Fri. Mar 29th, 2024
ไทยแลนด์แซนด์บอกซ์

“ไทยแลนด์แซนด์บอกซ์” ทางออก-ทางรอด ท่องเที่ยวไทย

ผ่านไปแล้ว 3 เดือนสำหรับการเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ ภายใต้โครงการ “ภูเก็ตแซนด์บอกซ์” ที่เริ่มดำเนินการมาตั้งแต่ 1 กรกฎาคม 2564 ที่ผ่านมา

การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ระบุว่า จากการเก็บสถิติผู้เดินทางเข้าออกจังหวัดภูเก็ตของสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองท่าอากาศยานภูเก็ต สมาคมธุรกิจการท่องเที่ยวจังหวัดภูเก็ต สมาคมโรงแรมไทย และสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดภูเก็ต พบว่าในช่วงตั้งแต่ 1 กรกฎาคม-29 กันยายน 2564 (90 วัน) มีจำนวนนักท่องเที่ยวเดินทางเข้าภูเก็ตสะสมรวม 38,289 คน

และเดินทางเข้าสมุย จังหวัดสุราษฎร์ธานี หรือโครงการสมุยพลัส (สมุย เกาะพะงัน เกาะเต่า) ตั้งแต่ 15 กรกฎาคม 2564-29 กันยายน 2564 (2 เดือนครึ่ง) จำนวนนักท่องเที่ยวเดินทางเข้าสะสมรวม 898 คน

พลิกโฉมภูเก็ตสู่เวิลด์คลาส

“ภูมิกิตติ์ รักแต่งาม” นายกสมาคมธุรกิจการท่องเที่ยวจังหวัดภูเก็ต ให้สัมภาษณ์ว่า หลังจาก “ภูเก็ตแซนด์บอกซ์” ก้าวผ่านช่วงทดลองในฐานะพื้นที่ “นำร่อง” เปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติที่ฉีดวัคซีนครบโดสไปแล้ว 3 เดือนแล้วยังคงมองว่าโครงการนี้ถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีเพียงแต่ยังมีหลายเงื่อนไขที่ยังเป็นอุปสรรคสำหรับการดำเนินงานและกระตุ้นในเชิงปริมาณ

จากตัวเลขนักท่องเที่ยวที่ได้มาประมาณ 40,000 คนในช่วง 3 เดือนแรกนั้นทำให้สมาคมทำข้อเสนอไปยัง ททท. และนำเสนอ ศบศ.เพื่อให้ลดเงื่อนไขบางประเด็นที่ไม่จำเป็นต้องมีเพื่อขยายผลและพลิกโฉมของการท่องเที่ยวจังหวัดภูเก็ตให้เป็นสถานที่ท่องเที่ยวระดับโลก (world class destination)


ภูเก็ตแซนด์บอกซ์ นักท่องเที่ยวจองข้ามปี ประยุทธ์ ใส่เกียร์เดินหน้าโกยรายได้

“รัสเซีย” หนีหนาว จ่อเข้า “ภูเก็ตแซนด์บอกซ์” รับไฮซีซั่น


โดยมีเป้าหมายนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางเข้าประเทศในช่วงไตรมาส 4 ปีนี้ และไตรมาสแรกของปี 2565 จำนวน 1 ล้านคน หรือวันละไม่น้อยกว่า 5,000 คน และสร้างรายได้ไม่ต่ำกว่า 60,000 ล้านบาท

โดยที่ประชุม ศบศ. เมื่อวันที่ 30 กันยายนที่ผ่านมาได้รับทราบและพิจารณาเห็นชอบแล้ว อาทิ ลดเวลาอยู่ในพื้นที่เหลือ 7 วัน ซึ่งจะเป็นการช่วยลดต้นทุนค่าสวอป (RT-PCR test) จาก 3 ครั้งเหลือ 1 ครั้ง เนื่องจากที่ผ่านมาพบว่าคนที่ฉีดวัคซีนมาแล้ว และมีการตรวจสวอปครั้งที่ 1 ที่สนามบินพบการติดเชื้อในครั้งที่ 1 มากที่สุด หากทำการสวอปซ้ำอีกครั้งในวันที่ 7 ก่อนออกไปนอกพื้นที่น่าจะเพียงพอแล้ว พร้อมทั้งเสนอว่าสวอปครั้งที่ 2 และ 3 นั้นขอเป็น ATK

