Wed. Apr 24th, 2024
THA

THA เข้าร่วมหารือช่วยผู้ประกอบการจากผลกระทบโควิด-19

คุณกลินท์ สารสิน ประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศ ได้นำคณะกรรมการหอการค้าไทยเข้าพบ คุณพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงท่องเที่ยวและกีฬา โดยคุณมาริสา สุโกศล หนุนภักดี นายกสมาคมโรงแรมไทย ได้เข้าร่วมด้วย เพื่อหารือความร่วมมือ และนำเสนอประเด็นต่าง ๆ ของภาคเอกชนต่อการผลักดันเศรษฐกิจและช่วยเหลือผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 เมื่อวันที่ 29 มกราคม 2564

ทางสมาคมโรงแรมไทยขอขอบคุณ คุณกลินท์ ที่ได้ส่งต่อเรื่องการช่วยผู้ประกอบการโรงแรมให้ถึงท่านนายกรัฐมนตรี และท่านนายกฯ ได้ทำหนังสือถึงแต่ละกระทรวง และเรื่องดังกล่าวอยู่ในประเด็นที่ได้หารือกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงท่องเที่ยวและกีฬา โดยมีประเด็นสรุป ดังนี้


เสนอมาตรการเพื่อบรรเทาผลกระทบจากโควิด-19


  • การช่วยเหลือผู้ประกอบการโรงแรม หอการค้าไทยและสภาหอการค้าฯ ได้รวบรวมรายชื่อสมาชิก และผู้ประกอบธุรกิจโรงแรมที่ได้รับผลกระทบจาก COVID-19 ที่ต้องการความช่วยเหลือมาตรการสินเชื่อ (Soft loan) จากภาครัฐในด้านการสนับสนุนเงินเดือนค่าจ้าง (Co-payment) เพื่อรักษาการจ้างงานเดิม และขอมาตรการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (Soft loan) เพื่อเสริมสภาพคล่องให้กับธุรกิจ หรือปลอดชำระเงินต้น หรือดอกเบี้ย และมาตรการอื่น ๆ ที่ผู้ประกอบการต้องการความช่วยเหลือ ทั้งนี้ จากการสำรวจร่วมกับสมาคมโรงแรมไทย ระหว่างวันที่ 15 – 18 มกราคม 2564 มีผู้ประกอบการโรงแรมทั่วประเทศตอบแบบสำรวจ จำนวน 1,820 แห่ง และจะได้รวบรวมเสนอต่อ คุณสุพัฒน์พงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี เพื่อเสนอให้ภาครัฐกำหนดมาตรการเร่งด่วนในสถานการณ์ปัจจุบัน ซึ่งในเรื่องนี้ ทางกระทรวงฯ ได้มีการส่งหนังสือถึงนายกรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาช่วยเหลือผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบ โดยได้มีการพิจารณาให้กระทรวงต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องได้เร่งหามาตรการในการเยียวยา คาดว่าเร็ว ๆ นี้ จะมีมาตรการต่าง ๆ ออกมาช่วยเหลือ
  • การขับเคลื่อนการท่องเที่ยวคุณภาพสูง ด้วย Wellness Tourism โดยขอให้กระทรวงการท่องเที่ยวฯ พิจารณาใช้ Happy Model : อารมณ์ดีมีความสุข (กินดี / อยู่ดี / ออกกำลังกายดี / แบ่งปันสิ่งดี ๆ) เป็นกลไกขับเคลื่อนแผนปฏิรูปประเทศด้านเศรษฐกิจ เรื่องการส่งเสริมและพัฒนาการท่องเที่ยวคุณภาพสูง ภายใต้แผนยุทธศาสตร์ชาติ ซึ่งจะสอดคล้องกับนโยบาย White Tourism ของกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา และนโยบาย BCG (Bio Economy / Circular Economy / Green Economy) สาขาการท่องเที่ยวและเศรษฐกิจสร้างสรรค์ โดยขอให้มีการสื่อสารทั่วถึงและชัดเจน
