Sat. Apr 20th, 2024
วิถีอาหารไทยบนถนนสายนวัตกรรม

วิถีอาหารไทยบนถนนสายนวัตกรรม

หากยังจำกันได้ ซีรีส์เกาหลีเรื่อง ‘แดจังกึม จอมนางแห่งวังหลวง’ ซึ่งถูกซื้อลิขสิทธิ์นำมาออกอากาศในไทยเมื่อราว 12 ปีก่อน และถูกยกให้เป็นกรณีศึกษาระดับตำนานของการโปรโมทท่องเที่ยว โดยใช้เครื่องมือสำคัญอย่าง ‘ละคร’ ผลักดันให้อาหารเกาหลีเป็นที่รู้จักไปทั่วโลก

จริงๆ ‘อาหารไทย’ ของเราก็ขึ้นชื่อเรื่องความอร่อยระดับโลกมานานแล้ว แต่สิ่งที่เราทำได้แค่มองตาปริบๆ ในตอนนั้นคือ ‘นวัตกรรมการโปรโมท’ ของเกาหลีต่างหาก ที่ใช้สื่อบันเทิงเรือธง ช่วยพลิกโฉมจากประเทศที่เคยไปเยือนแล้วรู้สึกว่าช่างจืดชืดและ ‘ไม่มีอะไร’ จนกลายเป็นประเทศที่ ‘มีอะไร’ ชวนให้รู้สึกตื่นตาตื่นใจขึ้นมาภายในระยะเวลาเพียงทศวรรษเดียว

พร้อมรับบทเป็นขบวนแนะนำธุรกิจอีกหลากหลายอุตสาหกรรม เช่น อิเล็กทรอนิกส์ อุปโภคบริโภค เครื่องสำอาง และการแพทย์ให้เป็นที่รู้จักแก่ผู้บริโภค ตีตลาดจีน ฮ่องกง ไต้หวัน และญี่ปุ่นที่นำทัพสร้างความนิยมในประเทศไทยมาก่อนหน้านี้ เรียกได้ว่า นาทีนี้… ใครเห็นเป็นต้องอิจฉากันทั้งนั้น รวมถึงไทย หนึ่งในผู้เสพวัฒนธรรม K-POP

เราได้แต่พูดกันมานานว่าอยากเห็นไทยทำได้แบบเกาหลีบ้าง เพราะไทยเองก็มีศักยภาพการเป็น ‘ครัวโลก’ ได้ไม่ยาก ทว่า ‘ภาพใหญ่’ (Big Picture) ของการโปรโมทอาหารไทยให้เป็นที่ ‘ป๊อปปูลาร์’ มากขึ้นนั้น กลับยังไม่เห็นผลลัพธ์ชัดเจนนัก จนส่งแรงกระเพื่อมลูกใหญ่ต่ออุตสาหกรรมท่องเที่ยว

ครั้นจะบอกว่าอาหารไทยนั้น ขายด้วยตัวของมันเองแล้ว ก็ดูเป็นการผลักภาระแก่อาหารไทยให้อาศัยกินบุญเก่าอย่างเดียว จึงสมควรแก่เวลาแล้วที่ประเทศไทยต้องเฟ้นหานวัตกรรมการโปรโมทอาหาร ด้วยการตลาดและเทคโนโลยีสมัยใหม่ ในภาวะที่สื่อบันเทิงบ้านเรายังไม่มีภาพยนตร์หรือละครที่พอจะยกเป็นหัวหอกหลักในการโปรโมท เหมือนอย่างแดจังกึมของเกาหลี

หากยังจำกันได้ เมื่อต้นปี 2559 มีภาพยนตร์โฆษณาที่มุ่งสร้างกระแสไวรัลในโลกออนไลน์ ของการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) มุ่งนำเสนอเรื่องราวของ ‘ผัดไท’ (PAD THAI) ตามกลยุทธ์ ‘Story Telling’ ซึ่งเป็นกลยุทธ์ที่นักการตลาดทุกค่ายทุกสังกัดกำลังเห่อ ณ ขณะนั้น

ผู้เขียนจำได้ว่า คลิปวิดีโอดังกล่าวได้รับเสียงชื่นชมอย่างมาก โดยเฉพาะสไตล์การเล่าเรื่องของอาหารจานเดียวขึ้นชื่อของไทย ที่อาสาเป็นไกด์พาผู้ชมไปรู้จักสถานที่ท่องเที่ยว ประเพณี วัฒนธรรม และวิถีชีวิตที่น่าสนใจของประเทศไทย ผ่านเรื่องราวของวัตถุดิบแต่ละชนิด เช่น เส้นจันท์ น้ำผัดไท กุ้งแห้ง และเต้าหู้ อาศัยจุดขายความเป็นเมนูที่หาทานได้ง่ายมากๆ ตั้งแต่ข้างถนนยันภัตตาคารระดับหรูหรา

