Fri. Apr 19th, 2024
หลากความคิด ‘ท่องเที่ยววิถีไทย’ ร่วมกันเราทำได้

หลากความคิด ‘ท่องเที่ยววิถีไทย’ ร่วมกันเราทำได้

จับตาปีแห่งการท่องเที่ยวไทยวิถีไทย เน้นกระจายรายได้สู่แหล่งท่องเที่ยวใหม่ กับแนวทางปกป้องความเป็นเอกลักษณ์ของชุมชน ภายใต้กระแสการท่องเที่ยวที่ทะยานเพิ่มต่อเนื่อง

จากที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบตามที่กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาเสนอให้ปี 2558 เป็นปีแห่งการท่องเที่ยววิถีไทย โดยให้ถือเป็นวาระแห่งชาติ ตามนโยบายของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เพื่อสร้างภาพลักษณ์การท่องเที่ยวที่ดีและถูกต้องตามวิถีไทย โดยเน้นที่อัตลักษณ์ของความเป็นไทย เพื่อให้ต่างชาติรู้จักวิถีชีวิตของคนไทย ทั้งศิลปวัฒนธรรม ประวัติศาสตร์ชาติ และแหล่งท่องเที่ยวธรรมชาติ ซึ่งนับเป็นจุดขายที่ดี โดยมั่นใจว่าการท่องเที่ยววิถีไทยจะช่วยกระจายรายได้ไปสู่ชุมชน ช่วยลดความเหลื่อมล้ำ และสิ่งสำคัญเป็นการสร้างความภาคภูมิใจในความเป็นไทย

ที่ผ่านมา คุณกอบกาญจน์ วัฒนวรางกูร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา เน้นย้ำถึงแนวทางดำเนินการท่องเที่ยววิถีไทย ว่าเป็นการตอบโจทย์เอกลักษณ์ความเป็นไทย โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวที่เคยมาเที่ยวเมืองไทยแล้วมีสัดส่วนมากกว่าครึ่งหนึ่งของจำนวนนักท่องเที่ยวรวมแต่ละปีและกลุ่มนี้เองที่ต้องการข้อมูลใหม่ๆ แหล่งท่องเที่ยวใหม่ๆ แนวทางดังกล่าวจึงเป็นการตอบโจทย์ให้นักท่องเที่ยวคนที่เคยมาแล้วอยากกลับมาอีก หรือนักท่องเที่ยวที่มาใหม่ก็จะได้เห็นความเป็นไทยอย่างลึกซึ้งมากขึ้น ขณะเดียวกัน ชี้ให้เห็นว่าไทยต้องการยกระดับภาคการท่องเที่ยวให้มีคุณภาพ ตามวัตถุประสงค์ที่ภาคการท่องเที่ยวไทยต้องการดึงกลุ่มนักท่องเที่ยวที่มีคุณภาพมาเมืองไทยมากขึ้น ช่วยเพิ่มวันพำนักของนักท่องเที่ยวจากเดิมเฉลี่ย 8 – 9 วัน เพิ่มขึ้นเป็น 9 – 10 วัน หรือ 10 – 11 วัน ค่าใช้จ่ายต่อหัวก็จะเพิ่มขึ้น เป็นการท่องเที่ยวแบบสร้างมูลค่าเพิ่ม

นอกจาก 10 เมืองใหญ่ที่เป็นเมืองหลัก และกำลังถูกปรับมุมมองใหม่ในการท่องเที่ยวแล้ว อย่างพัทยาที่เคยถูกมองว่าเป็นแหล่งท่องเที่ยวอบายมุข ยังมี 12 จังหวัดใหม่เป็นเมืองที่ต้องห้ามพลาด ซึ่งการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ได้คัดสรรและกระจายครบทุกภาค ประกอบด้วย ลำปาง น่าน เพชรบูรณ์ บุรีรัมย์ เลย ชุมพร ตรัง นครศรีธรรมราช ราชบุรี สมุทรสงคราม ตราด และจันทบุรี

