Thu. Mar 28th, 2024
New Normal

‘New Normal’ ท่องเที่ยวไทย…ไม่เหมือนเดิม!

ก่อนโรคโควิด-19 จะถือกำเนิด เดิมคาดการณ์ว่าภาคท่องเที่ยวไทยปี 2020 แม้เติบโต แต่คงไม่มีทางกลับไปโตแบบร้อนแรงเหมือนเดิมได้อีกแล้ว เนื่องจากฐานนักท่องเที่ยวต่างชาติปี 2019 ขยายใหญ่มากเป็น 39.8 ล้านคน ทั้งยังเผชิญปัญหาเศรษฐกิจโลกชะลอตัว และปัจจัยเงินบาทแข็งค่าส่งผลต่อรายได้ท่องเที่ยวไทยโดยตรง เพราะนักท่องเที่ยวมีแนวโน้มใช้จ่ายและพำนักในไทยน้อยลง รวมถึงการแข่งขันจากประเทศต่างๆ ที่หันมาให้ความสำคัญกับการโปรโมทภาคท่องเที่ยว ถือเป็น ‘นิวนอร์มอล’ (New Normal) หรือสิ่งปกติใหม่ที่ผู้ประกอบการท่องเที่ยวไทยต้องเข้าใจสถานการณ์ทางการตลาด

แต่พอโรคโควิด-19 ระบาด ความหมายของ ‘นิวนอร์มอล’ กลับเปลี่ยนไปมาก กลายเป็นว่าได้เข้ามาเร่งกระบวนการ ‘ดิสรัปต์’ (Disrupt) เปลี่ยนโฉมพฤติกรรมคนทั่วโลกที่ต้องให้ความสำคัญกับ ‘การเว้นระยะห่างทางสังคม’ (Social Distancing) และ ‘ลดการสัมผัส’ (Touchless) ให้มากที่สุด ทั้งขณะล็อคดาวน์และหลังล็อคดาวน์เมื่อสถานการณ์คลี่คลายในทิศทางที่ดีขึ้น ระหว่างรอข่าวดีเรื่อง ‘วัคซีน’

ผู้ประกอบการโรงแรมจึงต้องปรับแนวทางการให้บริการครั้งใหญ่ เพื่อรองรับกระแสและความคาดหวังของสังคมที่ต้องการเห็นการยกระดับมาตรฐานสุขอนามัยเพื่อสร้างความมั่นใจแก่นักท่องเที่ยว เริ่มตั้งแต่ตอนย่างเท้าเข้าไปในอาคาร นั่นคือการตั้งจุดตรวจเช็คอุณหภูมิ การจัดอุปกรณ์ป้องกันและเจลล้างมือไว้ให้บริการ การทำความสะอาดฆ่าเชื้อในทุกพื้นที่ ไม่ว่าจะเป็นห้องพักและพื้นที่สาธารณะ จะเห็นว่าบางแห่งนำนวัตกรรมตู้อบรังสียูวีเพื่อฆ่าเชื้อโรคบนของใช้ส่วนตัว อย่างพวกโทรศัพท์มือถือ กระเป๋าสตางค์ และอื่น ๆ และใช้เทคโนโลยีพ่นสเปรย์น้ำยาฆ่าเชื้อโควิด-19 แบบไฟฟ้าสถิตลงบนกระเป๋าเดินทางก่อนนำส่งขึ้นห้องพัก

นอกจากนี้ยังใช้เทคโนโลยีมาใช้เพื่อให้บริการแบบลดการสัมผัส เช่น ใช้แอปพลิเคชั่นหรือแพลตฟอร์มออนไลน์มาอำนวยความสะดวกในการเช็คอินและเช็คเอาท์ก่อนเดินทางมาถึง การให้บริการเมนูบนแอปพลิเคชั่นและสั่งอาหารไปทานในห้องพัก

รวมถึงการเข้าร่วมประเมินมาตรฐานสุขอนามัยเพื่อรับประกาศนียบัตรและสัญลักษณ์มาตรฐานความปลอดภัยด้านสุขอนามัย หรือ ‘Amazing Thailand Safety & Health Administration : SHA’ จากการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) และประกาศนียบัตรจากกระทรวงสาธารณสุข เพื่อเป็นเครื่องยืนยันความปลอดภัยสูงสุดให้นักท่องเที่ยวได้มั่นใจ

นอกเหนือจากนิวนอร์มอลเรื่องการมาตรฐานการให้บริการเพื่อสุขอนามัยที่ดี ผู้ประกอบการโรงแรมยังต้องเผชิญนิวนอร์มอลใหม่อีกหนึ่งเรื่องอย่างปัญหา ‘กำลังซื้ออ่อนแอ’

