Wed. Apr 24th, 2024
“โอทีเอ” ข้ามชาติ “การค้าเสรี” หรือความเหลื่อมล้ำ ?

“โอทีเอ” ข้ามชาติ “การค้าเสรี” หรือความเหลื่อมล้ำ?

จากประเด็นที่ผู้ประกอบการท่องเที่ยว การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) กระทรวงการท่องเที่ยวฯ และสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (สทท.) มาร่วมแก้ไขปัญหากรณีออนไลน์ แทรเวล เอเย่นต์ หรือโอทีเอ ซึ่งเป็นบริษัทข้ามชาติขนาดใหญ่ที่ทำการตลาดโดยใช้กลยุทธ์ “ราคาถูก” และขายสินค้าและบริการด้านการท่องเที่ยวของไทยต่ำกว่าราคาต้นทุนที่กำหนดมาตรฐานไว้

โดยมองว่ารูปแบบการทำตลาดดังกล่าวนี้ นอกจากจะทำลายภาพลักษณ์ของสินค้าและบริการด้านการท่องเที่ยวของไทยแล้ว ยังทำลายวงจรธุรกิจท่องเที่ยวของประเทศไทย ซึ่งส่วนใหญ่เป็นธุรกิจเอสเอ็มอีคนไทยอีกด้วย

เพราะเป็นรูปแบบการทำธุรกิจที่รัฐไม่สามารถควบคุมให้การแข่งขันอยู่บนพื้นฐานเดียวกันได้ โดยชี้ประเด็นไปที่ “ความเหลื่อมล้ำ” เรื่องการเสียภาษี เพราะโอทีเอข้ามชาติเหล่านี้ใช้ระบบการโอนเงินซื้อสินค้าและบริการต่าง ๆ ตรงไปบริษัทแม่ในต่างประเทศ ไม่ได้มีรายได้ที่เกิดขึ้นในประเทศไทย

คำถามของกลุ่มผู้ประกอบการท่องเที่ยวไทยในเวลานี้ คือ การค้าเสรี หรือความเหลื่อมล้ำกันแน่ ?

“วีระศักดิ์” ชี้ไม่ได้ดูแค่ กม.

ล่าสุด “วีระศักดิ์ โควสุรัตน์” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กล่าวว่า กรณีดังกล่าวนี้ตนได้มอบให้อธิบดีกรมการท่องเที่ยว (อนันต์ วงศ์เบญจรัตน์) ดูแลเรียบร้อยแล้ว โดยในรายละเอียดของประเด็นนี้ทางกระทรวงคงจะไม่ได้มุ่งเน้นไปที่การดูเรื่องข้อกฎหมายเพียงอย่างเดียว

ทั้งนี้ เนื่องจากเห็นว่าเวลานี้ไม่ใช่เวลาที่จะมาสู้รบกันแต่อย่างใด และเชื่อว่าอุตสาหกรรมท่องเที่ยวของไทยที่กำลังเติบโตอีกมาก และมีพื้นที่สำหรับให้ทุกคนทำธุรกิจโดยปราศจากการเอารัดเอาเปรียบกันได้

ผนึกกสิกรฯ ผุดแพลตฟอร์มใหม่

“ตอนนี้ทางกระทรวงได้ร่วมเซ็นความร่วมมือกับทางธนาคารกสิกรไทย ให้ทางกสิกรไทยพัฒนาแพลตฟอร์มโอทีเอใหม่ โดยแผนการพัฒนาของโครงการดังกล่าวจะมี 2 ระยะในปีนี้ คือ ระยะแรก จะเริ่มต้นในเดือนมิถุนายนที่จะถึงนี้ และจะทำการพัฒนาต่อไปเรื่อย ๆ จนถึงกระบวนการระยะที่ 2 ในช่วงปลายปี”

“วีระศักดิ์” ยังบอกด้วยว่า ก่อนหน้านี้ทางกสิกรไทยพึ่งได้รับความไว้วางใจจากกระทรวงการต่างประเทศให้มีส่วนร่วมในการให้บริการ e-Visa ของไทย ทำให้กสิกรไทยจะมีข้อมูลพื้นฐานของนักท่องเที่ยวก่อนนักท่องเที่ยวเดินทางเข้าสู่ประเทศไทย และสามารถนำไปพัฒนาต่อในแพลตฟอร์มอื่น ๆ ได้อีกด้วย

ไม่เสียเท่า “ทัวร์ศูนย์เหรียญ”

ด้าน “อนันต์ วงศ์เบญจรัตน์” อธิบดีกรมการท่องเที่ยว กระทรวงการท่องเที่ยวฯ ให้ข้อมูลว่า เข้าใจปัญหาที่เกิดขึ้นดี และมองว่ารูปแบบการทำตลาดของบรรดาโอทีเอดังกล่าวไม่ต่างจากการขายทัวร์ราคาถูก หรือทัวร์ศูนย์เหรียญในยุคก่อนเพียงแต่ปัญหารอบนี้มาในรูปแบบออนไลน์ และเริ่มมีการต่อรองค่าคอมมิสชั่นที่สูงขึ้นเรื่อย ๆ จาก 5-10% เป็น 20-30%