ท่องเที่ยววิถีไทย

นำวิถีไทยสู้ศึกอาเซียน

หากมองอีกมุมหนึ่ง การประกาศให้เป็นปีท่องเที่ยววิถีไทยครั้งนี้ รัฐบาลมีเป้าหมายเพื่อวางแผนรองรับการเติบโตของภาคการท่องเที่ยวในอนาคต ที่คาดว่าจำนวนนักท่องเที่ยวโลกจะทะยานสูงขึ้นต่อเนื่อง หากยังคงชูแหล่งท่องเที่ยวเดิมๆ มีหวังไม่เกิน 4 – 5 ปีจากนี้ไป แหล่งท่องเที่ยวหลักของประเทศไทยในปัจจุบันคงต้านทานกับจำนวนนักท่องเที่ยวที่แห่เข้ามาไม่ไหวสุดท้ายเป็นอันต้องเสื่อมโทรม ยากที่จะบูรณาการให้กลับมาเหมือนเดิม

เพราะจากข้อมูลขององค์การการท่องเที่ยวโลกหรือดับเบิ้ลยูทีโอ คาดการณ์การเติบโตของจำนวนนักท่องเที่ยวทั่วโลกในปี พ.ศ. 2563 จะมีจำนวน 1.6 พันล้านคน และจากจำนวนดังกล่าวจะเดินทางเข้ามาในเอเชียแปซิฟิกราว 400 ล้านคน ซึ่งในจำนวน 400 ล้านคนนี้ จะเข้ามาในอาเซียนราว 160 – 200 ล้านคน เพิ่มขึ้นจากปี 2558 ที่คาดว่าจะมีนักท่องเที่ยวเดินทางเข้ามาในอาเซียนจำนวน 120 ล้านคน นั่นหมายถึงรายได้ที่จะเข้ามาช่วยเสริมสร้างเศรษฐกิจประเทศให้เติบโตหนุนให้ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ขยายตัวเพิ่มขึ้นไปด้วย ทำให้แต่ละประเทศต่างพยายามชิงเค้กนักท่องเที่ยว โดยเฉพาะกลุ่มนักท่องเที่ยวมีคุณภาพ มีศักยภาพในการใช้จ่าย ผ่านกลยุทธ์การทำการตลาดในรูปแบบต่างๆ

ไทยถือเป็นประเทศที่ได้เปรียบด้านทรัพยากรทางการท่องเที่ยวเป็นพื้นฐานอยู่แล้ว โดยเฉพาะกลุ่มประเทศอาเซียนด้วยกันเอง ผลศึกษาจำนวนนักท่องเที่ยวที่จะเพิ่มขึ้นในอีก 4 ปีข้างหน้าของสมาคมส่งเสริมการท่องเที่ยวภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก (พาต้า) วิเคราะห์ไว้ว่าในปี 2561 ไทยจะมีนักท่องเที่ยวเดินทางเข้ามาถึง 79.6 ล้านคน เพราะจากสถิติย้อนหลังของการท่องเที่ยวไทยจากปี 2552 ถึงปี 2556 มีอัตราการเติบโตเฉลี่ยไม่ต่ำกว่า 15% มาตลอด อาทิ ในปี 2553 เทียบกับปี 2554 ที่รายได้เติบโตถึง 30.9% เป็นต้น โดยในช่วง 4 ปี จำนวนนักท่องเที่ยวไทยเคยก้าวกระโดดจาก 15.6 ล้านคนในปี 2553 มาเป็น 26.5 ล้านคนในปี 2556 มาแล้ว คิดเป็นการเพิ่มขึ้นถึง 70% แต่สำหรับภาคเอกชนด้านการท่องเที่ยวของไทยไม่ได้มองไปถึงตัวเลขกว่า 70 ล้านคน ขอตั้งเป้านักท่องเที่ยวเพียง 50 ล้านคน เพราะต้องการไปสร้างสมดุลด้านรายได้กับทรัพยากรทางการท่องเที่ยวให้เดินหน้าไปพร้อมๆ กัน