คุณยุทธศักดิ์ สุภสร ผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) เล่าว่า ขณะรอการฟื้นตัวของตลาดนักท่องเที่ยวต่างชาติ ตลาดนักท่องเที่ยวไทย คือ คำตอบใกล้ตัวที่ต้องคว้าเอาไว้ รูปแบบการเดินทางท่องเที่ยวจะเป็นการเที่ยวในพื้นที่ระยะใกล้หรือท่องเที่ยวในจังหวัดตัวเองหรือใกล้เคียง และใช้เวลาท่องเที่ยวประมาณ 2 – 3 วัน หรือแบบวันเดย์ทริป เพื่อระมัดระวังการใช้จ่าย เนื่องจากภาพรวมนักท่องเที่ยวไทยยังไม่มั่นใจเศรษฐกิจในประเทศ ททท. จึงต้องเน้นเพิ่มวันพักค้างแรม เพิ่มความถี่การเดินทาง สร้าง ‘การหมุนรอบ’ ของเม็ดเงินให้สะพัดดีขึ้น

ทั้งนี้ นักท่องเที่ยว ‘กลุ่มที่มีรายได้ต่ำและปานกลาง’ ซึ่งครองสัดส่วนตลาดมากที่สุดถึง 73% จะเป็นกลุ่มที่ฟื้นตัวจากวิกฤติโควิด-19 ได้ช้า เนื่องจากเป็นกลุ่มแรงงานหลักที่มีความเสี่ยงจะได้รับผลกระทบสูงจากการแพร่ระบาดของโรคนี้ โดยข้อมูลจากคณะกรรมการร่วมเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ระบุว่าวิกฤติโควิด-19 ได้ส่งผลกระทบต่อแรงงานในไทย ว่างงานมากถึง 7.2 ล้านคน ทำให้อัตราว่างงานพุ่งขึ้นไปสู่ระดับ 28%

ส่วนกลุ่มที่มีศักยภาพด้านกำลังซื้อและเป็นกลุ่มแรกที่ออกท่องเที่ยวคือ ‘กลุ่มที่มีรายได้ระดับบน’ ครองสัดส่วนที่ 12% นิยมเดินทางเป็นกลุ่มเล็ก ๆ เพราะยังมีความกังวลต่อการติดเชื้อ

ท่องเที่ยวไทย-

กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬากับ ททท. จึงร่วมมือกับกระทรวงการคลังและธนาคารกรุงไทย ออกมาตรการกระตุ้นการท่องเที่ยว โครงการฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมภาคการท่องเที่ยว ‘เที่ยวปันสุข’ ซึ่งประกอบด้วย 2 แพ็คเกจ ได้แก่ เราเที่ยวด้วยกัน และกำลังใจ หวังกระตุ้นกำลังซื้อด้านท่องเที่ยวของคนไทย เริ่มดำเนินการตั้งแต่เดือนกรกฎาคม – ตุลาคม 2563 คาดว่าจะสร้างเม็ดเงินหมุนเวียนทางตรงให้กับผู้ประกอบการกว่า 5 หมื่นล้านบาท และทางอ้อมต่อระบบเศรษฐกิจ 2.6 หมื่นล้านบาท สร้างเม็ดเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจรวมกว่า 7 แสนล้านบาท

อย่างไรก็ตาม ช่วงครึ่งปีหลังนี้ยังต้องติดตามการฟื้นฟูเศรษฐกิจภายในประเทศช่วงไตรมาสที่ 3 นี้ ทั้งภาคการผลิต การจ้างงาน ในสถานการณ์ที่ทุกภูมิภาคทั่วโลกยังมีการระบาดของโรคโควิด-19 เป็นวงกว้าง และมีการพบผู้ติดเชื้อรอบสองในบางประเทศ เช่น ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และจีน

คุณยุทธศักดิ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า แม้ตลาดไทยเที่ยวไทยจะมีความกังวลเรื่องกำลังซื้อ แต่เป้าหมายของ ททท.ยังคงมุ่งผลักดันรายได้รวมของภาคท่องเที่ยวปี 2020 ไปให้ถึง 1.23 ล้านล้านบาท หลังจากล่าสุดได้ปรับเป้าหมายจำนวนนักท่องเที่ยวไทยปีนี้เป็น 120 ล้านคน-ครั้ง สร้างรายได้ 5 แสนล้านบาท เพิ่มจากเป้าเดิมซึ่งตั้งไว้ที่ 100 ล้านคน-ครั้ง สร้างรายได้ 4 แสนล้านบาท

ส่วนตลาดนักท่องเที่ยวต่างชาติปีนี้ คาดว่าจะมีจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติทั้งสิ้น 8.2 ล้านคน ลดลง 80% สร้างรายได้ 3.96 แสนล้านบาท ลดลง 80% จากปีที่แล้ว และนับจากนี้ คือการเฝ้ารอดูผลจากมาตรการของรัฐบาลที่ออกมาช่วยเหลือและเยียวยาภาคท่องเที่ยว ซึ่งนับเป็นอุตสาหกรรมที่ก่อให้เกิดการจ้างงานสูง หากผลเป็นที่สำเร็จ ผู้ประกอบการท่องเที่ยวของไทยจะก้าวย่างไปอย่างมั่งคงยิ่งขึ้นบนความไม่ประมาท และการ์ด…อย่าตก

ที่มา : นิตยสาร Thai Hotel & Travel Magazine ฉบับเดือน มิถุนายน – กรกฎาคม 2020

Leave a Reply

Or

Your email address will not be published. Required fields are marked *