Tue. Mar 19th, 2024
ท่องเที่ยว เพชรบุรี

‘เพชร’ หลากมิติ

ทุกสิ่งที่เราเห็น ล้วนมีมุมมองหลายหลากเหมือน ‘เพชรบุรี’ เมืองท่องเที่ยวที่ทุกคนคุ้นเคย แต่อาจจะไม่เคยมองหาเส้นทางท่องเที่ยวมุมใหม่ แตกต่างไปจากจุดหมายหาดทรายชายทะเล คอลัมน์ ‘TRAVEL TREND TODAY’ ฉบับนี้ จะพาคุณไปสำรวจ ‘มิติใหม่’ ของ ‘เพชรบุรี’ ที่ไม่เคยสัมผัสมาก่อน

เมื่อล้อหมุนมาถึงถนนพระราม 2 แทนที่จะขับตรงสู่ถนนเพชรเกษมไปเพชรบุรีตามความเคยชิน แนะนำให้ลองขับรถลัดเลาะไปตาม ‘เส้นทางลัดไปชะอำ’ ถนนเลียบชายฝั่งเชื่อมจังหวัดสมุทรสงครามสู่เมืองเพชร พอรถวิ่งผ่านสะพานข้ามแม่น้ำแม่กลองราวๆ 6 กิโลเมตร หรือก่อนถึงแยกวังมะนาวประมาณ 10 กิโลเมตร เห็นหลักกิโลเมตรที่ 72 เมื่อไหร่ ให้ชิดซ้ายเมื่อนั้น สังเกตปั๊มน้ำมัน ปตท.ไว้ให้ดี จากนั้นเลี้ยวซ้ายวิ่งไปตามถนนเส้นทางลัดไปชะอำได้เลย ตรงแยกมีป้ายบอกทางชัดเจน จากจุดนี้ไปถึงหาดเจ้าสำราญ ระยะทางรวมอยู่ที่ 49 กิโลเมตร ถึงเร็วกว่าเส้นวิ่งตรงปกติจากถนนเพชรเกษมซึ่งใช้ระยะทางไกลกว่า 16 กิโลเมตร

ทว่า ‘เสน่ห์’ ของเส้นทางลัดไปชะอำนี้ ไม่ได้อยู่ที่ระยะทางใกล้กว่า หรือประหยัดน้ำมันกว่า แต่อยู่ที่วิวข้างทางสวยๆ และวิถีความเป็นอยู่ของชาวบ้านที่เกี่ยวพันกับทะเลในอีกหลากหลายมิติ ไม่ใช่แค่การออกเรือไปจับปลาอย่างที่เราคุ้นตา

ท่องเที่ยวจังหวัดเพชรบุรี

พอขับรถมาถึงสามแยกหน้าวัดธรรมประดิษฐ์ ให้ขับตรงไปอีกราวๆ 7 กิโลเมตร จะถึง ‘ชุมชนยี่สาร’ ซึ่งตั้งอยู่ในเขตอำเภออัมพวา จังหวัดสมุทรสงคราม แหล่งท่องเที่ยวไฮไลต์ของชุมชนยี่สาร คือ ‘วัดเขายี่สาร’ เป็นวัดเก่าแก่ตั้งแต่สมัยพระเจ้าเสือแห่งกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย ราวๆ ปี พ.ศ.2246

ต้องออกแรงเดินขึ้นไปยังวัดซึ่งตั้งอยู่บนเนินเขาเตี้ยๆ แห่งเดียวในสมุทรสงคราม ความโดดเด่นอยู่ตรงทีจิตรกรรมฝาผนังภายในโบสถ์ จนต้องยกนิ้วให้ช่างฝีมืออยุธยา ขณะที่วิหารอายุกว่า 300 ปี มีบานประตูวิหารแกะสลักด้วยลายดอกไม้เลื้อยสุดแปลกตา ถือโอกาสเข้าไปสักการะหลวงพ่อปากแดง พระพุทธรูปปางมารวิชัยซึ่งประดิษฐานอยู่ภายใน รอบฐานเป็นลายปูนปั้น สันนิษฐานว่าคนรังสรรค์น่าจะเป็นช่างฝีมือชาวขอม เห็นได้จากการทาปากพระพุทธรูปสีแดงเปี่ยมเอกลักษณ์ นอกจากนี้ ภายนอกวิหารยังมีอีกจุดสำคัญให้ได้สักการะกัน คือ รอยพระพุทธบาท คาดว่าน่าจะจำลองมาจากองค์ทางเหนือ

