Tue. Mar 19th, 2024
เจาะอินไซต์ปั้น‘ไลฟ์สไตล์โฮเทล’ โดนใจ ‘มิลเลนเนียลส์’ (ตอน1)

เจาะอินไซต์ปั้น‘ไลฟ์สไตล์โฮเทล’ โดนใจ ‘มิลเลนเนียลส์’ (ตอน1)

ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา หนึ่งในเทรนด์ธุรกิจโรงแรมทั่วโลกที่กำลังมาแรงมาก ๆ หนีไม่พ้นการพัฒนาโรงแรมใหม่ ๆ ในเซ็กเมนต์ ‘ไลฟ์สไตล์โฮเทล’ เห็นได้จากเชนรับบริหารโรงแรมดังหลาย ๆ เจ้า ที่หันมาเปิดเกมบุกตลาดนี้กันมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็น ‘แอคคอร์’ ที่เดินหน้าผลักดันแบรนด์โรงแรมใหม่ ๆ เช่น โซ โซฟิเทล, ไอบิส สไตล์, มามา เชลเตอร์, โจ แอนด์ โจ และ 25hours แบรนด์โรงแรมดังสไตล์บูติค มีฐานในประเทศเยอรมนี และออสเตรเลีย ที่เครือแอคคอร์เพิ่งประกาศเข้าซื้อหุ้นในสัดส่วน 30% ของทุนจดทะเบียนเมื่อปลายปี 2016

หวังเจาะตลาดนักท่องเที่ยวรุ่นใหม่ ซึ่งค้นหาประสบการณ์การเข้าพักแบบใหม่ ๆ รองรับกับไลฟ์สไตล์ที่เปลี่ยนไป

เสริมทัพแบรนด์ดั้งเดิมที่นักท่องเที่ยวทั่วโลกรู้จักกันเป็นอย่างดีอยู่แล้วอย่างโซฟิเทล, พูลแมน, โนโวเทล, เมอร์เคียวรวมถึงไอบิสที่ประสบความสำเร็จอย่างมาก ทำให้เครือแอคคอร์เป็นหนึ่งในเจ้าตลาดโรงแรมที่มีศักยภาพในการเจาะตลาดระดับกลาง

ปัจจุบันเครือแอคคอร์เปิดให้บริการโรงแรมในเซ็กเมนต์ไลฟ์สไตล์โฮเทลอยู่แล้ว 2 แบรนด์ คือ โซ โซฟิเทลและไอบิสสไตล์ส่วนอีก 3 แบรนด์ที่ยังไม่เปิดให้บริการในไทย ทางเครือแอคคอร์เองก็มีแผนขยายในไทยเช่นกัน อย่าง ‘25hours’ ก็มีโอกาสนำมาขยายตลาดในไทย ขณะที่แบรนด์ ‘มามาเชลเตอร์’ ก็มีแผนเปิดให้บริการในไทยเร็ว ๆ นี้

ส่วน ‘โจแอนด์โจ’ จะเน้นเจาะฐานลูกค้าตลาดล่าง ผ่านโมเดลที่พักแบบเปิดให้นักท่องเที่ยวได้เข้าพักร่วมกัน คล้ายกับโมเดลธุรกิจโฮสเทลและบ้านเช่ากับที่พัก ซึ่งขายผ่านแพลตฟอร์มดังอย่าง ‘แอร์บีแอนด์บี’ (Airbnb) กำลังได้รับความนิยมอย่างสูงจากนักท่องเที่ยวทั่วโลก

โดยเฉพาะ ‘กลุ่มมิลเลนเนียลส์’ ที่จะขึ้นมาเป็นกำลังซื้อหลักของโลกในอนาคต ซึ่งมีพฤติกรรมการท่องเที่ยวมองหาโรงแรมที่สามารถ‘ตอบโจทย์เชิงไลฟ์สไตล์’ได้มากขึ้น หลังมีผลการวิจัยด้านตลาดท่องเที่ยวระบุว่า กลุ่มมิลเลนเนียลส์ใช้จ่ายเพื่อการท่องเที่ยวต่อปีที่ 3,000 ยูโร หรือประมาณ 1.16 แสนบาทเลยทีเดียว และคาดว่าในปี 2020 นักท่องเที่ยวเจเนอเรชั่นนี้จะมีเดินทางกว่า 300 ล้านคน และกว่า 30% เป็นการเดินทางไปยังต่างประเทศ