“ประเด็นที่น่าจับตาและน่าเป็นห่วงมากกว่า คือ กรณีที่ต่างชาติเข้ามาเป็นนอมินีแล้วสร้างเครือข่ายด้านการท่องเที่ยวของตัวเองขึ้นมา ไม่ว่าจะเป็นบริษัททัวร์ โรงแรม รถบัส ร้านอาหาร ร้านจำหน่ายสินค้าที่ระลึก ฯลฯ แล้วเอานักท่องเที่ยวมาอยู่ในเครือข่ายของตัวเอง ซึ่งทางกระทรวงได้พยายามปราบไปแล้วตั้งแต่ปี 2558 ที่ผ่านมา ส่วนตัวผมมองว่ารูปแบบนี้สร้างความเสียหายมากกว่า”

คุมได้แค่ “บริษัทนำเที่ยว”

เมื่อถามว่ากรมการท่องเที่ยวในฐานะหน่วยงานที่ได้รับมอบหมายให้เข้ามาช่วยดูแลปัญหานี้จะดำเนินการต่อไปอย่างไร “อนันต์” บอกว่า ถ้าดูกันในมุมของกฎหมายที่มีอยู่ในปัจจุบันนั้นกรมการท่องเที่ยวมีข้อกำหนดไว้ข้อหนึ่ง คือ บริษัทนำเที่ยวที่จดทะเบียนกับกรมการท่องเที่ยวจะขายสินค้าท่องเที่ยวต่ำกว่าราคาทุนไม่ได้

นั่นหมายความว่า บทบาทของกรมการท่องเที่ยวจะควบคุมได้เฉพาะการขายสินค้าและบริการท่องเที่ยวที่ผ่านบริษัทนำเที่ยวเท่านั้น ซึ่งมีส่วนแบ่งตลาดอยู่ประมาณ 40-50%

ส่วนนักท่องเที่ยวที่ซื้อสินค้าและบริการด้วยตัวเอง ซึ่งหมายถึงกลุ่มเอฟไอทีนั้น กฎหมายของกรมการท่องเที่ยวไม่สามารถจัดการได้ ซึ่งก็มีส่วนแบ่งอยู่ที่ราว 50-60%

ผู้ประกอบการคุมราคากันเอง

“อนันต์” บอกอีกว่า ประเด็นสำคัญที่กลุ่มผู้ประกอบการด้านท่องเที่ยวต้องร่วมมือกันในการรับมือปัญหานี้ คือ ทุกคนต้องทำให้แหล่งท่องเที่ยวและบริการของตัวเองให้มีคุณภาพและมาตรฐานที่ดีขึ้น ซึ่งจะทำให้สามารถขยับราคาขายได้ และต้องควบคุมดูแลราคากันเองด้วย ซึ่งแนวทางนี้จะช่วยให้มีรายได้เข้ามาชดเชยกับการจ่ายค่าคอมมิสชั่นให้กับโอทีเอต่าง ๆ ขอส่วนแบ่งที่เพิ่มขึ้นได้

นอกจากนี้ อยากให้กลุ่มผู้ประกอบการท่องเที่ยวของไทยทุกแขนง ทั้งโรงแรม รถเช่า โชว์ สถานที่ท่องเที่ยว ร้านอาหาร ฯลฯ สนับสนุนแพลตฟอร์มโอทีเอของคนไทยด้วยกันเองด้วย เช่น แพลตฟอร์มของธนาคารกสิกรไทยที่อยู่ระหว่างการพัฒนา เป็นต้น เพื่อให้ประเทศไทยมีแพลตฟอร์มโอทีเอที่แข็งแกร่งและแข่งขันกับต่างประเทศได้

ลุ้นสรรพากรเก็บภาษีออนไลน์

“อนันต์” ให้ข้อมูลอีกว่า เรื่องนี้เป็นอะไรที่ห้ามได้ยาก เพราะเป็นเรื่องของการทำการค้าแบบเสรี แต่เราสามารถดูประเด็นเรื่องของการเอารัดเอาเปรียบและมีความเหลื่อมล้ำได้ ซึ่งก็อยากขอความร่วมมือจากภาคเอกชนให้ร่วมกันสอดส่องและชี้เบาะแสในกรณีพบเห็นปัญหาบริษัทที่มีรายได้แต่ไม่เสียภาษีให้ทางราชการอีกทางหนึ่งด้วย

และเชื่อว่าขณะนี้ทางกรมสรรพากร กระทรวงการคลังก็อยู่ระหว่างการจัดระเบียบให้ธุรกิจ-แข่งขันอยู่บนพื้นฐานเดียวกัน เสียภาษีเหมือนกัน และกำลังวางมาตรการจัดเก็บภาษีธุรกิจซื้อขายออนไลน์อยู่เช่นกัน


ขอบคุณข้อมูลจาก : www.prachachat.net วันที่ 29 ม.ค. 62
www.prachachat.net/tourism/news-283408

Leave a Reply

Or

Your email address will not be published. Required fields are marked *