Tue. Mar 19th, 2024
ยกระดับอุตสาหกรรมไมซ์ ขับเคลื่อนธุรกิจสู่ความสำเร็จระดับโลก

ยกระดับอุตสาหกรรมไมซ์ ขับเคลื่อนธุรกิจสู่ความสำเร็จระดับโลก

อุตสาหกรรมไมซ์เป็นธุรกิจที่มีความสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ โดยแต่ละปีธุรกิจไมซ์มีอัตราการเติบโตคิดเป็นร้อยละ 5-10 โดยในปีงบประมาณ พ.ศ. 2558 ประเทศไทยให้การต้อนรับนักเดินทางกลุ่มไมซ์คิดเป็นจำนวน 1,086,229 คน เติบโตจากปีงบประมาณ พ.ศ.2557 ร้อยละ 18.8 ด้านรายได้เติบโตถึงร้อยละ 17.53 คิดเป็นจำนวนรายได้ที่เข้าสู่ประเทศ 94,966 ล้านบาท นับเป็นการพิสูจน์ให้เห็นถึงศักยภาพการเติบโตของธุรกิจไมซ์ไทย ที่ทางรัฐบาลให้การสนับสนุนอย่างเต็มที่ทั้งด้านการพัฒนาระบบการคมนาคมขนส่ง โครงสร้างพื้นฐานที่เอื้อประโยชน์ให้แก่นักเดินทางกลุ่มไมซ์ที่มายังประเทศไทย รวมทั้งการทำงานอย่างบูรณาการระหว่าง สสปน. (TCEB) และหน่วยงานภาครัฐและเอกชนในและต่างประเทศ ส่งผลให้การดำเนินงานเป็นไปดั่งเป้าหมายที่กำหนดไว้ในโอกาสนี้ ทาง Thailand Convention & Exhibition Directory ได้รับเกียรติจาก คุณนพรัตน์ เมธาวีกุลชัย ผู้อำนวยการ สำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) TCEB มาร่วมพูดคุยถึงทิศทางการเติบโตของอุตสาหกรรมไมซ์ และกลยุทธ์สำคัญที่จะนำมาพัฒนายกระดับไมซ์ประเทศไทยให้ก้าวไปสู่ความสำเร็จระดับโลก

ทิศทางและโอกาสของธุรกิจ MICE ในประเทศไทย

คุณนพรัตน์ กล่าวว่าไมซ์มีกิจกรรมสองรูปแบบ คือรูปแบบของการประชุมและการจัดแสดงสินค้า ซึ่งทั้งสองรูปแบบอาจมีปัจจัยที่แตกต่างและคล้ายคลึงกันบ้าง ขึ้นอยู่กับว่าจะกล่าวถึงในด้านไหน ถ้าโดยภาพรวม การประชุมจะเกิดขึ้นได้เนื่องจากความมั่นใจ ว่าที่ไหนมีอะไรดี ไปแล้วจะเกิดประโยชน์กลับมา แต่ถ้าพูดถึงการแสดงสินค้า จะคำนึงถึงสถานที่ที่มีการซื้อขายง่าย น่าลงทุน สำหรับประเทศไทยนั้น มองว่าเรามีทั้ง 2 บทบาทอยู่ในตัว ด้วยขนาดของประชากรมากพอสมควร ทำให้เราสามารถเป็นได้ทั้งผู้ผลิตและผู้ซื้อ จึงทำให้ประเทศไทย เป็นจุดศูนย์กลางของการแสดงสินค้าบางประเภท และด้วยความมั่นใจของประเทศไทย ที่เป็นประเทศที่สงบมานาน เราถือเป็นจุดศูนย์กลางที่สำคัญ

การส่งเสริมภาพรวมเศรษฐกิจไทยในปีงบประมาณ พ.ศ. 2559 นั้น เชื่อมั่นว่าธุรกิจไมซ์จะเป็นหนึ่งในภาคธุรกิจที่มีส่วนสนับสนุนให้สถานการณ์เศรษฐกิจของประเทศมีการขยายตัวตามลำดับ และสนับสนุนในด้านการสร้างความเชื่อมั่นทั้งในและต่างประเทศเพิ่มมากขึ้น โดยในปีงบประมาณ พ.ศ. 2559 คาดการณ์ว่าประเทศไทยจะมีโอกาสต้อนรับนักเดินทางกลุ่มไมซ์และสร้างรายได้เพิ่มขึ้นร้อยละ 5 คิดเป็นจำนวนนักเดินทางกลุ่มไมซ์ 1,060,000 คน สร้างรายได้ 92,000 ล้านบาท

