Fri. Apr 19th, 2024
Workcation

Workcation! เที่ยวไปด้วย ทำงานไปด้วย

นับตั้งแต่วิกฤติโควิดระบาดทั่วโลกตั้งแต่ต้นปี 2563 เกิดเทรนด์การใช้ชีวิตรูปแบบใหม่ โดยเฉพาะในช่วงล็อคดาวน์ ต้องอยู่บ้านหยุดเชื้อเพื่อชาติ ทำให้ผู้คนต้องปรับพฤติกรรมการทำงานขนานใหญ่ เทรนด์การทำงานแบบ ‘Workation’ จึงถือกำเนิดขึ้น

แม้สถานการณ์ในประเทศไทยจะผ่านช่วงเวลาแห่งความยากลำบากอย่างการล็อคดาวน์เมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมาไปแล้ว แต่ปัจจุบันหลาย ๆ บริษัทยังยืดหยุ่นด้วยการอนุญาตให้พนักงานสามารถทำงานจากที่บ้านได้ เท่ากับว่าตอนนี้ใครหลายคนได้รับเอกสิทธิ์พิเศษ ออกไปสัมผัสบรรยากาศของการท่องเที่ยวเต็ม ๆ ด้วยการเปลี่ยนบรรยากาศวันทำงานแบบ Workation เลือกจองที่พักบนเกาะหรือท่ามกลางธรรมชาติ และทำงานในที่พักนั้น ๆ ควบคู่กับการเพลิดเพลินบรรยากาศการทำงานที่สดชื่นและเป็นส่วนหนึ่งของธรรมชาติมากกว่าครั้งไหน ๆ  การทำงานภายใต้บรรยากาศใหม่ ๆ ที่โอบล้อมด้วยธรรมชาตินี่เอง จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงาน และสร้างความสุขหลักจากต้องทำงานในช่วงล็อกดาวน์อยู่บ้านนานเป็นเดือน ๆ

ทาง Booking.com แพลตฟอร์มด้านการท่องเที่ยวระดับโลก ได้นำผลการสำรวจข้อมูลผู้เดินทางมากกว่า 2 หมื่นคนใน 28 ประเทศทั่วโลก รวมประเทศไทย มารวมเข้ากับข้อมูลเชิงลึกจากพฤติกรรมการค้นหาและการบอกต่อของนักเดินทางบนแพลตฟอร์ม ตลอดจนความเชี่ยวชาญกว่า 20 ปีในอุตสาหกรรมท่องเที่ยว เพื่อเปิดเผยถึง ‘9 เทรนด์การเดินทางในอนาคต แน่นอนว่าล้วนเป็นเทรนด์ที่ผู้ประกอบการท่องเที่ยวไทยต้องเตรียมปรับตัวรับผลกระทบและการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมผู้บริโภคครั้งใหญ่หลังวิกฤติโควิด-19

โดย 1 ใน 9 เทรนด์ คือ ‘โบกมือลาการทำงานในออฟฟิศ’ หลังการทำงานจากบ้านได้กลายเป็นพฤติกรรมกระแสหลักในช่วงของการระบาดโควิด-19 แต่ผลที่ตามมาทางอ้อม คือ ทางเลือกในการวางแผนการเดินทางที่ยาวนานขึ้น โดยรวมการทำงานเข้ากับทริปท่องเที่ยวเข้าไปด้วย และการที่ผู้คนไม่จำเป็นต้องเข้าออฟฟิศ 5 วันต่อสัปดาห์อีกต่อไป ทำให้เห็นพฤติกรรมของนักเดินทางแบบ Workation หรือ ‘เที่ยวไปทำงานไป’ เพิ่มขึ้นอย่างชัดเจน โดยผู้เดินทางชาวไทย 60% เคยวางแผนจะจองที่พักเพื่อเปลี่ยนบรรยากาศไปนั่งทำงานในสถานที่แปลกใหม่ ในขณะที่ 69% เต็มใจที่จะกักตัวหากยังคงสามารถทำงานระยะไกลได้ นอกจากนี้คนไทยกว่า 3 ใน 4 หรือ 76% กล่าวว่าจะหาโอกาสขยายทริปธุรกิจให้นานขึ้นเพื่ออยู่เที่ยวที่จุดหมายปลายทางนั้น ๆ ต่อได้

นอกเหนือจากเทรนด์โบกมือลาการทำงานในออฟฟิศแล้ว ยังมีอีก 8 เทรนด์ที่น่าสนใจ ได้แก่ ‘จากความปรารถนาสู่ความจำเป็น’ เพราะเมื่ออยู่บ้านเป็นเวลานาน ยิ่งทำให้ผู้คนโหยหาการเดินทางมากขึ้น โดยในช่วงล็อคดาวน์ นักเดินทางชาวไทย 71% รู้สึกตื่นเต้นที่จะมีโอกาสได้กลับมาเดินทางท่องเที่ยวอีกครั้ง ขณะที่ 77% ระบุว่ารู้สึกเห็นคุณค่าของการเดินทางมากขึ้นและจะไม่มองข้ามคุณค่าดังกล่าวอีก นอกจากนี้ 65% ปรารถนาที่จะออกไปสำรวจโลกกว้างยิ่งขึ้นกว่าเดิม และอีก 60% ตั้งใจที่จะจองทริปที่ต้องยกเลิกไปก่อนหน้านี้อีกครั้งหนึ่ง

