Fri. Apr 19th, 2024
เพิ่มอรรถรสการพรีเซนต์งานด้วยวิดีโอ

เพิ่มอรรถรสการพรีเซนต์งานด้วยวิดีโอ

การพรีเซนต์งานด้วยซอฟต์แวร์พรีเซนเทชั่น (Presentation Software) ผ่านเครื่องโปรเจกเตอร์ถือเป็นวิธีการนำเสนอข้อมูลแบบปกติของคนทำงานในยุคปัจจุบัน แต่เมื่อมองย้อนกลับไปยังยุคก่อนหน้านี้ก็อาจเป็นเรื่องค่อนข้างยากลำบากอยู่พอสมควรหากใครสักคนต้องการนำเสนอข้อมูลไปยังกลุ่มคนหมู่มากอย่างมีประสิทธิภาพตามที่ตนต้องการ ส่วนใหญ่ก็มักจะทำในรูปแบบการประชุมกลุ่มย่อย การประชุมกลุ่มใหญ่ หรืออาจเป็นการสัมมนาที่มีผู้รับฟังจำนวนมาก โดยทราบกันดีว่าโสตทัศนูปกรณ์ประเภทเครื่องฉาย เช่น แผ่นโปร่งใส ฟิล์มสไลด์ ในสมัยนั้นส่วนใหญ่จะยังไม่สามารถใช้งานในลักษณะของภาพเคลื่อนไหวได้ หรือหากต้องการนำเสนอข้อมูลในลักษณะของภาพเคลื่อนไหวจริงๆ ผู้นำเสนอข้อมูลก็อาจต้องนำเสนอข้อมูลภาพเคลื่อนไหวจากฟิล์มภาพยนตร์ เทปวิดีทัศน์ ซึ่งมีความยุ่งยากอยู่พอสมควร เพราะนอกจากจะต้องตระเตรียมอุปกรณ์สำหรับฉายฟิล์มภาพยนตร์หรือเทปวิดีทัศน์ดังกล่าวแล้ว ยังไม่สะดวกและขาดความคล่องตัวในการใช้งาน รวมทั้งกระบวนการนำเสนอข้อมูลในลักษณะดังกล่าวมักจะมีต้นทุนที่สูงตามไปด้วย

เมื่อเข้าสู่ยุคคอมพิวเตอร์ รูปแบบของการพรีเซนต์งานก็มีความสะดวกสบายมากยิ่งขึ้นด้วยการใช้งานซอฟต์แวร์พรีเซนเทชั่น ผู้นำเสนอข้อมูลเพียงมองหารูปแบบ (Theme Design) ของสไลด์ที่ตนต้องการ โดยรูปแบบดังกล่าวก็มีเตรียมไว้ให้ในซอฟต์แวร์พรีเซนเทชั่นทั่วไป ไม่ว่าจะเป็น Microsoft PowerPoint, Impress Presentation หรือ Google Slide เมื่อเลือกรูปแบบได้แล้วก็เพียงทำการจัดวางตัวอักษรให้เหมาะสม รวมทั้งใส่รูปภาพประกอบเนื้อหาเพิ่มเติมได้ก็น่าจะเพียงพอกับการนำเสนอ ส่วนที่เหลือต่อจากนั้นก็ควรจะมุ่งเน้นไปที่วาทศิลป์ของผู้นำเสนอข้อมูลซึ่งจะเป็นตัวชี้วัดว่าสิ่งที่ได้เตรียมมาตั้งแต่ตอนต้นจะสูญเปล่าหรือไม่

เชื่อว่านักพรีเซนต์ทั้งมือเก่าและมือใหม่หลายท่านแม้จะเคยผ่านการนำเสนอข้อมูลในที่สาธารณะมามาก ความผิดพลาดระหว่างการนำเสนอข้อมูลก็ยังสามารถเกิดขึ้นได้ ในบางครั้งข้อมูลสำคัญๆ ที่เตรียมมาก็อาจถูกลืมไปไม่ได้กล่าวถึง แม้จะมีตัวอักษรและรูปภาพนำทางบนสไลด์ก็ยัง ไม่สามารถทำให้ผู้พรีเซนต์เก็บรายละเอียดได้หมด ผู้พรีเซนต์บางท่านถึงขนาดประหม่าไปเลยก็ยังมี อย่างไรก็ตาม เราสามารถป้องกันความผิดพลาดต่างๆ เหล่านี้และช่วยแบ่งเบาภาระการจดจำได้ด้วยการนำวิดีโอเข้ามาใช้ประกอบในเนื้อหาที่เราต้องการพรีเซนต์นั่นเอง