“หากสถานการณ์ของไทยยังคงสงบแบบนี้ ผมว่าอุตสาหกรรมไมซ์ก็คงจะดีขึ้นเรื่อยๆ เพราะบ้านเรา มีชื่อเสียง มีความน่าเชื่อถือ มีผู้บริโภคสินค้า มีผู้ผลิต เป็นองค์ประกอบที่ทำให้อุตสาหกรรมไมซ์เติบโตได้มากขึ้น”

ขับเคลื่อนไมซ์ด้วยแนวคิดที่ว่า ‘ที่ไหนมีการแสดงสินค้า แสดงว่าที่นั่นมีผู้บริโภค-ผู้ผลิต’

TCEB ได้มีการพัฒนาต่อยอดกลยุทธ์สื่อสารการตลาดอย่างต่อเนื่อง โดยในปี 2559 ก็ยังคงพัฒนายกระดับแคมเปญสื่อสารประเทศไทย ผ่านแคมเปญ ‘Thailand CONNECT Our Heart, Your World’ หรือ ‘ศูนย์กลางอุตสาหกรรมไมซ์ ขับเคลื่อนธุรกิจสู่ความสำเร็จระดับโลก’ โดยประเทศไทยเป็นจุดหมายปลายทางที่เป็นเอกลักษณ์ เพราะเป็นศูนย์กลางในการจัดกิจกรรมเชิงธุรกิจของภูมิภาคอาเซียน และเป็นศูนย์กลางธุรกิจของตลาดเกิดใหม่ในภูมิภาคอาเซียน และตลาดระดับโลก รวมทั้งเป็นศูนย์กลางของความเจริญที่มีบุคลากรมืออาชีพซึ่งมีใจมุ่งมั่นพร้อมให้บริการในทุกรูปแบบ

คุณนพรัตน์ยังกล่าวถึงการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมไมซ์ไว้อีกว่า ยุทธศาสตร์การขับเคลื่อนไมซ์ ที่สำคัญก็คือเรื่องของเศรษฐกิจ การแสดงสินค้า การจัดอีเวนท์ ถ้ามีการแสดงสินค้าเกิดขึ้นในประเทศ ก็เป็นการชี้ให้เห็นว่าประเทศไทยมีการบริโภค มีกำลังซื้อสูง หรืออาจหมายถึง ประเทศไทยเป็นแหล่งผลิต จึงมีการรวบรวมสิ่งที่ผลิตออกมาในรูปแบบการแสดงสินค้า แล้วก็เชิญผู้บริโภคจากต่างประเทศเข้ามา ฉะนั้นจุดเด่นของไมซ์ ที่เป็นตัวกระตุ้นเศรษฐกิจ ก็คือเรื่องของการแสดงสินค้า แต่ถ้าในแง่ของการประชุม เรื่องของการประชุมทางวิชาการ เรามีความโดดเด่นในเรื่องของนวัตกรรม ซึ่งสามารถถ่ายทอดเทคโนโลยีให้กับประเทศไทยได้ เช่น การประชุมการแพทย์ในประเทศไทย แพทย์ไทยก็มีโอกาสเข้าร่วมสัมมนาในราคาที่ไม่สูง ไม่ต้องเดินทางไปต่างประเทศ บางทีในหัวข้อเดียวกัน เราต้องเดินทางไปต่างประเทศบ่อยครั้ง ถ้าเป็นอุตสาหกรรมการประชุมที่เป็นองค์กร หรืออุตสากรรมการเดินทางเพื่อเป็นรางวัล ก็ขึ้นอยู่กับว่าถ้าเขามาแล้ว ทำให้เกิดการกระตุ้นเศรษฐกิจท้องถิ่นหรือไม่