ลดขั้นตอน COE-เปิดบินรัสเซีย

ลดวงเงินประกันโควิดจากเดิมที่ระบุไว้ที่ 100,000 เหรียญสหรัฐเหลือ 50,000 เหรียญสหรัฐ เพราะในความเป็นจริงแล้วคนที่ตรวจพบเชื้อไม่สามารถใช้ประกันได้ เนื่องจากในต่างประเทศจะระบุว่าถ้าไม่มีอาการไม่ต้องเข้าโรงพยาบาลจะไม่จ่ายเงินประกันหรือจ่ายน้อยมาก ซึ่งที่ผ่านมาพบผู้ติดเชื้อแต่ไม่มีอาการ หรือมีอาการน้อยมาก

ผ่อนคลาย SOP ของกลุ่มผู้สัมผัสเสี่ยงสูง (high risk contact : HRC) สำหรับผู้โดยสารเครื่องบิน เพราะที่ผ่านมายังไม่พบว่ากลุ่มที่นั่งใกล้กับผู้ติดเชื้อมาบนเครื่องบินยังไม่มีผู้ติดเชื้อเลยสักราย

ปรับลดขั้นตอนการขอใบอนุญาตเข้าประเทศ หรือ COE ให้ง่ายและเข้าถึงมากขึ้น เนื่องจากที่ผ่านมาระบบซับซ้อนเกินไป (ไม่ได้เสนอให้ยกเลิก) และเปิดให้ขอ COE ออนไลน์แบบหมู่คณะ (group COE) อนุญาตเที่ยวบินพาณิชย์ของรัสเซียให้สามารถเดินทางเข้าสู่ภูเก็ต เป็นต้น

Q4 นักท่องเที่ยวทยอยกลับมา

“ภูมิกิตติ์” บอกด้วยว่า สำหรับในไตรมาส 4 ซึ่งเป็นไฮซีซั่นปลายปีนั้น จะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามาได้มากน้อยแค่ไหนอย่างไรนั้น คงต้องขึ้นอยู่กับว่าเราสามารถปรับลดเงื่อนไขตามที่ได้นำเสนอไปหรือไม่ หากได้ตามข้อเสนอเชื่อว่าในไตรมาสสุดท้ายของปีนี้ “ภูเก็ตแซนด์บอกซ์” จะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามาได้ถึง 300,000 คน

มาตรฐาน-ความปลอดภัยสูง

“ชำนาญ ศรีสวัสดิ์” ประธานสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (สทท.) บอกว่า ต้องยอมรับว่าโควิดเป็นเหมือนมหันตภัยร้าย โดยเกือบ 2 ปีที่ผ่านมาหลาย ๆ ธุรกิจในภาคการท่องเที่ยวของไทยปิดตัวไปเรียบร้อยแล้ว แรงงานจำนวนมากตกงาน และหลาย ๆ ผู้ประกอบการก็ขอให้รัฐช่วยเหลือ ฯลฯ

และต้องยอมรับว่า ตั้งแต่ 1 กรกฎาคม เป็นต้นมา ที่เปิดตัว “ภูเก็ตแซนด์บอกซ์” ทั่วโลกจับตามองประเทศไทยอย่างมาก แต่ในช่วง 3 เดือนที่ผ่านมา ประเทศไทยได้นักท่องเที่ยวเข้ามาที่ภูเก็ตเกือบ 40,000 คน โดยประเด็นที่น่ายินดีคือยังไม่มีนักท่องเที่ยวต่างชาตินำเชื้อเข้ามาแพร่ระบาด ขณะเดียวกันก็ไม่มีการแพร่ระบาดจากคนไทยสู่นักท่องเที่ยวต่างชาติ สะท้อนว่า ภูเก็ตมีมาตรการดำเนินงานที่เป็นมาตรฐาน และมีความปลอดภัยสูง