การสร้างวีดีโอ

โดยทั่วไปวิดีโอที่นำมาใช้ประกอบการพรีเซนต์นั้นจะมีความยาวไม่มากนัก โดยจะมีความยาวตั้งแต่ 1-3 นาทีเท่านั้น แน่นอนว่าวิดีโอที่นำมาใช้ ต้องมีข้อมูลที่ต้องการนำเสนอครบถ้วน ช่วงเวลาของการนำเสนอวิดีโออาจเป็นช่วงก่อนการพรีเซนต์หรือเป็นการเปิดตัวเข้าสู่การพรีเซนต์ (Introduction) ผู้พรีเซนต์บางท่านอาจนำวิดีโอมาสอดแทรกระหว่างการพรีเซนต์ หรืออาจใช้วิดีโอปิดท้ายการพรีเซนต์เพื่อสร้างความประทับใจให้กับผู้รับฟัง ซึ่งก็ไม่ถือว่าผิดกติกาแต่อย่างใด

สำหรับการสร้างวิดีโอ (Video Production) เพื่อการพรีเซนต์นั้น โดยทั่วไปมี 2 ลักษณะ แบบแรกเป็นการถ่ายทำด้วยกล้องถ่ายวิดีโอแล้วนำมาผ่านกระบวนการตัดต่อโดยผู้เชี่ยวชาญ การสร้างวิดีโอลักษณะนี้มีรายละเอียดในการจัดทำอยู่พอสมควร ไม่ว่าจะเป็นระยะเวลาการจัดทำ อุปกรณ์ที่ใช้ บุคลากรที่มีความรู้ความสามารถด้านนี้ และที่สำคัญก็คือมักมีค่าใช้จ่ายที่ค่อนข้างสูงต่อการจัดทำวิดีโอในแต่ละครั้ง ซึ่งก็ไม่แน่ว่าวิดีโอที่จัดทำออกมาจะสามารถใช้พรีเซนต์ได้กี่ครั้งหรือจะคุ้มค่าต่อเม็ดเงินที่ได้จ่ายไปหรือไม่ ต่างจากการสร้างวิดีโอในแบบที่สองคือการสร้างวิดีโอจากซอฟต์แวร์สำเร็จรูป

การพรีเซนต์งานด้วยวิดีโอ

ปัจจุบันมีซอฟต์แวร์ที่สามารถนำมาใช้ทำวิดีโออยู่มากมายทั้งแบบที่ติดตั้งใช้งานในคอมพิวเตอร์ (Desktop Application) และแบบที่ใช้งานเว็บแอปพลิเคชันผ่านโปรแกรมเว็บเบราว์เซอร์ (Web-based Application) ซึ่งอย่างหลังนั้นกำลังได้รับความนิยมจากผู้ใช้งานมากขึ้นเรื่อยๆ เนื่องจากมีค่าใช้จ่ายไม่สูงนักเพราะเป็นการเช่าใช้งานตามช่วงระยะเวลา อีกทั้งแอปพลิเคชันยังมีเครื่องมือ (Tools) ที่ใช้งานง่ายทำให้ผู้ใช้ไม่ต้องเรียนรู้นาน และสิ่งที่น่าจะถูกอกถูกใจผู้ใช้มากที่สุดก็คือมีรูปแบบวิดีโอสำเร็จรูป (Template Video) พร้อมของแต่งวิดีโอให้เลือกใช้ตามลักษณะเนื้อหาอยู่มากมาย ผู้ใช้สามารถทำการอัปโหลดไฟล์วิดีโอที่ถ่ายมาขึ้นไปตัดต่อได้หรือจะเลือกตัวแอนิเมชันพร้อมใช้ที่มีอยู่แล้วมาตกแต่งเป็นวิดีโอของตนเองก็ได้เช่นกัน ที่สำคัญก็คือผู้ใช้สามารถเข้าใช้งานจากที่ใดหรือคอมพิวเตอร์เครื่องใดก็ได้ที่เชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตได้ทันที ทำให้ผู้ใช้ได้รับความสะดวกสบายมากยิ่งขึ้น