  • ผลักดัน Platform TAGTHAi ให้เป็น Platform หลักของชาติ โดย Platform TAGTHAi เป็นแหล่งข้อมูลการท่องเที่ยวและอำนวยความสะดวกสำหรับการท่องเที่ยวแบบครบวงจร ทั้งการหาข้อมูล การวางแผนการเดินทาง การจองโรงแรมและตั๋วเครื่องบิน รวมถึงอำนวยความสะดวก ความปลอดภัยในการเดินทางท่องเที่ยว ที่ดำเนินการร่วมกับหน่วยงานภาครัฐและเอกชนกว่า 48 หน่วยงาน จึงขอให้กระทรวงการท่องเที่ยวฯ ผลักดัน แอป TAGTHAi ให้เป็น Platform หลักของชาติที่จะสื่อสารกับนักท่องเที่ยว ซึ่งกระทรวงฯ พร้อมที่จะให้การสนับสนุนการใช้ Platform TAGTHAi โดยจะให้การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ช่วยประชาสัมพันธ์ให้คนไทยหันมาใช้กันอย่างแพร่หลาย และเป้าหมายในอนาคตจะมีการพัฒนาให้ครอบคลุมไปยังกลุ่ม CLMV และอาเซียน นอกจากนี้ ในอนาคตจะมีการเชื่อมโยงแอป TAGTHAi กับแอปของกระทรวงฯ เพื่อขยายฐานข้อมูลให้กว้างขวางมากยิ่งขึ้น
  • ข้อกำหนดการเดินทางระหว่างประเทศ เกี่ยวกับการฉีดวัคซีนป้องกัน COVID-19 ขอให้มีแนวทางการกำหนดให้มีการระบุใน Passport ว่าผู้เดินทางมีการฉีดวัคซีน ป้องกัน COVID-19 แล้ว หรือ มีภูมิคุ้มกัน COVID-19 แล้ว ซึ่งกระทรวงฯ รับทราบข้อเสนอ และขอให้มีการสื่อสารกันอย่างชัดเจน
  • การเพิ่มหน่วยตรวจรับรองมาตรฐานการท่องเที่ยวไทยให้มากขึ้น ปัจจุบันกรมการท่องเที่ยวมีมาตรฐานการท่องเที่ยวไทย 5 ประเภท 56 มาตรฐาน แต่มีหน่วยตรวจรับรองมาตรฐานเพียง 13 หน่วยตรวจ ซึ่งหากต้องการขับเคลื่อนให้มาตรฐานการท่องเที่ยวไทยเป็นที่ยอมรับ และมีผู้เข้าสู่ระบบมาตรฐานโดยสมัครใจมากขึ้น การเพิ่มหน่วยตรวจรับรองที่มีประสิทธิภาพก็เป็นแนวทางที่เหมาะสม โดยต้องคำนึงถึงคุณภาพและมาตรฐานของหน่วยตรวจรับรองที่จะเพิ่มขึ้น จึงควรตั้งเป้าหมายเพิ่มหน่วยตรวจ และดำเนินการคัดสรรและรับรองหน่วยตรวจที่มีคุณภาพให้ได้ตามที่ต้องการ เปิดโอกาสให้องค์กรหรือสถาบันการศึกษาที่มีความพร้อมสามารถสมัครขอรับรองเป็นหน่วยตรวจเพิ่มขึ้นได้ ซึ่งทางกระทรวงฯ เห็นด้วยกับข้อเสนอของหอการค้าไทย โดยกระทรวงฯ มีนโยบายที่จะเพิ่มหน่วยรับรองมาตรฐานอยู่แล้ว นอกจากนี้ กระทรวงฯ ยังรับข้อเสนอที่จะให้สถาบันการศึกษาเป็นหน่วยรับรองฯ โดยจะรับไปดำเนินการร่วมกับกรมการท่องเที่ยวต่อไป
  • การยืดระยะเวลาการต่ออายุใบอนุญาตเป็นมัคคุเทศก์ จากสถานการณ์ COVID-19 การขอต่อใบอนุญาตมัคคุเทศก์ กรณี ‘หมดอายุ’ ต้องผ่านการอบรมใหม่ ในช่วง COVID-19 มัคคุเทศก์ส่วนใหญ่ ได้เดินทางกลับภูมิลำเนา เนื่องจากไม่มีนักท่องเที่ยว เมื่อใบอนุญาตหมดอายุลง จึงไม่ได้ไปดำเนินการยื่นต่ออายุ ดังนั้น ขอยืดระยะเวลาการต่ออายุใบอนุญาตเป็นมัคคุเทศก์ ที่หมดอายุลงในปี 2562 เป็นต้นมา โดยขอยืดระยะเวลาต่ออายุไปจนถึงสิ้นปี 2564 กระทรวงฯ รับข้อเสนอนี้เพื่อไปพิจารณาดำเนินการร่วมกับภาคเอกชนต่อไป

Leave a Reply

Or

Your email address will not be published. Required fields are marked *