Wed. Apr 24th, 2024
โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ผ่านมุมมองการท่องเที่ยว

โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ผ่านมุมมองการท่องเที่ยว

ไม่ว่าจะเป็นที่ไหน แห่งหนตำบลใด เรามักจะมองเห็น ‘พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช’ อยู่เสมอ สิ่งที่ในหลวงรัชกาลที่ 9 ทำเพื่อพวกเรานั้นมากมายเกินกว่าจะพรรณนา เราจึงขออาสาพาคุณออกไปสัมผัสเรื่องราวของ ‘โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ’ ซึ่งกระจายอยู่ทั่วทุกภาคของไทย ผ่านมุมมองของการท่องเที่ยว เพื่อน้อมฯรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณอันหาที่สุดมิได้

เริ่มต้นกันที่จุดหมายแรกอย่างแหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตร ‘โครงการชั่งหัวมัน’ 

วังไกลกังวล หัวหิน คือ จุดกำเนิดของโครงการนี้ มีเรื่องเล่าชวนอมยิ้มว่า ชาวบ้านในพื้นที่ได้นำมันเทศมาถวายแด่พระองค์ท่านที่นี่ แล้วรับสั่งให้ข้าราชบริพารนำไปเก็บไว้ที่ ‘ตราชั่ง’ ในห้องทรงงาน กระทั่งในเดือนต่อมา เสด็จกลับมาประทับที่วังไกลกังวลอีกครั้ง ทรงพบว่ามันเทศบนตราชั่ง ได้แตกใบออกมา จึงมีพระราชดำริให้รีบจัดหาที่ดินเพื่อทำการเกษตร พร้อมพระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ ซื้อที่ดินกลางหุบเขากว่า 250 ไร่ ในเขตบ้านหนองคอไก่ อำเภอท่ายาง จังหวัดเพชรบุรี พร้อมพลิกผืนดินจากความแห้งแล้ง ให้กลับมาชุ่มชื้น เป็นศูนย์รวบรวมพืชเศรษฐกิจของเพชรบุรี

โครงการชั่งหัวมัน

นอกจากแปลงปลูกมันเทศที่ขาดไม่ได้แล้ว ยังมีแปลงปลูกข้าว สับปะรด มะพร้าว ฟาร์มเลี้ยงไก่และโค รวมไปถึงการติดตั้งกังหันลมผลิตไฟฟ้า แผงโซลาร์เซลล์พร้อมระบบจำหน่ายไฟฟ้าเพื่อใช้ภายในโครงการ และจำหน่ายให้กับการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค

สุดสัปดาห์ไหนว่างๆ พาครอบครัวมาเที่ยวตากอากาศที่หัวหินแล้ว อย่าลืมแวะเข้าไปเที่ยวโครงการชั่งหัวมันเพื่อเรียนรู้ และอุดหนุนผลิตภัณฑ์จากเกษตรกรท้องถิ่นเปิดให้เข้าชมทุกวัน ตั้งแต่ 08.00-16.00 น. ตลอดทั้งปี

โครงการต่อมาห่างจากโครงการชั่งหัวมันไม่กี่สิบกิโลเมตรเท่านั้น เรากำลังหมายถึง ‘โครงการศึกษาวิจัยและพัฒนาแหลมผักเบี้ย’ ตั้งอยู่ในตำบลแหลมผักเบี้ย อำเภอบ้านแหลม จังหวัดเพชรบุรี ภายใต้การดูแลของมูลนิธิชัยพัฒนาต้นแบบของการบำบัดน้ำเสียโดยวิธีธรรมชาติ เพราะเมื่อย้อนกลับไปปี 2533 แม่น้ำเพชรบุรีประสบปัญหาคุณภาพน้ำอย่างมาก ในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงมีพระราชดำริให้ศึกษาวิธีแก้ปัญหา พร้อมเยียวยาและปกป้องระบบนิเวศชายฝั่งทะเลอย่างยั่งยืน

