Thu. Apr 18th, 2024
"อีอีซี" ยกระดับท่องเที่ยวภาคตะวันออก (สถานีอีอีซี)

“อีอีซี” ยกระดับท่องเที่ยวภาคตะวันออก (สถานีอีอีซี)

เมื่อโครงการขนาดใหญ่กำลังมุ่งหน้าไปสู่เขตภาคตะวันออก ความสนใจการลงทุนจากผู้ประกอบการต่างๆ ย่อมมีมากขึ้นเป็นธรรมดา หากย้อนกลับไปในอดีตภาคการท่องเที่ยวทางแถบพัทยา ในกลุ่มธุรกิจโรงแรมจะยังไม่รุนแรงมากนัก เนื่องจากตลาดท่องเที่ยวมีความชัดเจนกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน

แต่ทว่าธุรกิจใดมีโอกาสสร้างรายได้จำนวนมาก ก็ย่อมมีผู้เล่นเพิ่มขึ้น ทำให้ซัพพลายโรงแรมมีมากเกินความต้องการ จากที่ความท้าทายของผู้ประกอบการธุรกิจท่องเที่ยวในพัทยามีมากอยู่แล้ว และยิ่งมีโครงการอีอีซีเข้ามา จะทำให้เป็นโอกาส ความเสี่ยง และต้องปรับตัวอย่างไร

ธเนศ ศุภรสหัสรังสี เจ้าของกิจการกลุ่มโรงแรมและรีสอร์ตเครือซันไชน์ ในฐานะประธานสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวเขตพื้นที่กลุ่มภาคตะวันออก 1 (ชลบุรี ระยอง และฉะเชิงเทรา) เป็นหนึ่งในผู้ที่คลุกคลีอยู่กับวงการท่องเที่ยว เขาเป็นทายาทรุ่น 2 ของกิจการโรงแรมที่ดำเนินธุรกิจมากว่า 40 ปีแล้ว โดยปัจจุบันมี 8 โรงแรมที่อยู่ในพัทยา

“ตอนที่เริ่มเข้ามาดูแลกิจการให้กับครอบครัว น่าจะเป็นช่วงปี 2536 ในยุคที่การแข่งขันยังไม่สูงมาก ธุรกิจโรงแรมแทบจะแบ่งชนิดตามตลาดนักท่องเที่ยวเลยก็ว่าได้ แต่ซัพพลายในตลาดมากขึ้นในช่วงหลายปีที่ผ่านมา บางคนทำธุรกิจอื่นก็เข้ามาทำโรงแรม หรือคนที่อยู่ต่างถิ่นก็สนใจเข้ามาลงทุนมากขึ้น จากปัญหาโอเวอร์ซัพพลาย และตลาดนักท่องเที่ยวเมืองพัทยาที่เปลี่ยนแปลงไป ก่อนหน้าอาจจะเป็นยุโรปและสแกนดิเนเวีย แต่ตอนนี้เป็นชาวเอเชีย ซึ่งระยะเวลาในการเข้าพักและค่าใช้จ่ายอาจไม่สูงเท่ากับกลุ่มดังกล่าว อย่างกรณีของตลาดจีน ค่อนข้างมีความคล้ายคลึงกับคนไทย หรือจะใช้จ่ายเกี่ยวกับค่าที่พักไม่มากเท่ากับการไปช็อปปิ้ง

ปรับตัวรับการเปลี่ยนแปลงของตลาด

ธเนศ กล่าวว่า จากสถานการณ์ของตลาดนักท่องเที่ยวและการแข่งขันที่มากขึ้น ทำให้ผู้ประกอบการทุกคนต้องปรับตัว พัฒนาสินค้าให้มีความน่าสนใจ และเจาะกลุ่มเป้าหมายที่ชัดเจน จะหว่านไปหมดเลยไม่ได้ เนื่องจากลูกค้าแต่ละกลุ่มจะมีความต้องการไม่เหมือนกัน ต้องมีสิ่งอำนวยความสะดวกให้เหมาะสมกับตลาดนั้นๆ ควบคู่ไปกับการรีโนเวตโรงแรม รวมถึงเรื่องของเทคโนโลยีที่มีผลต่อพฤติกรรมการท่องเที่ยวของนักเดินทาง ผู้ประกอบการก็ต้องทำตลาดกับเรื่องนี้ด้วยเช่นเดียวกัน ครอบคลุมไปถึงการจองห้องพัก ไม่ว่าจะใช้บริการผ่านบุ๊กกิ้งชื่อดังต่างๆ หรือลงทุนพัฒนาเว็บไซต์ของโรงแรม

