ อย่างนโยบายการสนับสนุนการท่องเที่ยวของภาครัฐ และเรื่องของภาวะเศรษฐกิจ

Leave a Reply

Or

Your email address will not be published. Required fields are marked *