Thu. Apr 18th, 2024
‘โฮมโฮสต์’ กินบนเรือน เที่ยวทั่วหลังคา

‘โฮมโฮสต์’ กินบนเรือน เที่ยวทั่วหลังคา

ในยุคที่การท่องเที่ยวเฟื่องฟู นิยามคำว่า ‘บ้าน’ ของใครหลายคนคงเปลี่ยนไป เพราะบ้านที่เคยอยู่กันแค่พ่อ แม่ ลูก และญาติพี่น้องทั้งหลาย มีผู้มาใหม่มาเยือนมากหน้าหลายตา แถมบางหลังยังมากันแบบไม่ขาดสาย

‘บ้าน’ จึงกลายเป็นแหล่งแลกเปลี่ยนทางความคิดระหว่างคนต่างวัฒนธรรม มากกว่าที่อยู่อาศัยเฉกเช่นเดิม เพราะคนที่ได้ประโยชน์ ไม่ใช่แค่นักท่องเที่ยวผู้มาเยือนเท่านั้น แต่เป็นฝ่ายเจ้าของบ้านที่ได้รับประสบการณ์แปลกใหม่ถึงที่ ส่งผลให้การท่องเที่ยวรูปแบบ ‘โฮมโฮสต์’ ในชุมชนเป็นอีกเทรนด์ที่มาแรงฉีกนิยามการท่องเที่ยวออกไปจากเดิม

ไม่ว่าหลังไหนๆ ก็เป็นแหล่งท่องเที่ยวได้

เหมือนกับบ้านของครอบครัว ‘เรือนแก้ว-ยานนท์’ เจ้าของโฮมโฮสต์แบบฉบับไทยล้านนา ตั้งอยู่ที่หมู่ 11 ตำบลบ้านแหวน อำเภอหางดง จังหวัดเชียงใหม่ ที่ตัดสินใจเปิดบ้านให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวเล็กๆ เต็มเปี่ยมไปด้วยความเสน่หาและน่าสนใจอย่างยิ่ง

น้ำตะไคร้หอมเย็นชื่นใจกับมาลัยกล้วยไม้ คือ ธรรมเนียมการต้อนรับ ‘สมาชิกใหม่’ ของครอบครัวนี้ สมาชิกใหม่ส่วนใหญ่เป็นคนยุโรป ซึ่งชื่นชอบสินค้าท่องเที่ยวที่เข้าถึงความเป็นอยู่และวิถีชุมชนเป็นทุนเดิม เพราะการท่องเที่ยวรูปแบบนี้ ได้รับความนิยมในยุโรปมาพักใหญ่แล้ว

โฮมโฮสต์

‘คุณประพัทธ์ เรือนแก้ว’ อดีตมัคคุเทศก์ของบริษัทนำเที่ยวดีทแฮล์ม วัย 57 ผู้ที่เป็นทั้งเจ้าของบ้านและเจ้าของไอเดียเปิดบ้านเป็นแหล่งท่องเที่ยว สวมวิญญาณมัคคุเทศก์ นำลูกทัวร์เยี่ยมชมตัวบ้าน สัมผัสแนวคิดและวิถีชีวิตของชาวไทยล้านนากันแบบเอ็กซ์คลูซีฟ

คุณประพัทธ์ บอกว่า ก่อนอื่นต้องมาทำความเข้าใจก่อนว่ารูปแบบของท่องเที่ยวฉบับโฮมโฮสต์ที่เขาทำอยู่นั้น ต่างจากการทำโฮมสเตย์ของเจ้าอื่นๆ ความต่างที่ว่านั้น คือ เขาไม่ได้เปิดให้นักท่องเที่ยวเข้าพักค้างแรมเหมือนโฮมสเตย์ แต่เน้นการพาเยี่ยมชมทั่วบริเวณบ้าน และชวนนักท่องเที่ยวเข้าครัวทำอาหาร และรับประทานอาหารที่บ้านพร้อมๆ กับคนในบ้านเท่านั้น หลังจากนั้น นักท่องเที่ยวก็จะกลับไปพักที่โรงแรมหรือรีสอร์ตที่จองไว้ในตัวเมืองเชียงใหม่

วันๆ หนึ่ง เขารับนักท่องเที่ยวไม่เกิน 6 คน โดยชาติที่สนใจรูปแบบท่องเที่ยวโฮมโฮสต์อย่างมาก คือ ชาวอังกฤษ เยอรมัน ฝรั่งเศส และอเมริกา

โปรแกรมแรกของการท่องเที่ยวแบบโฮมโฮสต์ คุณประพัทธ์ จะพาลูกทัวร์ชมเรือนไม้สักหลังเก่าอายุ 150 ปี พร้อมอธิบายให้ลูกทัวร์ฟังเกี่ยวกับเรือนไม้ว่า แต่ละส่วนประกอบของบ้านสะท้อนความเชื่อของคนล้านนาเรื่องใดบ้าง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องธรรมชาติ พุทธศาสนา รวมถึงความเชื่อเรื่องภูตผีวิญญาณไว้อย่างครบถ้วน อย่างบันไดก็ต้องหันไปทางทิศตะวันออกและต้องตั้งอยู่นอกบ้าน บ่อน้ำของทุกๆ บ้านถือเป็นของศักดิ์สิทธิ์ห้ามถมเป็นอันขาด ด้วยความเชื่อที่ว่ามีน้ำกินน้ำใช้มาทุกวันนี้ก็เพราะบ่อน้ำที่รักษาสืบต่อกันมาตั้งแต่บรรพบุรุษ ยุ้งข้าวที่นี่มีขนาดใหญ่เท่าบ้านคน ก็ห้ามแปลงสภาพทำเป็นบ้านเด็ดขาดที่เป็นเช่นนั้น ก็เพราะอยากให้สมาชิกในบ้านรู้บุญคุณของข้าว รวมถึงแขกไปใครมา ก็ต้องไหว้เจ้าที่ เพื่อเคารพสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ผีบ้านผีเรือนที่ช่วยคุ้มกันภัยให้กับบ้านหลังนั้นๆ