ทั้งนี้ เว็บแอปพลิชันจัดทำวิดีโอนั้นมีอยู่มากมายไม่ว่าจะเป็น GoAnimate ( https://goanimate.com), Animatron (https://www.animatron.com), Animaker (https://www.animaker.com), Biteable (https://biteable.com) หรือ Moovly (https://www.moovly.com) ซึ่งผู้ใช้ยังสามารถเลือกแอปพลิเคชันที่ถูกใจได้เองจากการใช้คีย์เวิร์ด ‘Animation Maker Online’ สืบค้นจาก Google Search อย่างไรก็ตาม การเลือกใช้เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างวิดีโอนั้นมีข้อควรพิจารณา ดังต่อไปนี้

  1. เว็บผู้ให้บริการต้องเปิดให้เราได้ทดลองใช้งานฟรีก่อน
  2. สามารถดาวน์โหลดลงมาเป็นไฟล์วิดีโอได้หลากหลายแบบ เช่น .mp4, .mov, avi หรือ .wmv เป็นต้น และจำนวนครั้งที่
  3. สามารถดาวน์โหลดได้ต่อเดือนควรเพียงพอต่อการใช้งาน
  4. ควรมีชุดวิดีโอสำเร็จรูป (Template Video) ให้เลือกใช้งานเยอะและรูปแบบนั้นควรสนับสนุนธุรกิจของเรา
  5. เครื่องมือสร้างวิดีโอต้องทำงานเร็ว ใช้งานง่าย ซึ่งปกติจะเป็นลักษณะของการลากวางแล้วสั่งเล่นได้เลย
  6. สามารถอัปโหลดไฟล์วิดีโอ ไฟล์เสียง หรือรูปภาพขึ้นไปตกแต่งวิดีโอได้
  7. รองรับความยาวของวิดีโอได้ตามต้องการ
  8. รองรับความละเอียดของวิดีโอได้ตามต้องการ
  9. อัตราค่าบริการรายเดือนย่อมเยา (ควรเปรียบเทียบหลายๆ เว็บ)

อันที่จริงแล้วเครื่องมือสำหรับสร้างวิดีโอแบบเว็บแอปพลิเคชันนั้นค่อนข้างใช้งานง่าย ท่านผู้ประกอบการจะทดลองใช้งานด้วยตนเองก่อนก็ย่อมได้ หรือหากเห็นว่าจะเสียเวลามากเกินไปก็มอบหมายให้ผู้ช่วยที่เป็นผู้ใช้งานทั่วไปและไม่ได้เป็นผู้ชำนาญการด้านการตัดต่อวิดีโอทดลองฝึกใช้งานแทน ซึ่งก็น่าจะทำได้ไม่ยากนัก ยิ่งถ้าจุดประสงค์ของการนำวิดีโอไปประกอบการพรีเซนต์ก็ยิ่งลดความยุ่งยากลงไปได้มากทีเดียว อย่างไรก็ตาม หากต้องการให้วิดีโอชิ้นนั้นๆ มีคุณภาพในด้านเนื้อหามากยิ่งขึ้นก็ควรร่างเนื้อหามาเป็นสคริปต์หรือสตอรี่บอร์ดแล้วนำมาให้ทีมงานช่วยกันระดมความคิดหรือตรวจทานเสียก่อน ก็จะยิ่งเพิ่มความเข้มข้นให้กับเนื้อหา ทั้งยังสามารถลดข้อผิดพลาดที่อาจมีอยู่ได้เช่นเดียวกัน

Leave a Reply

Or

Your email address will not be published. Required fields are marked *