Tue. Mar 19th, 2024
OTA โหมโกยเงินออกนอกประเทศ

OTA โหมโกยเงินออกนอกประเทศ

UNWTO คาดการณ์ว่าในปี 2030 จำนวนนักท่องเที่ยวทั่วโลกจะเพิ่มเป็น 1.8 พันล้านคน และนักท่องเที่ยวกลุ่มเดินทางด้วยตัวเอง หรือ FIT ยังคงมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ

โดยกลุ่มนี้เป็นกลุ่มที่นิยมใช้จ่ายด้านการท่องเที่ยวผ่านช่องทางออนไลน์ หรือที่เรียกว่า online travel agent หรือ OTA ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มระดับโลกแทบทั้งสิ้นไม่ว่าจะเป็น Agoda.com, Booking.comหรือ Expedia.com, Hotel.com ฯลฯและบรรดา OTA เหล่านี้ก็ล้วนเป็นตัวแปรที่เข้ามาเปลี่ยนแปลง (disruption)อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวทั่วโลก รวมถึงประเทศไทยได้ในเวลาอันรวดเร็ว

ผู้คร่ำหวอดในวงการโรงแรมรายหนึ่งวิเคราะห์ว่า ตัวแปรที่ทำให้ธุรกิจออนไลน์แทรเวลเอเย่นต์เติบโตได้อย่างรวดเร็วนั้น เป็นผลจากบริษัทโอทีเอข้ามชาติเหล่านี้ใช้ความได้เปรียบเรื่องแบรนด์ระดับโลก และความแข็งแกร่งด้านการเงินทุ่มซื้อตลาดอย่างหนักในช่วง 10 ปี

ผ่านมา และใช้ “ราคา” มาการันตีลูกค้าว่าจะได้ราคาที่ถูกกว่า และส่วนลดที่มากกว่าคู่แข่ง

“ต้องยอมรับว่าโอทีเอเหล่านี้เข้ามาช่วยให้สินค้าการท่องเที่ยวของไทยเข้าถึงกลุ่มนักท่องเที่ยวทั่วโลกได้มากขึ้น และช่วยให้อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของประเทศเติบโต แต่ก็ต้องยอมรับว่า บรรดาโอทีเอยักษ์ใหญ่เหล่านี้ได้สร้างปัญหาให้กับอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของไทยไม่น้อยเช่นกัน”

พร้อมยอมรับว่า โมเดลการทำธุรกิจของโอทีเอข้ามชาติเหล่านี้ตอบโจทย์พฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป โรงแรม หรือสถานที่ท่องเที่ยวไหนไม่อยากตกขบวนก็ต้องนำห้องพักและนำสินค้าและบริการของตัวเข้ามาขายในโอทีเอเหล่านี้ โดยแลกกับการจ่ายค่าคอมมิสชั่นจากการขายที่เกิดขึ้น

“10 ปีก่อนโอทีเอวิ่งเข้าหาผู้ประกอบการโรงแรม และบรรดาโรงแรมต่าง ๆ ต้องจ่ายค่าคอมมิสชั่นให้กับโอทีเออยู่ที่ประมาณ 10% ต่อบุ๊กกิ้ง แต่ปัจจุบันโรงแรมต้องวิ่งเข้าหาโอทีเอ เพราะโอทีเอเหล่านี้ได้ผูกขาดช่องทางการขายหลักของโรงแรมไปแล้ว”

ที่สำคัญ ถึงวันนี้โรงแรมต้องจ่ายค่าคอมมิสชั่นให้กับโอทีเอถึง 20-30% ต่อบุ๊กกิ้ง แน่นอนยอมรับว่าโมเดลนี้ “ผู้บริโภค” เป็นกลุ่มที่ได้รับประโยชน์สูงสุด

เมื่อถามว่า แล้วใครเสียประโยชน์ แหล่งข่าวในธุรกิจท่องเที่ยวรายหนึ่งกล่าวว่า หากประเทศไหนไม่มีระบบการควบคุมและปกป้องธุรกิจของตัวเอง ในเชิงธุรกิจถือว่าเป็นโมเดลที่ “ทำลาย” ระบบเศรษฐกิจของประเทศมหาศาล

สำหรับประเทศไทยโมเดลนี้ได้ทำลายวงจรธุรกิจท่องเที่ยวของประเทศไปแล้วเช่นกัน กล่าวคือ เอเย่นต์หลายรายล้มหายตายจาก หลายรายต้องดาวน์ไซซ์ธุรกิจลง หลายรายจำใจยอมจ่ายค่าคอมมิสชั่นสูงลิบเพื่อแลกกับยอดบุ๊กกิ้ง

และที่เสียหายมากที่สุด คือ ภาวะเงินไหลออกนอกประเทศ เพราะไม่สามารถจัดเก็บภาษีจากบรรดาโอทีเอข้ามชาติเหล่านี้ได้ เนื่องจากยังไม่มีกฎหมายเก็บภาษีธุรกิจอีคอมเมิร์ซ ของบริษัทข้ามชาติเหล่านี้

ขณะที่บริษัทเหล่านี้มีรายได้มหาศาลในแต่ละปี โดยจากเปิดเผยผลประกอบการของบริษัท Priceline ซึ่งเป็นบริษัทแม่ของ Agoda, Booking เพียงรายเดียว เมื่อปี 2559 พบว่ามีรายได้รวมอยู่ที่ 2.4 ล้านล้านบาท หรือคิดเป็นกำไรถึงกว่า 7.5 หมื่นล้านบาท

ในจำนวนนี้เป็นรายได้และกำไรที่มาจาก “คอมมิสชั่น” ล้วน ๆ ไม่ต้องลงทุนเป็นเจ้าของสินทรัพย์อะไรเลย

จึงน่าจะถึงเวลาแล้วที่กลุ่มผู้ธุรกิจคนไทย รวมถึงรัฐบาลไทย ควรออกมาปกป้องธุรกิจของคนไทย และผลประโยชน์ของประเทศ หลังจากปล่อยให้บรรดาโอทีเอข้ามชาติเหล่านี้เข้ามาผูกขาด ทำลายวงจรธุรกิจของคนไทย รวมถึงโกยรายได้ไปนอกประเทศมานานนับ 10 ปีแล้ว


ขอบคุณที่มา : www.prachachat.net วันที่ 17 ม.ค. 62
www.prachachat.net/tourism/news-279326

Leave a Reply

Or

Your email address will not be published. Required fields are marked *