ภาพลักษ์ใหม่เมืองพัทยา

หากถามว่าจุดขายของเมืองพัทยาในอดีตเป็นเช่นไร ธเนศ บอกว่า ก่อนหน้าอาจมีปัญหาค่อนข้างเยอะ รวมถึงภาพลักษณ์จะเป็นเรื่องของการเที่ยวกลางคืน ถูกมองในแง่ไม่ดีเท่าไหร่นัก แต่สักประมาณ 10-15 ปีหลังมานี้ เมืองพัทยาเปลี่ยนค่อนข้างเยอะ ขณะที่ความเจริญยังขยายตัวไปทางแถบสัตหีบ มีโรงแรมและรีสอร์ตติดทะเล แหล่งท่องเที่ยวสำหรับครอบครัวอย่างสวนน้ำก็มีให้เห็นกันกว่าที่ผ่านมา และเส้นทางสัญจรก็มีความสะดวกสบายมากขึ้น นับเป็นปัจจัยบวกที่ทำให้คนไทยมีความสนใจมาท่องเที่ยวเมืองพัทยา

“นักท่องเที่ยวที่เดินทางมาเยือนพัทยาประมาณ 10 ล้านคนต่อปี เราต้องนำเสนอภาพลักษณ์ใหม่ของเมืองพัทยา คงมีอีกหลายอย่างที่ต้องทำการประชาสัมพันธ์อีกเยอะ เพื่อสื่อสารไปยังตลาดนักท่องเที่ยวในญี่ปุ่น ออสเตรเลีย สแกนดิเนเวีย ซึ่งหายไปจากเมืองพัทยาไปนาน”

อีอีซีกับการท่องเที่ยว

หากโครงการอีอีซีเป็นไปตามแผนได้จริง จะทำให้พื้นที่ทางแถบนี้เติบโตมากขึ้น เมืองพัทยาจะเปลี่ยนไป จากภาพรวมนักท่องเที่ยวจะเป็นกลุ่มเลเชอร์ หลังจากโครงการอีอีซีก็มองว่าจะเป็นกลุ่มองค์กร (Corporate) หรือไมซ์ (MICE) สัดส่วนเหล่านี้จะมีมากขึ้น โดยผ่านการคมนาคมหลากหลายรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นสนามบินอู่ตะเภา ท่าเรือ รถไฟฟ้า และการขยายถนนเส้นหลัก ก็จะช่วยอำนวยความสะดวกมากขึ้น

แต่ขณะเดียวกันก็ต้องมองเรื่องการบริหารจัดการด้วย โดยในส่วนของสนามบินอู่ตะเภาและท่าเรือจุกเสม็ด ที่เป็นของทหารเรือ ซึ่งอนาคตหากมีการขยายสนามบินดังกล่าวมากขึ้น แน่นอนว่าปริมาณผู้โดยสารก็จะเพิ่มขึ้นด้วยเช่นกัน หากถึงเวลานั้นอาจทำให้กองทัพเรือจะบริหารงานได้ไม่คล่องตัวนัก จึงอยากให้มืออาชีพเข้ามาบริหารงาน และการที่ลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานค่อนข้างเยอะ การบริหารจัดการเรื่องของไฟฟ้า ประปา และการบำบัดน้ำเสีย ต้องมีวิธีการจัดการอย่างมีประสิทธิภาพ

“หลังจากภาครัฐประกาศจะเดินหน้าโครงการอีอีซี ก็ทำให้เกิดการลงทุนเข้ามากันจำนวนมาก ส่วนมากเป็นคนนอกพื้นที่ และราคาที่ดินก็ปรับตัวสูงขึ้นตามไปด้วย อย่างในบางทำเลจะพบว่าราคาที่ดินสูงขึ้น 4-5 เท่าตัวจากก่อนหน้า”