โครงการศึกษาวิจัยและพัฒนาแหลมผักเบี้ย

โครงการแหลมผักเบี้ย ถือเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่ครบเครื่องเรื่องเส้นทางศึกษาธรรมชาติอย่างมาก เพราะตลอดระยะทางเดินเท้า 4 กิโลเมตร บนสะพานไม้มุ่งสู่ปากอ่าวนั้น เราจะได้สัมผัสกับป่าชายเลนอันอุดมสมบูรณ์ พร้อมเรียนรู้กระบวนการบำบัดน้ำเสียโดยกลไกธรรมชาติ จากการจัดระบบพืชกรองน้ำเสีย และระบบพื้นที่ชุ่มน้ำเทียม ซึ่งอาศัยพืชจำพวกหญ้าแฝก กกกลม และธูปฤาษี ช่วยบำบัดน้ำ

ใครชื่นชอบการดูนกบอกได้คำเดียวว่าที่นี่เหมาะกับการมาปักหลักทั้งวัน เพื่อชมนกหลากหลายสายพันธุ์ที่หาชมได้ยาก เช่น นกยาง นกกาน้ำเล็ก นกเป็ดผีเล็ก นกอีเสือสีน้ำตาล และนกกินเปรี้ยว โดยเปิดให้เข้าชมทุกวันตั้งแต่ 6.00 – 18.00 น. ตลอดปี

ขึ้นไปทางภาคเหนือตอนล่างกันบ้าง ‘โครงการพัฒนาป่าไม้ตามแนวพระราชดำริ ภูหินร่องกล้า’ ตั้งอยู่ที่บ้านร่องกล้า ตำบลเนินเพิ่ม อำเภอนครไทย จังหวัดพิษณุโลก เป็นแหล่งเรียนรู้การฟื้นฟูพัฒนาสภาพป่าไม้และเพาะชำกล้าไม้หายาก พร้อมส่งเสริมให้ประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ผ่านการจัดทำแปลงสาธิตปลูกสตรอว์เบอร์รีพันธุ์พระราชทาน และแปลงปลูกกาแฟสายพันธุ์อาราบิก้า เปิดโอกาสให้นักท่องเที่ยวเข้าชมอย่างใกล้ชิด

โครงการพัฒนาป่าไม้ตามแนวพระราชดำริ ภูหินร่องกล้า

นอกจากนี้ พื้นที่ในโครงการยังมีแนวหินผาแข็งแกร่ง ทว่างดงาม เพราะแต่งแต้มไปด้วยสีสันสดใสของทุ่งดอกกระดาษ มีจุดชมวิว 6 จุด ได้แก่ ผาไททานิค ผาพบรัก ผาบอกรัก ผาคู่รัก ผารักยืนยง และผาสลัดรัก เห็นทิวทัศน์ผืนป่าเขียวชอุ่ม เปิดให้เข้าชมได้ตลอดทั้งปี ถ้าจะให้ดีต้องมาเยือนในช่วงฤดูหนาว ราวเดือนมกราคม-กุมภาพันธ์ เพราะสามารถแวะชมต้นเมเปิ้ลเปลี่ยนสีและโรงเรียนการเมือง ก่อนจะมุ่งหน้าต่อที่แหล่งท่องเที่ยวใกล้เคียง ‘ภูลมโล’ จังหวัดเลย ชมดอกนางพญาเสือโคร่ง หรือ ซากุระเมืองไทยบานสะพรั่งทั่วทั้งหุบเขา