ขณะที่ภาคเอกชนอย่างคุณอิทธิฤทธิ์ กิ่งเล็ก ประธานสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (สทท.) เห็นว่ามติ ครม. ดังกล่าว จะช่วยกระจายรายได้การท่องเที่ยวจากเมืองใหญ่สู่เมืองเล็ก เพราะสินค้าท่องเที่ยวประเภทนี้จะอยู่ภายในชุมชนต่างๆ ทั่วประเทศ ช่วยขยายฐานการตลาด ทำให้มีสินค้าใหม่ๆ มานำเสนอ แต่สิ่งที่ต้องการให้เร่งดำเนินการคู่ขนานกันไป คือ การพัฒนาระบบคมนาคมขนส่ง เพื่อเชื่อมโยงนักท่องเที่ยวเข้าถึงชุมชน เพราะชุมชนที่มีเอกลักษณ์และน่าสนใจส่วนใหญ่ก็ยังเป็นแหล่งที่เข้าถึงยาก บางแห่งยังไม่มีสิ่งอำนวยความสะดวกพื้นฐานเพียงพอ

ท่องเที่ยวไทย

ส่วนคุณยุทธชัย สุนทรรัตนเวช นายกสมาคมธุรกิจท่องเที่ยวภายในประเทศ (สทน.) กล่าวว่า การประกาศให้ปี 2558 เป็นปีแห่งการท่องเที่ยววิถีไทย ถือเป็นช่วงเวลาที่เหมาะสมในการสร้างรับรู้สินค้าท่องเที่ยวที่มีเอกลักษณ์ของไทยสอดคล้องกับการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (เออีซี) แต่รัฐบาลต้องไม่ลืมว่าหากในวันนี้แหล่งท่องเที่ยวแต่ละแห่งต้อนรับนักท่องเที่ยวแห่งละ 1 พันคนต่อวัน ถ้าในอนาคตจะเพิ่มเป็น 3 พันคนต่อวัน จะมีมาตรการอะไรในการปกป้องเพื่อไม่ให้ได้รับผลกระทบเชิงสิ่งแวดล้อม

“แนวทางของรัฐบาลนั้นอาจมาถูกทาง ด้านการพัฒนาพร้อมๆ กับการโปรโมทแหล่งท่องเที่ยวใหม่ๆ โดยเฉพาะกลุ่มที่เคยมาเที่ยวเมืองไทยแล้ว และต้องการได้รับประสบการณ์ใหม่ๆ กลับไป ขณะที่ภาคธุรกิจท่องเที่ยวท้องถิ่นเองก็จะสามารถอยู่ได้ด้วยตัวเองมากขึ้น”

ชุมชนเข้มแข็งท่องเที่ยวอยู่รอด ขณะที่มีมุมมองน่าคิดจากผู้บริหารระดับสูงของ ททท. ในฐานะหน่วยงานรัฐ ทำหน้าที่ด้านการตลาดและประชาสัมพันธ์ คุณศุกรีย์ สิทธิวนิช รองผู้ว่าการด้านสื่อสารการตลาด การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย สะท้อนให้เห็นว่าท่องเที่ยวไทยไม่ใช่จะประสบความสำเร็จ เพียงเพราะจำนวนนักท่องเที่ยวที่จะแห่เข้ามาเป็นจำนวนมากแต่ด้านรายได้ท่องเที่ยวกลับสวนทาง และใช่ว่า ททท. จะรุกทำการตลาดแล้วจะประสบความสำเร็จทั้งหมด สิ่งสำคัญตามแนวทางท่องเที่ยววิถีไทย คือ ชุมชนท่องเที่ยวแต่ละแห่งจะมีแนวทางอย่างไรในการวางแผนพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวให้มีเอกลักษณ์เป็นจุดขายได้เป็นแหล่งท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน ไม่ใช่ได้รับกระแสนิยมเพียงช่วงระยะเวลาสั้นๆ แล้วก็ดับไป เหมือนที่เกิดขึ้นกับหลายแห่งที่น่าจะเป็นบทเรียนราคาแพงได้เช่นกัน