“ผมคิดว่าทั้ง 4 อุตสาหกรรม มีความสำคัญเหมือนกัน ขึ้นอยู่กับว่าในช่วงนั้นประเทศไทยต้องการอะไรมากกว่ากัน แต่ในปัจจุบัน ผมคิดว่าการแสดงสินค้า ทำให้เกิดการบริโภคกับการผลิต บางครั้งการแสดงสินค้าก็มาพร้อมกับการประชุม คือ ในการแสดงสินค้าก็มีการพูดถึงการประชุมว่า สินค้านี้เป็นอย่างไร จะพัฒนาอย่างไร ก็เลยมีเรื่องของการประชุมผสมกันบ้าง ถ้าเรามีการแสดงสินค้าเป็นหลัก แล้วสร้างในเรื่องของการบริโภค การผลิตได้ ก็ช่วยในเรื่องของเศรษฐกิจได้ ในทำนองเดียวกัน คือประเทศไหนเศรษฐกิจดี ประเทศนั้นก็มีเรื่องของการแสดงสินค้ามากด้วย”คุณนพรัตน์กล่าว

ทั้งหมดนี้ เป็นพื้นฐานสำคัญของประเทศไทย และเป็นที่มาของการสื่อสารแบรนด์ THAILAND CONNECT โดยมีวัตถุประสงค์ คือ เพื่อตอกย้ำเอกลักษณ์ของประเทศไทยที่ตอบโจทย์การจัดกิจกรรมเชิงธุรกิจในระดับโลก ด้วยความพร้อมของงานบริการด้านต่างๆ ที่สร้างโอกาสมากมายให้กับนักเดินทางกลุ่มไมซ์

มองคู่แข่งเป็นพันธมิตร เพิ่มโอกาสทางธุรกิจไมซ์

คุณนพรัตน์กล่าวถึงโอกาสของการธุรกิจไมซ์ใน AC ว่า จุดเด่นที่เรามีพื้นที่ติดต่อกับประเทศเพื่อนบ้าน ทำให้เป็นการเปิดโอกาสให้กับประเทศเพื่อนบ้านเดินทางเข้ามาประเทศไทยได้ง่ายขึ้น การเปิดเสรีอาเซียนเป็นการเพิ่มโอกาส จากที่เราเคยมีผู้บริโภคในประเทศ 60 กว่าล้านคน แต่ถ้าเราทำให้ประเทศเพื่อนบ้านเข้ามาดูการแสดงสินค้าในบ้านเรา ผู้บริโภคก็อาจจะเพิ่มเป็น 200 ล้านคนได้ นี่คือประโยชน์ของการเปิดเสรีอาเซียน คือมีแหล่งผู้บริโภคมากขึ้น ตลาดใหญ่ขึ้น มีสิ่งน่าสนใจมากขึ้น ซึ่งมีผลให้อุตสาหกรรมไมซ์ เติบโตได้มากกว่าเดิม

“ณ จุดนี้ ไมซ์ในประเทศไทย ถือว่าประสบความสำเร็จในระดับหนึ่ง แต่ถ้าให้มองในจุดที่ท้าทายในอนาคต อย่างในเรื่องการท่องเที่ยว เราอาจมองว่า การที่คนเข้ามาให้ความสนใจมากๆ คือเรื่องที่ดี แต่ถ้าคิดอีกแง่มุมหนึ่ง เมื่อคนเข้ามาเยอะก็มีแง่มุมของการใช้ทรัพยากรเช่นกัน ฉะนั้นเราต้องมองในจุดที่สมดุล ว่าจุดไหนคือจำนวนคนที่เราต้องการ ที่ทำให้มีรายได้พอสมควร คือทำให้ตัวเลขเหมาะสม มีรายได้มากขึ้น สิ่งแวดล้อมไม่ถูกทำลาย ทำอย่างให้อยู่ในจุดที่สมดุลได้ นั่นคือความท้าทายของอุตสาหกรรมไมซ์ มากกว่าแค่การแข่งขันกัน” คุณนพรัตน์กล่าว

ชูโครงการ ASEAN MICE Education Hub เตรียมพร้อมบุคลากรต้อนรับการเติบโต

คุณนพรัตน์ กล่าวถึงการเตรียมความพร้อมด้านบุคลากรว่าเรามีเรื่องของการพัฒนาบุคลากรด้านไมซ์ ซึ่งถ้าจะว่าไปแล้ว บุคลากรทางด้านไมซ์ก็มีความแตกต่างจากบุคลากรด้านการบริหารจัดการไม่มากนัก ถ้าเรามีบุคลากรที่รู้ในเรื่องของการท่องเที่ยวดี การจัดการดี แล้วเราก็ให้ความรู้เรื่องไมซ์เข้าไปเพื่อเป็นการต่อยอด