ขึ้นสูงไปอีกนิดที่อำเภอดอยสะเก็ด จังหวัดเชียงใหม่ เรากำลังหมายถึง ‘ศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยฮ่องไคร้ อันเนื่องมาจากพระราชดำริ’ เดิมเคยเป็นพื้นที่เสื่อมโทรมกว่า 8,500 ไร่ อยู่ในเขตรอยต่อของตำบลแม่โป่งและตำบลป่าเมี่ยง แต่มาวันนี้ได้รับการพัฒนาเรื่องดินและป่าไม้ คู่ขนานกับระบบชลประทาน ทำให้พื้นที่ห้วยฮ่องไคร้ ได้รับการขนานนามว่าเป็น ‘พิพิธภัณฑ์ธรรมชาติที่มีชีวิต’ เพราะมาที่นี่แล้ว คุณจะได้สัมผัสกับจิตวิญญาณและลมหายใจของป่าใหญ่ใน ‘สวนหกศูนย์’ ซึ่งเปิดให้นักท่องเที่ยวได้เข้ามาศึกษาธรรมชาติ ผ่านความอุดมสมบูรณ์สวยสดของป่าเบญจพรรณ และป่าเต็งรัง นอกจากนี้ ยังได้ชมวิถีการทำฟาร์มแบบคนเหนือ เช่น การทำปศุสัตว์ เลี้ยงโคนม สัตว์ปีก และสัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำ รวมถึงการสาธิตสร้างฝายไม้ไผ่แบบง่ายๆ

มาแถวภาคอีสานกันบ้าง ‘โครงการชลประทาน อ่างเก็บน้ำบึงโขงหลง’ อำเภอบึงโขงหลง จังหวัดบึงกาฬ

ย้อนไปเมื่อปี 2520 พระองค์ท่านทรงมีพระราชดำริ ให้พัฒนาโครงการนี้ขึ้น เพื่อให้เกษตรกรสามารถนำน้ำจากบึงโขงหลงแห่งนี้ ไปใช้ได้อย่างเต็มที่ สามารถทำการเกษตรได้อย่างหลากหลายและมีผลผลิตที่สูงขึ้น ส่งผลให้ชาวบ้านมีรายได้มากขึ้น ทั้งยังได้อานิสงส์จากการท่องเที่ยว เมื่อเจ้าของฉายา ‘ทะเลอีสาน’ แห่งนี้ ได้รับการโปรโมทให้เป็นแหล่งพักผ่อนหย่อนใจยอดนิยม ดึงดูดผู้คนมานั่งชมพระอาทิตย์ตกยามเย็น

โครงการชลประทาน อ่างเก็บน้ำบึงโขงหลง

ปิดท้ายกันที่ภาคใต้ กับ ‘โครงการพัฒนาพื้นที่หนองใหญ่ตามพระราชดำริ’ ตั้งอยู่ที่ตำบลบางลึก อำเภอเมือง จังหวัดชุมพร เป็นโครงการที่ถือกำเนิดขึ้นเพื่อแก้ปัญหาน้ำท่วมใหญ่อย่างที่ชุมพรเคยประสบมาตลอด หลายต่อหลายคนนิยมเรียกพื้นที่แห่งนี้ว่า ‘แก้มลิงหนองใหญ่’ เนื่องจากที่มาของชื่อนี้ พระองค์ท่านโปรดให้สร้างเส้นทางเดินน้ำ เพื่อพักน้ำไว้ในแก้มลิง โดยชาวบ้านในชุมพรได้จับมือกันสานต่อแนวพระราชดำริเรื่อง ‘เศรษฐกิจพอเพียง’ ด้วยการสร้างศูนย์ความรู้โครงการหนองใหญ่ เพื่อเป็นแนวทางของการใช้ชีวิตแบบเรียบง่ายและพอเพียง สามารถเข้าชมได้ทุกวันตั้งแต่ 8.00 – 17.00 น.

ทั้งหมดนี้เป็นโครงการในพระราชดำริเพียงบางส่วนเท่านั้น ที่อยากให้คุณไปสัมผัส เรียนรู้ และนำไปปรับใช้กับชีวิต เพื่อระลึกถึงพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ในฐานะ ‘พ่อของแผ่นดิน’ ผู้พร้อมทำทุกอย่างเพื่อลูกๆ และยังสถิตในดวงใจเราทุกๆ ที่

Leave a Reply

Or

Your email address will not be published. Required fields are marked *