อย่างไรก็ตาม หากมองในด้านของจำนวนนักท่องเที่ยวนั้นยังถือว่าน้อยมาก ซึ่งสอดรับกับผู้ประกอบการที่เปิดดำเนินการ ไม่ว่าจะเป็นที่ภูเก็ต สมุย กระบี่ พังงา ฯลฯ ที่สะท้อนว่ายังมีรายได้อยู่ในระดับที่ต่ำมาก

ดัน “ไทยแลนด์แซนด์บอกซ์”

“ชำนาญ” บอกว่า สิ่งที่อยากนำเสนอคือ อนาคตของการท่องเที่ยวไทยหลังจาก 3 เดือน “ภูเก็ตแซนด์บอกซ์” และสิ่งที่อยากจะเห็นคือ “ไทยแลนด์แซนด์บอกซ์” โดยโจทย์สำคัญคือการอยู่ร่วมกับโควิดต่อไปให้ได้

โดยจากการถอดบทเรียนของภูเก็ต สมุย กระบี่ พังงา ฯลฯ ในช่วงที่ผ่านมา สิ่งที่อยากเห็นและอยากให้เป็นสำหรับ “ไทยแลนด์แซนด์บอกซ์” มี 6 เรื่องหลัก ๆ คือ

1.อยากเห็น SOP ที่เหมือนกันในทุกพื้นที่

2.ควรใช้คำว่า “แซนด์บอกซ์” ต่อท้ายทุกพื้นที่ที่เปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ เพื่อลดความสับสนให้กับนักท่องเที่ยวต่างชาติ

3.ลดราคาค่าตรวจ RT-PCR และกำหนดให้เป็นราคาเดียวทั่วประเทศ และหากเป็นไปได้อยากให้ลดการตรวจ RT-PCR เหลือครั้งเดียว คือ ครั้งแรกที่สนามบิน ส่วนครั้งที่ 2 และ 3 นั้นให้ใช้ ATK

4.เพิ่มช่องทางการยื่นขอ COE โดยบริษัทนำเที่ยวอีกช่องทาง

5.ลดวันกักตัวอยู่ในพื้นที่ให้เหลือ 7 วัน หรือให้เหลือน้อยที่สุด

และ 6.ทำแคมเปญสนับสนุน

นักท่องเที่ยวกลับมาตั้งแต่ Q4

พร้อมทั้งเดินหน้าแผน 7+7 รวมถึงการใช้ “ภูเก็ต” ซึ่งมีความพร้อมในทุก ๆ ด้านในการรองรับและกลั่นกรองนักท่องเที่ยวเป็นฮับในช่วง 7 วันแรกแล้วส่งต่อนักท่องเที่ยวไปยังพื้นที่อื่น ไม่ว่าจะเป็นพัทยา เชียงใหม่ กรุงเทพฯ หัวหิน ฯลฯ ที่ฉีดวัคซีนได้ครบ 70% ตามเงื่อนไขการเปิดเมืองแล้ว

สิ่งที่จะเกิดขึ้นคือ นักท่องเที่ยวจะมีความมั่นใจมากยิ่งขึ้น ขณะที่คนในพื้นที่อื่น ๆ เองก็มีความมั่นใจในเรื่องความปลอดภัยมากขึ้นด้วยเช่นกัน

และเชื่อว่าจะทำให้นักท่องเที่ยวต่างชาติทยอยกลับมาแน่นอนในช่วงไตรมาสสุดท้ายปีนี้ ซึ่งเป็นไฮซีซั่นของการเดินทางท่องเที่ยวของทั่วโลกและหากโชคดีอาจทำให้มีนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้ามาที่ภูเก็ตได้ถึง 200,000 คน

พร้อมย้ำว่า หากสามารถปรับปรุงเงื่อนไขตามที่นำเสนอได้ “ไทยแลนด์แซนด์บอกซ์” จะเป็นทางออกที่ดีสำหรับการท่องเที่ยวของไทย โดยสามารถเดินหน้าต่อได้ทันที เพื่อให้สอดรับนโยบายเปิดอีก 10 จังหวัดในวันที่ 1 พฤศจิกายนนี้

ที่มา : ประชาชาติธุรกิจ https://www.prachachat.net/tourism/news-773710

Leave a Reply

Or

Your email address will not be published. Required fields are marked *