‘ความคุ้มค่าต้องมาก่อน’ แน่นอนว่าด้วยผลกระทบทางเศรษฐกิจจากโควิด-19 ทำให้นักท่องเที่ยวมองหาความคุ้มค่าในทุก ๆ การจับจ่ายใช้สอย ไม่เว้นแม้แต่ด้านท่องเที่ยว โดยผู้เดินทางชาวไทย 78% ให้ความใส่ใจกับราคามากขึ้นขณะวางแผนการเดินทาง และ 78% ยังมีแนวโน้มมองหาโปรโมชั่นและข้อเสนอพิเศษต่าง ๆ มากขึ้น โดยพฤติกรรมเช่นนี้จะคงอยู่ไปอีกหลายปี

‘เน้นที่ใกล้และคุ้นเคย’ การเดินทางในพื้นที่ใกล้เคียงและท่องเที่ยวภายในประเทศได้กลายเป็นตัวเลือกที่โดดเด่น เนื่องจากสะดวกกว่า ปลอดภัยกว่า และมักช่วยส่งเสริมความยั่งยืนได้มากกว่า โดยผู้เดินทางชาวไทย 61% วางแผนจะเดินทางในประเทศภายใน 7 – 12 เดือนที่จะถึง และ 53% วางแผนจะเดินทางในไทยในระยะยาว (ในช่วง 1 ปีขึ้นไป)

‘หลีกหนีความจริงด้วยการค้นหา’ กลายเป็นกิจกรรมสร้างความสุขสำหรับคนไทยในช่วงล็อคดาวน์ เมื่อคนส่วนใหญ่ 98% ระบุว่าเคยใช้เวลาไปกับการค้นหาแรงบันดาลใจสำหรับทริปพักผ่อน โดยกว่า 68% ได้เสิร์ชหาจุดหมายท่องเที่ยวต่าง ๆ บ่อยถึงสัปดาห์ละครั้ง

‘ปลอดภัยไว้ก่อน’ กว่า 89% ของผู้ตอบแบบสำรวจชาวไทยบอกว่าจะใช้ความระมัดระวังในการเดินทางมากขึ้น หลังเกิดการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 และผู้เดินทาง 83% คาดหวังให้สถานที่ท่องเที่ยวต่าง ๆ มีการปรับใช้มาตรการเว้นระยะห่างทางสังคม ในขณะเดียวกัน 86% จะเลือกจองเฉพาะที่พักที่มีการระบุมาตรการด้านสุขภาพและอนามัยไว้อย่างชัดเจน

‘คำนึงถึงผลกระทบ’ โดยส่วนใหญ่กว่า 68% ต้องการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนยิ่งขึ้นในอนาคต และ 86% คาดหวังให้ภาคการท่องเที่ยวนำเสนอตัวเลือกการเดินทางที่ยั่งยืนมากขึ้น

อีกเทรนด์ที่น่าสนใจ คือ ‘สัมผัสความสุขง่าย ๆ’ นักเดินทางต้องการดื่มด่ำกับธรรมชาติมากขึ้น ตั้งแต่เริ่มมีเหตุการณ์แพร่ระบาดของโควิด-19 ผู้ใช้บริการ Booking.com ทั่วโลกต่างแบ่งปันความคิดเห็นถึงสิ่งธรรมดา ๆ ที่สร้างความสุขได้อย่างง่ายดายมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการเดินป่า 94% อากาศบริสุทธิ์ 50% ธรรมชาติ 44% และการผ่อนคลาย 33% คล้ายคลึงกับความต้องการของผู้เดินทางชาวไทยกว่า 85% ที่วางแผนจะดื่มด่ำกับประสบการณ์ท่องเที่ยวแบบเรียบง่ายมากขึ้น เช่น การทำกิจกรรมกลางแจ้งกับครอบครัวระหว่างทริปพักผ่อน

ปิดท้ายด้วยเทรนด์ ‘เทคโนโลยีเข้ามามีบทบาทกระตุ้นการเดินทาง’ โดย 81% ของผู้เดินทางชาวไทยเห็นด้วยว่าเทคโนโลยีเป็นสิ่งสำคัญในการช่วยป้องกันความเสี่ยงด้านสุขภาพระหว่างเดินทาง นอกจากนั้น 80% ยังเห็นตรงกันว่าผู้ให้บริการที่พักจะต้องประยุกต์ใช้เทคโนโลยีล่าสุดเพื่อสร้างความรู้สึกปลอดภัยให้แก่ผู้เข้าพักด้วย

Leave a Reply

Or

Your email address will not be published. Required fields are marked *