“เรื่องการพัฒนาบุคลากร เราก็เริ่มทำจริงจังเมื่อ 3-4 ปีมานี้ ก็คือการขยายความร่วมมือยังอาชีวศึกษาทั่วประเทศ 30 สถาบัน ในการนำหลักสูตรไมซ์มาตรฐานสากล หรือ MICE 101 เพื่อนำไปเป็นสื่อการเรียนการสอน และให้อาจารย์เข้ามาศึกษาเรียนรู้ความรู้เบื้องต้นของอุตสาหกรรมไมซ์ ผ่านโครงการ Coach the Coaches Program สำหรับระดับอุดมศึกษาก็มีการลงนามความร่วมมืออย่างต่อเนื่อง

ปัจจุบันมี 57 มหาวิทยาลัย รวมทั้งส่วนอาชีวศึกษาแล้วรวมทั้งสิ้น 87 สถาบัน สำหรับการสร้างเครือข่ายทั้งในและต่างประเทศนั้น TCEB ได้สร้าง Platform MICE Academic Cluster เพื่อเป็นศูนย์การในการแลกเปลี่ยนข่าวสาร องค์ความรู้ไมซ์ และได้เชื่อมโยงเครือข่ายในต่างประเทศเพิ่มขึ้นไปยังประเทศสหรัฐอเมริกา และเยอรมนี ซึ่งมีจำนวนมหาวิทยาลัย หน่วยงานต่างในต่างประเทศที่เป็นเครือข่ายพันธมิตรมากยิ่งขึ้น ซึ่งปัจจุบันหน่วยงานพันธมิตรด้านการศึกษาไมซ์จากต่างประเทศรวมทั้งสิ้น 7 ประเทศ อาทิ ออสเตรเลีย สาธารณรัฐประชาชนจีน ญี่ปุ่น เกาหลี เยอรมนี ไต้หวัน และประเทศสาธารณรัฐอเมริกา รวม 47 องค์กร”

การทำงานด้านศักยภาพบุคลากรไมซ์ปี 2560 เรายังคงมุ่งเน้นพัฒนาด้านการศึกษาเพื่อจัดวางให้ประเทศไทยเป็นศูนย์การศึกษาด้านไมซ์แห่งอาเซียน (ASEAN MICE Education Hub) และสร้างผู้นำไมซ์รุ่นใหม่สู่สายอุตสาหกรรมไมซ์อย่างมืออาชีพ ผ่าน 3 การพัฒนาหลัก 1.การพัฒนาเนื้อหาหลักสูตรไมซ์มาตรฐานสากล และเนื้อหาหลักสูตรในเชิงลึก ร่วมกับมหาวิทยาลัยพันธมิตร พร้อมกับสนับสนุนทุนวิจัยทางด้านไมซ์ เพื่อประโยชน์ในการพัฒนาอุตสาหกรรมไมซ์ต่อไปในอนาคต 2. การพัฒนาเครือข่ายเชื่อมโยงการศึกษาในประเทศและต่างประเทศ ทั้งในการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้จากต่างประเทศ และการพัฒนาศูนย์องค์ความรู้ ในระดับภูมิภาค และ 3 การพัฒนาบุคคลากรไมซ์สู่สายอาชีพ ผ่านโครงการเชื่อมโยงบัณฑิตสู่สายอาชีพไมซ์

“จากความร่วมมือที่เราได้ดำเนินการกันมาแล้วคาดว่ามหาวิทยาลัยต่างๆ สามารถผลิตบุคลากรด้านไมซ์ได้ปีละ 4,000-5,000 คนซึ่งเราเชื่อว่าเราสามารถสร้างบุคลากร ที่เกี่ยวเนื่องกับไมซ์ได้อย่างต่อเนื่อง และมีความรู้ความสามารถเพียงพอในการรองรับนักเดินทางไมซ์ ทังในและต่างประเทศ” คุณนพรัตน์กล่าวทิ้งท้าย

Leave a Reply

Or

Your email address will not be published. Required fields are marked *