หลังจากพาลูกทัวร์เดินชมทั่วบริเวณบ้านแล้ว คุณประพัทธ์ ไม่ลืมพาเดินชมสวนหลังบ้าน ซึ่งถือเป็นอีกหนึ่งไฮไลต์ของโปรแกรม สวนหลังบ้านของครอบครัวเรือนแก้ว-ยานนท์ อุดมไปด้วยพืชพรรณนานาชนิด ซึ่งส่วนใหญ่เป็นพืชผักสมุนไพรไว้ทำอาหารและเป็นยารักษาโรค นอกจากนี้ยังมีพื้นที่ทำการเกษตร ทั้งปลูกผลไม้ พืชสวน มีคอกวัว และเร็วๆ นี้เตรียมทำนาข้าวให้ลูกทัวร์ได้ลองปลูกข้าวเกี่ยวข้าวด้วยตัวเองด้วย เป็นไปตามแผนการเพิ่มกิจกรรมใหม่ๆ ให้น่าสนใจยิ่งขึ้น

โฮมโฮสต์

รูปแบบการขายสินค้าท่องเที่ยวของคุณประพัทธ์นับว่ากำลังล้อเทรนด์ท่องเที่ยวโลก ที่เรียกกันว่า ‘เพียร์-ทู-เพียร์’ (Peer-to-Peer) ซึ่งนิยมติดต่อซื้อขายสินค้าท่องเที่ยวกันโดยตรงระหว่างนักท่องเที่ยวกับเจ้าของสินค้า นับเป็นโมเดลธุรกิจที่ช่วยเจ้าของสินค้าท่องเที่ยวให้มีรายได้เต็มไม้เต็มมือเพราะสามารถขายแพ็คเกจทัวร์ได้ราคาที่ดี ราคาแพ็คเกจทัวร์ต่อคนมากกว่า 2,500 บาทต่อวัน ปัจจุบัน มีบริษัทนำเที่ยว (เอเย่นต์ทัวร์) 6 – 7 บริษัท ช่วยขาย บางเอเย่นต์ทัวร์เคยติดต่อเข้ามา แต่ก็สู้ราคานี้ไม่ไหว

คุณประพัทธ์เล่าเพิ่มเติมว่า เวลาตัวแทนเอเย่นต์ทัวร์คนไทยมาชมสินค้า เขาจะนึกไม่ออกว่าควรขายอย่างไร แต่พอเป็นผู้จัดการสินค้าท่องเที่ยว หรือ โปรดักต์ แมเนเจอร์ จากฝั่งยุโรปมาดูเขาจะเข้าใจทันทีว่ารูปแบบสินค้าของเราเป็นแบบนี้ เน้นเรียนรู้
วิถีความเป็นอยู่ มีกิจกรรมให้ทำทั้งการทำอาหารและรับประทานด้วยกัน โดยทางครอบครัวเรือนแก้ว-ยานนท์ได้เตรียมวัตถุดิบสำหรับอาหารแต่ละมื้อไว้พร้อม ซึ่งเขาคิดว่าเป็นกิจกรรมที่คุ้มค่ากับเงินที่จ่ายไป

พอตะวันตกดิน คุณประพัทธ์พาลูกทัวร์กลับมาที่ครัวขนาดใหญ่ของบ้าน เสิร์ฟน้ำและเมี่ยงคำให้ได้ชิมกันระหว่างพัก พร้อมสนทนากับคุณยาย ผู้เป็นแม่ของเขา ซึ่งกำลังนั่งม้วนใบยาสูบบนเตาอุ่นๆ ตามวิถีเก่าแก่ของคนล้านนาอย่างเชี่ยวชาญ ปล่อยให้ลูกทัวร์นั่งพักได้ไม่นาน แม่ครัวของบ้านก็กวักมือเรียกทุกคนให้มาช่วยเป็นลูกมือทำกับข้าว เริ่มตั้งแต่เตรียมวัตถุดิบทั้งล้างไก่ไว้แกง หั่นมะเขือเทศสหรับทำน้ำพริกอ่อง รวมถึงนึ่งผัก และหั่นกล้วยน้ำว้าผลโตไว้ทำของหวานกล้วยบวช

ค่ำนั้น เพลงเหนือของ ‘จรัญ มโนเพ็ชร’ จากเครื่องเสียงสเตอริโอ ดังไปทั่วครัวใหญ่ที่แยกออกจากตัวบ้าน เสริมบรรยากาศความเป็นเมืองเหนือได้อย่างถึงแก่นมากขึ้น

อาหารพร้อม ก็ถึงเวลานั่งลงบนเสื่อเหมือนนั่งกินขันโตก เจ้าบ้านและลูกทัวร์ต่างพูดคุยกันอย่างสนุกสนาน แลกเปลี่ยนประสบการณ์ของแต่ละฝ่าย

ภาพที่เห็นตรงหน้านั้น ชวนให้ตระหนักได้ว่า นิยามของคำว่า ‘โฮมโฮสต์’ ไม่ใช่แค่แหล่งท่องเที่ยวโดยชาวบ้านเท่านั้น แต่ยังเป็นที่ที่มอบความอบอุ่นแก่ผู้มาเยือน… เสมือนเป็นคนในครอบครัวเดียวกันอีกด้วย

Leave a Reply

Or

Your email address will not be published. Required fields are marked *