เมื่อลงลึกในรายละเอียดของแนวทางการพัฒนาคอนเซ็ปต์ ‘ไลฟ์สไตล์โฮเทล’ ให้เข้าถึงอินไซต์หรือความในใจของนักท่องเที่ยวกลุ่มมิลเลนเนียลส์ ขอยกตัวอย่างแบรนด์ ‘โจแอนด์โจ’ (JO&JOE) ของเครือแอคคอร์ให้เห็นภาพ โจแอนด์โจนิยามแบรนด์ตัวเองไว้อย่างน่าสนใจว่าเป็น ‘เสมือนบ้าน’ ที่เปิดกว้างสำหรับคนภายนอก ได้รับการออกแบบให้ตรงกับความต้องการของลูกค้าในกลุ่มมิลเลนเนียลส์ หรือลูกค้าที่มีอายุ 25-34 ปี รวมถึงลูกค้าที่เล็งเห็นคุณค่าของการแบ่งปัน ความคล่องตัว และการสร้างประสบการณ์ใหม่ ๆ ผ่านพื้นที่สำหรับการใช้ชีวิตอย่างมีสีสัน

โดยแบรนด์โจแอนด์โจจัดอยู่ในแบรนด์ระดับราคาประหยัดของเครือแอคคอร์ เน้นโลเคชั่นในใจกลางเมืองที่มีความคึกคักและเต็มไปด้วยชีวา ใกล้กับระบบขนส่งสาธารณะ ทั้งนี้ เครือแอคคอร์ได้วางแผนเปิดให้บริการโรงแรมแบรนด์นี้จำนวน 50 แห่ง ภายในปี 2020 เพื่อรองรับความต้องการใหม่ ๆ ของตลาดมีแผนเปิดตัวในเมืองปารีสและเมืองบอร์โดซ์ ประเทศฝรั่งเศส ภายในปี 2018 นี้รวมไปถึงเมืองวอร์ซอ ประเทศโปแลนด์ เมืองบูดาเปสต์ ประเทศฮังการี และเมืองเซาเปาโล ประเทศบราซิลด้วย

เจาะอินไซต์ปั้น‘ไลฟ์สไตล์โฮเทล’

เนื่องจากเป็นพื้นที่รูปแบบใหม่เปิดกว้างพร้อมต้อนรับทั้งคนในท้องถิ่น (Townsters) และนักเดินทางท่องเที่ยว(Tripsters) คอนเซ็ปต์ของแบรนด์ได้รับการออกแบบให้ส่งเสริมการมีปฏิสัมพันธ์และเสริมสร้างข้อดีของการอยู่ร่วมกัน โดยมีพื้นที่ส่วนกลางที่ลูกค้าทั้งภายในและภายนอกสามารถใช้บริการร่วมกันได้

โดยบริการด้านอาหารของโจแอนด์โจ จะเน้นบริการอาหารคุณภาพไม่เน้นความหรูหราฟู่ฟ่าท่ามกลางบรรยากาศอบอุ่นพร้อมพรั่งด้วยเตาปิ้งย่าง เตาบาร์บีคิว กระทะเหล็กหรือเตาฟืนสำหรับอบพิซซ่า พร้อมนำเสนอบริการอาหารจานหลักด้วยราคาเริ่มต้น 10 ยูโร และให้ความสำคัญกับการมีปฏิสัมพันธ์กับผู้คน การแบ่งปัน เรียบง่าย และดีต่อสุขภาพ

ขณะที่บาร์ ถือเป็นศูนย์กลางการพบปะ การออกแบบที่ไม่เหมือนใครและมองเห็นได้เด่นชัดจากภายนอก คือสิ่งที่ช่วยกระตุ้นให้คนในท้องถิ่นอยากเข้ามาร่วมสังสรรค์ไปกับเครื่องดื่มนานาชนิดที่เน้นส่งเสริมผลิตภัณฑ์ที่ผลิตในท้องถิ่นที่ได้รับการคัดสรรมาแล้วเป็นอย่างดี