ท่องเทียว อาหาร

ผู้เขียนเชื่อเหลือเกินว่า หากหยิบจับเมนูขึ้นชื่ออื่นๆ ของไทย มา ‘เล่าเรื่อง’ ให้น่าสนใจ รุกสร้างกระแสในโลกออนไลน์เพิ่ม น่าจะช่วยกระตุ้นต่อมอยากอาหารและอยากเที่ยวได้ไม่ยาก โดยอาจพ่วงการโปรโมทแพ็กเกจคอร์สทำอาหารเป็นเมนูๆ ไป ใช้เวลาเรียนหรือเข้าร่วมกิจกรรมเพียงแค่วันเดียว ก็น่าจะสร้างสัมพันธ์ระหว่างนักท่องเที่ยวกับอาหารไทยให้ใกล้ชิดกันมากขึ้น โดยในช่วงหลายปีที่ผ่านมา หลายๆ โรงแรมต่างผุดคอร์สสอนทำอาหารไทยแก่นักท่องเที่ยว เพื่อสร้างสีสันของรูปแบบกิจกรรม และยังช่วยเพิ่มการใช้จ่ายภายในโรงแรมให้มากขึ้น

แต่จุดที่ผู้เขียนมองว่าเป็นความเคลื่อนไหวที่น่าสนใจ คือ การถือกำเนิดขึ้นของผู้ประกอบการธุรกิจแบบ ‘สตาร์ทอัพ’ ของไทยที่ให้ความสำคัญ เข้ามาเป็นตัวกลาง จับตลาดท่องเที่ยวเชิงอาหารมากขึ้น เช่น www.cookly.me แพลตฟอร์มสำหรับจองกิจกรรมการทำอาหารและการท่องเที่ยว โดยปัจจุบันมีคอร์สสอนทำอาหาร เข้าถึงระดับคนในท้องถิ่น กระจายทั่ว 24 จุดหมายในเอเชีย ทั้งในไทย ญี่ปุ่น อินโดนีเซีย เวียดนาม กัมพูชา สิงคโปร์ และมาเลเซีย

นอกจากนี้ ยังมี นวทรรศน์ ฮอสพิทาลิตี้ เจ้าของบริการ ‘ฟู้ด ทัวร์’ และ ‘สไมลิ่ง ตุ๊ก ตุ๊ก’ ใช้แพลตฟอร์มช่องทางออนไลน์ นำเสนอขายโปรแกรมทัวร์กินเที่ยวแบบคนท้องถิ่น ถือเป็นการหยิบจับโปรดักส์ในท้องถิ่นบ้านเรา มามิกซ์แอนด์แมทช์ได้อย่างลงตัว สร้างจุดขายใหม่ๆ นำเสนอแก่นักท่องเที่ยว

คุณกอบกาญจน์ วัฒนวรางกูร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา เล่าว่า จากสถิติขององค์การการท่องเที่ยวโลกแห่งสหประชาชาติ (UNWTO) เมื่อปี 2558 พบว่าการท่องเที่ยวเชิงอาหาร (Gastronomy Tourism) สร้างรายได้รวมกว่า 5.1 ล้านล้านบาท โดยประเทศที่มีนักท่องเที่ยวเชิงอาหารมากที่สุด 4 อันดับแรก คือ สเปน ฝรั่งเศส อิตาลี และอังกฤษ

โดยกิจกรรมที่ได้รับความนิยม คือ การเรียนทำอาหาร การซื้อรายการท่องเที่ยวด้านอาหาร การเยี่ยมชมไร่องุ่น และชิมไวน์ ซึ่งกระทรวงการท่องเที่ยวฯ เตรียมนำกิจกรรมเหล่านี้ มาปรับใช้กับการทำตลาดท่องเที่ยวเชิงอาหารในไทย มุ่งเน้นให้นักท่องเที่ยวได้รู้จักร้านอาหารรสชาติต้นตำรับของจริง โดยเฉพาะร้านอาหารขนาดเล็กในท้องถิ่น สอดรับกับนโยบายกระจายรายได้สู่ท้องถิ่นของรัฐบาล พร้อมเชื่อมโยงการทำตลาดกับโรงเรียนสอนทำอาหารไทย ซึ่งมีจำนวนเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะในเมืองท่องเที่ยวสำคัญๆ อย่าง กรุงเทพฯ เชียงใหม่ และภูเก็ต ตอบโจทย์ความต้องการนักท่องเที่ยวชื่นชอบอาหารไทย จนถึงขั้นอยากเรียนรู้วิธีการทำ เพื่อนำไปทำเองเมื่อเดินทางกลับถึงประเทศ