กระจายความแออัดเพื่อสร้างรายได้

ในเชิงภูมิศาสตร์นับว่าจังหวัดชลบุรี, ฉะเชิงเทรา และระยอง มีความใกล้กับกรุงเทพฯ โดยที่ผ่านมาเมืองพัทยาค่อนข้างมีนักท่องเที่ยวจำนวนมากอยู่แล้ว ภาครัฐต้องส่งเสริมให้จังหวัดฉะเชิงเทราและระยองเป็นอีกส่วนหนึ่งของการท่องเที่ยว เพราะแต่ละแห่งก็มีเอกลักษณ์เป็นของตัวเองอยู่แล้ว อย่างในกรณีของจังหวัดฉะเชิงเทรา อาจไม่ได้มีโรงแรมรองรับนักท่องเที่ยวได้มากเท่าพัทยา บางรายอาจเลือกเข้าพักโรงแรมที่พัทยา แต่มาท่องเที่ยวฉะเชิงเทรา ซึ่งพื้นที่ไม่ได้ไกลกัน หรือนักท่องเที่ยวบางรายไม่ชอบความจอแจ ก็เลือกไปพักที่ฉะเชิงเทราเลยทีเดียว หากสามารถโปรโมตการท่องเที่ยวหรือของดีเมืองฉะเชิงเทราได้แล้ว ก็เชื่อว่าจะเป็นทางเลือกแก่นักเดินทาง ที่จะท่องเที่ยวทางแถบภาคตะวันออก กลายเป็นเมืองใหม่ขึ้นมา ทั้งยังกระจายความแออัดจากเมืองพัทยาและระยองทางหนึ่งด้วย

สำหรับระยองมีอุตสาหกรรมหนักอยู่แล้ว ที่พักจะถูกนำไปใช้กับกลุ่มคนที่ทำงานในโรงงานอุตสาหกรรม แต่สำหรับนักท่องเที่ยวจะเดินทางไปยังเกาะเสม็ด ความน่าสนใจของระยองยังมีเรื่องของผลไม้ ที่ต้องโปรโมตมากยิ่งขึ้น ซึ่งไม่ใช่แค่คนไทยเท่านั้น แต่มองว่าตลาดเอเชียค่อนข้างชื่นชอบผลไม้อยู่แล้ว และอาจจะต่อยอดไปจนถึง จ.จันทบุรี ซึ่งมีชื่อเสียงด้านอัญมณี

“การมีโครงการอีอีซีจะทำให้คนมาทำงานกันมากขึ้น บางรายพาครอบครัวมาพำนักอยู่ในเมืองไทยด้วยกัน ซึ่งตลาดครอบครัวจะขยายตัว และมีความต้องการแหล่งพักผ่อนหลังเลิกงาน หรือช่วงวันหยุด ขณะเดียวกันศูนย์การประชุมจะได้รับความนิยมมากขึ้น สัดส่วนน่าจะเพิ่มเป็น 30-40% จากปัจจุบันอยู่ประมาณ 20% ที่เหลืออีก 80% มาจากเลเชอร์” ธเนศกล่าว

จะเห็นได้ว่าเมืองพัทยากำลังยกระดับภาพลักษณ์ไปสู่การท่องเที่ยวที่หลากหลายขึ้นทุกปี ความคึกคักของการลงทุนจากผู้ประกอบการ เพื่อสร้างสถานที่พักผ่อนหย่อนใจ ทั้งสวนน้ำ การแสดง และโชว์ต่างๆ ทำให้สามารถดึงดูดนักท่องเที่ยวจากหลายตลาดให้เดินทางเข้ามาสู่เมืองพัทยาแห่งนี้ ไม่ว่าจะเป็นตลาดในประเทศ ซึ่งระยะทางไม่ไกล สามารถเดินทางไป-กลับได้สะดวก ส่วนตลาดต่างชาติเองก็มีทางเลือกเยอะขึ้น ไม่ใช่เพียงแค่ชายหาดหรือทะเล รวมถึงห้องประชุมที่มีเอกชนลงทุน ก็จะตอบโจทย์ไมซ์ แต่สำหรับโครงการอีอีซีต้องไม่ได้สร้างความเจริญเพียงแค่เฉพาะจุด แต่ต้องวางยุทธศาสตร์ให้การท่องเที่ยวถูกขยายไปยังจังหวัดใกล้เคียงมากยิ่งขึ้น

ลุ้นปี 61 ต่างชาติเที่ยวไทย 37.19 ล้านคน

อย่างไรก็ตาม ภาพรวมการท่องเที่ยงของประเทศในปี 2561 การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ได้ตั้งเป้าหมายการเติบโตของรายได้จากอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของไทยไว้ที่ 10% จากปีก่อน หรือมีรายได้รวมที่ 3.1 ล้านล้านบาท แบ่งเป็นรายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติ 2.1 ล้านล้านบาท และรายได้จากการเดินทางท่องเที่ยวในประเทศ หรือตลาดไทยเที่ยวไทยอีก 1 ล้านล้านบาท