ครัวส่วนกลาง คือพื้นที่ที่ลูกค้าสามารถอวดความสามารถในการปรุงอาหาร เป็นเวทีสำหรับการแบ่งปันสูตรอาหารที่ดีที่สุดของแต่ละคนสำหรับแขกที่ต้องการจำกัดงบประมาณก็สามารถใช้พื้นที่ส่วนนี้ในการปรุงอาหารสำหรับตัวเองและเพื่อน ๆ ได้

ในส่วนของพื้นที่ HappyHouse เป็นพื้นที่ส่วนตัวที่เหล่า Tripsters สามารถพักผ่อนหย่อนใจ นั่งทำงาน ทำอาหารได้เหมือนกับอยู่ที่บ้านของตัวเอง

Together เป็นหัวใจหลักของแบรนด์ ได้แก่ พื้นที่สำหรับการนอนหลับพักผ่อนที่ใช้ร่วมกัน โดยมีการออกแบบให้เป็นสัดส่วน และไม่สูญเสียความเป็นส่วนตัว

Yours ประกอบด้วยห้องพักและอพาร์ตเมนต์สำหรับ 2 ถึง 5 ท่าน พร้อมห้องน้ำในตัว เหมาะสำหรับผู้ที่เข้าพักเป็นกลุ่มขนาดเล็กและครอบครัว พื้นที่การใช้งานให้ความรู้สึกแตกต่างจากโรงแรมทั่วไป

OOO! (Out Of the Ordinary) ไม่เหมือนใครด้วยห้องพักที่เข้าพักได้ตั้งแต่ 1-6 ท่าน ทั้งในรูปแบบกระโจม เปลญวน และคาราวาน

นอกจากนี้ ทีมงานของโจแอนด์โจยังได้ออกแบบแอปพลิเคชันเพื่อช่วยให้ Townsters และ Tripsters ติดต่อ พบปะ สร้างอีเวนต์ แบ่งปันเคล็ดลับ หรือรวมตัวกันไปทานอาหารหรือเดินเล่นด้วยกันได้ สอดรับกับพฤติกรรมการชอบเข้าสังคมและสร้างปฏิสัมพันธ์ของคนในเจเนอเรชั่นนี้

ลักษณะพิเศษต่าง ๆ เหล่านี้ ถือเป็น ‘ตัวเร่งทางสังคม’ ที่จะให้นักท่องเที่ยวทั้งในและจากต่างประเทศมารวมตัวกันที่โรงแรมโจแอนด์โจมากยิ่งขึ้น ส่งผลให้แบรนด์ประสบความสำเร็จ

เจาะอินไซต์ปั้น‘ไลฟ์สไตล์โฮเทล’

นอกเหนือจากคอนเซ็ปต์การสร้างประสบการณ์เข้าพักแบบใหม่แล้ว อีกจุดที่เครือแอคคอร์ให้ความสำคัญ คือ ‘การฉีกกฎ’ การออกแบบโรงแรมแบบเดิม ๆ โดยเฉพาะเรื่องการใช้พื้นที่ในแนวดิ่งและเน้นประโยชน์ใช้สอยแบบเดิม ๆ ด้วยการแทนที่ด้วยความเป็นอิสระยืดหยุ่นและมีความแตกต่าง รวมถึงการนำโรงแรมไปตั้งอยู่ในโลเคชั่นระดับอุดมคติใจกลางเมืองใหญ่ที่มีความคึกคักชวนผ่อนคลายและน่าค้นหาทั่วโลก

เพื่อให้โจแอนด์โจสามารถสร้างบรรยากาศและสีสันแก่นักท่องเที่ยวได้อย่างเหมาะสม

สามารถตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าอย่างตรงเป้า!

ฉบับหน้ากลับมาติดตามคอลัมน์ Inside กันต่อเกี่ยวกับแนวการปั้นแบรนด์โรงแรม ‘ไลฟ์สไตล์โฮเทล’ ของฝั่งไทยกันบ้างรับรองว่าน่าสนใจไม่แพ้ฝั่งยุโรป

Leave a Reply

Or

Your email address will not be published. Required fields are marked *