เมื่อลงจากเนินเขาแล้ว อย่าเพิ่งไปไหน เลี้ยวเข้าชมของดีอย่าง ‘พิพิธภัณฑ์บ้านเขายี่สาร’ ทางวัดเลือกจัดแสดงของเก่าแก่หายากในศาลาการเปรียญเก่า เข้าไปแล้ว จะได้เห็นการจำลองพวกเครื่องไม้เครื่องมือทำมาหากินต่างๆ ของคนสมัยก่อน อย่างเตาเผาถ่านไม้โกงกาง ซึ่งถือเป็นอาชีพเฉพาะถิ่นของที่นี่ นอกจากนี้ ยังมีข้าวของเครื่องใช้ในพระพุทธศาสนาด้วย เช่น เครื่องลายคราม สมุดใบลาน และอื่นๆ

ไปกันต่อที่จุดหมายแปลกหูอย่าง ‘บางตะบูน’ ปากแม่น้ำน้อยๆ ก้นอ่าวไทย พิกัดตั้งอยู่ในอำเภอบ้านแหลม ที่นี่คือแดนฟาร์มหอยแครงอันเลื่องชื่อ เนื่องจากดินดอนสามเหลี่ยมปากแม่น้ำบางตะบูนแห่งนี้ คึกคักไปด้วยดินเลนคุณภาพคับแก้ว ไหนๆ ที่นี่ก็อุดมไปด้วยหอยแครงแล้ว จึงนึกสนุกอยากลองไปจับหอย แต่เอาไว้ก่อนดีกว่า แดดแรงจ้าขนาดนี้ เกรงว่าลมจะจับเอาเสียก่อนจับหอยได้ครบสิบตัวน่ะสิ

เพลิดเพลินกับทิวทัศน์ของบางตะบูนได้ไม่ทันไร เหมือนหลุดมายังอีกดินแดนที่เต็มไปด้วยสีขาวโพลนทั้งสองข้างทาง ตลอดระยะทางกว่า 25 กิโลเมตร หนาแน่นไปด้วยนาเกลือสุดลูกหูลูกตา ความพิเศษของถนนเส้นนี้ ไม่ได้มีดีแค่ความขาว แต่อยู่ที่วิถีชีวิตของชาวบ้านที่สืบทอดอาชีพการทำนาเกลือมาอย่างยาวนานเป็นร้อยปี จนทำให้อำเภอบ้านแหลมแห่งนี้ ติดอับดับพื้นที่ทำนาเกลือมากที่สุดในไทย

โครงการวิจัยตามแนวพระราชดำริแหลมผักเบี้ย

อุตส่าห์ปรับเส้นทางเที่ยว ลัดเลาะมาตามเส้นทางลัดไปชะอำทั้งที จะไม่แวะ ‘โครงการวิจัยตามแนวพระราชดำริแหลมผักเบี้ย’ ก็กระไรอยู่ เพราะที่นี่เป็นถึงแหล่งเรียนรู้สำคัญเกี่ยวกับธรรมชาติฝั่งชายทะเล โดยเฉพาะความอุดมสมบูรณ์ของป่าชายเลนซึ่งมีความสำคัญอย่างมาก จนอาจคาดไม่ถึงด้วยซ้ำ ทั้งช่วยอนุบาลสัตว์น้ำ ให้ได้เติบโตเวียนว่ายในห่วงโซ่อาหารอันสมบูรณ์แล้ว ยังช่วยบำบัดเหล่าบรรดาน้ำเสียก่อนไหลลงทะเลได้อีกด้วย ผ่านการวางระบบอันแยบคาย ตามพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ “ให้ธรรมชาติเยียวยาธรรมชาติ”