หลังจากปี 2558 ไทยมีรายได้จากการท่องเที่ยวเชิงอาหารสูงมาก ทำรายได้เข้าประเทศถึง 4.56 แสนล้านบาท คิดเป็น 20% ของรายได้จากการท่องเที่ยวทั้งหมด และตั้งเป้าว่าจะเห็นรายได้เกิน 5 แสนล้านบาท ในสิ้นปี 2559 หรือเพิ่มขึ้นประมาณ 10%

ด้านพลเอก ธนะศักดิ์ ปฏิมาประกร รองนายกรัฐมนตรี กล่าวไว้เมื่อช่วงต้นปี 2560 ว่า ททท.มีแผนเซ็นสัญญาความร่วมมือกับ ‘มิชลิน ไกด์’ ซึ่งเป็นคู่มือแนะนำโรงแรมและร้านอาหารระดับโลก ให้เข้ามาสำรวจและจัดทำคู่มือแนะนำร้านอาหารที่ได้รับมาตรฐานของมิชลิน ได้แก่ มิชลิน ไกด์บุ๊ค แบ็งค็อก พร้อมให้ดาวมิชลินแก่ร้านอาหารในไทยด้วย

ตามกลยุทธ์การผลักดันค่าใช้จ่ายด้านอาหารของนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางมาไทย ตั้งเป้ากระตุ้นยอดใช้จ่ายต่อคน เพิ่มขึ้นไม่ต่ำกว่า 10% เนื่องจากตามปกติแล้ว นักท่องเที่ยวต่างชาติมีพฤติกรรมใช้จ่ายด้านอาหารอยู่ที่ประมาณ 60% ของการใช้จ่ายทั้งหมด และด้วยชื่อเสียงของมิชลินที่ยาวนานนับร้อยปี เป็นสิ่งรับประกันว่ามีผู้พร้อมตามรอยร้านอาหารที่ได้รับมาตรฐานมิชลินจำนวนมาก จะช่วยหนุนให้ไทยได้กลุ่มนักท่องเที่ยวคุณภาพตามนโยบายของรัฐบาล

สำหรับงบประมาณที่คาดว่าจะใช้รวมทั้งสิ้น 4.1 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือราว 145 ล้านบาท โดยแบ่งเป็นปีแรก 9 แสนเหรียญสหรัฐ หรือราว 31.7 ล้านบาท และในอีก 4 ปีต่อมา ใช้ปีละ 8 แสนเหรียญสหรัฐ หรือราว 28.2 ล้านบาท ซึ่ง ททท.จะเป็นหน่วยงานเที่เข้าไปเซ็นสัญญากับมิชลินในฝรั่งเศส โดยที่ประชุมคณะรัฐมนตรีจะอนุมัติให้บรรจุเป็นงบประมาณผูกพันกับแผนงบประมาณประจำปีของ ททท.ในระยะเวลาดำเนินการ 5 ปี เริ่มตั้งแต่ปี 2560 เป็นต้นไป

“เมื่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเห็นชอบ และให้การรับรองโครงการนี้ จะหนุนให้ไทยเป็นประเทศที่ 2 ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ต่อจากสิงคโปร์ ที่ได้เข้าร่วมกับมิชลิน ไกด์ บุ๊ค นอกจากนี้ ยังหวังเห็นผลลัพธ์ ร้านอาหารไทยเร่งปรับปรงคุณภาพและมาตรฐานบริการต่างๆ เนื่องจากกระบวนการทำงานของมิชลินนั้น จะเข้ามาสุ่มตรวจร้านอาหารต่างๆ ด้วยตัวเอง”

และคาดว่าภายในระยะเวลา 5 ปีของโครงการ จะทำให้มีร้านอาหารต่างๆ ในไทยทั้งขนาดเล็ก กลาง และใหญ่ ได้รับการบรรจุรายชื่อลงไปในไกด์บุ๊คของมิชลิน พร้อมรักษาคุณภาพและมาตรฐาน เพื่อมัดใจนักท่องเที่ยวในระยะยาว

Leave a Reply

Or

Your email address will not be published. Required fields are marked *