กรณีศึกษาจังหวัดน่าน ที่มีความชัดเจนว่าแผนท่องเที่ยวเป็นไปในทิศทางใด จึงเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่สามารถรักษาเอกลักษณ์ของตนเองไว้ ซึ่งเห็นว่าสิ่งสำคัญที่จะขับเคลื่อนชุมชนท่องเที่ยวให้พัฒนาอย่างยั่งยืนได้ ประกอบด้วย 4 ปัจจัย คือ

  1. คนในพื้นที่ต้องตระหนักเห็นความสำคัญในวิถีชีวิตของตนที่มีอยู่ว่าเป็นสิ่งที่ดี
  2. องค์การปกครองท้องถิ่นต้องเข้มแข็ง
  3. ต้องมีการรวมกลุ่มของคนในชุมชนได้
  4. เรื่องแผนการตลาด

“บางแห่งพัฒนาเร็วไป โดยที่ไม่มีการวางแผนที่ดี ไม่สามารถหาความต้องการของชุมชนตนเองอย่างแท้จริงว่าจะชูจุดขายด้านใดนั้น หรือนำสิ่งอำนวยความสะดวกบางอย่างเข้าไปใส่ หรือพัฒนาเกินขีดความสามารถของตน ก็จะทำให้ชุมชนนั้นๆ ไม่ประสบความสำเร็จ”

ภาคธุรกิจต้องไม่ตัดราคาขาย

ขณะที่ภาคธุรกิจท่องเที่ยวอย่างโรงแรมหรือทัวร์ เป็นสิ่งที่ควรเป็นไปในทิศทางเดียวกันกับแหล่งท่องเที่ยวนั้นๆ ไม่ควรตัดราคากันเอง แม้ยอมรับว่าบางครั้งเป็นเรื่องที่ยาก เนื่องจากธุรกิจต้องการความอยู่รอด ประกอบกับยังมีโรงแรมที่ยังไม่ได้จดทะเบียนถูกต้องตามกฎหมายอีกจำนวนมาก เป็นเรื่องที่กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาเห็นว่าควรพิจารณาดำเนินการแก้ไขต่อไป

ทั้งหมดทั้งมวลในภาพรวมสำหรับการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน ตามแนวทางท่องเที่ยววิถีไทย หากเป็นเพียงนโยบายนามธรรมไม่เกิดคณะทำงาน เพื่อกำหนดทิศทางการท่องเที่ยวที่ชัดเจนว่าเมืองไทยจะชูจุดขายอะไร ต้องพัฒนาด้านไหน เพื่อให้เกิดแผนพัฒนาที่สอดคล้องกัน ก็จะเป็นเพียงนโยบายที่ลอยมาพร้อมสายลมแล้วก็ลอยจากไป เพราะอย่าลืมว่าปัจจุบันมีหลายกระทรวงที่ต่างทำหน้าที่ของตนและเกี่ยวเนื่องกัน แต่กลับมีมุมมองแตกต่างกัน ตรงนี้ต้องมาหารือกัน เพื่อให้เห็นแผนท่องเที่ยวชัดเจน

ท้ายที่สุดแล้ว ภาคการท่องเที่ยวไทยกับปีแห่งการท่องเที่ยววิถีไทยจะสามารถรักษาแหล่งท่องเที่ยวพร้อมเอกลักษณ์ท้องถิ่นให้อยู่อย่างยั่งยืน ควบคู่กับจำนวนนักท่องเที่ยวทั้งคนไทยและต่างชาติที่มีสัญญาณเพิ่มขึ้นต่อเนื่องได้มากเพียงใด เป็นหน้าที่สำคัญของทั้งหน่วยงานรัฐและเอกชนที่เกี่ยวข้อง รวมถึงตัวของนักท่องเที่ยวเองด้วย ที่จะตระหนักและจิตสำนึกในการช่วยอนุรักษ์แหล่งท่องเที่ยวไม่ให้ถูกทำลาย สามารถอยู่คู่กับเมืองไทยต่อไปอีกนาน

Leave a Reply

Or

Your email address will not be published. Required fields are marked *