แต่ดูเหมือนว่าอุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทยกับต้องเผชิญความท้าทายเป็นอย่างมาก ทั้งการแข่งขันจากประเทศรอบๆ ข้างที่ดึงกลยุทธ์ต่างๆ ออกมาดึงดูดนักท่องเที่ยว ยังไม่รวมถึงอุบัติเหตุต่างๆ ที่ส่งผลกระทบกับนักท่องเที่ยว โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวจากประเทศจีน ซึ่งถือว่าเป็นตลาดใหญ่อันดับ 1 ซึ่งหลังจากเกิดเหตุเรือล่มที่ภูเก็ต และการทำร้ายนักท่องเที่ยวจันที่สนามบิน ทำให้ความเชื่อมั่นหายไป โดยจากรายงานของสมาคมไทยธุรกิจการท่องเที่ยว (แอตต้า) พบว่าในช่วง 9 เดือนแรก (มกราคม-กันยายน) ปีนี้มีนักท่องเที่ยวเดินทางผ่านสมาคมแอตต้าจำนวน 2.54 ล้านคน ลดลงเฉลี่ย 26.55%

แม้ว่า นายพงษ์ภาณุ เศวตรุนทร์ ปลัดกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา จะระบุว่าการท่องเที่ยวของต่างชาติในช่วง 9 เดือนแรกของปีนี้ (ม.ค.-ก.ย.60) มีนักท่องเที่ยวต่างชาติทั้งสิ้น 26,100,782 คน ขยายตัวเพิ่มขึ้น 5.40% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน และก่อให้เกิดรายได้รวม 1,330,058.98 ล้านบาท ขยายตัวเพิ่มขึ้น 7.91% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน

โดยในเดือน ก.ย.ที่ผ่านมามีนักท่องเที่ยวต่างชาติจำนวน 2,555,689 คน ขยายตัวเพิ่มขึ้น 5.75% จากเดือน ก.ย.59 และก่อให้เกิดรายได้รวม 133,491.24 ล้านบาท ขยายตัวเพิ่มขึ้น 12.01% จากเดือน ก.ย.59 โดยนักท่องเที่ยวขยายตัวเพิ่มขึ้นเกือบทุกภูมิภาค ซึ่งเป็นนักท่องเที่ยวจากภูมิภาคเอเชียตะวันออกมากสุด 1,841,506 คน รองลงมาคือนักท่องเที่ยวภูมิภาคยุโรป เอเชียใต้ อเมริกา โอเชียเนีย ตะวันออกกลาง และแอฟริกา ตามลำดับ โดยนักท่องเที่ยวที่มีจำนวนมากสุด 10 อันดับแรก ได้แก่ จีน มาเลเซีย เกาหลี ญี่ปุ่น ลาว อินเดีย สิงคโปร์ กัมพูชา ออสเตรเลีย และฮ่องกง

นอกจากนี้ การใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวดังกล่าวก่อให้เกิดรายได้ 133,491.24 ล้านบาท ขยายตัว 12.01% จากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน สำหรับนักท่องเที่ยวที่สร้างรายได้สูงสุด 10 อันดับแรก ประกอบด้วย จีน เกาหลี ญี่ปุ่น มาเลเซีย ออสเตรเลีย อินเดีย สหราชอาณาจักร สหรัฐ รัสเซีย และลาว ตามลำดับ

แต่ในด้านผู้ประกอบการอย่าง นายอิทธิฤทธิ์ กิ่งเล็ก ประธานสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (สทท.) ได้คาดการณ์ว่าในปี 2561 นี้จะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติรวม 37.19 ล้านคน ขยายตัวเพิ่มขึ้น 5.08% เมื่อเทียบกับปี 2560 จากเดิมที่คาดว่าน่าจะมีจำนวนราว 39 ล้านคน และสร้างรายได้รวมที่มูลค่า 1.97 ล้านล้านบาท ขยายตัวเพิ่มขึ้น 8.16% เมื่อเทียบกับปี 2560 ซึ่งต่ำกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้ที่จำนวน 2.1 ล้านล้านบาท

ส่วนนักท่องเที่ยวจีนในช่วงไตรมาส 3/2561 จะมีจำนวนที่ราว 2.21 ล้านคน ลดลง 17.61% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2560 และคาดว่าในช่วงไตรมาส 4/2561 นี้จะมีนักท่องเที่ยวจีนรวม 1.85 ล้านคน ลดลงราว 25.64% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ทำให้คาดว่าในปี 2561 นี้จะมีจำนวนนักท่องเที่ยวที่ประมาณ 9.9 ล้านคน ใกล้เคียงกับปี 2560 ที่มีทั้งหมด 9.8 ล้านคน


ที่มา : www.thaipost.net วันที่ 5 พ.ย. 61
www.thaipost.net/main/detail/21401

Leave a Reply

Or

Your email address will not be published. Required fields are marked *