เราเดินไปตามสะพานไม้ระแนงตัดผ่านต้นแสมน้อยใหญ่และป่าโกงกาง จะว่าไปแล้ว ก็เป็นแหล่งท่องเที่ยวที่เหมาะกับพาลูกหลานในครอบครัวมาทัศนศึกษา เชื่อว่าทั้งเด็กและผู้ใหญ่เป็นอันต้องตื่นเต้นกับเจ้าปูมากมาย ทั้งปูก้ามด้าม ปูแสม และปลาตีนตัวใหญ่

การจับหอยพชรบุรี

ส่วนใครที่หลงรักกิจกรรมการดูนก บอกเลยว่าที่นี่เหมาะมาก แนะนำให้พกกล้องส่องทางไกลมาให้พร้อม เพราะที่แหลมผักเบี้ยแห่งนี้ มีนกสวยๆ ติด 10 อันดับแรกของแหล่งดูนกที่ดีที่สุดในประเทศ มีนกหายากอย่างนกเด้าดิน นกเด้าลม นกยางเปีย และอื่นๆ เราเดินชมนกชมไม้มาเรื่อยๆ ตามสะพานไม้ที่ยังคงทอดตัวยาวต่อเนื่อง กระทั่งเห็นวิวแหลมทรายยาวกว่า 3 กิโลเมตร กั้นระหว่างหาดทรายกับหาดโคลน

เป็นไปได้ว่าที่แห่งนี้ คือจุดกำเนิดทรายเม็ดแรกบนฝั่งอ่าวไทย ภาพชาวประมงเก็บหอยแครงและหอยตลับบนเวิ้งทะเลโคลนกว้างช่วงน้ำลง เวลาราวๆ บ่ายสาม ใครได้ไปเห็น เป็นอันต้องนึกสนุก อยากลองไปจับเจ้าหอยที่กำลังซ่อนตัวอยู่ใต้โคลนตมด้วยมือตัวเองแน่นอน

ไม่รอช้า เราและเพื่อนร่วมทางก้าวยาวตรงไปที่ปลายสะพานทันที แล้วค่อยๆ เดินย่ำดินเลนจนโดนโคลนดูดไปค่อนขา มองจากจุดชมวิวเหนือสะพานไปยังจุดที่ชาวประมงเก็บหอยกัน ก็นึกว่าจะใกล้ ที่ไหนได้ ใช้เวลากว่าสิบนาทีทีเดียวกว่าจะเดินไปถึง พอเข้ามาใกล้ ก็เพิ่งสังเกตเห็นเต็มตาว่าชาวประมงหลายคนเขามีเครื่องไม้เครื่องมือสุดเก๋ประกอบการเก็บหอย นั่นก็คือไม้กระดานเก่าๆ ได้อารมณ์เหมือนกระดานสเก็ตบอร์ด

โดยชาวประมงจะนอนคว่ำลงบนไม้ แล้วใช้มือทั้งสองข้างออกแรงดันให้แผ่นไม้ถลาไปเหนือดินเลน ไม่ต้องเสียเวลาในการย่ำเก็บหอยลงถังไปทีละก้าวเหมือนมือสมัครเล่นอย่างเรา หอยตัวไหนใหญ่ตามมาตรฐาน ชาวประมงก็จะเก็บลงถังซึ่งตั้งอยู่ข้างหน้าขณะนอนคว่ำบนไม้กระดาน ส่วนตัวไหนยังโตไม่สะใจ ไม่เป็นไปตามมาตรฐาน ก็จะวางไว้ที่เดิม เปิดโอกาสให้เจ้าหอยไปขุนตัวเองโตต่อไป จนกว่าเราจะมาพบกันใหม่…ชาวประมงคงพูดกับหอยตัวจ้อยในใจเช่นนี้

ทะเลเพชรบุรี

Leave a Reply

Or

Your email address will not be published. Required fields are marked *